สหกลแอร์-สายการบินน้องใหม่ แต่ก็เป็น "พี่เก่า" ในวงการบินมานาน 18 ปีเต็มแล้ว


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อปราเสริฐ ปราสาททองโอสถนั้นเป็นชื่อที่ได้ยินกันมานานพอสมควร

ปราเสริฐ ปราสาทองโอสถ เรียนจบแพทย์จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เคยรับราชการเป็นศัลยแพทย์ อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช 5 ปี แล้วลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวด้านรับเหมาก่อสร้าง มีบริษัทก่อสร้างของตนเองชื่อบริษัทกรุงเทพสหกล จำกัด

และกลายเป็นนักธุรกิจใหญ่ไปในเวลาไม่นานนัก

นายแพทย์ปราเสริฐเป็นนักธุรกิจที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครและก็คงจะไม่มีใครเหมือนอยู่อย่างน้อย 4 อย่างด้วยกันคือ

หนึ่ง-เป็นนักลงทุนที่ไม่มองอะไร ๆ ใกล้ แต่จะมองไกลมาก

สอง-เป็นคนกล้าได้กล้าเสีย

สาม-กล้าได้กล้าเสียประเภทที่วางเค้าหน้าตักไม่ใช่ร้อยสองร้อยบาท หากแต่มักจะเป็นร้อยสองร้อยล้านและ

สี่-ชอบเล่นเครื่องบินมานานแล้ว

ก็ด้วยคุณสมบัติอย่างน้อย 4 อย่างนี้แหละ ที่สหกลแอร์ หรือ BANGKOK AIR WAY ได้มีโอกาสขึ้นมาเป็นสายการบิน "สายการบินน้องใหม่แห่งชาติ" แล้วเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์กรุงเทพ- โคราช และกรุงเทพ-สุรินทร์ไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529 ภายหลังที่ได้รับอนุมัติจากกรมการบินพาณิชย์กระทรวงคมนาคมให้เป็นผู้บริการขนส่งผู้โดยสารผู้โดยสารแบบประจำมีกำหนดเวลาบินปลายปี 2518 นี้เอง

ทั้งนี้ใบอนุญาตของกรมการบินพาณิชย์ก็คือ จะอนุญาตให้สหกลแอร์เปิดเส้นทางการบินไป-กลับได้ 4 จุด ได้แก่ กรุงเทพ- นครราชสีมา (โคราช) กรุงเทพ- สุรินทร์ กรุงเทพ- กระบี่ และกรุงเทพ -เกาะสมุย ซึ่งเป็น 4 จุดที่บริษัทเดินอากาศไทย (บดท.) สายการบินในประเทศของรัฐบาลไม่มีเส้นทางบินอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งได้แสดงความตั้งใจแน่นอนแล้วว่าจะไม่เปิดเส้นทางบินดังกล่าวในอนาคต (เพราะไม่คุ้มทุน)

ในชั้นแรกนี้ใบอนุญาตของสหกลแอร์มีกำหนดระยะเวลาไว้ 2 ปี "ซึ่งเราก็เชื่อว่าถ้าเราบริการผู้โดยสารได้เรียบร้อยมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดเรื่องเสียหายรัฐบาลก็คงจะต่อใบอนุญาตให้เรา คงไม่เปลี่ยนนโยบายหรือความตั้งใจที่จะให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ดังเช่น ธุรกิจการบินนี้ด้วย…" ธีระชัย เชมนะสิริ รองผู้อำนวยการของสหกลแอร์ให้ข้อคิดเห็นกับ "ผู้จัดการ"

เส้นทางบินกรุงเทพ-โคราชและกรุงเทพ-สุรินทร์ ที่เปิดดำเนินการไปแล้วนั้นกรุงเทพ-โคราช จะให้บริการทุกวันวันละ 3 เที่ยว ค่าโดยสาร 380 บาทต่อเที่ยว "อาจจะพูดได้ว่าเรายังอยู่ในช่วงทดลองซึ่งเราก็พบว่าเที่ยวเย็นนั้นเต็มทุกเที่ยว ต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้า ส่วนอีกสองเที่ยวก็พอไหว เที่ยวหนึ่งก็สิบกว่าคน…" ธีระชัย พูดถึงเที่ยวบินกรุงเทพ-โคราช

ส่วนกรุงเทพ-สุรินทร์ ให้บริการวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ วันละหนึ่งเที่ยว คือออกจากกรุงเทพฯ ตอนเที่ยงตรงและกลับจากสุรินทร์ เวลา 13.30 น. ค่าโดยสารเที่ยวละ 700 บาทถ้วน ๆ

เครื่องบินที่ใช้บินทั้ง 2 เส้นทางบินนี้เป็นเครื่องบินที่ผลิตจากประเทศบราซิลชื่อแบนเดอเรนเต้ อีเอ็มบี-110 รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรุ่นที่หลายประเทศใช้บินระยะสั้น ๆ กันแพร่หลายมาก

"ขณะนี้เครื่องแบนเดอเรนเต้มีใช้กันอยู่ทั่วโลกประมาณ 500 ลำ มันเป็นเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์แพรทแอนด์วิทนีย์ (คู่แข่งเครื่องโรลสรอยส์ ซึ่งทั้ง 2 ยี่ห้อใช้เป็นเครื่องยนต์ของเครื่องบินเป็นส่วนมาก) มีจำนวนที่นั่งทั้งหมด 21 ที่นั่ง เป็นของนักบิน 2 ที่นั่ง ของแอร์โฮสเตส 1 ที่นั่งและเป็นที่นั่งผู้โดยสาร 18 ที่นั้ง…" ธีระชัย พูดให้ฟัง

