|
ปัญหาว่างงานในชาติร่ำรวยไม่สายเกินแก้
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ยังไม่สายเกินไปที่ผู้นำชาติร่ำรวยจะลงมือแกปัญหาการว่างงานเรื้อรัง
ชาติตะวันตกซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศร่ำรวย OECD มีจำนวนคนตกงานทั้งหมด 44 ล้านคน เท่ากับประชากรสเปนทั้งประเทศ ส่วนในสเปนซึ่งมีอัตราการว่างงานสูงที่สุดในโลกตะวันตก (21%) มีจำนวนคนตกงานมากเท่ากับประชากรของกรุงมาดริดกับเมืองบาร์เซโลนารวมกัน ส่วนในสหรัฐฯ มีคนตกงาน 14 ล้าน บวกกับ อีก 11 ล้านคน ซึ่งเท่ากับจำนวนประชากรของรัฐเทกซัส ที่อยู่ใน ภาวะว่างงานแฝง หรือทำงานต่ำระดับ (underemployed) กล่าว คือได้งานทำไม่เต็มเวลาหรือทำงานต่ำกว่าระดับความรู้ความสามารถ อาจจะยกเว้นก็แต่เพียงเยอรมนี ที่มีอัตราการว่างงานต่ำกว่าก่อนจะเกิดวิกฤติการเงินโลกเสียอีก
แม้ว่าอัตราการว่างงานในประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่จะลดลงบ้างแล้วในวันนี้ จากที่เคยพุ่งถึงระดับสูงสุดเมื่อปี 2009 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงจนน่าตกใจอยู่ดี และหลายประเทศยังหวั่นใจว่า เศรษฐกิจอาจจะหวนกลับไปสู่การถดถอยอีกเป็นครั้งที่ 2
วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลกระทบกับทุกคนก็จริง แต่คนที่ได้รับ ผลกระทบอย่างหนักหน่วงที่สุดคือคนที่ตกงาน การตกงานทำให้คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เกิดปัญหาการหย่าร้าง การใช้ยาเสพติด และสามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตผิดพลาดไปหมดได้
ปัญหาการว่างงานในทุกวันนี้ มีความร้ายแรงมากกว่าในสมัยก่อนมาก เมื่อคนตกงานจำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาว เพราะการว่างงานในคนหนุ่มสาวมักจะทิ้งรอยแผลเป็นที่บาดลึกมากกว่า ทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะได้ค่าจ้างเงินเดือนที่ต่ำกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน และยังมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ ที่จะตกงานซ้ำอีกในอนาคต
ปัญหาการว่างงานในปัจจุบันยังเป็นปัญหาที่เรื้อรังมากกว่าแต่ก่อน ในสหรัฐฯ ซึ่งได้ชื่อว่าตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นสูง แต่ช่วงเวลาตกงานของคนคนหนึ่งในปัจจุบันก็ยังกินเวลานาน ถึง 40 สัปดาห์ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเพียง 17 สัปดาห์ในปี 2007 ในอิตาลี ครึ่งหนึ่งของคนที่ตกงาน ต้องว่างงานนานกว่า 1 ปี การว่างงานนานๆ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อคนที่ตกงานหนักขึ้น ทำให้ ทักษะของพวกเขาเสื่อมลงและถูกตัดขาดจากตลาดแรงงาน
นอกจากผลกระทบต่อตัวบุคคล แล้วยังส่งผลกระทบต่อประเทศ เพราะ ปัญหาการว่างงานจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตลดลง สร้างความเสียหายต่องบประมาณของ รัฐบาล และส่งผลกระทบต่อระเบียบสังคมได้อีกนานหลายปี
ปัญหายุ่งยากทั้งหมดข้างต้นไม่อาจแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ต่อให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็วก็ตาม อัตราการว่างงานสูงในชาติตะวันตกจะยังคงสูงต่อไปอีกนานหลาย ปี วิธีแก้ปัญหาหลายๆ อย่าง เช่นการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ ต้องใช้เวลา นานกว่าจะเห็นผล ในขณะที่นักการเมืองกลับไม่รีบเร่งแก้ปัญหาเพราะมัวแต่ทะเลาะกัน
ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในอเมริกากำลังเถียงกันแบบไม่จบไม่สิ้น ฝ่ายซ้ายบอกว่า รัฐบาลยังใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา ว่างงานน้อยเกินไปด้วยซ้ำ แต่ฝ่ายขวาก็เถียงว่า การมีรัฐบาลที่ “ใหญ่” เกินไป จะทำลายการสร้างงาน Barack Obama ซึ่งความนิยมจากประชาชนกำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ ประกาศแผนการสร้างงานสดทางโทรทัศน์ในเดือนกันยายน และยังไม่สายที่ผู้นำชาติตะวันตกอื่นๆ จะลงมือแก้ปัญหาการว่างงานตั้งแต่เดี๋ยวนี้
ใช้นโยบายเศรษฐกิจที่กระตุ้นการเติบโต
อย่างแรกที่ต้องทำโดยรีบด่วนที่สุด คือการกระตุ้นความต้องการ สาเหตุสำคัญของอัตราการว่างงานสูงในชาติตะวันตก เกิดจากการที่วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยครั้งล่าสุด มีความรุนแรงเกินไป ส่วนการฟื้นตัวกลับอ่อนแอเกินไป แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องคือ ชาติตะวันตกกลับเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต แต่กลับทำให้เศรษฐกิจหดตัว โดยเฉพาะความผิดพลาดในด้านนโยบายการเงิน
