เกือบ 2 ปีมานี้ทั้งสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และสุระ จันทร์ศรีชาลา ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการกรำศึกระหว่างกันและกันอย่างมาก ๆ
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 ผู้ถือหุ้นทางฝ่ายสุระฟ้องแบงก์แหลมทองกับสมบูรณ์เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งคดีหมายเลขดำที่ 2205/2527 ขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมกรรมการแบงก์แหลมทองที่ 388/2526 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำหุ้นออกใหม่ขายให้แก่บุคคลภายนอก
(รายละเอียดโปรดอ่านจาก “ผู้จัดการ” ฉบับที่ 19 ปีที่ 2 ประจำเดือนมีนาคม
(2528)
วันที่ 29 มีนาคม 2527 ฟ้องอาญาอันเป็นผลสืบเนื่องจากคดีแรกอีก 2 คดี คือคดี
หมายเลขดำที่ 6233/2537 ข้อหาผิดพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
บริษัทฯ และคดีหมายเลขดำที่ 6236/2537 ข้อหาปลอมแปลงเอกสาร (อ่านจาก “ผู้จัดการ”
ฉบับเดียวกัน)
ก็อาจจะเรียกได้ว่าทั้ง 3 คดีนี้เป็นยกแรกของแนวรบทางด้านกฎหมายระหว่างฝ่ายสุระกับฝ่ายสมบูรณ์
ซึ่งมีผลลงเอยด้วยการถอนฟ้องตามสัญญาประนีประนอมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2527
โดยชาตรี โสภณพนิช ทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้
“ผู้จัดการ” เคยวิเคราะห์เบื้องหลังการประนีประนอมมาครั้งหนึ่งแล้วว่า
ปัญหาพื้นฐานก็คือสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ นั้นถูกบีบด้วยข้อหาอาญาเรื่องปลอมแปลงเอกสาร
สมบูรณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อขณะนั้น ม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องยินยอมทำข้อตกลงประนีประนอมกับสุระเพื่อให้คดีที่คาราคาซังได้จบ ๆ กันไป
ถ้าพูดถึงการยุติข้อขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว ก็คงจะเป็นคนละเรื่อง
“ผมว่ามันก็ไม่ต่างจากคลื่นลมที่สงบชั่วคราวนั่นแหละครับ” แหล่งข่าวของ
“ผู้จัดการ” เคยพูดไว้นานแล้ว
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกบางคดีที่ไม่สามารถถอนฟ้องได้เพราะเผอิญเป็นอาญาแผ่นดิน มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์
เพราะฉะนั้นที่คิดว่ายุติจริง ๆ แล้วก็คือไม่ยุติ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2528 ที่ถือกันว่าเป็นวัน “วาเลนไทน์”
ที่จะส่งความรักให้แก่กันและกัน พนักงานอัยการในฐานะโจทก์ก็จัดการ “ส่งความรัก”
ให้ธนาคารแหลมทองด้วยการฟ้องอาญาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1569/2528 ข้อหาออกหุ้นใหม่ให้กับบุคคลภายนอกโดยไม่ออกหนังสือชี้ชวนให้ประชาชนเข้าชื่อถือหุ้น
ซึ่งก็เป็นการดำเนินคดีตามที่นายประชา ภูมิศิริกุล เป็นผู้แจ้งความไว้กับตำรวจกองปราบ และต่อมานายประชาก็เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย
ล่วงเข้าวันที่ 24 ธันวาคม 2528 ศาลอาญาพิพากษาเป็นคดีหลายเลขแดงที่ 9378/2528
ว่าจำเลยทำผิดจริง แล้วก็ลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 8 หมื่นบาทจากโทษสูงสุด
1 แสนบาท
ฝ่ายจำเลยคือแบงก์แหลมทองยื่นอุทธรณ์
และก่อนหน้าเพียงไม่กี่เดือนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษาคดีที่ว่านี้ รอยร้าวที่พยายามประสานกันมาแล้วครั้งหนึ่งก็เริ่มปริอีกอย่างเงียบ ๆ โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมที่ทำขึ้น
วันที่ 31 ตุลาคม 2528 นิคม รัตนคำแปง (ฝ่ายสุระ) เลยต้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารแหลมทองกับพวกรวม 43 คนเป็นจำเลยตามคดีหมายเลขดำที่ 23128/2528 ศาลแพ่งขอให้ศาลสั่งเพิกถอนใบหุ้นที่ธนาคารขายให้กับบุคคลภายนอกอย่างไม่ถูกต้อง
(ซึ่งก็หมายถึงหุ้นจำนวน 2 แสนหุ้นที่ธนาคารแหลมทองขายให้กับกลุ่มวานิช ไชยวรรณ
และกลุ่มปาล์มโก้ รวมทั้งลูกหนี้ซึ่งรวมแล้วกว่า 9 แสนหุ้น)
ถึงขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์
คดีนี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2529 ก่อนหน้าการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นธนาคารแหลมทองเพียงวันเดียว
ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้ศาลห้ามจำเลยที่ 15 ถึงจำเลยที่
43 ใช้สิทธิของตนในฐานะผู้ถือหุ้น
แต่ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2528 ประชา ภูมิศิริกุล ฟ้องสมบูรณ์คดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารและข้อหาลงรายการเท็จ 2 คดี ซึ่งก็เคยฟ้องและถอนฟ้องกันมาครั้งหนึ่งแล้ว เพียงแต่โจทก์คนละคนกันเท่านั้น
ทั้ง 2 คดีนี้ศาลสั่งมีมูลเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2529
“และก็จะมีตามมาอีกคดีที่ทางฝ่ายสุระจะฟ้องขอให้ยกเลิกมติการประชุมสามัญประจำปีของผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529 ส่วนก่อนหน้านี้ก็มีคดีที่ธนาคารแหลมทองฟ้องล้มละลายบริษัทสยามวิทยาที่อึกทึกครึกโครมมาก ๆ นั่นแหละ...” แหล่งข่าวที่อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์รายงานให้ฟัง
ถ้าเกือบ 2 ปีมานี้ ทั้งสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และสุระ จันทร์ศรีชวาลา ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการกรำศึกกันอย่างมาก ๆ แล้ว
ไพศาล พืชมงคล กับสุวัฒน์ พฤกษเสถียร ก็คงไม่ต่างจาก 2 คนนี้เท่าไหร่?
