สงบ พรรณรักษา "ลี ไออาค๊อคค่า" แห่งไอทีเอฟ.

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ อภิชาติ ชอบชื่นชม
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ที่ประเทศสหรัฐฯ กำลังฮือฮากันถึงลี ไออาค๊อคค่า อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัทฟอร์ด ที่ภายหลังเป็นประธานให้กับริษัทไคร์สเลอร์ที่ประสบปัยหาจนเกือบล้มละลาย "ไออาค๊อคค่า" ดิ้นขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้จำนวน 1.5 พันล้านเหรียญ จนสำเร็จและสร้างไคร์สเลอร์ขึ้นมาใหม่อย่างมั่นคง ในเมืองไทยนักบริหารชื่อ สงบ พรรณรักษา สู้ยิบตาเพื่อหาทุนใหม่มาเสริม บงล. ไอทีเอฟ. ด้วยจำนวนเงิน 300 ล้านบาท อาจจะไม่ยิ่งใหญ่หรือโด่งดังเท่า "ไออาค๊อคค่า" แต่คงไม่เกินไปที่เรียกเขาว่า "ลี ไออาค๊อคค่า บงล. ไอทีเอฟ."

ถ้าไปถามสงบ พรรณรักษาว่าในชีวิตของเขานั้น วันไหนเป็นวันที่เขาจำมันได้แม่นยำที่สุด สงบก็คงบอกว่าวันที่ 6 มิถุนายน 2528 วันที่ทางการฮ่องกงประกาศว่าธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเป็นที่ทางการต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมการดำเนินการ

ข่าวนี้เมื่อมาถึงเมืองไทยสำหรับสงบ พรรณรักษาแล้วคงเหมือนเห็นฟ้าถล่มลงมาต่อหน้าต่อตา เพราะโดยตำแหน่ง สงบ พรรณรักษาคือกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ. (อินเตอร์เนชั่นแนล ทรัสต์ แอนด์ ไฟแนนซ์) ที่โฆษณาลงในสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ มาเกือบตลอดทั้งปีว่าเป็นบริษัทเงินทุนในเครือธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์แห่งฮ่องกง

เมื่อบริษัทแม่ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีสาขาแผ่กระจายไปทั่วโลกยังเจ๊ง บริษัทเงินทุนในเมืองไทยที่ประกาศตัวเองว่าเป็นบริษัทในเครือ คนก็ย่อมคิดว่าจะเอาอะไรมาเหลือ?

ร้อนถึงแบงก์ชาติโดย ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ครั้งที่ยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการและตรวจสอบสถาบันการเงินต้องออกมาแถลงว่าการที่ธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ถูกควบคุมโดยทางการฮ่องกงไม่กระทบกระทือนต่อ บงล. ไอทีเอฟ เพราะถือหุ้นอยู่เพียง 9 เปอร์เซ็นต์ สงบ พรรณรักษาก็ให้ข่าวในทำนองเดียวกัน ("ผู้จัดการ" ฉับที่ 22 เดือนมิถุนายน 2528)

"การที่ธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ถูกควบคุมโดยทางการเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดหมายมาก่อน เพาะก่อนหน้านั้นเราเคยขอเข้าโครงการ 4 เมษายน แบงก์ชาติก็ปฏิเสธเพราะเห็นว่าเรามีธนาคารนี้หนุนหลังอยู่แล้ว เมื่อธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ เปลี่ยนเจ้าของแผนการที่จะค่อย ๆ เพิ่มทุนและทยอยตัดหนี้เสียก็หมดหนทาง" สงบ พรรณรักษาย้อนอดีตให้ฟัง

ปัญหาใหญ่ของ บงล. ไอทีเอฟ. ยุคก่อนที่สงบ พรรณรักษาจะเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการก็คือ ปัญหาหนี้สูญที่เกิดจากการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงปี 2522-2523 แต่ผู้บริหารชุดเดิมไม่มีใครยอมตัดออกยังลงบัญชีเป็นทรัพย์สินของบริษัทในงบดุลประจำปีเรื่อยมาเช่นเดียวกับกรณีของ บงล. พัฒนาเงินทุน ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบบัญชีอย่างจริงจังก็พบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวจนต้องถูกถอนใบอนุญาตไปในที่สุด

