|
คนหนุ่มสาวที่ถูกทอดทิ้ง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ปัญหาคนหนุ่มสาวตกงานในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่เพียงเป็นปัญหาหนักในวันนี้ แต่ยังจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปอีกนานหลายทศวรรษ
ขณะนี้คนหนุ่มสาวชาวสเปนต่างรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอนาคต และหลักการที่ว่า การทำงานหนัก จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่กำลังแตกสลาย ก่อนจะเกิดวิกฤติการเงินโลก อัตราการว่างงานในสเปน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ถูกกดทับไว้ชั่วคราว จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของสเปน ซึ่งเป็นการเติบโตที่เกิดจากการก่อหนี้บวกกับความรุ่งเรืองในภาคการก่อสร้าง ทำให้ในปี 2007 อัตราว่างงานของสเปนอยู่ที่เพียง 8% เท่านั้น แต่ขณะนี้กลับพุ่งกระฉูดมาอยู่ที่ 21.2% โดยเฉพาะอัตราว่างงานในคนหนุ่มสาวชาวสเปน ซึ่งพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 46.2%
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวเพิ่ม ขึ้นในประเทศในกลุ่ม OEDC ซึ่งเปรียบเหมือนสโมสรของประเทศ ร่ำรวย โดยคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปีในสหภาพยุโรป (Euro-pean Union: EU) ตกงานถึง 1 ใน 5 เทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปีตกงานน้อยกว่า คือประมาณ 18% แต่ก็ยังมีประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเม็กซิโก ที่อัตราว่างงานในคนหนุ่มสาวอยู่ในระดับต่ำเพียงไม่ถึง 10%
เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คนหนุ่มสาวจะเป็นแรงงานกลุ่มแรก ที่ถูกปลดออกจากงาน เนื่องจากพวกเขามีประสบการณ์น้อยและทักษะความชำนาญต่ำ เมื่อเทียบกับแรงงานที่อาวุโสกว่า ดังนั้น ในหลายๆ ประเทศ คนหนุ่มสาวจึงตกเป็นเป้าหมายของนายจ้าง ที่ต้องการตัดลดค่าใช้จ่าย และถูกปลดออกจากงานได้ง่ายกว่าแรงงานอาวุโส หลายประเทศในกลุ่ม OECD มีอัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาว สูงกว่าอัตราว่างงานของประชากรแรงงานกลุ่มอื่นๆ 2 เท่าโดยเฉลี่ย และบางประเทศยิ่งสูงไปกว่านั้น อังกฤษ อิตาลี นอร์เวย์และนิวซีแลนด์ มีแรงงานในวัยหนุ่มสาวตกงานมากกว่าแรงงานกลุ่มอื่นๆ ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ในสวีเดน การว่างงานในคนอายุระหว่าง 15-24 ปี สูงกว่ากลุ่มที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปีถึง 4.1 เท่า นับเป็นอัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวอายุ 15-24 ปีที่สูงที่สุดใน OECD นับตั้งแต่ OECD เริ่มเก็บสถิติอัตราการว่างงานมาตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา
การว่างงานในคนหนุ่มสาวสร้างความเสียหายโดยตรงคือ รัฐต้องจ่ายสวัสดิการตกงานมากขึ้นและยังสูญเสียรายได้จากภาษี รายได้บุคคลธรรมดา และแรงงานของคนหนุ่มสาวต้องกลายเป็นสิ่งสูญเปล่า อังกฤษได้ลองคำนวณมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คนหนุ่มสาวชาวอังกฤษตกงานถึง 744,000 คนว่า ทำให้ อังกฤษเสียหาย 155 ล้านปอนด์ (247 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อสัปดาห์ จากการที่รัฐต้องเสียงบประมาณจ่ายสวัสดิการตกงานมาก ขึ้น และต้องสูญเสียประสิทธิภาพการผลิต
