ฝ่ายค้านคุณภาพและความแค้น


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการ และมองเห็นแล้วว่าใครบ้างที่ต้องเป็นฝ่ายค้าน ผู้ที่ติดตามการบ้านการเมืองมาโดยตลอด ต่างมีความเห็นใกล้เคียงกันว่า ฝ่ายค้านชุดนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อรัฐบาลเปรม 5

ถึงแม้สัดส่วนกำลังจะแตกต่างกันระหว่าง 115 เสียง กับ 232 เสียง ก็ตาม แต่การเมืองไทยทุกครั้งที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมักไม่ได้ขีดวงไว้เฉพาะการต่อสู้กันในสภา แรงกดดันหลาย ๆ ด้านต่างหากที่ส่งความหมายจริงจัง

ฝ่ายค้านที่มีความจัดเจนและเอาจริงเอาจังจึงเป็นแรงกดดันอันสำคัญประการหนึ่ง

บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ผู้กุมกำลังมากที่สุดของพรรคฝ่ายค้าน ในฐานะหัวหน้าพรรคสหประชาธิปไตย บทบาทที่ผ่านมาทุกฝ่ายยอมรับในความจัดเจนของเขาผู้นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นเกมในสภา

การเป็นนักการเมืองเก่าแก่ที่ผ่านเหตุการณ์มาหลายยุคสมัย กระทั่งเป็น สส. ที่อาวุโสที่สุดในสภาขณะนี้ บ่งบอกถึงประสบการณ์ที่กลั่นมาเป็นความจัดเจนชนิดเหนือชั้น จนกล่าวได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลไม่อาจทำอะไรในสภาพพลาดได้แม้วินาทีเดียว

เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสภาไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่จนฝ่ายค้านท้วงติง หรือเอาเงื่อนไขถล่ม ย่อมหมายถึงเครดิตทางการเมืองของรัฐบาลต้องสูญเสียไปโดยปริยาย

เครดิตตัวนี้ตีค่าออกมาเป็นจำนวนคะแนนเสียงไม่ได้ แต่ข่าวคราวที่กระจายสู่สาธารณชนก็ตีราคาความตกต่ำไม่ได้เช่นเดียวกัน

พรรคสหประชาธิปไตยเป็นคู่ต่อสู้หลักโดยพื้นฐานของพลเอกเปรม การค้านของพรรคนี้ไม่มีลักษณะ "ทั้งค้าน ทั้งจีบ"

การก่อกำเนิดพรรค รวมทั้งท่าทีในขณะฟอร์มรัฐบาล ชี้ถึงการไม่สนับสนุนให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน

ในพรรคสหประชาธิปไตย มีแกนสำคัญ ที่มีความ "แค้น" ต่อพลเอกเปรมอยู่อีกอย่างน้อย 2 คน คือพันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ และ ตามใจ ขำภโต ผู้ซึ่งถือได้ว่าเป็นมือทางเศรษฐกิจคนสำคัญของพรรค

สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ถึงแม้ในช่วงฟอร์มรัฐบาลพรรคประชากรไท จะเผยท่าทีต้องการร่วมรัฐบาลกับพลเอกเปรมด้วยก็ตาม

แต่ถึงวันนี้โอกาสสำหรับสมัครต่อการร่วมกับพลเอกเปรมได้ปิดสนิทลงแล้วโดยสิ้นเชิง อย่างน้อย ๆ ก็ด้วยเหตุผล 2 ประการ

หนึ่ง-พลเอกเปรมดึงเอาพลเรือเอกสนธิ บุญยะชัย อดีตลูกพรรคประชากรไทย ไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีในโควต้าของพลเอกเปรม พร้อม ๆ กับที่พลเรือเอกสนธิ กันมา "ชน" กับสมัคร ในหลายประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับการบริหารงานยุครัฐบาลเปรม 3 และ 4 การเป็นปรปักษ์กันของทั้งสามลามไปถึงพลเอกเปรมโดยไม่อาจเลี่ยง

สอง-การอภิปรายของสมัครในวันรัฐบาลแถลงนโยบาย วันนั้นหัวหน้าพรรคประชากรไทยกระหน่ำพลเอกเปรมอย่างรุนแรง กรณีที่ยอมให้วีระ มุสิกพงศ์ เป็น รมช. มหาดไทย ในขณะที่วีระยังมีปัญหาเกี่ยวเนื่องจากการพูดหาเสียงช่วยเหลือเพื่อนร่วมพรรคที่บุรีรัมย์ค้างคาอยู่

ถึงแม้การอภิปรายประเด็นนี้ต้องทำกันเป็นการลับ และวิทยุหยุดถ่ายทอดเสียงชั่วคราว แต่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับรายงานตรงกันว่า การอภิปรายของสมัคร ส่งผลให้พลเอกเปรมแสดงอาการโกรธจัดออกมาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

และก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าพลเอกเปรมนั้นเป็นคนลืมยาก

