The Wind of Change (1)

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมพยายามศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เศรษฐกิจไทย โดยเริ่มจากการอรรถาธิบาย การเปลี่ยนโครงสร้างธนาคารไทยได้เข้าใจปรากฏการณ์ที่น่าเร้าใจหลายประการทีเดียว

บทสรุปของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงหนัก หน่วงรุนแรงที่สุด ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจแกนกลางสังคมไทยพอสมควร โดยพิจารณากรณีธนาคารไทย ถูกซื้อกิจการและผนวกเข้าเป็นเครือข่ายของธนาคารต่าง ชาติ 4 แห่งด้วยกัน จากธนาคารเดิม 16 แห่ง

พิจารณาจากขนาดและเครือข่ายสาขาของธนาคาร เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารขนาดเล็ก อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่าธุรกิจแกนกลางของสังคมไทยนี้ มิได้เปลี่ยน แปลงเชิงสาระเท่าใดนัก

แต่ความจริง กลับเป็นตรงข้าม

ภาพการเปลี่ยนแปลงจากธนาคารทั้งสี่ เป็นภาพทางยุทธศาสตร์สำคัญทั้งในโมเดลธุรกิจระดับโลกเชื่อมโยง กับประเทศไทย และในฐานะประเทศที่ต้องเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันกันทั้งโลก

ธนาคารแห่งยุโรปในยุคอาณานิคมหลังสนธิสัญญา บาวริ่ง กลับมาอีกครั้งหลังจากค่อยๆ ถอนตัวออกจากประเทศไปมายาวนาน การกลับมาครั้งนี้มียุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงเป็นภาพของธุรกิจในโมเดลระดับโลก ที่เชื่อมกับตลาดใหม่อย่างแนบแน่น

นั่นคือธนาคารจากเกาะอังกฤษและธนาคารดัตช์

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มียุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ในสถานการณ์ที่ผันแปรในภูมิภาคก่อให้ เกิดภาพทางยุทธศาสตร์ของธนาคารสิงคโปร์ในประเทศไทย โดยมีธนาคารสำคัญ 2 แห่งเป็นฝ่ายรุกเข้าเมืองไทย ในการดำเนินธุรกิจเชิงรุกที่ก้าวร้าวที่สุด และครอบคลุมธุรกิจในภาพยุทธศาสตร์สิงคโปร์อย่างแจ่มชัดที่สุด

ธนาคารอังกฤษ-ดัตช์

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กลับเข้าเมือง ไทยอีกครั้ง โดยเข้าถือกิจการธนาคารนครธนและเข้า บริหารอย่างเบ็ดเสร็จ ใครที่ใช้คำว่า"ธนาคารลูกครึ่ง" เป็นคำนิยามที่หยาบมากๆ ซึ่งในเนื้อแท้การบริหาร ธนาคารแห่งนี้อยู่ภายในระบบเครือข่ายและยุทธศาสตร์ ของธนาคารแห่งอังกฤษทั้งสิ้น

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ก่อตั้งเพื่อ สนับสนุนการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศ อาณานิคมในเอเชีย ก่อนประเทศไทยลงนามสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างผู้แทนรัฐบาล อังกฤษ (เซอร์จอห์น บาวริ่ง) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ใน ปี 2398

จากนั้นเป็นต้นมา บริษัทการค้าจากยุโรปโดย เฉพาะอังกฤษ ก็เข้ามาค้าขายกับราชสำนักไทยอย่าง ครึกโครม

เริ่มจากปี 2399 บริษัทบอร์เนียว บริษัทการค้า (Trading House) ของอังกฤษมาเปิดกิจการรายแรกใน ประเทศไทย ซื้อสินค้าไทย เริ่มจากพริกไทย ต่อมาข้าว และไม้สัก ไปขายต่างประเทศ ไม่ว่าเอเชียหรือยุโรป เป็นตัวแทนธนาคารชาร์เตอร์ด ในปี 2401 และ ต่อมาขยายกิจการไปเรื่อยๆ สู่โรงสีข้าว (2408) สัมปทานป่าไม้ โรงเลื่อย (2413) ต่อมาขยายตัวเป็นบริษัทการค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (2463) แต่จำเป็นต้องถอนตัวออกไปเมื่อสงครามโลกมาถึง

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปัจจุบัน กลับมามีอิทธิพลในย่านนี้มากขึ้น ตั้งแต่ค้นพบว่าเป็นย่านที่เติบโตที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยดำรงและขยาย สำนักงานและกิจการในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง นับว่าเครือข่ายปัจจุบันครอบคลุมประเทศต่างๆ อย่างครบถ้วนประมาณ 19 ประเทศ ตั้งแต่จีน มาเก๊า ฮ่องกง เวียดนาม เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ปากีสถาน เนปาล อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย พม่า เขมร ลาว และไทย ซึ่งนับว่าเป็นเครือข่าย ที่เข้มข้นกว่าบริเวณอื่นๆ ของโลก ซึ่งรวมกัน 55 ประเทศ