"ผมเชื่อว่าอาจารย์สงบท่านไม่ทราบหรอกว่า ไอทีเอฟ. มีปัญหาอย่างนี้อยู่ คุณอย่าลืมว่าก่อนที่ท่านจะมาที่นี่ ท่านทำงานอยู่กับเอ็ตโก้ (บงล. กรุงศรีอยุธยา) การที่จะขอดูเอกสารงบดุลอะไรต่าง ๆ ทางไอทีเอฟ. ก็คงไม่ให้ดูหมดเพราะนอกจากจะเป็นคู่แข่งกันแล้ว ทาง ไอทีเอฟ. เขาก็ต้องกลัวอีกว่าขืนให้ดูมาก ๆ ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ เกิดอาจารย์สงบไม่ยอมมามิพังเป็นแถบ ๆ หรือ" ผู้บริหารบริษัทเงินทุนรายหนึ่งวิเคราะห์

เมื่อหลวมตัวมานั่งบริหารอยู่ที่ ไอทีเอฟ. แล้ว แม้จะรู้ว่าบริษัทเงินทุนแห่งนี้มีหนี้สูญที่ยังไม่ได้ตัดบัญชีอยู่มากมาย แต่ก็ยังอุ่นใจว่ามีธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ ไว้คอยอิงเป็นกำแพงหลัง สงบ พรรณรักษา ก็พยายามเพิ่มทุนอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2528 ได้เงินเข้ามา 9 ล้านบาท

"การเพิ่มทุนครั้งแรกผมว่าผู้จัดการท่านรู้แล้วว่าผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยไม่มีเงิน แต่ในฐานะที่ท่านเป็นนักบัญชีและเป็นนักบริหารมืออาชีพ ท่านจึงพยายามหาทางเพิ่มทุนอีกเพราะรู้ว่าขืนไม่รีบเพิ่มทุนและทยอยตัดหนี้สูญออกไป ไอทีเอฟ. ไม่มีทางไปรอด ราว ๆ ปลายเดือนพฤษภาคมจึงเพิ่มทุนอีก 32 ล้านบาทเป็น 299 ล้านบาท เงินจำนวนหลังนี่แหละที่มาจากธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ และผมมั่นใจว่าน่าจะเป็นเงินของโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์จริง แต่เอาเข้ามาโดยคุณธานี บรมรัตนธน (ลุกชายจางหมิงเทียนผู้ก่อตั้ง OTB)" พนักงานเก่าแก่ของ บงล. ไอทีเอฟ. เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"

ก็คงเป็นที่กระจ่างกันว่าทำไมเวลาสงบ พรรณรักษาพูดถึงสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ในไอทีเอฟ. จึงมักพูดออกมาเป็น 2 ตัวเลข คือบางครั้งก็บอกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ บางครั้งก็บอกว่า 22 เปอร์เซนต์ เพียงแต่การเพิ่มทุนครั้งหลังกระทำก่อนหน้าธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์จะถูกทางการฮ่องกงควบคุมเพียง 6 วัน ขืนบอกว่าโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ถือหุ้น 22 เปอร์เซนต์ก็คงพังพาบไปตั้งแต่ปลายปีก่อน

"เมื่อธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ถูกทางการควบคุมและกายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเท่ากับเป็นการเปลี่ยนเจ้าของ เขาก็ไม่ยอมรับความสัมพันธ์อะไรต่าง ๆ ที่เจ้าของเดิมมีกับเรา ทางออกของเราเหลืออยู่ทางเดียวก็คือลดทุนลงมาเพื่อตัดหนี้สูญให้หมดแล้วเพิ่มทุนใหม่ให้บริษัทแข็งแรงมั่นคงอย่างแท้จริง ลดทุนมันไม่เป็นปัญหาเพราะผู้ถือหุ้นเก่าเองยอมรับความจริงได้แล้วว่าหุ้นตัวเองไม่มีค่าอะไร แทนที่จะเอามาลงใหม่นี่สิจะเอามาจากไหน ไม่ต้องถึง 300 ล้านบาท หรอก แค่ 150 ล้านบาทใครจะมีเงินมาลงอย่างชนิดว่าไม่กระโตกกระตาก" สงบ พรรณรักษาอธิบายและเสริมอีกว่า

