John Maynard Keynes : Fighting for Britain, 1937-1946 หนังสือเล่มล่าสุดของศาสตราจารย์
โรเบิร์ต สกิดเดลสกี (Robert Skidelsky) ออกสู่บรรณพิภพเมื่อปลายปี 2543
ภารกิจในการเขียนชีวประวัติของ จอห์น เมย์ นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes)
นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 จบสิ้นลงแล้ว
ภารกิจของสกิดเดลสกีเริ่มต้นในปี 2513 เมื่อเขาทำสัญญาเขียนหนังสือชีวประวัติของเคนส์กับสำนักพิมพ์
แม็กมิลแลน (Macmillan) โดยมีกำหนดส่งต้นฉบับภายใน วันที่ 31 ธันวาคม 2515
ความยาว 150,000 คำ ทั้งนี้สำนัก พิมพ์แม็กมิลแลนจ่ายค่าลิขสิทธิ์ส่วนหนึ่งล่วงหน้า
5,000 ปอนด์สเตอร์ลิง
จากสัญญาการเขียนหนังสือ 3 ปี ขยายเป็น 30 ปี และขนาดหนังสือ 150,000 คำ
ขยายเป็น 1,000,000 คำ โดยแยกจัดพิมพ์เป็นหนังสือ 3 เล่ม ทั้งสามเล่มจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แม็กมิลแลน
เล่มแรกตีพิมพ์ในปี 2526 (ล่า จากสัญญาดั้งเดิมถึง 12 ปี) ชื่อ John Maynard
Keynes : Hopes Betrayed 1883-1920 เมื่อปรากฏสู่บรรณพิภพ ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากวงวิชาการประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์
รวมทั้งประชาชนผู้อ่าน จนติดอัน ดับหนังสือขายดี เล่มที่สองตีพิมพ์ในปี 2535
ชื่อ John Maynard Keynes : The Economist as Saviour 1920-1937 ติดอันดับหนังสือขายดี
และได้รับรางวัลหนังสือดี Wolfson History Prize อีก 8 ปีถัดมา หนังสือเล่มที่สามก็
คลาน สู่บรรณพิภพ ภารกิจอันยาวนานถึง 30 ปี ของ สกิดเดลสกีจบสิ้นลงในปี
2543
จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (ค.ศ.1883-1946) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ก่อให้เกิดการปฏิวัติแนวความคิดและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เรียกกันว่า
Keynsian Revolution เคนส์มิได้มีอิทธิพลต่อวงวิชาการ เศรษฐศาสตร์เท่านั้น
หากยังมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในประเทศต่างๆ ทั้งในโลก
ที่หนึ่งและโลกที่สามอีกด้วย อิทธิพลของเศรษฐศาสตร์ แบบเคนส์ (Keynesian
Economics) ก่อให้เกิด Keynesian Consensus หรือ ฉันทมติว่าด้วยเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์
ซึ่งเสื่อมอิทธิพลหลังจากเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรก ในปี 2516
เมื่อเคนส์ถึงแก่กรรมในปี 2489 นั้น วงวิชาการ เศรษฐศาสตร์ตื่นตัวในการประเมินสถานะของ
Key-nesian Revolution อย่างมาก มีการถกอภิปรายทฤษฎี และแนวความคิดต่างๆ
ของเคนส์อย่างลึกซึ้ง รวมทั้ง มีการศึกษาพัฒนาการทางความคิดด้านเศรษฐศาสตร์
ของเคนส์อย่างละเอียด งานวิชาการที่สดุดีอัจฉริยภาพ ของเคนส์มีเหลือคณนานับ
แต่ที่วิพากษ์และโจมตีเคนส์ชนิดสาดเสียก็มีไม่น้อย
ชีวประวัติของเคนส์ส่วนใหญ่ปรากฏในรูปบท ความ ซึ่งตีพิมพ์หลังจากที่เคนส์ถึงแก่อนิจกรรม
หลัง จากนั้นมีบันทึกความทรงจำที่สานุศิษย์ มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงานเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่มีกับเคนส์
