สุระ จันทร์ศรีชวาลา...ผู้ผ่านมหาภารตะยุทธมาอย่างเชี่ยวชาญแล้ว


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อถามสุระ ว่าเขาเหนื่อยหรือเปล่าทุกวันนี้?

หนุ่มวัยกลางคนพ่อของลูก 7 คน ที่กินอาหารมังสวิรัติ ตอบสวนออกมาอย่างมีความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นอย่างสูงว่า “ผมยัง enjoy อยู่ครับ”

ถ้ามีคนเจอสุระแล้วรู้ว่าคนที่สูงประมาณ 165 เซนติเมตร พร้อมน้ำหนักตั้งเจ็ดสิบกว่ากิโล ดังคนที่นั่งทับทรัพย์สินและหนี้สินหลายต่อหลายพันล้านบาทแล้วคงจะไม่มีใครเชื่อ

เพราะสุระไม่ได้แสดงว่าตนเองจะยิ่งใหญ่แบบนั้นเลย

ไม่ว่าการแต่งเนื้อแต่งตัว การใช้เสื้อผ้าที่เป็นของในประเทศ ตลอดจนรถยนต์ญี่ปุ่นขนาดกลางที่ดูค่อนข้างเก่า

“ถ้าคุณสุระไม่ใส่เสื้อนอกผูกเนกไทก็จะไม่ต่างไปกับแขกซิกข์ ทั่ว ๆ ไปเลยแม้แต่น้อย” คนช่างสังเกตที่ปากอยู่ไม่สุขคนหนึ่งพูดกับเรา

สุระ จันทร์ศรีชวาลา มีชื่อเต็มว่า สุรอมัตซิงห์ ตระกูลของสุระไม่ใช่แขกที่ร่อนเร่พเนจรมาจากชมพูทวีปแล้วมาโม่เหงื่อและรีดดอกเบี้ยเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับลูกหลานภายหลัง

“พ่อสุระ เขาขายผ้าจริง แต่เขาก็เป็นกัมประโดเก่าของธนาคารกรุงศรีอยุธยา พวกนี้เล่นที่เล่นทางมานานแล้ว” นายห้างคนหนึ่งแถวสำเพ็งที่เคยวิ่งเล่นกับสุระ เมื่อวัยเด็กเป็นพยานให้

ตระกูลสุระ เป็นตระกูลที่มี connection พอสมควรที่พอจะเชิดหน้าชูตาได้

“คุณพ่อผมรู้จักกับท่านจอมพลประภาสมานานแล้ว และผมก็ได้รับความปรานีจากท่านรับผมเป็นบุตรบุญธรรม” สุระเล่าให้คนใกล้ชิดฟังครั้งหนึ่ง

เมื่อพี่ชายคนโตของสุระที่ชื่อสุดาจันทรซิงห์ตาย สุระในฐานะที่เป็นน้องคนถัดมาก็ต้องรับภาระในการดูแลตระกูลให้เจริญเติบโตต่อไป

ในวัยเพียงแค่ 20 ต้น ๆ ขณะที่คนวัยขนาดนั้นอาจจะมีความสุขกับการสำมะเลเทเมาและร่าเริงไปกับความโลกีย์ตลอดจนความสวยงามของอิสตรีที่เป็นสัจธรรมของชีวิตคนหนุ่ม สุระกลับเริ่มมีครอบครัว มีบุตรและทำงานหนักเพื่อให้จันทร์ศรีชวาลาเจริญเติบโตต่อไปในภายหน้า

“คุณสุระเป็นคนทำงานหนักมาตั้งแต่จิ๋มเป็นเลขาให้มาสิบปีนี้ไม่เคยเห็นคุณสุระพักเลย และก็ไม่เคยมีวันไหนที่จะได้กลับบ้านก่อนทุ่มหนึ่ง” จิ๋มเลขาคู่ใจสุระเล่าถึงนายให้ฟัง

ว่ากันว่าเขาทำงานทุกวันไม่มีวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ ฯลฯ

สุระเริ่มรู้จักซื้อขายที่มาตั้งแต่สิวหนุ่มเพิ่งจะออกมาบนใบหน้า!