"เมื่อคิดถึงการเพิ่มทุนผมก็มองไปที่โอเวอร์ซีส์ ทรัสต์…มองที่อื่นไม่ได้เลย เพราะมองไปที่อื่นปั๊บความลับมันจะรั่วไหล เพราะเช่นถ้าเราต้องการเพิ่มทุน 150 ล้านบาท กลุ่มผู้ที่จะมาลงทุนรายไหนจะเอาเงินมาลงทั้งหมด ก็ต้องกระจายไปกลุ่มละ 50 ล้าน 25 ล้าน คนที่จะมาลงทุนเขาก็ต้องขอดูข้อมูลใช่ไหมได้ไปก็ให้ลูกน้องวิเคราะห์ข้อมูลรั่วก็ตรงนี้…พัง ไม่ทันเพิ่มทุนบริษัทพังไปเสียก่อน สถาบันการเงินที่เจ๊งไปส่วนมากเนื่องจากความลับรั่วไหลระหว่างเจรจา"

แม้สงบ พรรณรักษาในฐานะกัปตันเรือของ ไอทีเอฟ. ที่กำลังเจอมรสุมลูกใหญ่จะมองและตั้งความหวังไปที่ธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ที่มีทางการฮ่องกงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะให้ความเห็นอกเห็นใจหรือสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ บงล. ไอทีเอฟ. ตามที่สงบคาดหวัง

"ระยะแรกนี่ผมพูดได้เลยว่าเรา DISCOMMUNICATED กันมาก เขาไม่ฟังอะไรทั้งนั้น เขาเห็นว่าเราเคยติดต่อกับผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ ซึ่งในสายตาของเขาเห็นว่าเป็นพวกขี้โกง ก็คิดว่าผมเป็นคนโกงเลยไม่ยอมติดต่อด้วย อีกอย่างหนึ่งเขาเองก็ไม่มีนโยบายที่จะลงทุนในต่างประเทศ บรรดาสาขาต่าง ๆ ที่เขามีอยู่ทั่วโลกไม่ว่าจะมีกำไรหรือขาดทุนเขาขายทิ้งหมด พยายามจำกัดบทบาทของเขาอยู่เฉพาะบนเกาะฮ่องกง" สงบ พรรณรักษาเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ขมขื่นไม่หาย

เมื่อปวารณาตัวเป็นกัปตันเรือรั่วอย่าง บงล. ไอทีเอฟ. และด้วยสปิริตของนักบริหารมืออาชีพ แม้ความหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์จะลางเลือนเต็มทน สงบ พรรณรักษาก็ไม่ยอมแพ้ สละเรือทิ้งเอาตัวรอดเหมือนอย่างที่บางคนอยากให้ทำ สโลแกนของ บงล. ไอทีเอฟ. ในช่วงปลายปี 2528 จึงเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง นั่นก็คือ

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอทีเอฟ. จำกัด

(ภายใต้การบริหารงานของศาสตราจารย์สงบ พรรณรักษา)

"พวกเราก็ขำกันนะว่าเอ…อาจารย์สงบท่านเพี้ยนไปหรือเปล่า เพราะบริษัทเงินทุนอื่นเขาโชว์ตัวผู้บริหารด้วยการลงรูปลงชื่อในรายงานประจำปีหรือพวกแผ่นพับ โฆษณา แต่นี่อาจารย์สงบเล่นโฆษณาแบบข้ามาคนเดียว…ก็งงไปตามกัน" ผู้บริหารบริษัทเงินทุนอีกแห่งให้ความเห็นต่อสโลแกนใหม่ของ บงล. ไอทีเอฟ.

"การที่ผมโฆษณาแบบนี้เพราะผมถือว่าตัวนักบริหารมืออาชีพนั่นแหละคือความมั่นคงของสถาบันการเงิน ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยเพราะมีความเชื่ออยู่ว่า บริษัทเงินทุนที่ดีคือบริษัทเงินทุนที่อิงกับธนาคารพาณิชย์ เราพยายามแหวกแนวความเชื่อนี้ออกมาแสดงให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นน่ะไม่สำคัญหรอก…อยู่ที่นักบริหารมืออาชีพ เราโฆษณาแบนี้มีใครว่าเราไหม มีใครช่วยเราไหม ในช่วงที่เราเกิดปัญหา เราจะส่งของแบนี้ ใครจะทำไม" สงบ พรรณรักษาอธิบายแนวคิดของตน

