ยก 2 “พาราไดซ์พาร์ค” รุกต่อ ย่านศรีนครินทร์ระอุ


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กันยายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

พาราไดซ์ พาร์ค ประเมิน 1 ปีได้ผลสมใจ เดินหน้ายก 2 ด้วยการซื้อที่ด้านข้างศูนย์การค้าอีก 8 ไร่ขยายพื้นที่ เพิ่มสิ่งดึงดูดครองใจลูกค้าให้สมบูรณ์ขึ้น ยิ่งเพิ่มดีกรีการแข่งขันในยุทธภูมิศูนย์การค้าย่านกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ที่มีการปรับตัวรับมือกันคึกคักในช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังจะมี 2 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเมกะ บางนา และเดอะมอลล์จ่อคิวผสมโรง

แม้ “พาราไดซ์ พาร์ค” จะไม่ได้พุ่งเป้าแข่งขันกับใคร เนื่องจากการสยายปีกธุรกิจสยามพิวรรธน์เข้าไปลงทุนในแต่ละพื้นที่ มีรูปแบบบริการที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะไม่ซ้ำกัน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการทำวิจัย ดังนั้น แนวคิดและตลาดเป้าหมายของสยามพิวรรธน์จึงแตกต่างจากคู่แข่ง โดยเห็นว่า การเป็นศูนย์การค้าที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ (Specialty Shopping Mall) ภายใต้แนวคิดสวนสวรรค์แห่งการชอปปิ้งที่ตอบโจทย์ และยังสร้างความแตกต่างให้กับศูนย์การค้าน้องใหม่แห่งนี้ได้ 1 ปีของพาราไดซ์ พาร์ค จึงสามารถแจ้งเกิดบนพื้นที่ศรีนครินทร์ และปักธงในตลาดกลุ่มครอบครัว ระดับบี และเอ ไม่ใช่น้อย โดยปัจจุบันมียอดคนเดินห้างเฉลี่ย 100,000-150,000 คนต่อวัน

ด้วยยุทธศาสตร์ที่กำหนดจากข้อมูลการวิจัยตั้งแต่ช่วงก่อนซื้อกิจการ ก่อนเปิดดำเนินการและเมื่อเปิดศูนย์การค้ามา 8 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ 5 กิโลเมตรรอบศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค โดยส่งทีมออกแบบสอบถามคนทุกเพศทุกวัย ที่มีรายได้เดือนละ 1 หมื่น-1 แสนบาท 5,000 คน พบว่า ผู้บริโภคชื่นชอบแนวคิดศูนย์การค้าพิเศษ แต่ต้องการสินค้าและบริการที่หลากหลายและครอบคลุมทุกเซกเมนต์ ทั้งกลุ่มเด็ก วัยรุ่นทั่วไป และผู้สูงอายุมากขึ้น

“ปีแรกยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูก แม้แต่ช่วงที่สยามพารากอนเปิดใหม่ๆ ก็ยังมีโซนที่คนเดินน้อย พาราไดซ์ พาร์ค ก็ไม่ต่างกัน ยิ่งบวกกับความเป็นน้องใหม่ในทำเลนี้ และความเป็นสยามพิวรรธน์ก็ยิ่งต้องทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้”

ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งบริหารสูงสุดของโครงการพาราไดซ์ พาร์ค ที่ลงทุนร่วมกับกลุ่มเอ็มบีเค แสดงความพอใจในผลความสำเร็จระดับหนึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ชี้แจงว่าขวบปีที่ 2 ของพาราไดซ์ พาร์ค ยังต้องปรับปรุงและเพิ่มสินค้าและบริการในจุดที่ผลการสำรวจความพอใจของลูกค้าแสดงความต้องการเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการครบถ้วนทุกส่วน เช่น การเพิ่มร้านค้าเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ดัง อาทิ MANGO, ESP, LYN Around, Wrangler และ Dapper Exclusive เป็นต้น ตอบโจทย์กลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่

