วิกฤติหนี้ยุโรปฤาจะพายูโรล่มสลาย


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ยุโรปกำลังเดินมาถึงทางแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างจับมือกันเดินต่อ หรือ ทางใครทางมัน

แม้เงินยูโรจะยังไม่ถึงจุดจบในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินชะตาเงินสกุลเดียวแห่งยุโรป ความสงบที่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ในตลาดการเงินโลก จากการที่ธนาคารกลางแห่งยุโรป (European Central Bank: ECB) ตัดสินใจแทรกแซงตลาดพันธบัตรตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีและสเปน ทำให้ตลาดสงบลงชั่วคราว โดยช่วยให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีอายุ 10 ปีลดลงจากระดับ ที่สูงกว่า 6% เหลือประมาณ 5% แต่ความสงบนั้นได้จบสิ้นลงแล้ว ในเดือนกันยายน เมื่อดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีเริ่มปีนกลับขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม จนพุ่งขึ้นไปอยู่เหนือกว่าระดับ 5.5% ในวันที่ 5 กันยายน

ส่วนตลาดหุ้นโลกในเดือนกันยายนก็ร่วงลงเป็นว่าเล่น ดัชนี Dax 30 ของเยอรมนีดิ่งลงกว่า 5% เฉพาะวันที่ 5 กันยายนเพียงวันเดียว ถ้านับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา Dax รูดลงไปแล้ว 27% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นอิตาลีดิ่งลง 29% ฝรั่งเศส 23% ตลาดหุ้นยุโรปยังร่วง ลงมากกว่าตลาดหุ้นอเมริกา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ร่วงลงเพียง 11% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนธนาคารยุโรปยิ่งเลวร้ายกว่า ราคาหุ้นธนาคารเยอรมนี ร่วงลง 36% ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ธนาคารอิตาลีร่วงลง 38% ธนาคารฝรั่งเศส 43% สาเหตุใหญ่ๆ มาจากธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่งของยุโรป ถูกฟ้องร้องโดยหน่วยงาน US Federal Housing Finance Agency ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน ในข้อหาขายตราสารหนี้ที่หนุนด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยไม่สุจริต (mis-selling mortgage-backed debt) นอกจากนี้ธนาคารยุโรป ยังเสี่ยงจะขาดทุนหนักจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ทำให้การทำ credit default swap ของธนาคารยุโรป เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงหากพันธบัตรมีการผิดนัดชำระหนี้ เพิ่มสูงขึ้นยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2008

การที่นักลงทุนพากันหนีความผันผวนในตลาดข้างต้นยังสร้างผลกระทบไปถึงคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย เงินฟรังก์สวิสแข็งค่าขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะนักลงทุนมองว่าเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย ในช่วงเวลาที่มีปัญหาอย่างนี้ กลายเป็นการคุกคามผู้ส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ในเดือนกันยายน ธนาคารชาติสวิสต้องตัดสินใจจำกัดค่าเงินฟรังก์สวิสเมื่อเทียบกับเงินยูโร นอกจากนี้ยังพาให้ความต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ในระดับต่ำสุดลบสถิติที่ 1.85% ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากด้วยเหตุผลเดียวกัน

ความผันผวนในตลาดการเงินสะท้อนความไม่แน่นอน 3 ประการในยุโรป ประการแรก การรักษาสัญญาของนักการเมือง ผู้นำยุโรปได้ตกลงกันในเดือนกรกฎาคม เรื่องการร่วมกันอุ้มกรีซด้วยความช่วยเหลือทางการเงินก้อนใหม่ และตกลงที่จะเพิ่มขนาด ของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) หรือกองทุนที่จะคอย “อุ้ม” ประเทศในยูโรโซนเมื่อเกิดวิกฤติ แผนการนี้ยังต้องรอสัตยาบันรับรองจากรัฐสภาของชาติยูโรโซนทั้ง 17 ชาติ ซึ่งก็ต้องคอยดูกันต่อไปว่า พวกเขาจะรักษาสัญญาหรือไม่