ส่วนธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน ซึ่งได้ มาจากการเทกโอเวอร์ธนาคารนครธนของตระกูลหวั่งหลี ในปลายปี 2542 นั้น มีสาขาส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ในย่านการค้าสมัยใหม่ประมาณ 40 สาขา ส่วนที่เหลือกระจายทั่วประเทศอีกประมาณ 20 สาขา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ หนาแน่นในภาคกลางและภาคตะวันออก

นโยบาย Retail Banking เกิดขึ้น นับว่าสอดคล้อง กับการสร้างเครือข่ายสำคัญในประเทศไทยอย่างทันท่วงที ในปี 2542 อันเป็นเวลาเดียวกับที่เครือข่ายธุรกิจของอังกฤษ ซึ่งไม่เคยลงรากเข้าสู่การค้าปลีกมาก่อนในเมืองไทย ก็รุกคืบเข้ามาอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

ในปัจจุบัน (ปี 2544) ร้าน Boots และซูเปอร์สโตร์ ขนาดใหญ่ Tesco-Lotus มีสาขารวมกันเกือบๆ 100 แห่ง ในย่านการค้าสำคัญ โดยกระจุกตัวมาก เช่น สาขาธนา-คารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน ในกรุงเทพฯ นั่นเอง และถ้าสังเกตให้ดี สาขาย่อยๆ และเครือข่าย ATM ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน ก็เกิดขึ้นในห้าง Tesco-Lotus ด้วยหลายแห่ง และแนวโน้มจะมีมากขึ้นๆ ต่อไป

โมเดลนี้ นับได้ว่าเป็นโมเดลที่ธนาคารเอเชีย ในเครือ ABN AMRO กับเครือข่ายค้าปลีกของเนเธอร์แลนด์ในประเทศไทย ชนิดที่เรียกว่า ก๊อบปี้กันมาทั้งสูตรและช่วงเวลาที่แข่งขัน โดยขณะที่กำลังช่วงชิงความเป็นผู้นำธุรกิจนี้ในเมืองไทยอย่างเข้มข้นที่สุด

ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและยุทธศาสตร์ ไปแล้ว ก็คือ ธุรกิจค้าปลีกของไทยอยู่ภายใต้การครอบงำ และพัฒนามาจากโครงสร้างความคิดของ Trading House เมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา จากอังกฤษ และเนเธอร์แลนด์เรียบร้อยแล้ว อันเป็นปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญทางธุรกิจ ที่มาจากวิกฤติสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา

การค้าปลีกเข้าถึงชุมชนเมืองใหญ่และหัวเมือง ด้วยบริการที่ทันสมัยเหล่านี้ เรียกว่า Modern trade ซึ่งกำลังเข้าแทนที่การค้าแบบเก่าของไทยให้ล้มหายตายจากไป โดยเฉพาะร้านโชวห่วย ซึ่งเป็นผู้ประกอบ การรายเล็กและกระจายอยู่ทั่วไป


ธนาคารสิงคโปร์

ประเทศนี้มีแรงบันดาลใจสูงอย่างไม่เคยมีมา ก่อน ในการรุกเข้าประเทศไทย เข้ายึดธนาคาร 2 แห่ง ไฟแนนซ์อีก 3-4 แห่ง brokerage firm อีก 3-4 แห่ง ในเวลาประมาณ 3 ปีเท่านั้น ครอบคลุมบริการการเงิน ที่มีบุคลิกเข้มข้นและเข้มแข็งที่สุดในประเทศไทยเวลา นี้ก็ว่าได้ โดยเชื่อมโยงในความพยายามสร้างฐานลูกค้า รายย่อยใหม่ ซึ่งสิงคโปร์ไม่มีฐานในประวัติศาสตร์ เช่น อังกฤษหรือดัตช์มาก่อน เข้าสู่ธุรกิจสมัยใหม่ที่เน้นราย ย่อย โดยเฉพาะธุรกิจว่าด้วยอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันผู้นำ ในด้านเครือข่าย (data center) ผู้บริหาร (ISP) ที่สำคัญสิงคโปร์ให้ความสำคัญในการบริการและพัฒนา content ข้อมูลระดับโครงสร้าง ก็คือ ผู้บริการด้าน content เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย สิงคโปร์ กลายเป็นผู้นำไปแล้วใน website สำคัญๆ ตลอดจน การสร้างฐานสู่ระดับรากฐานในสื่อสิ่งพิมพ์ สิงคโปร์มี อิทธิพลในสื่อสิ่งพิมพ์ของไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จากหนังสือพิมพ์รายวันจนถึงนิตยสารรายเดือน

โดยธนาคาร 2 แห่งนี้มีนโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับ อินเทอร์เน็ตมากเป็นพิเศษอย่างสอดคล้องกัน

สุดท้ายการเกิดขึ้นของธนาคารต่างชาติ ก็คือ การเกิดขึ้นของยุทธศาสตร์ที่เป็นจริงในการเข้าสู่ฐาน ผู้บริโภค ซึ่งธนาคารไทยไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง มาก่อน ภายใต้โมเดลธุรกิจที่มีลักษณะ Convergence จากธนาคารไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในเมืองไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.