|

เอชพีอาจจะถอนตัวจากธุรกิจพีซี แท็บเลต-สมาร์ทโฟนจุดเปลี่ยน
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในตลาดพีซี ที่มีตัวเลือกอื่นเข้ามาแทนที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแท็บเลต หรือสมาร์ท โมบาย โฟน ทำให้ยักษ์ใหญ่ในวงการพีซีต้องหันมาปรับบทบาทโครงสร้างและสัดส่วนของธุรกิจแต่ละสายของตนใหม่ ไม่เว้นแม้แต่ฮิวเลตต์ แพคการ์ด หรือเอชพี
สภาวะการปรับตัวทางด้านโครงสร้างธุรกิจของเอชพีเป็นเรื่องที่วงการตลาดโลกเริ่มคิดเห็นมาระยะหนึ่งแล้ว
เมื่อไม่นานมานี้ เอชพีได้ส่งสัญญาณออกมาค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เอชพีจะยกเลิกธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ด้านคอมพิวเตอร์แท็บเลตและสมาร์ทโฟน รวมทั้งอาจจะตัดสินใจขายกิจการแผนกพีซีของตน ซึ่งเป็นแผนกที่รับผิดชอบเกี่ยวกับลูกค้ากลุ่มผู้บริโภคด้วย
การตัดสินใจครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับวงการตลาดไม่น้อย เพราะนี่หมายถึง
ประการแรก การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของเอชพีในประวัติการดำเนินงาน 72 ปีของเอชพี โดยจะทำการเพิ่มพอร์ตในส่วนของซอฟต์แวร์มากขึ้น
ประการที่สอง เป็นการส่งสัญญาณอย่างเปิดเผยให้กับซีอีโอคนใหม่ว่า แต่นี้ไปจะต้องปรับธุรกิจของเอชพีให้มีความยิ่งใหญ่ คงทน และยั่งยืนไม่น้อยหน้าบริษัทคู่แข่งขันสำคัญอย่างไอบีเอ็ม ที่ปรับตัวจากการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์มาสู่การทำรายได้จากซอฟต์แวร์และงานบริการแทน
แนวโน้มที่เป็นไปได้ในอนาคตสำหรับเอชพี อาจจะแยกออกเป็น 3 แนวทางด้วยกัน กรณีที่ดีที่สุด กรณีปรกติ และกรณีที่เลวร้ายที่สุด
ดูเหมือนว่าเอชพีจะมีความตระหนักในสถานะที่แย่ลงของผลประกอบการของตน และความยากลำบากที่จะดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจที่มาจากซีอีโอคนก่อน โดยเฉพาะการตัดทอนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา จนทำให้ซีอีโอคนปัจจุบันอยู่ในฐานะลำบากในการแก้ไขการบริหารจัดการองค์กร และการเพิ่มความสามารถในการสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน
การที่มูลค่าของกิจการในส่วนของแผนกพีซียังคงกระทบต่อเอชพี และเป็นภาระของเอชพีในการกำกับดูแลภายในกิจการ และอาจจะทำให้ราคาหุ้นในตลาดของเอชพีต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 38 ดอลลาร์ต่อหุ้น เพราะปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นได้ก็คือ กระแสเงินสดไหลเข้าออกของกิจการ
แม้ว่าเอชพีจะมีการเตรียมการพิจารณาถึงการตัดจำหน่ายแผนกพีซีออกไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ตามเป้าหมายโดยง่าย
ที่จริง เอชพีมีประสบการณ์ในการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่มาครั้งหนึ่งแล้ว ในช่วงที่ตัดสินใจเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทคอมแพคเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว
แต่การตัดสินใจครั้งนี้ถูกวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์ว่าเป็นการตัดสินใจปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เพราะคอมแพคนั้นมีผลประกอบการที่ล้าหลังจากกิจการคู่แข่ง จนกระทั่งถึงขั้นประสบกับผลขาดทุนในด้านการดำเนินธุรกิจด้านนี้
การเข้าไปช่วยเหลือซื้อกิจการของเอชพี ยังไม่สามารถทำให้วันนี้ของคอมแพคก้าวกลับขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการพีซีอีกครั้ง หากเอชพีสามารถจำหน่ายแผนกพีซีออกไปได้ ก็อาจจะทำให้สถานการณ์ของเอชพีโดยรวมดีขึ้น และเพิ่มความมุ่งเน้นในการปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น
เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา เอชพีเคยผิดหวังจากการวางเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดพีซีหลังจากการรวมกิจการกับคอมแพค และเอชพีก็ผ่านมือบริหารของซีอีโอมาแล้วถึง 3 คน
นอกจากนั้น แผนกพีซีของเอชพีเป็นแผนกที่ทำรายได้ให้กับกิจการมากที่สุด แต่กลับสามารถทำกำไรให้กับกิจการมากที่สุด ทำให้กระแสข่าวลือเรื่องขายกิจการออกมานานพอสมควรแล้ว รวมทั้งการที่เอชพีจะเข้าไปซื้อกิจการของออโตโนมี่ คอร์ป ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่มีอนาคตรายหนึ่งด้วยเงินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงสุดในประวัติการซื้อกิจการของเอชพี
นอกจากนั้น เอชพียังต้องหาทางแก้ไขสถานการณ์ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของกิจการ หลังจากที่เริ่มมีการพูดถึงคำว่า ไดโนเสาร์ ว่าเหมาะสมกับเอชพีเหมือนกับที่สมญานี้ถูกตั้งให้กับกิจการในธุรกิจเทคโนโลยีอื่นบางกิจการมาแล้วหรือไม่
ในราวปีหน้า ตลาดคาดกันว่าคอมพิวเตอร์เอชพีน่าจะออกจำหน่ายภายใต้ชื่ออื่นแทน และคาดกันด้วยว่าเอชพีน่าจะขายธุรกิจเซิร์ฟเวอร์และธุรกิจอุปกรณ์สำหรับภาคธุรกิจออกไป ซึ่งเป็นการดำเนินรอยตามบริษัทไอบีเอ็มที่เคยดำเนินการแล้ว และแน่นอนพนักงานที่มีจำนวนกว่า 300,000 รายทั่วโลกคงได้รับผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|