กระนั้นก็ตาม ชีวประวัติจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ที่เป็นหนังสือมีอยู่น้อยเล่มนัก
เมื่อสกิดเดลสกีตกลงทำสัญญาเขียนหนังสือชีว-ประวัติของเคนส์ ในปี 2513
นั้น The Life of John Maynard Keynes (1951) ของ รอย แฮร์ร็อด (Roy Harrod)
ผงาดเป็นหนังสือหลักในบรรณพิภพ โดยที่ในเวลาต่อจากนั้นไม่ นาน มีหนังสือชีวประวัติที่เขียนโดย
seymour E. Harris (1955) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งสกิดเดลสกีมิได้เอ่ย
ถึงในหนังสือของตน ในปีเดียวกับที่ John Maynard Keynes : Hopes Betrayed
1883-1920 ของสกิดเดลสกีปรากฏสู่บรรณพิภพ นั้น John Maynard Keynes : A Personal
Biography of the Man Who Revolutionized Capitalism and the World We Live
(1983) ซึ่งแต่งโดย Charles H. Hession ก็ปรากฏสู่บรรณพิภพในเวลาไล่เลี่ยกัน
แต่มิได้เป็นที่กล่าวขวัญมาก นักในวงวิชาการ
เมื่อหนังสือชีวประวัติ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เล่ม ที่สองที่สกิดเดลสกีเขียนปรากฏสู่บรรณพิภพ
โดนัลด์ ม็อกกริดจ์ (Donald E. Moggridge) ก็เข็น Maynard Keynes : An Economist's
Biography (1992) ออกสู่โลกวิชาการในเวลาไล่เลี่ยกัน
กล่าวโดยสรุป หนังสือชีวประวัติ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ที่สำคัญ และได้รับการยกย่องในปัจจุบัน
ได้แก่ Skidelsky (1983 ; 1992 ; 2000) Moggridge (1992) และ Harrod (1951)
เรียงลำดับตามการยกย่องและเรียงตามลำดับความหนา
Harrod (1951) ถือเป็นหนังสือชีวประวัติของเคนส์ อย่างเป็นทางการ (Official
Biography) เพราะครอบครัวเคนส์ โดยเซอร์เจฟฟรีย์ เคนส์ (Geoffrey Keynes)
น้องชาย ของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ มอบหมายให้แฮร์ร็อดเป็นผู้เขียนหนังสือนี้
แต่แฮร์ร็อดต้องเผชิญอุปสรรคและข้อจำกัด สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ
ประการแรก แฮร์ ร็อดไม่สามารถเข้าถึงเอกสารชั้นต้น (Primary Documents) อันจำเป็นแก่การเขียนหนังสือชีวประวัติได้ทั้งหมด
แม้แต่ เอกสารภายในครอบครัวของเคนส์บางส่วนถูกกันมิให้แฮร์ ร็อดรับรู้ และบางส่วนถูกคัดสรรให้แฮร์ร็อดอ่านเฉพาะส่วน
ที่สมาชิกในครอบครัวยินยอมให้เปิดเผยเท่านั้น ประการที่สอง แฮร์ร็อดเป็นสานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดเคนส์
และบูชาเทิดทูนเคนส์มากเกินไป ด้วยเหตุ ดังนี้ Harrod (1951) เขียนขึ้นเพื่อเทิดทูนเคนส์ละเลยไม่กล่าวถึงประพฤติกรรมด้านที่
ไม่ดีของเคนส์ โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งชีวิตรักร่วมเพศ (Homosexuality) ของเคนส์
และละเลยไม่กล่าวถึงทัศนคติของเคนส์เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารเพื่อทำสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ในฐานะที่ทำงานราชการ เคนส์ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารอยู่แล้ว แต่ในฐานะพลเมือง
เคนส์ต่อต้านการถูกเกณฑ์ทหาร เพื่อทำลายล้างชีวิตมนุษย์ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในด้านมโนธรรมสำนึก