“เรื่องการเล่นที่นี้ต้องยกให้สุระ เพราะเขาซื้อมาขายไปตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม” คนเก่าแก่ที่เคยค้าขายกับสุระยืนยันในวิทยายุทธ์ด้านที่ดินของสุระให้เราฟัง

สำหรับสุระแล้วไม่มีอะไรในชีวิตการค้าของเขาที่เขาจะหลงใหลได้มากกว่าที่ดิน

“ธุรกิจที่ดินเป็นธุรกิจที่ให้ผลประโยชน์มากที่สุดและ cover ดอกเบี้ยได้เร็วที่สุด หากเกิดภาวะการซบเซาใน 3-5 ปี นี้มีแต่ธุรกิจที่ดินอย่างเดียวที่จะรับภาระเรื่องดอกเบี้ยไหวและคุ้มที่สุด” สุระเลกเชอร์ให้เราฟังครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมาแล้ว

เหมือนสายตระกูลบางแห่งโตขึ้นมาเพราะโรงเหล้า หรือบางตระกูลอาจจะโตขึ้นมาเพราะการค้าพืชผล สุระก็โตขึ้นมาพร้อมกับที่ดิน

แต่ทุกอย่างมันก็มีทั้งเสียงหัวเราะและความขมขื่น

ที่ดินบางครั้งก็ให้กำไรกับสุระอย่างอิ่มเอมใจ

แต่บางครั้งมันก็ทำให้เขาต้องชอกช้ำใจเหมือนกัน

สุระเคยขอกู้เงินสุขุม นวพันธ์ เพื่อเอามาซื้อที่ดินที่นวธานีมาพัฒนา

ในที่สุดจะเป็นเพราะโครงการมันสวยหยดย้อยหรือเป็นเพราะสุขุมเมตตาปรานีสุระอย่างไรก็ไม่ทราบ สุขุมก็ขอเข้าหุ้นกับสุระในโครงการนี้

น้ำผึ้งพระจันทร์ของสองสุนี้ก็ดำเนินไปด้วยดี จนกระทั่งที่ดินนวธานีถูกพัฒนาขึ้นมาจนจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง มีสนามกอล์ฟที่เริ่มจะให้เห็นสีเขียวของหญ้า

เหมือนฟ้าผ่ากลางวัน ธนาคารทหารไทยเรียกเงินกู้ที่สุระและสยามวิทยากู้ไปคืนอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

สุระวิ่งหัวหมุนหัวปั่น อาจจะเป็นเพราะสุระเวลานั้นยังไม่รู้จักเหน่ง (ภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์) แห่งแหลมทองหรือตามใจ ขำภโต ก็ยังคงเป็นผู้จัดการอยู่กระจกฮาซาฮี ยังไม่ได้กระโดดเข้ามาในวงการยุทธจักร

เส้นตายที่ธนาคารขีดไว้ให้ ทำให้สุระไม่มีทางเลือกนอกจากทำตามคำแนะนำของคนบางคนว่าให้ขายหุ้นส่วนที่ลงทุนกับสุขุม นวพันธ์ เสีย เพื่อจะได้เงินมาใช้ธนาคารทหารไทยที่มีสุขุมเป็นผู้จัดการใหญ่ในช่วงนั้น

สุระก็เลยต้องขายให้สุขุม นวพันธ์ เป็นเจ้าของนวธานีแต่ผู้เดียว โดยสุระยังมีหุ้นเหลืออยู่เล็กน้อยไว้ไม่ให้น่าเกลียด

เงินที่ได้จากการขายหุ้นไปนั้นธนาคารก็เห็นใจสุระแทนที่จะให้เป็นเงินสด สุระมาใช้เป็น working capital กลับไถ่ถอนที่ดินของสุระมาให้แทน เล่นเอาสุระต้องกัดฟันกรอดวิ่งเอาที่ไปหมุนหาเงินมาอีก

ว่ากันว่าที่ดินที่นวธานีนี้เล่นเอากุรดิษฐ์ น้องชายสุระถึงกับช็อกเข้าโรงพยาบาล

ฉะนั้นสุระที่รบกับสมบูรณ์ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนอย่างเขารบกับธนาคาร

