โออิชิเตรียมสยายปีกธุรกิจ ขยายอาณาจักรคู่ “ไทยเบฟ”


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กันยายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

จากการที่กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ส่งบริษัทลูกในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัทเสริมสุข ทั้งหมด 265,900,484 หุ้น หรือ 100% ในราคา 58 บาทต่อหุ้น รวมทั้งหมดเป็นมูลค่า 15,422,228,072 บาท ไม่เพียงแต่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับวงการน้ำดำมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาทของไทยสั่นสะเทือนเท่านั้น แต่นับจากนี้ตลาดนอนแอลกอฮอล์ของเมืองไทยจะต้องถูกแรงกระแทกจากปรากฏการณ์ครั้งนี้อย่างแน่นอน

ปัจจุบันเครื่องดื่มในกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ของไทยเบฟเวอเรจ ประกอบด้วย ชาเขียวโออิชิ น้ำดื่มช้าง โซดาช้าง กาแฟแบล็คอัพ คอฟฟิโอ น้ำผลไม้ฟรุ้ตเน็ต เครื่องดื่มชูกำลังแรงเยอร์ เรนเจอร์ เครื่องดื่มเกลือแร่ และเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์อะมิโนพลัส

แมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ว่า โออิชิเตรียมปรับขยายรุกธุรกิจครั้งใหม่ หลังจากที่ไทยเบฟฯ ได้ซื้อหุ้นของเสริมสุข เนื่องจากเสริมสุขจะมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แตกต่างจากกลุ่มไทยเบฟฯ แม้ว่าที่ผ่านมาโออิชิจะมีผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายผ่านทางช่องทางของเสริมสุข แต่เป็นเพียงสินค้าบางตัวเท่านั้น อย่างชากูซ่าส์ก็ยังไม่ได้มีการจำหน่ายโดยเสริมสุข เนื่องจากติดเรื่องการจำหน่ายสินค้าน้ำอัดลมให้กับเป๊ปซี่

“ที่ผ่านมาเรามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทางเสริมสุขอยู่แล้ว การนำพอร์ตสินค้าทั้งหมดของเราเข้าไปในช่องทางของเสริมสุขจะยิ่งทำให้เราแข็งแกร่งในตลาดตู้แช่ทั่วประเทศไทย”

สอดคล้องกับความเห็นของ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ที่กล่าวถึงการได้กิจการเสริมสุข เข้ามาผสานความแข็งแกร่งในการกระจายสินค้าให้กับไทยเบฟฯ ได้มากขึ้น จากปัจจุบันไทยเบฟฯ จัดจำหน่ายสินค้าให้กับเครื่องดื่มโออิชิ เข้าช่องทางหลักเทรดดิชันนัลเทรด ขณะที่เสริมสุขเองก็มีความถนัดในอีกช่องทางการกระจายสินค้าที่แตกต่างซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างมาก

“เสริมสุขจะทำให้สินค้าของไทยเบฟฯ เข้าไปยังทุกตู้แช่ ร้านขายของชำ ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหาร จะทำให้เครือข่ายนอนแอลกอฮอล์ของไทยเบฟฯ ขยายเข้าถึงทุกตลาดทั่วประเทศ” แหล่งข่าวในวงการ กล่าว

ก่อนหน้านี้ แมทธิว เคยกล่าวไว้ว่าหากตลาดในประเทศของโออิชิสามารถเติบโตและขยายช่องทางได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว ก็จะรุกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในฝั่งยุโรป เนื่องจากแบรนด์ชาเขียวส่วนมากจะผลิตมาจากเมืองไทย อีกทั้งยังไม่มีแบรนด์ใดเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเด่นชัด จะมีก็เพียงแบรนด์โพกาที่ค่ายซันโตรี่เพิ่งเข้าซื้อกิจการ

“เราเคยเห็นแบรนด์โออิชิมีคนนำเข้าไปวางจำหน่ายในยุโรป นั่นแสดงว่าหากเราจะเข้าไปทำตลาดเอง ย่อมมีโอกาส”