โครงการนี้ยังมีศูนย์พัฒนาการเด็กด้วยกีฬารายเดียวของประเทศไทย “คิดส์สปอร์ทแลนด์” โดยบริษัท อินเตอร์แฟค ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล และรักลูก กรุ๊ป เพื่อตอบโจทย์เด็กที่ต้องการแหล่งพัฒนาทักษะความคิดควบคู่กับทักษะการเล่นกีฬา รวมถึงพื้นที่สอนคอมพิวเตอร์สำหรับผู้ใหญ่

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบัน พาราไดซ์ พาร์ค ยังมุ่งขยายฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยอาศัยช่องว่างของเวลาบินกลับของนักท่องเที่ยวจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปน และเวียดนาม ผนึกบริษัททัวร์ จัดทำแพกเกจชอปปิ้งพาราไดซ์ พาร์ค โดยมอบส่วนลดร้านค้าพิเศษให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งจากการทำตลาดร่วมกับบริษัททัวร์ เชื่อว่าจะช่วยขยายฐานกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 15%

ทั้งนี้ ได้ใช้งบ 300 ล้านบาทเช่นเดียวกับที่สยามพารากอน ทำกิจกรรมการตลาดแบบเฉพาะกลุ่มอย่างต่อเนื่อง 400 กิจกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทั้ง 3 กลุ่ม นอกจากนี้ยังมุ่งจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ เช่น เทศกาลตรุษจีน สงกรานต์ และงานมหกรรม 4 ภาค เพื่อดึงดูดคนในพื้นที่กว้างกว่า 5 กิโลเมตร โดยกินรัศมีไกลถึงชลบุรีให้เข้ามาชอปปิ้ง

ชฎาทิพ เผยแนวคิดการบริหารศูนย์การค้าที่วางตัวเป็น “นักพัฒนาพื้นที่” เพื่อสร้าง “ความสุข” เพื่อให้ศูนย์การค้าที่ทำเป็นหนึ่งในใจลูกค้าที่มีความรักความผูกพันและนึกถึงก่อนที่จะไปที่อื่น ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมการตลาดเพื่อให้ร้านค้าที่เช่าพื้นที่ทำธุรกิจอยู่ได้อย่างเติบโต

ดังนั้น การสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคจะก่อให้เกิดมูลค่าทางการค้า (Commercial Value) ขณะที่ยังมีการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าเป็นระยะก็จะได้รู้คุณค่าเชิงความรู้สึกความชอบ (Sentimetal Value) นี่คืออีกก้าวรุกของผู้ท้าชิงในสมรภูมิค้าปลีกย่านศรีนครินทร์-บางนา ซึ่งชฎาทิพแย้มว่า นอกจากการปรับสินค้าบริการ และการทำตลาดให้ตอบโจทย์และเข้าถึงลูกค้ามากขึ้นแล้ว ที่ดินที่ซื้อเพิ่มอีก 8 ไร่ บริเวณด้านข้างศูนย์แห่งนี้ จะเป็นส่วนขยายที่ทำให้ พาราไดซ์ พาร์ค สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในอีกปีครึ่งถึง 2 ปีข้างหน้า

เจ้าใหม่-เจ้าเก่าจ่อคิวแย่งกำลังซื้อ

การแข่งขันในย่านศรีนครินทร์-บางนา นับจากนี้จะต้องร้อนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงวันที่ทัพของเมกะ บางนา และเดอะมอลล์ ที่กำลังทยอยซื้อที่แยกบางนา-ตราด เพื่อขึ้นศูนย์เดอะมอลล์ บางนา รวมถึงคอมมูนิตี้ มอลล์ที่เตรียมปักหมุดอีกหลายแห่ง รับรองว่าสงครามค้าปลีกที่นี่แข่งกันมันหยดติ๋งอย่างแน่นอน

สภาพการแข่งขันศูนย์การค้าในย่านศรีนครินทร์-บางนา ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาค้าปลีกในย่านนี้ขับเคี่ยวกันอยู่เพียง 3 ห้างหลักเท่านั้น คือ ซีคอนสแควร์ เสรีเซ็นเตอร์ และเซ็นทรัล บางนา

