3 บริษัทไอทีระดับโลกพบ "หมอเลี้ยบ" ร่วมหารือเรื่องความร่วมมือกับรัฐบาลไทย
และนโยบายด้านไอซีที โดยเอชพีประกาศลงทุนผลิตคอมพิวเตอร์พีซีที่แหลมฉบัง ขณะที่ไมโครซอฟท์สนับ
สนุนเรื่องความปลอดภัยข้อมูล การพัฒนาซอฟต์แวร์ และหลักสูตรการเรียนรู้โปรแกรม
ส่วนบอร์แลนด์ ซอฟต์แวร์ หนุนพัฒนาแอปพลิเคชั่นประเภทซอฟต์แวร์ Tool รองรับบริการและเทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่กำลังมา
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
หรือไอซีที เปิดเผยว่า วานนี้ (19 ต.ค.) 3 บริษัทที่ประกอบการด้านไอที ซึ่งประกอบด้วยฮิวเลตต์-แพคการ์ด
(เอชพี) ผู้ผลิตและจำหน่ายคอมพิวเตอร์และพรินเตอร์ ไมโครซอฟท์ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก
ที่รู้จักกันดีคือระบบปฏิบัติการวินโดวส์ และบอร์แลนด์ ซอฟต์แวร์ ได้เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยว
กับความร่วมมือกับรัฐบาลไทย และรับทราบนโยบายด้านไอซีที
จากการเข้าพบครั้งนี้ เอชพีได้มีการร่วมลงทุนเพื่อผลิตคอมพิวเตอร์พีซี พาวิลเลี่ยน
ที่แหลมฉบัง เพื่อส่งออกไปทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ในลักษณะของการจ้างผลิตหรือโออีเอ็ม
ตามรูปแบบ และแผนที่เอชพีวางไว้ และไม่ได้เรียกร้องอะไรจากรัฐบาลไทย เพราะเอชพีประสบความสำเร็จจากการผลิตพรินเตอร์มาแล้ว
และเรื่องนี้เอชพีได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว คาดว่าจะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ในเดือนธ.ค.ปีนี้
ส่วนจะลงทุนเป็นมูลค่าเท่าไหร่นั้น ยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายละเอียด
นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวซอฟต์แวร์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี
ให้ได้ใช้ซอฟต์แวร์ตามเครือข่ายที่กำหนดไว้ โดยใช้และจ่ายการใช้ซอฟต์แวร์ตามจำนวนความต้องการ
และการใช้งานจริงหรือ Utility
ส่วนไมโครซอฟท์ได้มีการหารือในหลายประเด็นคือ 1.เรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล
ซึ่งไมโครซอฟท์ยินดีให้การสนับสนุนโดยเฉพาะไทยที่เริ่มทำเรื่องของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
หรือ e-Government
2.เรื่องการพัฒนาบุคลากร ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการไปแล้วระยะหนึ่ง แต่วิศวกรระบบที่มีความเชี่ยวชาญยังมีน้อยมาก
โดยมีแผนจะร่วมมือกันในการทำ Excellent Center ซึ่งเป็นลักษณะของศูนย์ถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากรที่สนใจ
โดยเฉพาะนักพัฒนาโปรแกรมที่ส่วนใหญ่จะพัฒนาเฉพาะภาษาท้องถิ่น และจะทำอย่างไรให้มีความเป็นสากลด้วย
ซึ่งตรงนี้ไมโครซอฟท์เคยดำเนินการเกี่ยวกับโครงการ Unlimited Potential มาแล้ว
โดยมีการแปลหลักสูตรเป็นภาษาง่ายๆ ซึ่งโครงการนี้เป็นคอนเซ็ปต์ที่คล้ายกับโครงการ
Excellent Center ที่กระทรวงไอซีทีกำลังจะดำเนินการ
3.การสนับสนุนให้รู้จักภาษาอินเทอร์เน็ต และภาษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งไมโครซอฟท์เคยวางหลักสูตรในหลายประเทศมาแล้ว
อย่าง ICT Center ที่กระทรวงไอซีทีกำลังดำเนินการที่ วางไว้จะให้เป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ด้าน
อินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเปิดช่วงแรก 4 แห่ง คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต
ซึ่งตรงนี้จะมีการร่วมมือกันว่า จะทำอย่างไรให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้ และเข้ามาได้อย่างไร
เพราะปีหน้ากระทรวงไอซีทีได้มีการสนับสนุนให้มีการใช้คอมพิวเตอร์อย่างแพร่หลาย
เช่น ผลักดันให้มีการใช้คอมพิวเตอร์มือสอง เป็นต้น
อีกบริษัทคือบอร์แลนด์ ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เครื่องมือหรือ Tool
โดยหารือเกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นเพื่อรองรับเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ
ที่กำลังเกิดขึ้นและแนวโน้มที่จะมา ซึ่งกระทรวงไอซีทีก็เห็นด้วย อย่างเช่นอินเทอร์เน็ต
ความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ ที่น่าจะมีการใช้งานกันอย่างกว้างขวาง
"การหารือครั้งนี้ยังไม่มีการลงในรายละเอียด เป็นเรื่องของหลักการและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่า
ว่าผู้ประกอบการด้านไอซีทีระดับโลกเขามองอย่างไร คิดอย่างไร เรามองอย่างไร คิดอย่างไร
อย่างเอชพี หรือไมโครซอฟท์เขารู้เรื่องเมืองไทยเป็นอย่างดี แสดงว่าเขาได้รับรายงานและเฝ้าจับตามองเราอยู่
สิ่งที่เขาพูดคือสนใจการลงทุนและพัฒนาในไทยมากขึ้น"