|
โซนี่-โตชิบา-ฮิตาชิ ผนึกรวมกันพัฒนาจอ LCD
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าจะเป็นกิจการที่มีความยิ่งใหญ่ในตลาดระดับโลกไม่แพ้กัน และล้วนแต่เป็นกิจการของญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่การที่ยักษ์ใหญ่อย่างโซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา จะหันหน้ามาหากันและร่วมมือกันได้ง่ายๆ อย่างในนิยายคงไม่เป็นจริงโดยง่าย
เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นต้องตัดสินใจลงเงินกองหนึ่งเป็นเงินกว่า 2,600 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนให้โซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา ยอมที่จะร่วมแรงร่วมใจ และควบรวมธุรกิจด้านจอคริสตัล ลิควิด เพื่อให้มั่นใจว่าแบรนด์ของญี่ปุ่นทั้งสามแบรนด์จะมีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันกับแบรนด์จากเกาหลีใต้และไต้หวันได้ในการตลาดระยะต่อไปจากนี้
กิจการที่มารวมตัวกันนี้ จะทำให้เกิดธุรกิจอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้เป็นส่วนสำคัญของหน้าจอในสมาร์ทโฟน แท็บเลตพีซี และแซงหน้าผู้นำอย่างชาร์ป และซัมซุงจากเกาหลีใต้ ตลอดจนแบรนด์ไต้หวันอย่าง AU Optronics
ที่ผ่านมา ทั้งโซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา ล้วนแต่ประสบกับภาวะขาดทุนในธุรกิจจอภาพขนาดเล็ก จนถึงปีที่แล้ว ซึ่งหากมีการรวมกิจการกันแล้ว อาจจะทำให้ทั้งสามบริษัทสามารถสร้างพลังที่จะต่อสู้ในธุรกิจในฐานะผู้นำของแบรนด์ญี่ปุ่น และพัฒนาธุรกิจหลักสู่นวัตกรรมที่ทัดเทียมกับแบรนด์อื่นจากเอเชียต่อไปได้
กองทุนของรัฐที่ว่านี้ ชื่อ The Innovation Network Corp of Japan (INCJ) มีภาครัฐถือหุ้น 90% ตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่กำลังตกอยู่ในสถานะลำบาก โดยยอมใช้เงินของภาครัฐมาช่วยความผันผวนของกิจการเอกชน และถือเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดก้อนหนึ่งของรายจ่ายภาครัฐทีเดียว โดยมี 3 บริษัทถือหุ้นในกิจการนี้เท่ากันที่ 10% ทุกราย
เป็นที่คาดว่าการรวมธุรกิจด้านการพัฒนาจอ LCD นี้จะแล้วเสร็จภายในปีหน้า โดยใช้ชื่อว่า Japan Display และวางเป้าหมายว่าจะสามารถทำรายได้จากกิจการปีละ 750,000 ล้านเยน จาก 570,000 ล้านเยน
การที่โซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา ยอมรับการรวมธุรกิจการพัฒนาจอ LCD ครั้งนี้ ว่าไปแล้วไม่ได้เกินกว่าความคาดหมายของนักการตลาด เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าสภาพการแข่งขันของธุรกิจจอ LCD มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้บรรดาผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้ต้องหาทางขยายขนาดการผลิตเพื่อปรับลดต้นทุนต่อหน่วยลงให้มากที่สุด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวคงเกินกว่ากำลังของกิจการใดกิจการหนึ่งเพียงลำพัง
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจสนับสนุนตลาดชิปและจอภาพของรัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่พบแน่ชัดแล้วว่า ส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกของผลิตภัณฑ์ประเภทชิปและจอภาพของแบรนด์ญี่ปุ่นลดลงไปมาก
จากการสำรวจพบว่าเมื่อรวมมูลค่าทางธุรกิจของโซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา รวมกันทั้งสามบริษัทสามารถควบคุมส่วนแบ่งทางการตลาดได้ 21.5% ของมูลค่าการตลาดจอ LCD ขนาดจิ๋ว ซึ่งมากกว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทชาร์ปที่ 14.8% รองลงมาคือซัมซุง โมบาย ที่ 11.9% ตามลำดับ
โซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา ล้วนแต่เผชิญหน้ากับปัญหาทางธุรกิจใกล้เคียงกัน คือ การสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดและศักยภาพด้านการแข่งขันทางธุรกิจ และยังประสบกับผลการขาดทุนด้านการดำเนินงานมาตลอดจนถึงปีที่แล้ว แม้ว่าความคาดหมายตอนนี้เชื่อว่าทั้งสามบริษัทจะกลับมามีผลกำไรจากการดำเนินงานด้านนี้ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการรวมกิจการกันจะมาจากการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของภาครัฐ แต่ก่อนหน้านี้ทั้งโซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา ได้แสดงความลังเลในการที่จะลงทุนรวมกิจการกันเพื่อแข่งขันกับชาร์ป ที่ได้รับเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์จากบริษัทแอปเปิล หรือแม้แต่การเผชิญหน้าทางธุรกิจในตลาดจอ LCD ขนาดเล็กกับบริษัทซัมซุง โมบาย ดิสเพลย์และแอลจี ที่เป็นแบรนด์จากเกาหลีใต้
ยิ่งกว่านั้นแต่ละบริษัทก็ล้วนแต่มีปัญหาที่ต้องจัดการพอสมควร อย่างโซนี่ ก็มีปัญหาหนักใจในธุรกิจทีวีที่ยังมีผลการประกอบการขาดทุน หรือโตชิบากำลังเร่งเครื่องแผนการลดขนาดของธุรกิจผลิตชิปของตน
ในขณะที่ฮิตาชิก็มีนโยบายที่จะทิ้งระยะห่างด้านการแข่งขัน เนื่องจากความผันผวนของสถานการณ์ทางการตลาด และมุ่งที่จะขยายฐานธุรกิจด้านการปฏิบัติการด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น
จุดเสี่ยงของการดำเนินงานในด้านนี้ของ 3 บริษัท ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องขบคิดกันอีกหลายอย่างเหมือนกัน
ในส่วนของบริษัทชาร์ปนั้นมีความกระตือรือร้นในการขยายธุรกิจจอภาพ LCD ขนาดเล็กค่อนข้างมากและต่อเนื่อง จนมีฐานลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเลตรายใหญ่ๆ ในตลาดที่มั่นคงไม่น้อย กิจการที่จะเข้าไปแข่งขันกับชาร์ปได้ก็ควรจะต้องมีฐานลูกค้าประเภทนี้ที่เพียงพอ มิฉะนั้นคงเหนื่อยแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การที่ระดับราคาโดยเฉลี่ยของอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเป็นสมาร์ทโฟน เพิ่มขึ้นถึง 30% ในไตรมาสแรกของปี 2011 จากปีก่อนหน้า ทำให้โซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา เห็นโอกาสในการทำกำไร และสร้างรายได้ไม่น้อย
ดังนั้น นอกจากโซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา ที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนแล้ว อาจจะมีผู้ผลิตรายอื่นคิดเหมือนกัน และหันมาเร่งขยายฐานการผลิตจอ LCD ขนาดเล็กในเวลาเดียวกันด้วย
หากเป็นเช่นนั้น ทั้งโซนี่ ฮิตาชิ โตชิบาก็จะมีความเสี่ยงใหม่จากการที่ระดับราคาขายต่อหน่วยของจอ LCD ขนาดเล็กอาจลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการมีผู้ผลิตหลายรายและปริมาณผลผลิตจอ LCD ขนาดเล็กมากเกินความต้องการ
ที่สำคัญเทคโนโลยีการพัฒนาจอภาพขนาดเล็กที่ 3 บริษัทใช้กันอยู่ยังแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้การรวมธุรกิจการพัฒนาจอภาพ LCD เข้าด้วยกันยังมีความไม่ชัดเจนเท่าใดนักว่าจะเกิดได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่
การปรับโครงสร้างธุรกิจระหว่างบริษัทที่มีพื้นเพทางเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ยังไม่ใช่เรื่องง่ายดาย และหากทำไม่ได้จริงจัง ก็คงยากที่จะเอาชนะผู้นำในธุรกิจอย่างชาร์ปหรือบริษัทจากเกาหลีใต้ จีน และไต้หวันได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|