หรือที่รู้จักกันในสังคมอังกฤษว่า Conscientious Objection ในประการสำคัญ
สกิดเดลสกี พบว่า แฮร์ร็อดตัดต่อและแต่งเติมเนื้อหาในเอกสารชั้นต้น เพื่อสื่อข่าวสารตามที่แฮร์ร็อดต้องการ
ทั้งๆ ที่ เมื่ออ่านเอกสารนั้นทั้งฉบับแล้ว มิได้มีสารดังที่แฮร์- ร็อดต้องการนำเสนอ
Moggridge (1992) มีข้อบกพร่องคล้ายคลึงกับ Harrod (1951) โดนัลด ม็อกกริดจ์เป็นชาวแคนาดา
สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคม บริดจ์ โดยเขียนวิทยานิพนธ์กับริชาร์ด
คาห์น (Ri-chard F. Kahn) สาวกมือขวาของเคนส์ ในประการ สำคัญม็อกกริดจ์ทำงานเป็นบรรณาธิการงานเขียนของ
เคนส์ ร่วมกับเอลิซาเบ็ธ จอห์นสัน (Elizabeth Johnson) อันเป็นที่มาของการจัดพิมพ์หนังสือชุด
The Collected Writings of John Maynard Keynes งานสำคัญนี้เริ่มต้นในปี
2512 และกินเวลานานนับทศวรรษ หนังสือเล่มสุดท้ายในชุดนี้ เพิ่งตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม
2532 ตลอดระยะเวลาดังกล่าวนี้ ม็อกกริดจ์มีโอกาสอ่านเอกสารชั้นต้นของเคนส์และเกี่ยวกับเคนส์
และสะสม ข้อมูลเกี่ยวกับเคนส์จำนวนมาก ในประการสำคัญ ม็อกกริดจ์มีโอกาสติดตามพัฒนาการทางความคิดของ
เคนส์อย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุดังนี้ม็อกกริดจ์จึงกลายเป็นเอตทัคคะแห่ง "เคนส์วิทยา"(Keynesiology)
จุดเริ่มต้นในการเขียนหนังสือชีวประวัติเคนส์ มาจากการชักจูงของเซอร์เจฟฟรีย์
เคนส์ และศาสตราจารย์ริชาร์ด คาห์น ซึ่งนับเป็นแรง กระตุ้นสำคัญที่ทำให้ม็อกกริดจ์คิดเขียนหนังสือนี้
ม็อกกริดจ์สำรวจพบว่า แม้หนังสือชีว-ประวัติบุคคลมีอยู่อย่างดาษ-ดื่น แต่หนังสือชีวประวัตินักเศรษฐศาสตร์มีอยู่น้อยนัก
ทั้งๆ ที่หนังสือประเภทนี้มีประโยชน์ใน การทำความเข้าใจการก่อเกิดของทฤษฎีและแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์
Keynes (1976) ในหนังสือชุด Fontana Modern Master เป็นหนังสือเล่มแรกที่ม็อกกริดจ์เขียนเพื่อประเมินสถานะของเคนส์
ในวง วิชาการเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าการเขียนหนังสือชีวประวัติเคนส์จะเริ่มต้นในเวลาใกล้เคียงกัน
แต่ก็เสร็จไม่ทันวาระ หนึ่งศตวรรษแห่งชาติกาลของเคนส์ในปี 2526 เมื่อหนังสือที่มีความยาว
941 หน้า ปรากฏสู่บรรณพิภพในปี 2535 Moggridge (1992) ถูกวิพากษ์ว่า มิได้ให้ความสำคัญในการเล่าเรื่องการก่อเกิดของ
The General Theory of Employment, Interest, and Money (1936) รวมตลอด จนปฏิกิริยาและผลกระทบอันเกิดจากหนังสือเล่มสำคัญแห่งคริสต์ศตวรรษที่
20 นี้
Moggridge (1992) ได้เปรียบ Harrod (1951) ในการเข้าถึงเอกสารชั้นต้น แม้ม็อกกริดจ์
มิได้เป็นสานุศิษย์ ของเคนส์ ดุจเดียวกับแฮร์ร็อดแต่นับเนื่องเป็นสาวก กระนั้น
ก็ตาม Moggridge (1992) มิได้พยายามอำพรางประพฤติ กรรมทางเพศของเคนส์ เพียงแต่ม็อกกริดจ์มีความเห็นว่า
หนังสือชีวประวัติมิอาจครอบคลุมเรื่องราวทุกเรื่องของบุคคลที่มุ่งเขียนประวัติได้ทั้งหมด
Moggridge (1992) ตั้งชื่อหนังสือว่า Maynard Keynes อันเป็นชื่อที่เคนส์เรียกตนเองและมิตรสหายใช้เรียก