แต่หลังจากการผนึกกำลังของกลุ่มสยามพิวรรธน์ และเอ็มบีเค เข้าซื้อกิจการเสรีเซ็นเตอร์ พร้อมแปลงโฉมเป็นห้างพาราไดซ์ พาร์ค ตามติดด้วยบิ๊กโปรเจกต์ เมกะ บางนา ของกลุ่มทุนสวีเดน อิเกีย และสยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเม้นท์ ที่พร้อมเปิดตัวในปลายปีนี้ ก็เรียกว่าสร้างสีสันและจุดเปลี่ยนของย่านธุรกิจนี้ขึ้นทันที โดยเฉพาะปรากฏการณ์ปรับตัวกันขนานใหญ่ของ 2 เจ้าถิ่นในตลาดจากที่เคยนิ่งๆ ต่างคนต่างอยู่มานาน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ฐานลูกค้าเปลี่ยนใจหนีไปเข้าห้างคู่แข่งได้ง่ายๆ

เริ่มจากศูนย์การค้า “ซีคอนสแควร์” แม้ผลการสำรวจผู้บริโภคก่อนหน้านี้จะพบว่า ยังเป็นตัวเลือกแรกที่ลูกค้าจะไปชอปปิ้งด้วยสัดส่วน 34% ของกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญห้างนี้มีจุดขายเรื่องพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดและสินค้าบริการหลากหลายเมื่อเทียบกับผู้เล่นรายอื่น แต่ซีคอนสแควร์ก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขันรอบใหม่ที่กำลังทวีความเข้มข้น อีกทั้งยังเป็นการยกระดับตัวเองให้พรีเมียมขึ้น สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายในย่านนี้ที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น

ซีคอนสแควร์เริ่มทยอยปรับโฉมทั้งภายในและภายนอก ด้วยงบลงทุน 400 ล้านบาท มีทั้งขยายพื้นที่จอดรถเพิ่ม 600 คัน พร้อมเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่ครั้งแรกในรอบ 17 ปี ควบคู่ไปกับปรับลานด้านหน้าศูนย์ และภูมิทัศน์โดยรอบใหม่ทั้งหมด ให้ทันสมัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ Seacon ชอปปิ้งและเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่มีความหลากหลาย สำหรับทุกไลฟ์สไตล์ รวมถึงเพิ่มร้านค้า ร้านอาหาร เพื่อให้สอดรับกับการขยายฐานลูกค้าระดับบี เสริมจากฐานลูกค้าเดิมในกลุ่มซีและบี โดยเริ่มปรับปรุงเมื่อเดือนมิถุนายน และพร้อมเปิดโฉมใหม่ ในปี 2555

ฟาก “เซ็นทรัล บางนา” แม้ทำเลอยู่คนละถนน ที่ตั้งจะไม่ได้ชนโดยตรงอย่างซีคอนสแควร์ แต่ก็ถือว่าอยู่ย่านรัศมีเดียวกัน และหากเทียบพื้นที่ศูนย์การค้าทั้ง 4 โครงการแล้ว ถือเป็นห้างที่มีขนาดพื้นที่เล็กกว่าใครเพื่อน ซึ่งอาจจะกลายเป็นจุดเสียเปรียบคู่แข่งในอนาคต ทำให้ซีพีเอ็น ต้องประกาศปรับโฉมยกระดับครั้งใหญ่ในรอบ 18 ปี โดยใช้เม็ดเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงพื้นที่และร้านค้าภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล บางนา (Renovate) ให้ทันสมัยขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังนำที่ดินที่มีอยู่อีก 8 ไร่ ด้านหลังศูนย์บางนา มาพัฒนาอาคารจอดรถ และขยายพื้นที่เพิ่มอีก 10,500 ตร.ม. โดยเติมแผนกสินค้าและแบรนด์ใหม่ เพื่อสร้างให้เซ็นทรัล บางนา เป็นวันสต็อปชอปปิ้ง ตอบสนองความต้องการกลุ่มเป้าหมายระดับกลางและบน โดยจะเริ่มปรับปรุง คาดแล้วเสร็จในสิ้นปี 2555


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.