เผอิญที่ธนาคารทหารไทยมีคนชื่อสมหวัง ภูวเศรษฐ ที่เป็นคนสนิทของสุขุมที่สงสารและเห็นใจสุระ

นอกจากงานธนาคาร สมหวังเคยทำธุรกิจอาบอบนวด แถวพัฒนพงษ์ แล้วยังสนิทสนมกับภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ แห่งธนาคารแหลมทอง สมหวังเห็นว่าสุระเป็นคนตั้งใจทำงานจริงก็เลยดึงเข้าไปหาภิวัฒน์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของมหาภารตะยุทธครั้งที่สองที่สุระเองก็คงไม่ได้คาดคิดว่าตัวเองอาจจะต้องเจอในปลายทศวรรษนี้

ในเรื่องโชคของสุระนั้นบางครั้งก็เป็นโชคในความเคราะห์เหมือนกัน

หมู่บ้านสวนสนที่สุระวางเอาไว้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์นั้นก็เป็นเรื่องของโชคในคราวเคราะห์เหมือนกัน

กุรดิษฐ์ผู้น้องครั้งหนึ่งระหว่างเดินทางไปต่างประเทศได้เจอฝรั่งคนหนึ่งชื่อ เลปเปอร์บนเครื่องบิน

กุรดิษฐ์ภูมิใจมากที่ได้แนะนำให้ฝรั่งตาน้ำข้าวคนนั้นรู้ว่าตนเองนี้มีบริษัทสยามวิทยาและสยามกอล์ฟ (ยูนิโก้)

แต่กุรดิษฐ์ก็ต้องอ้าปากค้างเมื่อฝรั่งคนนั้นบอกว่าเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเซนต์บิลานในอังกฤษ มีเหมืองทองแดงในออสเตรเลีย แม้แต่ในเมืองไทยก็ยังมีกิจการที่ดินคือหมู่บ้านสวนสน มีเหมืองแร่ เรือขุดถึง 3 แห่ง แต่ละแห่งขุดได้เดือนละร่วมพันหาบ

มันเหมือนคันเร่งน้ำมันกับคาบูเรเตอร์ที่เหยียบคันเร่ง คาบูเรเตอร์ก็ฉีดน้ำมันให้เครื่องวิ่งทันที

สยามวิทยาก็เลยลงทุนร่วมกับฝรั่งทีเด็ดคนนั้นโดยลงหุ้นไป 40 ล้าน แต่ฝรั่งนั้นใช้บริษัทเซนต์บิลานในฮ่องกงเป็นผู้บริหาร

เมื่อรักกันง่ายมันก็น่าจะเกลียดกันง่าย

สุระและสยามวิทยาแจ้งจับนายเลปเปอร์ข้อหาฉ้อโกง และฟ้องศาลเรียกค่าเสียหาย เพราะสุระพบว่าฝ่ายตรงข้ามผิดข้อตกลงหลายอย่าง เช่น การขอคิดค่า management fee นี้ ไม่ได้รับการยินยอมจากกรรมการ หรือการผลิตแร่ก็ไม่ได้ตรงตามเป้าหมาย และในการประชุมผู้ถือหุ้นที่ดุสิตธานี สุระก็พบว่างบดุลที่เสนอมานั้นเป็นงบดุลที่ไม่ถูกต้อง พอเรื่องถึงศาล สุระก็พบอีกว่าเอกสารการว่าจ้างให้มี management fee นั้นได้มีการทำขึ้นมาใหม่

นายเลปเปอร์และนายสโตนคู่หูก็เลยต้องเข้าไปนอนในห้องขังของกองปราบ ทั้ง ๆ ที่สถานทูตอังกฤษยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ก็ยังไม่สำเร็จ

ในที่สุดก็มีการประนีประนอมกัน โดยมีการแบ่งทรัพย์สินและเลิกราต่อกัน โดยตีราคาที่ดินหมู่บ้านสวนสนและเหมืองแร่อีก 3 แห่ง เป็นเงิน 280 ล้านบาท