ด้วยเจตนาที่มุ่งมั่นในการที่จะรักษากิจการของ บงล. ไอทีเอฟ ให้อยู่รอดต่อไป ด้านหนึ่งสงบ พรรณรักษา ก็พยายามติดต่อกับธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์ให้มาลงทุนกับบริษัทเงินทุนของตน อีกด้านหนึ่งก็เร่งการดำเนินงานทุกด้านโดยไม่ยอมท้อแท้กับปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2529 บงล. ไอทีเอฟ. ในสภาพที่ประสบวิกฤติการณ์สามารถระดมเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 691 ล้านบาท รับสมัครพนักงานเพิ่มขึ้นอีก 40 คน จัดโครงการฝึกอบรมมินิเอ็มบีเอ. ให้กับพนักงาน ฯลฯ

"หลังจากที่ธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์มีปัญหาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2528 ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในขณะที่ไม่มีใครช่วยเหลือเราเลย เราก็ยังสามารถระดมเงินออกได้มากขึ้น อัตราดอกเบี้ยของไอทีเอฟ. กับผู้ฝากต่ำกว่าบริษัทเงินทุนที่กระทรวงการคลังถือหุ้น แพงกว่าดอกเบี้ยของบริษัทเงินทุนในเครือธนาคารพาณิชย์นิดหน่อย คนเขาเชื่อใน ไอทีเอฟ. …เชื่อเพราะอะไร ไอทีเอฟ. มีธนาคารไหนอิงไหม ถ้าอย่างนี้ชื่อของนายสงบที่ลงโฆษณาไปมีราคาไหม ค่าตัวของนายสงบตอนนี้เท่าไหร่อยากจะถาม" สงบ พรรณรักษาเล่าอย่างภาคภูมิใจและเสริมอีกว่า

"มีคนบอกว่าผมต้องไปขอบอกขอบใจคนนั้นคนนี้ ผมก็บอกว่าความจริงคนอื่นต้องมาขอบใจผมเหมือนกัน…เรารักษา ไอทีเอฟ. จนกระทั่งมาเป็นแบบนี้ทำได้อย่างไร? ที่จริงต้องให้เหรียญตราผมด้วยซ้ำนะแบบนี้ เพาะถ้า ไอทีเอฟ. ล้มคนฝากเงินเดือดร้อนไหม ระบบเศรษฐกิจไทยต้อง SUFFER ไหม"

คำกล่าวเหล่านี้ฟังเผิน ๆ อาจจะคิดว่าอหังการ์ไปหน่อย ลุ่มหลงโอ้อวดตัวเองเกินไปสักนิด แต่หากจะย้อนเวลาไปในช่วงปีเศษที่ผ่านมา คิดถึงความทุกข์ความขมขื่นรวดร้าวของสงบ พรรณรักษาที่เผชิญอยู่ทุก ๆ นาทีในแต่ละวัน การพูดถึงตัวเองอย่างนี้ไม่เกินเลยไปนักหรอก

"ปีที่แล้วเป็นปีที่ผมหนักมาก ผมก็ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าในชีวิตของผมจะต้องมาเจออะไรแบนี้ ที่ บงล. กรุงศรีอยุธยาผมก็หนักเหมือนกัน แต่ที่ ไอทีเอฟ. หนักกว่า 20-30 เท่า ถ้าล้มเหลวที่นี่ก็เท่ากับผมจบสิ้นแล้วในสังคมไทย ชีวิตอาจารย์สงบนี่จบเลย ลูกศิษย์ลูกหาที่เคยสอนเขาก็คงผิดหวังกันหมดหรือเขาคงเสื่อมศรัทธาผมมาก ถ้าผมล้มเหลวชีวิตผมคงอยู่ในสังคมไทยไม่ได้แน่ ๆ เลย" สงบ พรรณรักษาพูดอย่างจริงใจในทุก ๆ คำและความหมาย