ไพศาล พืชมงคล นั้นมีฐานะเป็นที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
ส่วนสุวัฒน์ พฤกษเสถียรก็เป็น “ทนายคู่ใจ” ของฝ่ายสุระ จันทร์ศรีชวาลา
ไพศาลเป็นหัวหน้าสำนักงานทนายความ ชื่อ “ธรรมนิติ”
สุวัฒน์นั้นก็มีสำนักงานชื่อ “ธรรมประสิทธิ” เป็นชื่อที่นำหน้าด้วย
“ธรรม” เหมือน ๆ กัน
และทั้งคู่ก็เรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกันเสียอีกด้วย
“ไพศาลพอจบจากธรรมศาสตร์เขาก็มาอยู่ที่ธรรมนิติเลย และก็ก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการธรรมนิติ
ส่วนสุวัฒน์เคยทำงานกับ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) มาก่อน
4 ปี ฝึกทนายที่สำนักงาน อ. เมธีของอาจารย์เอื้อ บัวสรวง อีก 2 ปีจึงได้เข้ามาทำงานที่บริษัทไทยประสิทธิประกันภัยเมื่อราว ๆ ปี 2519 ก่อนหน้าที่สุระจะเข้ามาเป็นเจ้าของไทยประสิทธิ และมารับผิดชอบธรรมประสิทธิตั้งแต่แรกที่ตั้งขึ้น
ซึ่งก็ประมาณปีกว่า ๆ มานี้เอง” คนที่รู้จักทั้งไพศาลและสุวัฒน์เล่ากับ
“ผู้จัดการ”
สืบสาวเรื่องราวลึกลงไปอีกพบว่าทั้งไพศาลและสุวัฒน์เป็นคนเด่นที่เรียนดีด้วยกันทั้งคู่
สุวัฒน์ พฤกษเสถียรนั้นเมื่อสอบผ่านได้เข้าทำงานที่ ธกส. ก็มีคะแนนเป็นอันดับ
1 จากการเข้าอบรมเป็นพนักงานสินเชื่อ เคยสอบติดคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์แต่ไม่ได้เรียนเพราะต้องคร่ำเคร่งกับการฝึกทนายอย่างหามรุ่งหามค่ำ
ส่วนไพศาล พืชมงคล ก็สอบผ่านวิชา “วิแพ่ง” ด้วยคะแนน 84 เปอร์เซ็นต์มาแล้ว
เป็นต้น
“คือยุคนั้นนักกฎหมายเก่งหรือไม่เก่งเขาวัดกันตรงวิชานี้ ถ้าใครเกิน
70 เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่ายอดมาก” ทนายชื่อดังคนหนึ่งบอกกับ “ผู้จัดการ”
ก็คงจะพูดได้เต็มปากว่าต่างฝ่ายต่างมีนักกฎหมายมือแน่ ๆ เป็นขุนศึกนั่นแหละ
โดยที่สงครามใหญ่ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือก็อยู่ที่คดีที่จะต้องพิสูจน์กันต่อหน้าศาลว่า
หุ้นจำนวน 2 แสนหุ้น (ของวานิชกับปาล์มโก้ ซึ่งจะมีผลไปถึงลูกหุ้นที่เมื่อรวมกันแล้วกว่า
9 แสนหุ้น) นั้นจะเป็นโมฆะหรือไม่โมฆะ
สุวัฒน์ พฤกษเสถียร พูดเป็นนัย ๆ กับ “ผู้จัดการ” ว่า “ผมมีหลักในการทำคดีคืออันไหนผมไม่แน่ใจเห็นว่าสู้ไปจะไม่ชนะ ผมจะแนะนำลูกความว่าอย่านำคดีขึ้นศาลเลย หาทางอื่นดีกว่า มีแต่คดีที่มั่นใจเท่านั้น
ผมถึงจะแนะนำให้สู้”
และสำหรับไพศาล พืชมงคล เขายืนยันด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ
“การฟ้องร้องให้หุ้น 2 แสนหุ้นเป็นโมฆะนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นโมฆะไปได้”
ก็คงจะแน่นอนที่ “ผู้จัดการ” จะต้องติดตามเรื่องนี้จนคดีถึงที่สุดมาเสนอกับผู้อ่านต่อไป