|
ความเป็นไปของโมโตโรล่า
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากที่กูเกิลเข้าซื้อกิจการโมโตโรล่าในฝั่งของโมบิลิตี้ส์ หรือโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้โมโตโรล่าในประเทศไทยรีบออกมาแถลงข่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจน
โมโตโรล่า อิงค์ เป็นผู้ให้บริการและ อุปกรณ์สื่อสารมาเป็นเวลา 82 ปี มีธุรกิจหลัก 2 ส่วน คือ โมโตโรล่า โซลูชั่นส์ และโมโตโรล่า โมบิลิตี้ส์
โมโตโรล่า โซลูชั่นส์ผู้ผลิต บริการและจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เช่น ระบบการสื่อสารเสียงด้วยสายบนเครือ ข่ายแลนไร้สาย ระบบบรอดแบนด์ไร้สาย ระบบวิทยุส่วนตัว ระบบ โมบายล์คอมพิวตั้ง ในขณะที่โมโตโรล่า โมบิลิตี้ส์มุ่งเน้นจำหน่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่
เป็นเรื่องที่รับรู้กันดีว่าธุรกิจในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มมียอดขายตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทพยายามจะขายกิจการส่วนนี้ออกไป และได้ใช้เวลาหลายปีกว่ากูเกิลตัดสินใจเข้าไปซื้อกิจการในส่วนนี้ เพราะมีคนมองว่ากูเกิลต้องการมีธุรกิจฝั่งฮาร์ดแวร์ และโทรศัพท์จะช่วยต่อยอดระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
หลังจากกูเกิลตัดสินใจซื้อโมโตโรล่า โมบิลิตี้ส์ ทำให้โมโตโรล่า ประเทศไทยต้องออกมาบอกความชัดเจนถึงสถานะในปัจจุบัน
สุปราณี เกื้อกูลเงิน ผู้จัดการประจำประเทศไทย และผู้จัดการฝ่ายขาย สายงานบริการภาครัฐและความปลอดภัยสาธารณะ ระบบเครือข่ายไร้สาย บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารสูงสุดในไทยออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า บริษัทโมโตโรล่าในไทยจะยังอยู่ และเป็นผู้ให้บริการในฝั่งของโซลูชั่น ส่วนธุรกิจโมบิลิตี้ส์ได้โยกย้ายออกไปอยู่ในสิงคโปร์เกือบ 3 ปีแล้ว และส่วนนี้จะกลายเป็นของกูเกิลต่อไป
การออกมาแถลงข่าวในห้วงเวลานี้ เพื่อป้องกันความสับสน ทั้งในฝั่งของลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย เธอยืนยันว่าบริษัทได้เข้ามาในตลาดไทยกว่า 40 ปี และยังอยู่เพื่อทำธุรกิจต่อไป
ปัจจุบันพนักงานในบริษัทมีอยู่ 15-16 คน แบ่งโครงสร้างธุรกิจออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ จัดจำหน่าย บริการหลังการขาย และสนับสนุนด้านเทคนิค ขณะนี้บริษัทได้ขยายภาคบริการ เช่นการติดตั้ง บำรุงรักษา การพัฒนาระบบให้เหมาะสมกับธุรกิจ
โมโตโรล่าในประเทศไทยมีผู้บริหารหลัก 4 คน แบ่งเป็นฝ่ายขาย 3 คน คือ ศิวัจน์ โรจนเต็มศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายขาย กลุ่ม ธุรกิจโซลูชั่นส์สำหรับลูกค้าขนาดใหญ่ ทองพิพัฒน์ โปษยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายขาย กลุ่มธุรกิจ PCR และสุปราณี ส่วนสุรพล เวสสะโรจน์กิจ ผู้จัดการด้านการวางกลยุทธ์ กลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่
แต่ในส่วนของการจัดจำหน่าย บริษัทมีนโยบายขายผ่านตัวแทนจำหน่ายทั้งหมด และมีตัวแทนอยู่ในปัจจุบัน 20 ราย เช่น บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่น บมจ.เอ็มลิงค์ หรือบริษัทยูซีไอ เป็นต้น
โมโตโรล่าเปิดเผยว่าปัจจุบันมีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน เช่นกระทรวงมหาดไทย ซื้ออุปกรณ์ด้านความปลอดภัยสาธารณะ หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนลูกค้าโลจิสติกส์ เช่น DHL และ TNT
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สินค้าโมโตโรล่ามีภาพลักษณ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพงกว่าของคู่แข่งในตลาด ซึ่งสุปราณี ยอมรับเกี่ยวกับเรื่องนี้
แต่เธอพยายามอธิบายเพิ่มเติม เหตุที่สินค้ามีราคาแพง เพราะผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานระยะยาว ออกแบบทนทาน และเป็นสินค้าที่ใช้ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น วิทยุสื่อสารมีอายุการ ใช้งานมากกว่า 20 ปี
สิทธิและหน้าที่ของโมโตโรล่าในประเทศไทยได้มอบหมาย ให้ผู้บริหารคนไทยดูแลต่อไป แต่การสร้างภาพลักษณ์และการสื่อสารยังคงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสิงคโปร์เป็นหลัก เหมือนดังเช่นการแถลงข่าวทุกครั้งในประเทศจะมีเจ้าหน้าที่สิงคโปร์มาดูแลทั้งหมด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|