กุรดิษฐ์ก็ไปขอเงินได้มาจากธารินทร์ นิมมานเหมินท์ มาซื้อไปเสีย

ทุกวันนี้ที่ดินหมู่บ้านสวนสนถ้าขายวันนี้ในราคาปัจจุบันก็มีมูลค่าเกือบพันล้านบาท ยังไม่นับเหมืองอีก 3 แห่ง

ก็นับว่าเป็นโชคในคราวเคราะห์จริง ๆ

ในเรื่องโชคด้านที่ดินนั้นสุระเองก็มีดวงด้านนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ครั้งหนึ่งสุระไปซื้อที่หลุดจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเอกมัยกับลาดพร้าวเป็นแปลงใหญ่ หลังจากนั้นไม่นาน กรุงเทพมหานครก็ตัดถนนจากแยก อสมท. ไปรามคำแหงโดยเชื่อมต่อกับวัดเทพลีลา

ส่วนที่สนามกอล์ฟยูนิโก้นั้นสุระก็ซื้อมาจากอดีตอธิบดีกรมที่ดิน ศักดิ์ ไทยวัฒน์ ในราคาเพียง 60 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งเขาก็กว้านซื้อที่ข้าง ๆ และข้างหน้าเพิ่มเติมอีกในราคาที่ถูกมาก

การเริ่มเข้ามา Take over ซื้อบริษัทต่าง ๆ นั้นสุระเริ่มทำเป็นกิจจะลักษณะจริง ๆ โดยเริ่มจากไทยประสิทธิประกันภัย และบริษัทยนตรภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเข้ามาที่ฉลาดมาก เพราะซื้อหนึ่งก็ได้อีกหนึ่งแห่งทันที เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทนี้เป็นเจ้าของซึ่งกันและกัน

กิจการประกันชีวิตและประกันภัยก็เป็นสถาบันระดมทุนได้ประการหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้นการเข้าไปในไทยประสิทธิประกันภัยของสุระ สำหรับนักลงทุนทั่วไปก็จะไม่มีใครคิดว่าเป็นการเดินหมากที่ผิด

สำหรับสุระแล้วการซื้อไทยประสิทธิฯ ซึ่งก็มีที่ดินเป็นทรัพย์สินอยู่พอสมควร นั้นเป็นเพียงแต่หมากชิ้นเดียวใน 2 ชิ้นที่เขาจ้องอยู่

หมากอีกชิ้นที่ลึกกว่านั้นและน้อยคนจะรู้ อยู่ตรงที่ไทยประสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทยนตรภัณฑ์ ซึ่งยนตรภัณฑ์คือตัวยักษ์ที่นอนหลับอยู่ ถึงแม้ตามงบดุลบัญชีของยนตรภัณฑ์จะขาดทุนก็ตาม (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2525 ขาดทุนสะสม 232 ล้านบาท) แต่ยนตรภัณฑ์เป็นเจ้าของที่ดินชิ้นงาม ๆ ที่นักเล่นที่อย่างสุระเห็นก็ต้องน้ำลายไหล เช่น ที่ทำการของบริษัทยนตรภัณฑ์ และสาขาไทยประสิทธิประกันภัยตรงถนนสี่พระยาใกล้ถนนนเรศ ที่ดินกับตัวอาคารก็ร่วมร้อยกว่าล้านเข้าไปแล้ว ปัจจุบันธนาคารเอเชียเช่าไว้เป็นสำนักงานใหญ่ เพียงแต่ค่าเช่าก็เกือบพอจะส่งดอกเบี้ยของการขาดทุนได้สบาย ๆ นอกจากนั้นยนตรภัณฑ์ยังเป็นเจ้าของที่ดินผืนงามที่กำลังจะสร้างเป็นออฟฟิศคอนโดมิเนียมในซอยอโศกอีก ที่แถวต่างจังหวัดของยนตรภัณฑ์ก็มี เช่น แถวอุดรธานี นครราชสีมา หาดใหญ่ ฯลฯ