สมัคร สุนทรเวช มีความไม่พอใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตั้งแต่รู้ชัดเจนว่าไม่ได้ร่วมรัฐบาลด้วย ทั้ง ๆ ที่ตลอดเวลาที่ร่วมรัฐบาลกับพลเอกเปรมมานั้น สมัครปกป้องและ "ออกรับ" แทนรัฐบาลมาโดยตลอด ในช่วงหาเสียงก็ไม่เคยประกาศว่า "ไม่เอาเปรม"

ตรงข้ามกับพรรคที่มีส่วนสำคัญต่อการล้มรัฐบาลเปรม 4 กลับได้ร่วมรัฐบาลอย่างง่ายดาย

บทบาททางการเมืองที่จัดเจนอย่างหาตัวจับยาก การพูดจาที่คล่องแคล่วมีประเด็นชัดเจนบวกกับแรงขับเคลื่อนในตัวที่ "ทะยานแรง" ทำให้สมัครเป็นขุนพลฝ่ายค้านที่สำคัญยิ่ง

ณรงค์ วงศ์วรรณ ภาพของหัวหน้าพรรครวมไทยผู้นี้กระเดียดไปทางข้าราชการประจำที่ไม่มีอะไรหวือหวา แต่กล่าวถึงบารมีในบางโซนทางภาคเหนือแล้วไม่มีใครปฏิเสธได้

ณรงค์ เป็นผู้นำกลุ่ม สส. ภาคเหนือจำนวนหนึ่ง ที่มีอำนาจต่อรองมาโดยตลอด การกำเนิดของพรรครวมไทยนับเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ เมื่อมองในแง่ที่ว่า พรรคนี้ตั้งเป้าหมายต้องการ สส. จำนวน 20 คนเท่านั้น แต่ผลปรากฏว่าได้รับเลือกถึง 19 คน

เป็นเรื่องที่พลิกความคาดหมายไม่น้อย ที่ณรงค์ วงศ์วรรณและพรรครวมไทย ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเปรม 5 ทั้ง ๆ ที่รู้กันตลอดเวลาณรงค์นั้นสนิทสนมและเหนียวแน่นกับพลเอกเปรม อย่างยากที่จะแกะออก เมื่อผลลงเอยเช่นนี้ ณรงค์ถึงกับต้องขอโทษขอโพยลูกพรรคที่ผลักดันให้พรรคเข้าร่วมรัฐบาลไม่ได้

นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องที่รู้กันลึก ๆ ว่า การที่ณรงค์ตัดสินใจแยกตัวจากพรคกิจสังคมมาสร้างอาณาจักรใหม่ก็เนื่องจากความปรารถนาของพลเอกเปรม

ถึงแม้จะมีการพูดกันว่าการที่พรรครวมไทยไม่ได้ร่วมรัฐบาลเพราะอำนาจบางฝ่ายไม่ยอมรับปิยะนัฐ วัชราภรณ์ จริงหรือไม่ก็ตาม แต่บรรยากาศน้อยเนื้อต่ำใจได้ปกคลุมไปทั้งพรรค

เพราะอย่างน้อย ๆ พรรครวมไทยก็มีข้อเปรียบเทียบว่า "แนวร่วมป๋า" อย่างพรรคราษฎรซึ่งมีเสียงน้อยกว่ายังได้ร่วมรัฐบาลโดยไม่ยาก

ถึงวันนี้แม้ณรงค์ วงศ์วรรณ จะยังไม่ถึงขั้นปิดประตูคบหากับพลเอกเปรมปรากฏออกมาชัดเจน แต่ณรงค์ก็เข้าร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพรรคฝ่ายค้านแล้วอย่างเต็มตัว

และแม้ว่าณรงค์เองจะไม่สันทัดบทบาทเช่นนี้นัก แต่พรรคฝ่ายค้านก็ได้ดาวสภาหนุ่มอย่างปิยะนัฐ วัชราภรณ์ ลูกพรรครวมไทย เข้าร่วมทีมอย่างสมบูรณ์

บุญชู โรจนเสถียร ไม่มีทั้งความแค้นและความน้อยใจ ถึงจะร่วมเซ็นชื่อสนับสนุนพลเอกเปรมในขณะกำลังฟอร์มรัฐบาลกับเขาด้วยเหมือนกัน แต่ข่าวลึก ๆ เปิดเผยว่าการทำเช่นนั้นเป็นความจำเป็นที่เคยพูดกันมาก่อนเลือกตั้ง เพื่อแลกกับหลักประกันความปลอดภัยบางอย่างในการหาเสียงที่นครสวรรค์

ข่าวนี้จะเท็จจริงอย่างไรก็ตาม แต่การที่พรรคกิจประชาคมได้ สส. มาแค่ 15 คนนั้น ทำให้บุญชูต้องยอมรับความจริงถึงน้ำหนักในการต่อรองของตัวเอง