ส่วนประเทศที่เกิดวิกฤติ ซึ่งถูกกดดันให้ต้องเก็บกวาดบ้าน ของตัวเองให้เป็นระเบียบ แลกกับการได้รับความช่วยเหลือทาง การเงิน ก็ดูไม่น่าวางใจ การพูดกลับไปกลับมาของอิตาลี เกี่ยวกับ มาตรการรัดเข็มขัด สร้างความไม่สบายใจแก่นักลงทุน เจ้าหน้าที่ IMF และยุโรปที่กำลังตรวจสอบทบทวนการให้ความช่วยเหลือทาง การเงินแก่กรีซ ถึงกับระงับการเจรจาและถอนตัวออกจากกรีซเมื่อวันที่ 2 กันยายน เพราะการเอาแน่เอานอนไม่ได้ของกรีซในเรื่องการปฏิรูป

ความไม่แน่นอนประการที่ 2 คือความสามารถในการเติบโต ของยุโรป แม้ว่าประเทศยูโรโซนจะผ่านกฎหมายผูกมัดตัวเองให้ต้องควบคุมงบประมาณก็ตาม อย่างเช่นสเปนถึงกับกำหนดเรื่องการควบคุมการขาดดุลงบประมาณลงในรัฐธรรมนูญ แต่อัตราการเติบโตของยูโรโซน อยู่ที่เพียง 0.2% เท่านั้นในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความอ่อนแอของความต้องการของผู้บริโภคภายในยุโรปเอง การใช้จ่ายของผู้บริโภคในยุโรปลดลง 0.2% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี

ทางแพร่งของยุโรป

ดัชนี economic sentiment ที่จัดทำโดย European Commission ซึ่งติดตามการเติบโตของ GDP ในยุโรป ตกลง 4.7 จุด เหลือ 98.3 จุดในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีดังกล่าวตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ดัชนีดังกล่าวซึ่งเป็นตัววัดความเชื่อมั่น ยังตกลงมากเป็นพิเศษในเยอรมนี ทำลายความหวังที่ว่า เยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซนจะสามารถช่วยฉุดยุโรปขึ้นจากปลักตมของปัญหาได้ ส่วนการที่ยุโรปเปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงิน แบบเข้มงวดเร็วเกินไปในปีนี้นั้น ก็ไม่ได้มีส่วนช่วยอะไรเลย

ความไม่แน่นอนประการสุดท้ายซึ่งใหญ่ที่สุดคือ กองทุน ESFS ที่คอยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในยูโรโซน มีเงินน้อยเกินไป จำนวนเงินในกองทุน EFSF ซึ่งมีอยู่ 440,000 ล้านยูโร (620,000 ล้านดอลลาร์) และได้ใช้ไปบางส่วนแล้วนั้น สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดใน ประเทศเล็กๆ อย่างไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปนได้เท่านั้น แต่เมื่อมาถึงอิตาลี ซึ่งเริ่มมีปัญหาในเดือนกรกฎาคม และเป็นประเทศที่มี เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของยูโรโซน โดยมีหนี้สาธารณะ 1.9 ล้านล้านยูโร ปัญหาของอิตาลีก็ดูเหมือนจะใหญ่เกินกว่าที่ EFSF จะช่วยอุ้มได้

เมื่อ EFSF มีขนาดเล็กเกินไป ทางออกก็ดูเหมือนจะง่ายๆ คือเพิ่มขนาดของกองทุน แต่การที่ EFSF จะกู้ยืมเงินมาใส่ในกองทุนได้ ต้องได้รับการรับประกันการกู้ยืมจากประเทศในยูโรโซน แต่ยิ่งประเทศยูโรโซนรับประกันการกู้ยืมให้แก่ EFSF มากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มภาระทางการเงิน ให้ประเทศเหล่านั้นมากขึ้น ซึ่งหากถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ลง ก็จะทำให้ EFSF หาแหล่งเงินกู้ได้ยากขึ้นอีก หรือต้องยอมกู้เงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยสูง

การจะหวังพึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) ให้ช่วยพยุงกองทุน EFSF ก็เป็นเรื่องยาก การแทรกแซงตลาดด้วยการเข้าซื้อพันธบัตร รัฐบาลอิตาลีและสเปนเมื่อไม่นานมานี้ ECB ก็กระทำด้วยความลังเลอย่างยิ่ง ที่สำคัญ การแทรกแซงดังกล่าวถูกคัดค้านจาก Jens Weidmann ประธาน Bundesbank หรือธนาคารกลางเยอรมนี ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎีแล้ว ECB จะมีอิสระและมีความสามารถใน การแทรกแซงตลาด ในทางปฏิบัติ ECB ต้องอาศัยการสนับสนุน จากเยอรมนี และการจะต่อนโยบายเข้าซื้อพันธบัตรต่อไปอีก ก็จะยิ่งบั่นทอนความน่าเชื่อถือของ ECB ซึ่งขณะนี้ความไว้ใจในสถาบันแห่งนี้ก็ตกต่ำลงแล้ว

ทางแก้ที่น่าจะดีกว่า อาจเป็นการเดินหน้าไปสู่การทำให้ยุโรปเป็น “สหภาพการคลัง” และวิธีหนึ่งก็คือการสร้างพันธบัตร Eurobond ซึ่งจะหมายถึงการรับผิดร่วมกันของประเทศในยูโรโซน ผู้สนับสนุนแนวคิด Eurobond อ้างว่า การคลังของประเทศในยูโร โซนโดยรวม ยังดีกว่าของประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ด้วยซ้ำ ซึ่งมีฐานะการคลังดีและสามารถขายพันธบัตรที่เสียดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ได้ ดังนั้น หากประเทศยูโรโซนจะออกพันธบัตรในนามของยูโรโซนบ้าง ก็น่าจะเสียดอกเบี้ยได้ถูกเช่นกัน

แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการออก Eurobond เถียงว่า การสร้าง Eurobond ในสภาพการณ์อย่างปัจจุบัน รังแต่จะทำให้วินัยการคลังของยุโรปเสียไป ทำให้ประเทศยูโร โซนที่อ่อนแอหมดแรงจูงใจที่จะจัดระเบียบการคลังของตัวเอง ซึ่งยุ่งเหยิง จนเป็นหนี้เป็นสินเข้าขั้นวิกฤติ ยังไม่นับปัญหายุ่งยากในการแก้ข้อกฎหมาย เพราะการออก Eurobond ไม่เหมือนการตั้งกองทุน EFSF จะต้องมีการแก้สนธิสัญญาหลายฉบับของยุโรป Eurobond ยังจะทำให้เยอรมนีและฝรั่งเศสต้องเสียดอกเบี้ยพันธบัตรสูงขึ้น ทั้ง 2 ชาตินี้ จึงเมิน Eurobond อย่างน้อยก็ในขณะนี้

แต่หากไม่สามารถออก Eurobond ได้ และไม่สามารถเดินหน้าไปสู่สหภาพการคลังได้ เงินยูโรสกุลเดียวก็อาจจะถึงกาลล่มสลาย

เรื่องการล่มสลายของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรสกุลเดียวร่วมกันนี้ เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยมีครั้งใดที่จะจริงจัง และดูเหมือนจะเป็นไปได้มากเท่ากับครั้งนี้

ขณะนี้มี 2 สถานการณ์ใหญ่ๆ ที่เป็นไปได้ว่า จะทำให้ยูโรโซนแตกสลาย สถานการณ์แรก หากประเทศที่อ่อนแออย่างเช่นกรีซ ตัดสินใจถอนตัวออกจากการใช้เงินยูโรสกุลเดียว ทั้งนี้ หากการเติบโตของกรีซยังคงตกต่ำลงไปจนถึงปีหน้า และปัญหาการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น แรงกดดันภายในกรีซที่จะเป็นตัวทำให้ กรีซต้องตัดสินใจออกจากยูโรโซน