"มันเป็นเรื่อง LIFE AND DEATH มันเป็นและตายจริง ๆ แล้วยิ่งคิดถึงคนที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ต้องได้รับผลกระทบอย่างภรรยาหรือลูกของผม…ลูกผมอายุ 15-16 เขาต้องเจริญเติบโตในสังคมนี้อีก 30-40 ปี ถ้าผมเป็นอะไรไปลูกผมเขาจะอยู่กันยังไง ใครไม่เข้าใจความรู้สึกของผมหรอกว่ามันได้รับความกดดันขนาดไหน เพราะไม่มีใครช่วยเรา…ไม่มีใครบอกเราแต่แรกว่า เฮ้ยคุณสงบ คุณเป็นคนดี ไม่ต้องห่วง มีปัญหาอะไรจะช่วยเหลือ… ไม่มีใครพูด" อีกประโยคหนึ่งของสงบ พรรณรักษาที่สะท้อนความรู้สึกในช่วงที่อยู่ในวิกฤติการณ์

กลับมาเรื่องการติดต่อโน้มน้าวให้คณะผู้บริหารของธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ หรือหน่วยงานที่เรียกว่า MONETARY AFFAIRS ของฮ่องกงซึ่งเปรียบเสมือนกระทรวงการคลังของประเทศไทยให้สนใจเข้ามาลงทุนใน ไอทีเอฟ. สงบ พรรณรักษาก็ได้ส่งประวัติการทำงานตั้งแต่สมัยที่อยู่ บงล. กรุงศรีอยุธยา เขียนเล่าความเป็นมาของตัวเองไปให้กับคณะผู้บริหารของธาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ชนิดละเอียดยิบ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของกลุ่มบุคลเหล่านั้นเสียใหม่

"ผมคิดว่าเขาคงต้องเช็คประวัติของผมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้แต่กับสถานทูตอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาที่น่าภูมิใจคือเราสามารถชักจูงให้เขามีความเชื่อถือในตัวเราได้ ผมได้พิสูจน์แล้วว่าในช่วงที่มีวิกฤติการณ์โดที่ไม่ได้รับการสนุบสนุนจากใคร ผมสามารถรักษาสถานภาพของกิจการไว้ได้ รวมทั้งผลงานสมัยที่อยู่ บงล. กรุงศรีอยุธยา…ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 3 ปี เงินปันผลต่อหุ้นถือได้ว่าดีที่สุด" สงบ พรรณรักษา เล่าถึงจุดเริ่มต้นความสำเร็จในการดึงธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์เข้ามาถือหุ้น บงล. ไอทีเอฟ.

หลังจากนั้นยุทธการชักจูงผู้บริหารธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ให้เข้ามาลงทุนก็เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สงบ พรรณรักษาทั้งวิ่งเข้ากระทรวงการคลังและแบงก์ชาติโดยเฉพาะกำจร สถิรกุลให้ช่วยติดต่อกับทางการฮ่องกง ระยะตั้งแต่ต้นปี 2529 ผู้บริหารของธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์เดินทางเข้ามาประเทศไทยหลายครั้งเพื่อเยี่ยมชมกิจการของ ไอทีเอฟ. ทุกสาขา ขณะเดียวกันสงบ พรรณรักษาก็เดินทางไปฮ่องกงหลายครั้งเพื่อพบปะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการฮ่องกง

แน่นอนที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างที่กระทำถูกเก็บไว้เป็นความลับอย่างยิ่งยวด เพราะหากมีข่าวรั่วไปแม้แต่นิดเดียวว่าสงบ พรรณรักษากำลังหาผู้ลงทุนรายใหม่มาถือหุ้นใน ไอทีเอฟ. ไม่ว่าไทยหรือฝรั่ง บริษัทเงินทุนแห่งนี้คงหนีไม่พ้นอ้อมอกของกระทรวงการคลังไปแล้ว

"เดิมทีผมขอเงินจากธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ทั้งหมด 300 ล้านบาทเลย เขาก็บอกว่าเขาจะลงเงิน 150 ล้านบาทและให้รัฐบาลไทยลงอีก 150 ล้านบาทเพื่อให้เป็นกองทุนต่ำสุดที่เพียงพอสำหรับ ไอทีเอฟ. ที่จะเติบโตต่อไปได้ ทางรัฐบาลไทยโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินก็ตกลง เราจึงดำเนินการลดทุนเหลือ 11.45 ล้านบาท เมื่อรวมกับทุนใหม่ 300 ล้านบาทก็เป็น 311.45 ล้านบาท ซึ่งเรามีอัตราสินทรัพย์เสี่ยง (เงินให้กู้ยืม) ต่อกองทุนได้ 16.6 เท่า ต่อไปเราสามารถมีสินทรัพย์ได้ 5,400 ล้านบาท ผมคิดว่าไม่เกินหนึ่งปีก็น่าจะทำได้" สงบ พรรณรักษาพูดอย่างมั่นใจ

