หัวเราะบนออนไลน์


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( ตุลาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

กระแสโลกสังคมออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาปฏิวัติวงการสิ่งพิมพ์ แม้แต่หนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ อายุ 38 ปี ก็ยังต้องปรับตัว

หนังสือพิมพ์และนิตยสารในประเทศไทยได้ปรับตัวในการนำข้อมูลข่าวสารขึ้นไปอยู่บนออนไลน์มาได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว และผู้อ่านก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเสพ ข้อมูลเหล่านี้ผ่านโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไอแพด รวมถึงเครื่องมือใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติ รับข้อมูลภาพหรือเสียงได้

ในงานเปิดตัวขายหัวเราะบนออนไลน์ ในรูปแบบอีแมกาซีน ณ อาคารเกตเวย์ ใจ กลางเมืองในสยามสแควร์ของกลุ่มสำนักพิมพ์ บรรลือสาส์น โดยมีวิธิต อุตสาหจิต เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารการ์ตูนขายหัวเราะ หรือ “บอกอวิติท” ที่มักจะถูกล้อเลียน ในหนังสืออยู่เสมอ ได้ออกมาพูดถึงการปรับตัวของหนังสือว่าเป็น ช่วงเวลาที่ลงตัวพอดีระหว่างเนื้อหาและเทคโนโลยีที่จะทำให้ผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดการ์ตูนขายหัวเราะไปอ่านบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างไม่เชื่องช้าอีกต่อไป

เพราะหลังจากที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่ายในประเทศไทยออกมาประกาศเดินหน้าให้บริการเทคโนโลยี 3G รองรับความเร็วสูงสุดถึง 42 Mbps ทำให้ผู้ที่มีคอนเทนต์อยู่ในมือ สามารถสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ

ขายหัวเราะ ได้ว่าจ้างบริษัท ไอทีเวิร์คส์ จำกัด ร่วมกันพัฒนาและเรียกบริการนี้ว่า “ขายหัวเราะ แฮพพลิเคชั่น” (Kai Hua Roh Happlication) ด้วยการนำเนื้อหาและใส่ลูกเล่นในแบบ ดิจิตอล ภาพขยับได้เพื่อเพิ่มความบันเทิงและสีสันในการอ่าน

ก้าวแรกในสังคมออนไลน์ของขายหัวเราะ บริษัทเลือกร่วมมือกับพันธมิตรไอโฟนและไอแพด ค่ายแอปเปิล โดยผ่านระบบ ปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส

การก้าวไปสู่ธุรกิจออนไลน์ของการ์ตูนขายหัวเราะ สะท้อน ให้เห็นว่าสื่อออนไลน์เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นและเติบโตไปพร้อม กับเทคโนโลยี และเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทต้องปรับตัว เพราะราคากระดาษมีต้นทุนสูงเพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระที่ต้องแบก อยู่ในปัจจุบัน

แต่การก้าวไปสู่โลกออนไลน์ บริษัทบอกว่าได้เห็นโอกาสที่มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 10 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ

อย่างไรก็ดี บริษัทอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงให้บริการดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่น “Kai Hua Roh” ฟรีในช่วงแรก แต่จะเก็บค่าบริการ ต่อไปในอนาคต ได้กำหนดค่าบริการต่อการดาวน์โหลด 1 ครั้ง จะเก็บค่าบริการประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับรายได้ของบริษัทจะได้มาจาก 2 ช่องทาง คือ บริการดาวน์โหลดเนื้อหา และขายโฆษณาออนไลน์ ซึ่งจะปรากฏ สินค้าเหมือนในหนังสือ เพราะมองว่าเม็ดเงินที่ใช้โฆษณาของสินค้าแบรนด์ต่างๆ ในสื่อดิจิตอลเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 30-40 ต่อปี แสดงให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ของคนอ่านที่เปลี่ยนจากสิ่งพิมพ์มาสู่ดิจิตอลเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

นอกจากจะขายการ์ตูนขายหัวเราะแล้ว บริษัทมีแผนจะนำหนังสือในเครือเข้าไปอยู่ในออนไลน์เช่นกัน หนูหิ่น อิน เดอะซิตี้ ปังปอนด์ หรือสาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่

การเปิดตัวครั้งสำคัญของหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะรายสัปดาห์ เล่มละ 15 บาท ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ ในวันนั้น จึงมีนักเขียนดังของการ์ตูนมาร่วมเปิดงาน เช่น ต่าย, ต้อม หรือเอ๊าะ รวมทั้งภรรยาของบอกอวิธิต

แต่บุคคลสำคัญที่เข้าร่วมในงานนี้อย่างเงียบๆ ที่คอยเฝ้ามองอยู่บริเวณด้านหลังของหน้าเวทีก็คือ บรรลือ อุตสาหจิต บิดาของบอกอวิธิตผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์คนแรก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.