แบงก์ชฎาหวนคืนตลาดหุ้นตั้งบลจ.กลางปี47-ชูบริการลูกค้าอบอุ่น


ผู้จัดการรายวัน(20 ตุลาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์นครหลวงไทย (SCIB) ยุคใหม่ หลังกลืนแบงก์ เจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ ศรีนคร รวมถึงสยายปีกครอบคลุมธุรกิจตลาดเงิน-ตลาดทุนไทยเกือบครบแล้ว เตรียมตั้งบลจ.กลางปีหน้า มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านให้บริการลูกค้า ด้วยจุดแข็งที่ฝ่ายบริหาร-พนักงานธนาคารใกล้ชิด และให้บริการที่อบอุ่นกับลูกค้า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ตั้งเป้าเป็นธนาคารส่วนตัวลูกค้าที่ดีที่สุด (The Best Personal Touch Bank) หลังกระจายหุ้นส่วนที่กองทุนฟื้นฟูฯ ถือเข้าตลาดหุ้นไทยรอบใหม่ โดยจะขายประชาชนทั่วไป 370 ล้านหุ้น หุ้นละประมาณ 18 บาท เท่าบุ๊ก 20-25 พ.ย. พร้อม คัฟเวอร์วอร์แรนต์ 2 ชุด

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ปีหน้าธนาคาร ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 60% เป็น 1.7 แสนล้านบาท จากเป้าหมายปีนี้ 2.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ธนาคารมีกำไรเฉลี่ยเดือนละ 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณเดือนละ 100 ล้านบาท เป็นรายได้จากดอกเบี้ย 77% ขณะที่ที่เหลือเป็นรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ย โดยตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ทั้ง 2 ส่วนเท่ากันที่ประมาณ 50 : 50 ระยะยาว

ธนาคารส่วนตัวลูกค้าดีที่สุด

ธนาคารมีเป้าหมายให้บริการลูกค้าอย่างใกล้ชิดและอบอุ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทั้งธนาคารนคร หลวงไทย และอดีตธนาคารศรีนคร ที่ธนาคาร"กลืน" ตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ถึงปัจจุบัน ตั้งเป้าเป็นธนาคารส่วนตัวของลูกค้าที่ดีที่สุด (The best personal touch bank) ตามด้วยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีบริการลูกค้าให้ทันสมัย

เขากล่าวว่ารัฐบาลช่วยประคับประคองธนาคารนครหลวงไทยมาตลอด โดยรับหนี้เน่าจากธนาคารประมาณ 3 แสนล้านบาท โอนให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ขณะที่หนี้เน่าที่ยังอยู่ที่ธนาคารเพียง 8 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ธนาคารนครหลวงไทย "กลืน" ธนาคารศรีนคร มี.ค.2545

หลังจากเขาตัดสินใจรับตำแหน่งประมาณ 2 ปีที่แล้ว ก็เริ่ม "จัดระเบียบ" ธนาคาร โดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์ที่รวมระบบเดิมของธนาคารนครหลวงไทยเดิม และอดีตธนาคารศรีนคร ซึ่งวางเป้าปรับใหม่ ทั้งระบบด้วยเงินลงทุนรวมประมาณพันล้านบาท

เตรียมหวนคืนตลาดหุ้น

หลังจากธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานและเริ่มแข็งแรงขึ้น มีนโยบายคืนกำไรให้ประชาชน โดยหวนคืนซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยอีกครั้งปลายปีนี้ โดยจะกระจายหุ้นส่วนกองทุนฟื้นฟูฯ 30% ให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ ที่กำหนดให้จำนวนหุ้นที่ซื้อขายจริง (Free float) ในกระดานต้องไม่ต่ำกว่า 15% ของทุนชำระแล้ว

ขณะนี้ยืนยันว่าธนาคารพร้อมแล้วทุกด้าน หลังขยายงานครอบคลุมธุรกิจตลาดเงิน-ตลาดทุนไทยแทบครบทุกด้านแล้ว รวมถึงธุรกิจประกันภัยที่มีบริษัทลูก คือบริษัท สยาม ซิตี้ ประกันภัย ซื้อไลเซนส์ จากอดีต บล. หยวนต้า มีแผนจะตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกลางปีหน้า

ขาย 370 ล้านหุ้น 20-25 พ.ย.

โดยธนาคารเตรียมกระจายหุ้นส่วนที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือให้ประชาชนทั่วไป 20-25 พ.ย.นี้ ราคาประมาณหุ้นละ 18 บาท เท่ามูลค่าบัญชีธนาคารปัจจุบัน พร้อมคัฟเวอร์ วอร์แรนต์ 2 ชุด โดย บล. ทิสโก้ บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และ บล.ฟินันซ่า เป็นที่ปรึกษาการเงิน ราคาประมาณหุ้นละ 18 บาท โดยขายประชาชนทั่วไป 60% สถาบัน 40%

ปัจจุบันธนาคารมีทุนจดทะเบียน 2.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2.1 พันล้านหุ้น พาร์ 10 บาท กองทุน ฟื้นฟูฯ ถือหุ้น 99.99% โดยธนาคารเริ่มกลับมาจ่ายเงินปันผลให้กองทุนฟื้นฟูฯ ปีที่แล้ว หุ้นละ 2 สตางค์

ครึ่งแรกปีนี้สัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ประมาณ 46% เทียบระบบธนาคารในไทยประมาณ 50% ขึ้นไป ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 4.97 แสนล้านบาท เป็นลำดับ 5 ของ 13 ธนาคารในไทย ส่วนแบ่งตลาด 8.40% ส่วนผู้ถือหุ้น 3.95 หมื่นล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 5,631 ราย มูลค่ารวม 5.21 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 1.41 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2545 โดยสินเชื่ออุตสาหกรรมคิด เป็นสัดส่วนสูงสุดที่ 33% ของพอร์ตสินเชื่อธนาคารทั้งหมด สินเชื่ออื่นๆ 18% ค้าส่ง-ปลีก 16% สาธารณูปโภค 13% บริการ 11% และอสังหาริมทรัพย์ 9%

ด้านเงินฝากครึ่งแรกปีนี้เพิ่ม 11,554 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียม 530 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับ 200 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมประกันภัย 30 ล้านบาท หนี้เน่าต่อสินเชื่อรวม 0.41% ต่ำสุดใน 13 ธนาคาร ขณะที่สินทรัพย์รอการขาย 1.50 หมื่นล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 9.91%

มูลค่าหุ้นตามบัญชี 18.71 บาท กำไรสุทธิ 1,343 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 64 สตางค์ ลด 0.07% จาก 1,451 ล้านบาท ครึ่งแรกปี 2545 เป็นลำดับ 7 ของ 13 ธนาคารพาณิชย์ในไทยปัจจุบัน ส่วนพนักงาน ณ ครึ่งปีแรก 6,168 คน 361 สาขา รายได้ดอกเบี้ยครึ่งแรกปีนี้ 8,746 ล้านบาท คิดเป็น 77% ของรายได้ธนาคารทั้งหมด ขณะที่รายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ย 2,591 ล้านบาท หรือ 23%

สัดส่วน BIS กองทุน 13.73% เป็นขั้นที่ 1 ที่ 12.72% สูงสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปัจจุบัน ขณะที่ธนาคารไม่มีภาระไถ่ถอนตราสารสลิปส์-แคปส์ เหมือนธนาคารใหญ่และเล็กอื่นๆ ปัจจุบัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.