สำหรับกลยุทธ์การรุกตลาดต่างประเทศ โออิชิ กรุ๊ป ได้จดลิขสิทธิ์แบรนด์โออิชิในต่างประเทศแล้ว พร้อมกันนี้ยังจัดตั้งบริษัท โออิชิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยโออิชิถือหุ้น 100% ทำหน้าที่ดูแลตลาดในต่างประเทศ และอาศัยเครือข่ายของไทยเบฟอินเตอร์ฯ ที่มีความแข็งแกร่งด้านนี้ในหลายประเทศ ทำหน้าที่ในการสร้างตลาดและการขาย โดยจะเริ่มทดลองเปิดตลาดฝั่งยุโรปในไตรมาส 4 ปีหน้า ซึ่งโออิชิเชื่อว่ากลุ่มผู้บริโภคจะตอบรับดี โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ส่งออกใน 3 ปี เป็นตัวเลข 30%

“เสริมสุข”
จิ๊กซอว์สำคัญ “ไทยเบฟ”


การเข้าไปซื้อหุ้นทั้งหมดของเสริมสุขในครั้งนี้ ต้องจับตาถึงสิ่งที่ไทยเบฟฯ กำลังจะเดินต่อไปในอนาคต เพราะนอกจากจะเป็นการที่บริษัทคนไทยสามารถช่วงชิงธุรกิจสำคัญจากบริษัทต่างชาติระดับโลก อย่างเป๊ปซี่ได้แล้ว หากวันนี้คิดในมุมของการตลาดที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ไทยเบฟฯ น่าจะเหมือนกับพยัคฆ์ติดปีก

เจ้าพ่อน้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี คงจะมีการนั่งดีดลูกคิดถึงประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจากการซื้อกิจการเสริมสุข เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มไทยเบฟฯ มุ่งที่จะทำหน้าที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจเครื่องดื่มที่ปราศจากแอลกอฮอล์ รวมถึงสินค้าอุปโภคและบริโภค ที่อยู่ในเครือบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) จะพลอยได้รับผลประโยชน์จากการทำธุรกิจครั้งสำคัญในครั้งนี้

หากพิจารณาถึงจุดแข็งของช่องทางการกระจายสินค้าและหน่วยรถของบริษัทเสริมสุข ที่มีความแข็งแกร่งถึงช่องทางร้านค้าโชวห่วยและร้านอาหารต่างๆ ในตรอกซอกซอยที่มีมากกว่า 3-4 แสนจุดทั่วประเทศ การที่ไทยเบฟฯ จะยึดหัวหาดจากช่องทางร้านค้ารายย่อยชุมชนเหล่านี้ ถือเป็นการสร้างแขนขาที่ทรงพลังมาก และด้วยจุดแข็งที่ว่านั่นเอง ที่ทำให้ยอดขายเป๊ปซี่ในประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งอยู่หน้าโค้ก คู่แข่งขันสำคัญ

ที่ผ่านมาไทยเบฟฯ ทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 90% แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ประกาศเป้าหมายจะเพิ่มสินค้ากลุ่มนอนแอลกอฮอล์เป็น 30% ภายใน 3-5 ปี ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของกลุ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ซื้อแบรนด์ โออิชิ เข้ามาทำตลาดแล้ว และการซื้อกิจการเสริมสุขในครั้งนี้ เสมือนการต่อจิ๊กซอว์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทยเบฟฯ

“เจริญ” ให้บทเรียนราคาแพง “เป๊ปซี่”

ภาพการแถลงข่าวของ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจจำกัด (มหาชน) ในวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา ต้องติดตาตรึงใจ “เป๊ปซี่” อย่างแน่นอน หลังจากที่ต้องพลาดท่าเสียทีเป็นคำรบที่สอง หลังเป๊ปซี่เคยเก็งพลาดเมื่อครั้งตั้งบริษัท สตราทีจิค เบฟเวอร์เรจเจส (ประเทศไทย) จำกัด (ตัวแทนของเป๊ปซี่) เสนอคำขอซื้อหุ้นทั้งหมดของเสริมสุขในราคาหุ้นละ 29 บาท เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553 มาแล้ว และมีการชิงไหวชิงพริบกันมานานปีกว่า

