|
จากเมล็ดพันธุ์สู่ความมั่นคงทางอาหาร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) ร่วมกับสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APSA) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชีย (Asian Seed Congress 2011) ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “ความมั่นคงทางอาหาร” (Seed For Food Security) ระหว่างวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2554 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ พัทยา
การจัดการประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นประสบภัยสึนามิจึงไม่สามารถจัดได้ ประกอบกับประเทศไทย มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ในทุกด้าน ทั้งประสบการณ์จัดงาน สิ่งอำนวยความสะดวก และเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีชื่อเสียงของโลก ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในฐานะผู้นำตลาดอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของภูมิภาคด้วย
พาโชค พงษ์พานิช นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) ระบุว่า ภายในงานประชุมนานาชาติ ASIAN SEED CONGRESS 2011 จะมีการแสดงนิทรรศการ ความก้าวหน้าของ เทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์, ห้องเจรจาธุรกิจการค้าเมล็ดพันธุ์สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม, การประชุมด้านเทคนิควิชาการ, การประชุมเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา, การพัฒนาการค้าเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ, คุณภาพของเมล็ดพันธุ์, เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเมล็ดพืชผัก เทคโนโลยีข้าวพันธุ์ผสม (Hybrid Rice), เวิร์กชอป
“นอกจากนี้ยังมีไฮไลต์ของงานวิจัยเรื่อง “จากงานวิจัยเทคโนโลยีถอดรหัสจีโนม สู่การปรับปรุงพันธุ์พืช” โดย ดร.ไซมอน เดอฮูพ (Dr.Simon Jan de Hoop) นักวิชาการชั้นนำซึ่งนำเสนอ ข้อมูลความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจีโนมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องสำหรับการปรับปรุงพันธุ์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ประชากรโลก นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีอนาคตของการถอดรหัสจีโนม และ Molecular Breedind โดย ดร.ริวเกียง ลี (Dr.Ruiqiang Li) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีโนม เพื่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก DNA marker รวมทั้งความร่วมมือด้านวิชาการงานวิจัยระหว่างสถาบันการวิจัยกับภาคเอกชนและอื่นๆ อีกมากมาย”
การประชุมนานาชาติครั้งนี้จะช่วยเสริมความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยและก้าวสู่การเป็นฮับเมล็ดพันธุ์ของเอเชีย (Seed Hub of Asia) ที่ถือเป็นปัจจัยเกษตรและวัตถุดิบพื้นฐานที่สำคัญของชีวิตและเป็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศ อีกทั้งเมล็ดพันธุ์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำในการผลิตที่สำคัญอันดับแรกที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และมีความสำคัญในการสร้างรายได้ แก่เกษตรกรไทย และยังมีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและภัยพิบัติธรรมชาติ
พาโชคกล่าวถึง Seed For Food Security ซึ่งเป็นหัวข้อของการประชุมว่า “ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) หมายถึงการที่ประชาชนมีปริมาณอาหารเพียงพอต่อการบริโภค มีความหลากหลายของประเภทอาหารที่ได้รับ มีคุณภาพและความ ปลอดภัย รวมถึงมีการกระจายอาหารอย่างทั่วถึงเพื่อสามารถเข้า ถึงอาหารโดยง่าย หากวิกฤติด้านอาหารมาเยือน จำนวนผู้คนที่อดอยากหิวโหยจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ราคาอาหารที่เพิ่มสูง จนถึงขั้นขาดแคลนและปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมก็จะตามมา
สำหรับประเทศไทยควรเร่งดำเนินการเสริมสร้าง ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ด้วยการ
1. การจัดเขตพื้นที่เกษตรกรรมให้มีความสมดุล ระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหาร และพื้นที่ปลูกพืชเพื่อให้พลังงาน