และสำหรับเที่ยวบิน กรุงเทพ-กระบี่ จะเปิดทำการบินราว ๆ เดือนเมษายน 2529 กรุงเทพ-เกาะสมุย ก็คงจะไม่เกินเดือนตุลาคม เช่นเดียวกับที่เครื่องบินแบนเดอเรนเต้ลำที่ 2 จำนวนที่นั่ง 21 ที่นั่งเหมือนเครื่องปัจจุบันก็คงจะเข้ามาทันการเปิดเส้นทางบิน กรุงเทพ-กระบี่ ส่วนกรุงเทพ-เกาะสมุย จะมีเครื่องบินอีกเครื่องหนึ่งสั่งเข้ามาประจำเส้นทางการบินนี้ "เราตั้งใจว่าจะเอาเครื่องที่มีจำนวนที่นั่งมากขึ้น อาจจะเป็น 30 กว่าที่นั่งเข้ามา ซึ่งก็คงเป็นช่วงปลายปีนี้ เพราะลูกค้าในเส้นทางการบินเส้นนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นพวกนักท่องเที่ยว" ผู้บริหารอีกคนหนึ่งของสหกลแอร์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ก็ดูเหมือนการเปิดเส้นทางบินกรุงเทพ-เกาะสมุยของสหกลแอร์นั้น เป็นเส้นทางบินที่จะต้องลงทุนกันสูงกว่าทุก ๆ เส้นทางบิน เพราะนอกจากจะลงทุนซื้อเครื่องบินลำใหญ่ขึ้นแล้วการลงทุนอีกด้านหนึ่งก็คือ การสร้างสนามบินขึ้นที่เกาะสมุย (ที่โคราช สุรินทร์ ใช้สนามบินกองทัพภาค 2 ส่วนที่กระบี่ ใช้สนามบินของราชพัสดุ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก)

สหกลแอร์คาดหมายว่า การลงทุนด้านสนามบินที่เกาะสมุยจะต้องใช้เงินประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งอาจจะต้องใช้มากกว่านี้ ถ้าเผอิญนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จะไม่มีที่ดินจำนวนเกือบ 200 ไร่บนเกาะสมุย และก็เผอิญเป็นที่ดินผืนเดียวบนเกาะที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างเป็นสนามบินเสียอีกด้วย

ลอง ๆ คำนวณดูแล้วสำหรับใบอนุญาตให้เปิดเส้นทางบินในประเทศ 4 จุดของสหกลแอร์ ซึ่งมีอายุ 2 ปี สหกลแอร์ก็ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท

สำหรับนักลงทุนหลาย ๆ คนก็อาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่อง "เสี่ยง" ที่ไม่น่าจะเข้าไปยุ่งแต่สำหรับคนอย่างนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถแล้ว มันก็สะท้อนถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวทั้ง 4 อย่างของเขาอย่างเห็นได้ชัด

อีกทั้งก็สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองอย่างเห็นได้ชัดด้วย

ซึ่งก็น่าจะต้องเชื่อมั่นเพราะจริง ๆ แล้ว "สายการบินน้องใหม่" แห่งนี้ ก็ไม่ใช่ "น้องใหม่" เสียทีเดียว เป็น "พี่เก่า" ที่คร่ำหวอดกับธุรกิจการบินมานานนับสิบปี แล้วด้วยซ้ำไป

สหกลแอร์นั้นเมื่อปี 2511 เกิดขึ้นโดยมีฐานะเป็นแผนกหนึ่งในบริษัทกรุงเทพฯ สหกลแอร์ ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ทำธุรกิจให้บริการบินแบบเช่าเหมา ซึ่งลูกค้ามากต่อมากก็คือเจ้าหน้าที่ของบริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมันทั้งในอ่าวไทยและบนบก

"จุดเริ่มก็สืบเนื่องมาจากที่กลุ่มกรุงเทพฯ สหกลได้ก่อตั้งบริษัทไทยปิโตรเลียมเซอร์วิสขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านกำลังคนและเครื่องจักรแก่บริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน ก็เลยพัฒนามาให้บริการบินแบบเช่าเหมาด้าย เพราะเกิดมีความต้องการบริการด้านนี้ขึ้น "ธีระชัย เชมนะสิริ" เล่ากับผู้จัดการ

ในปัจจุบันการให้บริการแบบเช่าเหมาก็ยังเปิดดำเนินการอยู่โดยมีเครื่องบิน 3 ลำประจำการ และโอนมาอยู่กับสหกลแอร์เรียบร้อยแล้ว เมื่อกลุ่มกรุงเทพฯ สหกล ยกฐานะแผนกสหกลแอร์แยกออกมาจัดตั้งทำบริษัท เมื่อปลายปี 2528

สหกลแอร์ในทุกวันนี้ดำเนินธุรกิจการบินของตนด้วยความเชื่อมั่นว่านโยบายของรัฐบาลนั้นคงจะไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เชื่อมั่นในความต้องการของตลาดใน 4 จุด ที่สหกลแอร์เปิดเส้นทางบินให้บริการและเชื่อมั่นในขีดความสามารถและประสบการณ์ที่สะสมมานานถึง 18 ปีเต็ม

เพียงแต่สหกลแอร์ก็คงขอเติบโตอย่างที่ตอกย้ำกันอยู่เสมอว่า ต้องเจียมตัวและเจียมใจให้มากๆ

หรือพูดอีกอย่างก็ คือ "ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.