บทบาทนับจากนี้ต่อไป คือการแสดงฝีไม้ลายมือออกมาในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ เพื่อปูทางสู่อนาคต

แน่นอนบุญชู องยอมรับเป็นผู้รับบาบาทในการติดตามผลงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาล

อุทัย พิมพ์ใจชนประกาศตัวชัดเจนก่อนการเลือกตั้งว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก สส. เท่านั้น นั่นหมายความว่าไม่ต้องการให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

การเป็นฝ่ายค้านของอุทัยและพรรคก้าวหน้าจึงเป็นเรื่องของแนวทางการเมืองล้วน ๆ ไม่มีปัญหา "เทคนิค" มาปะปน

ถึงแม้จะเป็นหัวหน้าพรรคเล็ก ๆ บทบาทที่ตรงไปตรีงมาและอยู่ในร่องในรอยของอุทัยนั้นเป็นภาพที่ประทับใจต่อ "พับลิค" ไม่น้อย ทั้งนี้ไม่ว่าจะมองจากการกล่าวถึงของสื่อมวลชน และกรกระโดดเข้าร่วมของบุคคลบางส่วนเมื่อคราวเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป

ในพรรคฝ่ายค้าน อุทัยถือเป็นหัวหน้ากลุ่ม "สิบเก้า" ซึ่งรวมเอาพรรคเล็ก ๆ เข้าด้วยกันและมีจำนวน สส. 19 คน

อุทัยเป็นขุนพฝ่ายค้านอีกคนหนึ่งที่มีความคร่ำหวอดทางการเมืองอย่างหาตัวจับยาก ประสบการณ์จากการเป็น สส. หลายสมัย บวกกับ 2 ครั้งในตำแหน่งประธานสภาฯ หลอมเข้าเป็นคุณค่าอันใหญ่หลวงสำหรับต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล

ลำพังขุนพลฝ่ายค้านแต่ละคนล้วนมีความจัดเจนอยู่ในตัวแล้วโดยสมบูรณ์ แต่กระนั้นความสำคัญยิ่งเพิ่มน้ำหนักขึ้น เมื่อแต่ละขุนพล แต่ละพรรคหันมาจับมือร่วมภารกิจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การกำหนดบทบาท แบ่งหน้าที่ แบ่งความถนัด เป็นไปอย่างเป็นระบบ ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือกันที่พรรคฝ่ายค้านประกาศ เมื่อ 10 กันยายนนี้นั้นถึงแม้จะเป็นเพียงกระดาษใบหนึ่ง ไม่มีผลบังคับ ผูกมัดใด ๆ แต่นั่นแสดงถึงดีกรีในการร่วมภารกิจครั้งนี้

พรรคฝ่ายค้านร่วมภารกิจกันโดยหัวหน้าพรรคทั้ง 5 คน ประชุมวางแผนกันทุกวันพุธ เพื่อรับศึกการประชุมสภาในวันพฤหัส ผลจากการร่วมภารกิจทำให้พรรคฝ่ายค้านไม่แสดงบทบาทซ้ำซ้อนกันให้เสียประโยชน์ การเดินเกมในสภาพเป็นไปอย่างรวมศูนย์แทนการกระจัดกระจาย

เกมการเมืองประการหนึ่งในสภาพนั้น เป็นที่รู้กันว่า ประธานสภาฯ ซึ่งแน่นอน ย่อมมาจากฝ่ายรัฐบาล จะเปิดโอกาส โดยไม่ชี้ให้ฝ่ายค้านอภิปรายเลยก็ได้ แต่นั่นหมายถึงภาพพจน์จะออกมาน่าเกลียดเกินไป

ดังนั้นการชี้ให้บุคคลของฝ่ายค้านที่ประธานเห็นว่ามี "น้ำยาน้อย" ลุกขึ้นอภิปราย จึงเป็นเกมพื้นฐานของฝ่ายรัฐบาล

แต่สำหรับฝ่ายค้านทีมนี้รัฐบาลคงเล่นเกมนี้ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะได้มีการกำหนดตัวผู้อภิปรายของฝ่ายค้านเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งคัดจากผู้พูดจามีน้ำหนักและบทบาท "มีน้ำยา" เท่านั้น เมื่อถึงคราวต้องยกมือขออภิปราย บุคลที่ถูกกำหนดตัวไว้แล้วในแต่ละเรื่องเท่านั้นที่จะยกมือ ดังนั้นไม่ว่าประธานจะชี้ให้ใครอภิปราย ก็ล้วนเป็นเรื่องไม่ผิดหวังของฝ่ายค้าน

จะถ่ายทอดหรือไม่ถ่ายทอดการประชุมทางวิทยุกระจายเสียง นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะการประชุมทุกนัดถูกถ่ายทอดจากหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว

และเพียงผ่านมาไม่กี่ครั้งพรรคฝ่ายค้านก็ดิสเครดิตรัฐบาลไปแล้วหลายแต้ม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.