สรุปแล้ว การเข้ามาไทยประสิทธิประกันภัยของสุระ เป็นหมากที่เดินได้ถูกต้องที่สุด

นอกจากนั้นแล้วบริษัทยนตรภัณฑ์ยังเป็นเจ้าของที่ดินโรงแรมรามาการ์เด้นตั้งอยู่ปัจจุบัน โดยสุระขายที่ดินผืนนี้ให้กับบริษัทบ้านและที่ดินไทย ซึ่งมีสุธี นพคุณ และวัฒนา ลัมพะสาระเป็นผู้บริหารในราคาหนึ่ง แล้วบริษัทบ้านและที่ดินไทยก็ขายที่นี้ให้กับรามาทาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่มีสุธี นพคุณ เป็นผู้บริหารในอีกราคาที่บวกเข้าไปเกือบ 300% ส่วนเกินที่กำไรกันนี้จะแบ่งกันระหว่างใครบ้างก็คงจะรู้กันอยู่ไม่กี่คนระหว่างผู้บริหารตึกดำในยุคนั้น

สุระนั้นพอจะพูดได้ว่าเป็น master of strategy ส่วนกุรดิษฐ์นั้นเป็นคนหาเงินและประกบผู้ใหญ่

“กุรดิษฐ์เป็นคนใจร้อนชอบจะชนลูกเดียว อารมณ์หงุดหงิดง่าย” คนรู้จักกุรดิษฐ์ดีเล่าให้ฟัง

ยังมีตระกูล จันทร์ศรีชวาลา อีกคนที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักคือ สุธรรม จันทร์ศรีชวาลา

“สุธรรมเป็นน้องสุระและมีหน้าที่ดูแลกิจการพวกนี้ในฮ่องกง รวมทั้งดำเนินกิจการผูกขาดการขายน้ำจืดให้กับเรือเดินทะเลที่จอดในฮ่องกง ในบรรดาพี่น้องทั้งหมดมีสุธรรมคนเดียวที่น่าคบที่สุดเพราะรู้สึกว่าจะจริงใจมากที่สุด”

เพื่อนฝูงของสุระ กุรดิษฐ์ และสุธรรมเล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

สองสามปีที่ผ่านมานี้พอจะเรียกได้ว่าเป็นระยะเวลาที่สุระและสยามวิทยาต้องฝ่าคลื่นลมอย่างแรงมาตลอด

ธุรกิจของสุระคือธุรกิจที่ต้องมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้นักลงทุนกล้าที่จะลงทุน ซึ่งก็หมายความถึงการที่จะขายที่ได้

เมื่อภาวะเศรษฐกิจมันเลวร้ายมาตลอดใน 2-3 ปีที่ผ่านมา สุระก็คงจะสู้ได้เพียงแต่ต่อชีวิตตนเองให้รอดไปชั่วคราวก่อนเพื่อรอวันฟ้าสีทองผ่องอำไพที่จะมีคนมาซื้อที่ดินของเขา

แต่ไม่ว่าจะยากและลำบากเพียงใดก็ตาม สุระก็ยังคงไม่ยอมให้มีการเสียชื่ออย่างมาก

“สำหรับพวกสุระแล้วดอกเบี้ยธนาคารจะค้างหรือขาดส่ง หรือเช็คสยามวิทยาจะเด้ง หรือบริษัทในเครือจะโดนฟ้องเรียกหนี้อย่างไรก็ตามไม่สำคัญ ขอให้สถาบันการเงินของเขาซึ่งมีมิดแลนด์ เชียงใหม่ทรัสต์ ยูนิโกไฟแนนซ์ และเครดิตฟองซิเอร์ยูนิโก้ ไม่เสียชื่อเป็นใช้ได้” คนในวงการธุรกิจพูดให้ฟัง

อาจจะเป็นเพราะตัวสุระเองก็แคร์ในเรื่องนี้มาก “ผมจะไม่มีวันยอมให้คนที่ไว้ใจผมเอาเงินมาฝากกับสถาบันเงินทุนของเราเดือดร้อนเป็นอันขาด ถึงแม้ผมจะต้องขายทุกอย่างที่ผมมีอยู่เพื่อไม่ให้คนที่มาฝากเงินกับผมต้องเดือดร้อนแล้ว ผมก็พร้อมที่จะทำ สุระเคยพูดกับเรามาครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี่เอง

สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่แล้วสุระมักจะมีโชคและเคราะห์เสมอ คนที่มีพร้อมและสามารถหนุนสุระได้เมื่อมีโอกาสที่สุระและน้อง ๆ ได้เข้าใกล้ชิด

แล้วก็มักจะเป็นต้องใช้ความเมตตากรุณาพวกเขาเป็นพิเศษเสมอไป แต่สุระและพวกก็มักไม่มีโชคในเรื่องผู้ใหญ่ที่สามารถจะหนุนเขาได้นานพอที่จะให้เขาได้ลอยตัวจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภิวัฒน์ (เหน่ง) นันทาภิวัฒน์ แห่งธนาคารแหลมทองที่สิ้นชีวิตไปเมื่อยังหนุ่มแน่นหรือตามใจ ขำภโต แห่งธนาคารกรุงไทย ที่หมดอำนาจวาสนาในขณะที่สุระกำลังต้องการตามใจอย่างหนัก

แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม “สุระเป็นคนที่คงเส้นคงวาในเรื่องของการคบคนมาก โดยเฉพาะกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยให้ความช่วยเหลือเขา ไม่ว่าผู้ใหญ่คนนั้นจะหมดอำนาจวาสนาบารมีไปนานแค่ใดก็ตาม แต่สุระก็จะไม่มีวันลืมหรือละเลยในการไปคารวะ แม้กระทั่งงานศพของญาติผู้ใหญ่คนนั้นก็ตาม เขาจะไปให้เห็น และแสดงให้รู้ว่าเขามาเพราะเขายังเคารพอยู่” คนที่รู้จักสุระดีเล่าให้ฟัง

ความไม่มีพิธีรีตองและความสมถะจนดูไปว่าขี้เหนียวของสุระนั้นเป็นที่รู้กันอยู่

บ่อยครั้งไปที่สุระรับการเคารพของยามบริษัทด้วยการไหว้ตอบอย่างนอบน้อม และก็มีอีกมากที่เขาจะเอาใจใส่พนักงานอย่างสุภาพนุ่มนวล

“คุณสุระเป็นคนพูดจากับพนักงานอย่างสุภาพและให้เกียรติพนักงานของเขามา” คนของบริษัทในเครือพูดให้ฟัง

ในวัย 43 ปี สุระที่มีลูกคนโตอายุ 21 และจบจาก New York University พร้อมกับลูกคนรอง สุระได้สู้มาตลอดในสังคมธุรกิจของบ้านเราที่ต้องใช้ไหวพริบ ปฏิภาณ การตุกติกในวงการค้าและธุรกิจ

20 กว่าปีที่คนคนนี้ได้ฟาดฟันเปิดแนวรบ พ่ายแพ้หรือได้รับชัยชนะมาจากการต่อสู้ ไม่ได้ทำให้เขาท้อใจเลย นอกจากนั้นเขายังบอกว่า เขายัง enjoy กับมันอยู่

นาทีนี้สุระบอกกับเราว่าอยากจะขายทรัพย์สินออกไป ถึงบางครั้งบางกรณีจะขาดทุนบ้างก็จะยอมเพราะตัวเองไม่ต้องการเป็นหนี้ใครอีกแล้ว

สำหรับศัตรูของสุระนั้นก็น่าจะระวังไว้ เพราะขนาดสุระมีหนี้สินล้นพ้นตัวขนาดนี้ก็ยังสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับฝ่ายตรงข้ามแบบกินไม่ได้นอนไม่หลับ

แล้วถ้าวันหนึ่งสุระตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองไม่มีหนี้กับใครอีกแล้ว อย่าว่าแต่ศัตรูของสุระจะปวดหัวเลย แม้แต่พระศิวะเองก็อาจจะต้องระวังตัวเพราะเขาอาจจะล้างแค้นสวรรค์ในฐานะที่ทำให้เขาลำบากมาใน 2-3 ปีนี้ด้วยการซื้อสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาเพื่อขายต่อก็ได้

และเมื่อถึงวันนั้นแล้วก็จะต้องมีเรื่องที่เราจะต้องเขียนถึงสุระอีกครั้งก็ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.