ผู้คนที่แวดล้อมเคนส์มิได้เรียก ชื่อ จอห์น จะมีก็แต่นางฟลอเรนส์ เคนส์ (Florence
Ada Keynes) ผู้มารดาเท่านั้นที่เรียกชื่อ จอห์น
Skidelsky (1983 ; 1992 ; 2000) ได้เปรียบ Harrod (1951) และ Moggridge
(1992) ในข้อที่สกิดเดลสกีมิได้มีความสัมพันธ์กับเคนส์ ไม่ว่าในฐานะ ใด และอยู่ในฐานะที่จะประเมินและเขียนชีวประวัติเคนส์ด้วยความเป็นกลางได้
จุดเด่นของ Skidelsky (1983 ; 1982 ; 2000) อยู่ที่การใช้ความพยายามในการ
เชื่อมโยงโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเคนส์กับผลงานทาง วิชาการและการดำรงชีวิตของเคนส์
สกิดเดลสกีเป็นนักประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุ ดังนั้นจึงเขียนชีวประวัติของเคนส์จากแง่มุมและวิธีการของนักประวัติศาสตร์
Skidelsky (1983 ; 1992 ;2000) จึงแตกต่างจาก Harrod (1951) และ Moggridge
(1992) ซึ่งเขียนจากแง่มุมและ วิธีการของนักเศรษฐศาสตร์ สกิดเดลสกีตามติดหาข้อมูลชนิด
กัดไม่ปล่อย ดุจเดียวกับนักประวัติศาสตร์ อาชีพทั้งหลาย ด้วยเหตุดังนี้
Skidelsky (1983 ; 1992 ; 2000) จึงอุดมด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ และมีลีลาการเขียน
ซึ่งสามารถอ่านได้อย่างลื่นไหล แต่สกิดเดลสกีเสียเปรียบแฮร์ร็อดและม็อกกริดจ์ที่ไม่มีความรู้เศรษฐศาสตร์
สกิดเดลสกีต้องใช้เวลาเป็นอันมากในการศึกษาเศรษฐศาสตร์เพื่อทำ ความเข้าใจทฤษฎีและแนวความคิดเของเคนส์
และเพื่อติดตามวิวาทะในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ เมื่อสกิดเดลสกีเริ่มเขียนชีวประวัติเคนส์เล่มแรก
Keynesian Consensus กำลังเสื่อมอิทธิพล เพราะ Keynesian Economics มิอาจนำเสนออรรถาธิบายและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา
Stagflation (=Stagnation + Inflation) ได้ เมื่อสกิดเดลสกีเริ่มเขียนชีวประวัติเคนส์เล่มที่สอง
ลัทธิแธตเชอร์ (Thatcherism) กำลังทรงอิทธิพลในสหราชอาณาจักร และลัทธิเสรีนิยม
สมัยใหม่ (Neo-Liberalism) ปกแผ่ครอบคลุมโลก เมื่อ สกิดเดลสกีเริ่มเขียนชีวประวัติเคนส์เล่มที่สาม
ไม่มีใคร กล่าวขวัญถึง Keynesian Consensus อีกแล้ว ในขณะที่ Washington
Consensus กำลังอยู่ในกระแสโลกานุวัตร และทวีอิทธิพลตามลำดับ
ด้วยเหตุที่เป็นบุคคลนอกแวดวงมหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ การที่สกิดเดลสกีตกลงเขียนชีวประวัติ
จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ จึงถูกผู้คนในมหาวิทยาลัยเคม บริดจ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะเศรษฐศาสตร์)
จับตามอง เป็นพิเศษ จนสกิดเดลสกีรู้สึกถึงความไม่เป็นมิตร อย่างไร ก็ตาม
เมื่อหนังสือเล่มแรกออกสู่บรรณพิภพ สกิดเดลสกีรู้สึกโล่งอก เมื่อได้รับจดหมายลงวันที่
1 มิถุนายน 2537 จากลอร์ดคาห์น (Richard F.Kahn) สาวกเบื้องขวาของเคนส์ กล่าวยกย่องและชมเชยหนังสือ
พร้อมทั้งกล่าวว่า จะคอย อ่านหนังสือของสกิดเดลสกีเล่มต่อไป อย่างไรก็ตาม
ลอร์ด คาห์นถึงแก่กรรมก่อนที่หนังสือชีวประวัติเคนส์เล่มที่สองจะปรากฏในบรรณพิภพ