ส่วนความเสียหายโดยอ้อมได้แก่ปัญหาสมองไหล คนหนุ่มสาวที่รู้สึกว่าตัวเองไร้อนาคตในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน มักจะตัดสินใจออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า ในต่างประเทศ ได้ง่ายกว่าแรงงานกลุ่มที่อายุมากกว่า ซึ่งมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ในโปรตุเกส ซึ่งอัตราว่างงานในคนหนุ่มสาวอยู่ที่ 27% มีมากถึง 40% ของคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18-30 ปีที่บอกว่า พร้อมจะออกไปหางานทำในประเทศอื่น ในอิตาลี ปัญหาสมองไหลเป็นปัญหาเรื้อรังที่สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรังของอิตาลี ในไอร์แลนด์ ปัญหาคนหนุ่มสาวท้อแท้กับการหางานทำ ได้หวนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ไอร์แลนด์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเสือเศรษฐกิจแห่ง Celt เคยดีใจและคิดว่าปัญหานี้ได้จบสิ้นไปแล้ว
ผลกระทบจากปัญหาการว่างงานอีกประการคืออาชญากรรม การจลาจลที่เพิ่งเกิดขึ้นในอังกฤษโดยกลุ่มวัยรุ่นเมื่อไม่นาน มานี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการว่างงานในคนหนุ่มสาว นักวิจัยบางคนพบความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นในคนหนุ่มสาว กับการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน (ปล้นชิงวิ่งราว ขโมยรถ) และความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายมากที่สุดจากปัญหาการว่างงาน คงไม่พ้นตัวคนตกงานนั่นเอง Jonathan Wadsworth นักเศรษฐศาสตร์แรงงานจาก London School of Economics (LSE) ชี้ว่า คนหนุ่มสาวจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการตกงาน ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางอารมณ์ ผลวิจัยชี้ว่า สิ่งที่จะใช้คาดการณ์การตกงานในอนาคตของคนคนหนึ่งได้ดีที่สุด ก็คือการที่เขาเคยตกงานมาก่อน ในอังกฤษ คนหนุ่มสาวที่เคยตกงานเพียง 3 เดือนเมื่ออายุก่อน 23 ปี มีแนวโน้มจะตกงานอีกครั้งเฉลี่ยนาน 1.3 เดือน เมื่อมีอายุถึง 28-33 ปี เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันที่ไม่เคยตกงานมาก่อน และการตกงานครั้งที่ 2 ในชีวิต จะยิ่งส่งผลกระทบร้ายแรงมากขึ้นอีก
ผลวิจัยในสหรัฐฯ และอังกฤษพบว่า การตกงานในคนหนุ่มสาวจะทิ้งรอยแผลเป็นด้านรายได้หรือ “wage scar” ไปจน ถึงวัยกลางคน ยิ่งตกงานนานเท่าใด รอยแผลเป็นนี้ก็จะยิ่งบาดลึก มากขึ้นเท่านั้น ชาย 2 คนที่มีภูมิหลังเท่าเทียมกันทั้งการศึกษา ฐานะความเป็นอยู่ การศึกษาของบิดามารดาและระดับ IQ แต่หากคนหนึ่งตกงานเป็นเวลานาน 1 ปีก่อนอายุ 23 ปี 10 ปีหลังจากนั้น คาดว่าเขาจะมีรายได้ต่ำกว่าอีกคนที่ไม่เคยตกงานถึง 23% ถ้าเป็นผู้หญิง ช่องว่างความต่างของเงินเดือนหรือ wage scar จะน้อยกว่าผู้ชายคือ 16% ความเสียหายนี้จะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงวัยกลางคน แม้ว่าจะลดน้อยลงก็ตาม โดยเมื่อถึงอายุ 42 ปี wage scar ในผู้หญิงจะลดลงเหลือ 12% ส่วนใน ผู้ชายจะลดลงเหลือ 15% wage scar ยังพบในบัณฑิตหนุ่มสาว ที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อต้นทศวรรษ 1980 ผลการศึกษาในสหรัฐฯ พบว่าบัณฑิตที่โชคร้ายเหล่านี้ จะได้รับค่าจ้างเงินเดือนที่ลดลง 6-7% ต่ออัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% แม้ว่าผลกระทบจาก wage scar นี้จะลดลง แต่สามารถจะส่งผลต่ออคนคนนั้นในระยะยาวได้นานถึง 15 ปี
