"กมล เอี้ยวศิวิกูล" แห่งไมด้า ดอดซื้อหุ้นโรงพยาบาลวิภาวดี 10% แถมได้บอร์ด
1 ที่นั่ง คาดธุรกิจโรงพยาบาลกำลังบูม หลังทุกแห่งแก้ปัญหาหนี้สินลุล่วง และนโยบายรัฐหนุนไทย
เป็นศูนย์กลางสุขภาพเอเชีย เผย "กมล" เตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับแพทย์ผุดศูนย์ดูแลสุขภาพครบ
วงจรในโรงพยาบาล
แหล่งข่าวจากธุรกิจโรงพยาบาลเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา นายกมล
เอี้ยวศิวิกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทไมด้า แอสเซท จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทโรงพยาบาลวิภาวดี
จำกัด (มหาชน) (VIBHA) ในนามส่วนบุคคลจำนวน 5.7 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 25 บาท เป็นจำนวนเงิน
ทั้งสิ้น 142.5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเข้าครอบครองหลักทรัพย์ที่สัดส่วน 10% ของจำนวนหุ้นโรงพยาบาลวิภาวดีทั้งหมด
ทำให้นายกมลมีสิทธิที่จะส่งตัวแทนเป็นคณะกรรมการโรงพยาบาลวิภาวดี 1 ที่นั่ง เพื่อร่วมบริหารงานบริษัท
การที่นายกมลเข้ามาถือหุ้นโรงพยาบาลวิภาวดี ในนามส่วนตัวเป็นสัดส่วนที่สูง ถือว่าเป็นแนวโน้มเดียวกับภาพรวมตลาดธุรกิจโรงพยาบาลในช่วง
1-2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะการควบรวมกิจการ การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
โดยเชื่อว่าธุรกิจโรงพยาบาลกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี
2540 ที่ก่อนหน้านั้นธุรกิจโรงพยาบาลอยู่ในภาวะการแข่งขันสูง แต่หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตแล้ว
ทำให้ต้องปิดกิจการลงจำนวนหนึ่ง บางส่วนต้องควบรวมกิจการเพื่อความอยู่รอด
ขณะนี้โรงพยาบาลที่เหลืออยู่ ถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่ปรับโครงสร้างธุรกิจมาแล้ว
และพร้อมที่จะกลับมาแข่งขันใหม่อีกครั้ง โดยเชื่อว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปธุรกิจโรงพยาบาลจะเป็นธุรกิจที่กลับมาเติบโต และขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลได้ประกาศให้ประเทศไทยเป็นศูนย์สุขภาพของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลในประเทศไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศเข้ามารักษาพยาบาลในไทยมากขึ้น
โดยน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนหลายคนสนใจเข้ามาถือหุ้นโรงพยาบาลในช่วงนี้
ผุดศูนย์สุขภาพครบวจร
แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลวิภาวดี เปิดเผยว่าการเข้ามาซื้อหุ้นของนายกมล เอี้ยวศิวิกูล
ครั้งนี้ได้เจรจากันล่วงหน้ามาประมาณ 2 ปีแล้ว โดยนายกมลสนใจจะทำธุรกิจศูนย์สุขภาพครบวงจร
โดยร่วมทุนกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และเข้าไปใช้พื้นที่ในโรงพยาบาลเปิด
ให้บริการหลังจากเข้ามาซื้อหุ้นในโรงพยาบาลวิภาวดี แล้วการเปิดศูนย์สุขภาพครบวงจรคงเริ่มที่โรงพยาบาลวิภาวดีเป็นแห่งแรก
โดยจะใช้พื้นที่ของโรงพยาบาล 2 ชั้น คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เปิดให้บริการกลางปี
2547
รูปแบบการดำเนินการของศูนย์ดูแลสุขภาพ จะจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหาร โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักคือรพ.วิภาวดี
กลุ่มแพทย์คนไทยในรพ.วิภาวดี และผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าของเทคโนโลยีการแพทย์จาก
ต่างประเทศ ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยกลุ่มแพทย์ถือหุ้น
70% รพ.วิภาวดี 30% ส่วนการขยายสาขาในอนาคตจะเน้นการเปิดสาขาในโรงพยาบาลทั่วไป
โดยในสาขาที่จะไปเปิดบริการจะเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเจ้าของพื้นที่ และแพทย์ประจำโรงพยาบาลนั้นๆร่วมถือหุ้นด้วย
สำหรับศูนย์สุขภาพครบวงจรที่นายกมลและแพทย์จัดทำขึ้น จะเป็นศูนย์ที่ชูจุดเด่นด้านการชะลอความแก่ในกลุ่มคนสูงอายุ
ปัจจุบันโรงพยาบาล ที่ให้บริการด้านศูนย์ดูแลสุขภาพจะมีที่ รพ.สมิตเวช รพ.บำรุงราษฎร์
และ รพ.กรุงเทพ แต่ไม่ได้เน้นเรื่องการชะลอความแก่ เช่นเดียวกับที่ รพ.วิภาวดีกำลังจะดำเนินการ
การเปิดศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรในโรงพยาบาล เป็นการทำธุรกิจที่ผู้ประกอบการทั้ง
2 ฝ่าย จะได้ประโยชน์ทั้งคู่ คือศูนย์สุขภาพจะได้ประโยชน์จากลูกค้าที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลบางส่วน
น่าจะมาใช้บริการกับศูนย์ด้วย รวมทั้งจะได้ในแง่ของภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ เพราะว่าตั้งอยู่ในโรงพยาบาล
เนื่องจากศูนย์ดูแลสุขภาพเป็นบริการที่ไม่สามารถโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณต่างๆได้ ส่วนโรงพยาบาล
ก็จะได้ภาพลักษณ์ทันสมัย เพราะธุรกิจศูนย์ดูแลสุขภาพเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตทั่วโลก