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ควรเลิกใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ย รวมไปถึงความผิดพลาดในนโยบายการคลัง รัฐบาลชาติตะวันตก ได้เปลี่ยนแปลงนโยบาย จากการเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไปเป็นการรัดเข็มขัดเพื่อตัดลดงบประมาณก่อน เวลาอันควร อันที่จริงแล้ว รัฐบาลควรจะใช้นโยบายแบบผสมผสาน โดยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น บวกด้วยมาตรการควบคุมการขาดดุลงบประมาณในระยะกลาง
นโยบายอย่างเช่นการยืดอายุเกษียณ จะช่วยกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้นได้ บททดสอบสำหรับแผนการสร้างงานที่ Obama เพิ่งประกาศก็คือ งบประมาณที่จะทุ่มลงไปในแผนการสร้างงานดังกล่าวนั้น จะมากพอที่จะต้านทานมาตรการ รัดเข็มขัด ซึ่งจะเทียบเท่ากับ 2% ของ GDP ได้หรือไม่
นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาว่า มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างเท่านั้นที่จะช่วยสร้างงานได้ อย่าง เช่นการอุดหนุนของรัฐบาลเยอรมนีเพื่อลดเวลาทำงานลง ช่วยทำให้บริษัท ไม่ต้องลอยแพคนงาน แต่การอุดหนุน เทคโนโลยีสีเขียวของ Obama กลับทำให้บริษัทเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีผลกำไรเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยสร้างงานใหม่แต่อย่างใด
โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่นการสร้างถนน ซ่อมแซมโรงเรียน เหล่านี้เป็นมาตรการที่จะช่วยกระตุ้นการสร้างงานได้ รวมไปถึงมาตรการจูงใจทางภาษีประเภทที่สามารถช่วยลดต้นทุนการจ้างงาน โดยเฉพาะลดต้นทุนการจ้างคนงานใหม่เพิ่ม และนี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมแผนการสร้างงานของ Obama จึงต้องรวมมาตรการลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเอาไว้ด้วย
ในกรณีของสหรัฐฯ แล้ว การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่รัฐต่างๆ ก็จะช่วยแก้ปัญหาการว่างงานได้ด้วย เนื่องจากวิธีหลักที่รัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ ใช้ในการตัดลดงบประมาณคือการปลดคนออก แต่หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลกลาง ก็ไม่จำเป็นต้องทำให้คนตกงาน
Easing the road ahead
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ยังคงมีหลายวิธีที่งบประมาณของรัฐยังเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการว่างงานไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ปัญหาการว่างงานในชาติตะวันตกเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ก่อนหน้าที่ จะเกิดวิกฤติการเงินครั้งล่าสุดด้วย
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ บวกกับกระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะต่ำลดลง แต่แรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะแรงงานชาย กลับยังไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดแรงงานนี้
เมื่อความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงเพิ่มขึ้น ทำให้แผนการแก้ปัญหาการว่างงานใดๆ จะต้องรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาและการฝึกอบรมเข้าไว้ด้วย เพื่อเตรียมแรงงานในประเทศร่ำรวยให้พร้อมสำหรับงานในอนาคต และปลดเปลื้องภาระแบกรัฐบาลลงจากบ่าของผู้ประกอบการ
นโยบายที่จะแก้ปัญหาการว่างงานได้ดีที่สุด คือนโยบายที่เกี่ยวกับตลาดแรงงานโดยตรง โดยเฉพาะการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ ในสเปน 46% ของคนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปี ต้องตกงานเพราะระบบการว่าจ้างแบบ 2 ระดับ คือ พนักงาน “ถาวร” ซึ่งได้รับการปกป้องมากเกินไป กับแรงงาน “ชั่วคราว” ที่สามารถปลด ออกได้ง่ายๆ โดยพนักงานกลุ่มหลังนี้มักจะเป็นคนหนุ่มสาว
ชาติยุโรปควรเรียนรู้จากการ ยกเครื่องตลาดแรงงานของเยอรมนี ส่วนสหรัฐฯ ยังลงทุนน้อยเกินไปในการช่วยคนตกงานให้ได้งานอีกครั้ง Obama จึงควรจะเรียนรู้เรื่องนี้จากเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก ที่ยกเครื่องระบบช่วยหางานและปรับปรุงการฝึกอบรมอาชีพ
หากชาติร่ำรวยนำมาตรการเหล่านี้ไปใช้อย่างถูกต้อง การแก้ปัญหาการว่างงานก็คงใช้เวลาน้อยลง แต่การที่รัฐบาลชาติตะวันตกใช้เวลานานเกินไป กว่าจะหันมาจัดการกับปัญหาการว่างงานอย่างจริงจัง จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเจ็บปวด
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|