2. การจัดการด้านน้ำให้มีคุณภาพและเพียงพอ
3. การพัฒนาคุณภาพการผลิตอาหาร
4. การสร้างแรงจูงใจในการทำการเกษตรและเพิ่มจำนวน เกษตรกรรุ่นใหม่
5. การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาค ประชาชนในการรักษาความมั่นคงทางอาหาร
6. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อาหาร
7. การจัดระบบเพื่อรองรับความมั่นคงด้านอาหารในภาวะ วิกฤติ เพื่อให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพและความปลอดภัยตามเกณฑ์ มาตรฐานกำหนด ควบคู่ไปกับมีต้นทุนดี มีราคาที่สามารถแข่งขัน ได้
ทั้งนี้จากผลสำรวจพบว่า ความสำเร็จในผลผลิตการเกษตร นั้น 40% มาจากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ส่วนอีก 60% ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ภัยธรรมชาติ ศัตรูพืชและการบำรุงดูแล ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ที่ดีจึงถือเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่คุณภาพของผลผลิตการเกษตรที่ดี เป็นส่วนช่วยพัฒนานวัตกรรมการเกษตรของไทย ทั้งในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพผลผลิตต่อไร่ และเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญของความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเมล็ดพันธุ์เป็นต้นธารของคุณภาพและปริมาณผลผลิตการเกษตรที่นำไปสู่อุตสาหกรรมอาหารที่หล่อเลี้ยงประชาชนและปศุสัตว์ เมล็ดพันธุ์จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมสร้างให้ประเทศไทยสู่การเป็นครัวของโลกที่มีคุณภาพ
“ประเทศไทยและสมาชิกอาเซียนกำลังนับถอยหลังเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) ในปี 2558 อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ที่นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ของความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงควรปรับตัว เพื่อรองรับการเป็นประชา คมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยการเร่งพัฒนานวัตกรรม เมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยี เกษตรในพืชเศรษฐกิจในจุดที่ยังด้อยกว่าคู่แข่ง”
ประเด็นปัญหาใหญ่ของการพัฒนาเมล็ดพันธุ์อยู่ที่การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่องานวิจัย การเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีปรับปรุงพันธุ์ขั้นสูง ที่ไทยเรายังล้าหลังมาก เพื่อการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yields) และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต ลดต้นทุนหรือตอบสนองความต้องการของตลาด การเผยแพร่เทคโนโลยีสู่เกษตรกร ลดการสูญเสียของผลิตผลจากศัตรูพืช และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และการพัฒนาองค์รวมของการ บริหารการจัดการคุณภาพในทุกขั้นตอนของกระบวนการเกษตร ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นต้นธารของผลผลิตเกษตรและคุณภาพอาหาร การเตรียมการเพาะปลูก การเพาะปลูก ดูแลบำรุงพืชเก็บเกี่ยว จนถึงโรงสี การจัดเก็บ บรรจุภัณฑ์ การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ทั้งนี้เพื่อให้ผลผลิตการเกษตรคงคุณภาพที่ดีและมีมาตรฐานความปลอดภัย
ปัจจุบันภาวะตลาดรวมสินค้าเมล็ดพันธุ์นั้น ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชไร่รายใหญ่ ด้วยปริมาณ การส่งออกในปี 2553 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 20,400 ตัน มูลค่า 7,287 ล้านบาท โดยส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปประเทศเวียดนามมากเป็นอันดับหนึ่งด้วยปริมาณ 9,500 ตัน มูลค่า 1,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยเมล็ดข้าวโพด เป็นพืชที่ส่งออกมาที่สุด รองลงมาเป็นพืชตระกูลแตง พริก และมะเขือเทศ เป็นต้น
เมล็ดพันธุ์ที่ประเทศไทยมีการส่งออกมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ 1. ข้าวโพด 2. ผักบุ้ง 3. ข้าวโพดหวาน 4. แตงโม 5. ถั่ว 6. มะเขือเทศ 7. สร้อยไก่ฟ้า 8. ถั่วฝักยาว 9. แตงกวา 10. เมล็ดพันธุ์อื่นๆ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|