ในปัจจุบัน โรเบิร์ต สกิดเดลสกีมีฐานันดรศักดิ์เป็น Lord Robert Skidelsky
มีฐานะเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาขุนนาง (House of Lords) ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายสังคม
ในขณะเดียวกัน ก็ดำรงตำแหน่ง Professor of Political Economy ณ Warwick University
ประเทศอังกฤษ มีความชำนัญพิเศษในด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์นโยบายเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปตะวันออกและอาณา
จักรโซเวียตเดิม
หมายเหตุ 1. หนังสือชีวประวัติจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ที่เขียนโดยโรเบิร์ต
สกิดเดลสกี (Robert Skidelsky) John Maynard Keynes : Hopes Betrayed, 1883-1920
Macmillan, 1983 John Maynard Keynes : The Economist as Saviour, 1920-1937
Macmillan, 1992 John Maynard Keynes : Fighting for Britain, 1937-1946.
Macmillan, 2000 ผลงานวิชาการที่สำคัญอื่นๆ ของสกิดเดลสกี ได้แก่ Keynes
(1996) หนังสือชุด Oxford Past Masters The World After Communism (1995)
Interests and Obsessions : Historical Essays (1993) Oswald Mosley (1975)
Politician and The Slump (1967)
2. รายชื่อหนังสือชีวประวัติจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เรียงตามลำดับปีที่พิมพ์
Roy F. Harrod, The Life of John Maynard keynes. London : Macmillan, 1951.
Seymour E. Harris, John Maynard Keynes New York : Scribner, 1955 Charles
H. Hession, John Maynard Keynes : A Personal Biography of the Man Who
Revolutionized Capitalism and the World We Live. New York : Macmillan,
1983 Donald E. Moggridge, Maynard Keynes : An Economist's Biography. London
: Routledge, 1992
3. วรรณกรรมว่าด้วยชีวประวัติจอห์น เมย์ นาร์ด เคนส์ โปรดอ่าน รังสรรค์
ธนะพรพันธุ์ "เคนส์ กับกลุ่มบลูมสเบอรี่" วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่
2 (มิถุนายน 2525) หน้า 82-96 ต่อมารวมพิมพ์ ไว้ใน ถนนหนังสือ (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ
2543) หน้า 64-87
4. บันทึกเรื่องราวการเขียนหนังสือชีวประวัติ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ของสกิดเดลสกี
โปรดอ่าน Robert Skidelsky, "Ideas and the World", The Econo mist (November
25, 2000)
5. ข้อบกพร่องสำคัญของ Harrod (1951) โปรดอ่าน skidelsky (1983 : XX-XXViii)
6. ข้อบกพร่องสำคัญของ Moggridge (1992) โปรดอ่าน David Felix, "Review
of D.E. Moggridge, Maynard Keynes : An Economist's Biography", Challenge
(November-December 1992). pp.62-63
7. บทวิจารณ์ Skidelsky (1992) โปรดอ่าน Johan Deprez, "Rediscovering
the Missing Visionary of the Middle Way : A Review of Skidelsky on Keynes".
Journal of Post Keynesian Economic, Vol. 17, No.3 (Spring1995), pp 313-325.
บทวิจารณ์ Skidelsk (2000)โปรดอ่าน The Economist (December 9-15, 2000),
pp. 100-101.