ในญี่ปุ่นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 คนหนุ่มสาวที่ตกงานเป็นเวลานาน จำต้องยอมทำงานที่ “ไม่ปกติ” กล่าวคืองานที่ได้รับค่าแรงต่ำ และแทบไม่มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมหรือความก้าวหน้าในอาชีพ นายจ้างก็มักจะชอบรับบัณฑิตจบใหม่มากกว่า คนที่ตกงานหรือทำงานไม่เต็มเวลา ทำให้คนหนุ่มสาวที่ตกงานได้รับความเสียหายจาก wage scar กล่าวคือมีโอกาสน้อยลง ที่จะได้งานถาวรและค่าจ้างเงินเดือนที่สูง “คนหนุ่มสาวที่ถูกทอดทิ้งอยู่ข้างหลัง” คือคำที่ OECD ใช้เรียกหนุ่มสาวที่โชคร้ายเหล่านี้ ในรายงานล่าสุด นายจ้างในญี่ปุ่นระบุว่า พนักงานที่มาจากช่วง “ทศวรรษที่หายไป” ของญี่ปุ่น เป็นกลุ่มพนักงานที่มีปัญหาซึมเศร้าและความเครียดสูงกว่าพนักงานกลุ่มอื่น
การตกงานในทุกรูปแบบยังสัมพันธ์กับการไม่มีความสุขในชีวิต ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะ wage scar หรือการมีรายได้น้อยหน้าคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังสัมพันธ์กับการมีอายุสั้น มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดหัวใจวายเมื่ออายุมากขึ้น และความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ผลการศึกษาคนที่ตกงานในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ในรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ พบว่า การตกงานมีผลกระทบต่ออายุขัยของ คนหนุ่มสาว มากกว่าคนที่อายุมากกว่า และ คนอเมริกันที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) มีปัญหาการขาดความเชื่อมั่นและความกระตือรือร้นเรื้อรังนานหลายทศวรรษ
การตกงานยังส่งผลกระทบต่อสังคมด้วย อย่างเช่นอาการ full-nest syndrome ในปี 2008 46% ของคนอายุระหว่าง 18-34 ปี ใน EU ยังคงอาศัยอยู่กับบิดาหรือมารดา หลายประเทศในยุโรปโดยเฉพาะในยุโรปใต้ ซึ่งมีปัญหาการว่างงาน สูง ลูกที่ยังคงอยู่บ้านเดิมกับบิดามารดา มีแนวโน้มที่จะเป็นคนตกงาน มากกว่าลูกที่ย้ายออกไป ขณะนี้ในอิตาลีมีคนอายุระหว่าง 18-35 ปี มากกว่า 7 ล้านคน ที่ยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา 1 ใน 4 คนของผู้ชายอังกฤษที่อายุ 20 ปีขึ้นไป และผู้หญิงอังกฤษวัยเดียวกันทุกๆ 1 ใน 6 คน หวนกลับไปอยู่บ้านพ่อแม่
บางประเทศในยุโรปโดยเฉพาะในยุโรปใต้ รัฐบาลควรจะเปิดตลาดแรงงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อปลดปล่อยแรงงาน หนุ่มสาว ส่วนในประเทศที่ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นอยู่แล้ว รัฐก็มักจะเน้นการเพิ่มทักษะการทำงานให้ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่ง รวมของทักษะและการเรียนก็ยังดีกว่าตกงานอยู่ว่างๆ ดังนั้น จำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือเรียนต่อในระดับสูงกว่าปริญญาตรี จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บัณฑิตศึกษาในสหรัฐฯ ได้รับใบสมัครเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% มาตั้งแต่ปี 2008 อย่างไรก็ตาม การเรียนยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีเสมอไป
ไม่ใช่นักศึกษามหาวิทยาลัยทุกคนที่จะมีโอกาสได้งานทำ อัตราการว่างงานของบัณฑิตในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงสุดมาตั้งแต่ปี 1970 แม้แต่การศึกษาสายอาชีพก็อาจไม่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีงานทำ รายงาน Wolf report ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาสายอาชีพในอังกฤษล่าสุดชี้ว่า หากเลือกเรียนในสายวิชาที่ตลาดไม่ต้องการ กลับจะยิ่งทำลายโอกาสในการได้งานทำ และลดโอกาสที่จะได้ค่าจ้างแรงงานที่ดีไปตลอดชีวิต ทางที่ดีคือนักศึกษา ควรจะถูกส่งไปฝึกงานกับบริษัทจริงๆ
ในเยอรมนี ซึ่งถูกยกให้เป็นต้นแบบของการรับนักศึกษาฝึกงาน นายจ้างเยอรมันราว 1 ใน 4 มีโครงการรับนักศึกษามาฝึกงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และนักศึกษาสายอาชีพในเยอรมนี เกือบ 2 ใน 3 ใช้เวลา 3 วันต่อสัปดาห์กับการฝึกงานในบริษัทเป็นเวลานาน 2-4 ปี ค่าใช้จ่ายในการฝึกงานร่วมกันรับผิดชอบโดยบริษัทกับรัฐบาลเยอรมนี นักศึกษาฝึกงานมักจะได้ทำงานในบริษัทนั้น เมื่อจบการฝึกงาน นับเป็นเรื่องปกติในเยอรมนี อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวชาวเยอรมันอยู่ที่ 9.5% จัดว่าต่ำที่สุดประเทศหนึ่งใน EU โครงการรับนักศึกษาฝึกงานที่คล้ายกับเยอรมนี ยังใช้ได้ผลในเนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียด้วย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกของเยอรมนี ซึ่งเต็มไปด้วยกองทัพผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสูง อาจจะเหมาะสมกับโมเดลการรับนักศึกษาฝึกงานแบบนี้ แต่ไม่ชัดเจนว่า โมเดลนี้จะนำไปใช้กับประเทศที่เศรษฐกิจเกี่ยว ข้องกับภาคบริการมากกว่าได้หรือไม่ โมเดลนี้ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคทางวัฒนธรรม โครงการ school-to-work ของ Bill Clinton ซึ่งคล้ายกับโมเดลการรับนักศึกษาฝึกงานของเยอรมนี ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะถูกหมิ่นว่าเป็นการศึกษาชั้นสอง แม้แต่ในบางประเทศซึ่งการรับนักศึกษาฝึกงานเป็นที่นิยม แต่ก็ยังล้มเหลวในการแก้ปัญหาว่างงาน เนื่องจากการล่มสลายของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม อังกฤษซึ่งเพิ่งเกิดการจลาจลโดยกลุ่มวัยรุ่นที่อ้างปัญหาการว่างงานเป็นชนวนก่อเหตุ กำลังคิดจะลองทำโครงการรับนักศึกษาฝึกงานดูบ้าง แต่สำหรับคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปีที่ตกงานเป็นอาจิณ และขาดคนต้นแบบมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นคนขาดความมุ่งมั่นและเป้าหมายในชีวิต ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ควรจะทำโครงการฝึกงานในลักษณะที่เจาะจงและตัวต่อตัวมากกว่า เพราะการทำโครงการฝึกงานแบบเหมารวมกับคนตกงานทุกคน รังแต่จะเบียดคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดให้ตกหล่นหายไป
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|