หากวันที่ 6 มิถุายน 2528 คือวันเริ่มต้นแห่งฝันร้ายของสงบ พรรณรักษา วันที่ 10 กรกฎาคม 2529 ก็คือวันสิ้นสุดความฝันร้ายนั้นและคงเป็นการเริ่มต้นความฝันอันเรืองรองงดงาม เมื่อมิสเตอร์ ดี เอฟ แอล เทอร์เนอร์กรรมการผู้จัดการของธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ได้เดินทางมาที่ประเทศไทย เพื่อลงนามในสัญญาร่วมลงทุนในบริษัทเงินทุน ไอทีเอฟ.

"ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักที่เราจะทำให้ชาวต่างชาติที่เป็นผู้ปกครองอาณานิคมแห่งหนึ่งให้ความเชื่อถือคนเอเชียอย่างเรา และผมก็ภูมิใจที่ผมทำได้ด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นคนที่มีศักดิ์ศรี มีเกียรติ ไม่ใช่ว่าไปแบมือขอทุนเขา" อีกข้อความหนึ่งของความในใจของคนชื่อสงบ พรรณรักษา

ต้องขอโทษท่านผู้อ่านของเราสักนิดที่ "ผู้จัดการ" ขออนุญาตตัดทอนบางส่วนของจดหมายที่สงบ พรรณรักษามีไปถึงเลขาธิการ MONETARY AFFAIRS และคณะกรรมการบริหารธนาคารโอเวอร์ซีส์ ทรัสต์ในเนื้อหาภาษาอังกฤษ เพราะเชื่อว่าสามารถคงอรรถรสและเจตนาของผู้เขียนไว้ได้ดีที่สุด

"…We are very fortunate here at International Trust and Finance Co., Ltd. It has been confirmes that we honor the man not because of his birth, nationality, race and association but for what the man is. I am very happy that Overseas Trust Bank and the Fund for Rehabilitation and Development of Financial Institutions honor the Agreement with me.

I am not a relative to any one of you. I cannot ask you to believe in me as you did in the man whom you knew for many years. At last, not at least, I ask only that you give me your support and your strength as you see fit. May I report that the more you support, the more you get in return. Ultimately, healthy growth is the greatest catalyst to the future Co., Ltd. As well as to the shareholders of International Trust and Finance Co., Ltd.

I Know that I shall make mistakes and even when I am right there will be men who will say that I am wrong. I ask you to support me when I am right against the attack of those who are wrong. Always my purpose will be to strengthen the benefits of all stakeholders of International Trust and Finance Co., Ltd. Those who do not agree with me as well as those who do agree with me.

I shall go to my work as the President and Chief Excutive Officer of the International Trust and Finance Co., Ltd. Nobody will be able to understand my feeling and my responsibility during the past two years. I would like to confirm with you that I am ready to leave that position when you and/or the shareholders of International Trust and Finance Co., Ltd. Find that I am dishonest."

ปิดท้ายสำหรับรายงานชิ้นนี้ "ผู้จัดการ" อยากจะยกคำพูดของสงบ พรรณรักษาที่ให้แง่คิดอย่างน่าฟังสำหรับการมองสถาบันการเงินบ้านเรา เขาว่าไว้อย่างนี้

"สิ่งที่อยากให้เห็นโดยทั่วกันก็คือว่า PROFESSIONAL MANAGER สามารถรักษาช่วยเหลือกิจการให้อยู่รอดได้ และอยากให้รู้กันว่าสถาบันการเงินนั้นหากใช้ MODERN MANAGEMENT มันไปรอดแน่นอน และอยากให้ผู้ออมเงินเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ที่โฆษณากันว่าอิงกับธนาคารนั้นมีความหมายอะไรถ้าเขาไม่ได้มาช่วย ต้อง GOOD MANAGER จึงจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.