การพ่ายที่เกิดขึ้นของเป๊ปซี่ ถูกวิเคราะห์ว่าประเมินกำลังของฝ่ายผู้ถือหุ้นคนไทยต่ำไป จึงเสนอราคามาเพียงหุ้นละ 58 บาท ทั้งๆ ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นเสริมสุขที่ซื้อขายในตลาด วิ่งไปถึง 61-62 บาท เมื่อเอสเอสเอ็นไม่พอใจราคาดังกล่าวก็สามารถเสนอซื้อกลับในราคาเดียวกันได้ และกลายเป็นเข้าทาง “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ส่งไทยเบฟฯ เข้ามาจัดการปิดดีลนี้

กระบวนการที่เกิดขึ้นในวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา นั้น ฐาปน กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก ลงมติให้บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก เข้าซื้อกิจการของบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) หลังจาก PepsiCo Group ได้ขายหุ้นให้กับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด จำนวน 110,461,960 หุ้น ในราคาหุ้นละ 58 บาท มูลค่ารวม 6,406.79 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เสริมสุข ก่อน PepsiCo Group ขายหุ้นให้ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก คือ บริษัท เอสเอสเนชั่นแนล โลจิสติกส์ (เอสเอสเอ็นแอล) 32% เป๊ปซี่ โค 41.55% ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ หลังการซื้อขายผู้ถือหุ้นเปลี่ยนจากเป๊ปซี่ โค เป็น ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก อื่นๆ คงเดิม

ขั้นตอนต่อมาตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก จำกัด จะต้องจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท เสริมสุข โดยสมัครใจ เพื่อเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมด 265,900,484 หุ้น หรือ 100% ในราคา 58 บาทต่อหุ้น รวมเป็นมูลค่า 15,422,228,072 บาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการซื้อภายใน 25 วันทำการ

“ต้องบอกว่า 58 บาทอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ไม่เกิน P/E ของไทยเบฟฯ เอง และน่าจะเกิดผลคุ้มค่า เพราะเรามองเรื่องธุรกิจทั้งหมดที่ทำอยู่”

“นอกจากนั้นในส่วนของการจัดจำหน่ายซึ่งเสริมสุขทำให้เป๊ปซี่เป็นหลัก รายได้หรือกำไรสุทธิเท่าที่คำนวณ เปอร์เซ็นต์มาร์จิ้นถือว่ายังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจเครื่องดื่มทั่วๆ ไป ก็หวังว่าจะมีโอกาสทำมูลค่าเพิ่มให้ได้ในระดับหนึ่ง” ฐาปน กล่าว

ต่อคำถามที่ว่า ภายหลังสิ้นสุดสัญญาเดิมระหว่าง PepsiCo Group กับเสริมสุข ภายในเดือนพฤศจิกายน 2555 ไทยเบฟฯ สนใจจำหน่ายเป๊ปซี่ โดยทำสัญญาใหม่หรือไม่

“การทำธุรกิจน้ำดำหรือไม่ เรายังไม่มองถึง นอกจากนั้นยังเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ตัวเลขของ Gross Margin ถือว่าไม่น่าสนใจ” ฐาปน ให้ความเห็น

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวต่อไปว่า สถานะปัจจุบัน ไทยเบฟฯ เป็นเพียงผู้ลงทุนเช่นเดียวกับ เอสเอสเอ็นแอล ยังไม่ได้อยู่ในคณะจัดการ หรือเป็นกรรมการบริษัท ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคณะจัดการของเสริมสุขว่า มีแผนธุรกิจในอนาคต ที่จะเพิ่มศักยภาพ หรือผลประกอบการในอนาคตอย่างไร

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก ก่อตั้งเมื่อปี 2530 เดิมชื่อ สหทิพย์ขนส่ง ล่าสุดมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาลงทุนเกี่ยวกับการเสริมประสิทธิภาพด้านการกระจายสินค้าไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก มีศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) 3 แห่งที่โคราช, ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี มีหน่วยรถประมาณกว่า 2,200 คัน และยังมี Cash Van อีกประมาณ 1,100 คันที่ไม่ได้ขึ้นกับไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก โดยตรง นอกจากนั้นเครือไทยเบฟฯ ยังมีการลงทุนเปิดบริษัทใหม่ ชื่อ ไทยดริงค์ ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสู่ตลาดที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงานด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.