สถานการณ์ที่ 2 ที่จะทำให้ยูโร โซนล่มคือ เยอรมนีและอีกบางประเทศ ที่มีความน่าเชื่อถือสูงอย่างเช่นเนเธอร์ แลนด์ อาจตัดสินใจออกเงินสกุลใหม่ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เยอรมนีน่าจะไม่ออกจากยูโรโซน นักการเมืองเยอรมนีสนับสนุนการรวมยุโรปเสมอมา และภาคภูมิใจในมรดกประวัติศาสตร์ที่เยอรมนีเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป การที่เยอรมนียังเห็นด้วยกับการยอมให้ยุโรปช่วยอุ้มกรีซครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เพราะกลัวว่ายูโรโซนจะล่มสลายนั่นเอง

เพราะความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ถ้าหากยูโรโซนล่ม จะสร้างหายนะไม่เพียงเฉพาะยุโรป แต่ยังกระทบส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย หากกรีซต้องถอนตัวออกจากยูโรโซนจริง ก็อาจเกิดเศรษฐกิจตกต่ำแบบที่เคยเกิดในปี 1930 ซึ่งเกิดขึ้นจากการล่มสลายของระบบการเงิน ส่วนถ้าหากเป็นกรณีเยอรมนีถอนตัวออกไป เพื่อตั้งเงินสกุลใหม่ เศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งมีฐานอยู่บนการผลิต เพื่อการส่งออก ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่ค่าเงินสกุลใหม่แข็งค่า นอกจากนี้หากยูโรโซนล่มก็อาจเกิดการแห่ถอนเงินในยุโรป

ขยายกองทุน “อุ้ม” ยุโรป

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนกลับเห็นว่า หากประเทศอย่างกรีซถอนตัวจากยูโรโซน คงไม่ส่งผลกระทบมากนัก หรือสามารถควบคุมผลกระทบได้ ถ้าหากว่าผู้นำยุโรปสามารถทำให้ประเทศที่อ่อนแออื่นๆ ในยูโรโซนมั่นใจได้ว่า พวกเขาจะได้รับการปกป้องไม่ให้เป็นเหมือนกรีซ นอกจากนี้ กรีซอาจได้รับประโยชน์มากกว่า ถ้าหากออกจากยูโรโซน เพราะกรีซจะสามารถ ล้างหนี้เก่าและลดค่าเงินครั้งใหญ่ เพื่อฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันให้กลับคืนมาอีกครั้ง แต่ถ้าเป็นเยอรมนีที่ถอนตัวออกไป นักเศรษฐศาสตร์ก็เชื่อว่า เยอรมนีย่อมมีความสามารถมากพอที่จะรับมือกับค่าเงินสกุลใหม่ที่แข็งค่ามากๆ ได้

ความกลัวผลกระทบที่จะเกิดจากยูโรโซนล่มสลาย เป็นเหตุผลใหญ่ที่สุดที่ทำให้การเดินหน้าไปสู่สหภาพการคลัง ดูจะเป็น ทางออกที่ดีกว่าการปล่อยให้ยูโรโซนล่ม แต่ผู้นำยุโรปก็ยังไม่กล้าพอ ที่จะตัดสินใจเดินหน้าไปสู่สหภาพการคลังด้วยการออก Eurobond ดังนั้น การถกเถียงถึงวิธีแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป จึงย้อนกลับมาที่เรื่องการเพิ่มขนาดเงินกองทุน EFSF อีกครั้ง

Deutsche Bank ของเยอรมนีเสนอให้ยกระดับ EFSF เป็นธนาคารซึ่งจะทำให้กู้ยืมจาก ECB ได้ ส่วนข้อเสนออื่นๆ เป็นการใช้เครื่องมือการเงินเข้าช่วย อย่างเช่น เสนอให้ ECB ยอมรับประกันการขาดทุนบางส่วนให้แก่ผู้ซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อช่วยจำกัดการขาดทุน ให้ EFSF คุ้มครองนักลงทุนไม่ให้ขาดทุนในการซื้อพันธบัตรครั้งแรก และให้ ECB ปล่อยกู้แก่นักลงทุนเหล่านี้ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ย ถูกที่ไม่มีการไล่เบี้ย (non-recourse loan) แม้ผู้นำยุโรปเคยประณามว่า เครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินการธนาคาร แต่หากใช้อย่างสร้างสรรค์ก็สามารถเป็นประโยชน์ได้เช่นกัน

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง European Commission


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.