ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นปัญหา ที่เกิดคู่กับการเกิดขึ้นของค่ายเพลง และศิลปินมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ในระยะหลังได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ทำให้กำลังซื้อของคนลดลง
จึงนิยมซื้อเทป หรือวิดีโอเทป และซีดี ที่ละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่า
ประกอบกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะระบบอินเทอร์เน็ต ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเทปเพลง ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์อย่างกว้างขวาง เพราะสามารถกระทำได้ง่ายดายขึ้น
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ค่ายเพลงดังทั้งของไทย และต่างประเทศ 12 แห่ง ซึ่ง ที่ผ่านมาถือเป็นคู่แข่งกัน
ได้มีการประกาศรวมตัวกันอย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้ร่วมกันก่อตั้ง
"สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงไทย" หรือ TRIA ขึ้น
12 ค่ายเพลงดังกล่าว ประกอบด้วย ค่ายกระบือ แอนด์ โค, แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์,
โซนี่ มิวสิค เอนเทอร์เทนเมนต์ (ประเทศไทย), บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์,
บีเอ็มจี เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ (ไทยแลนด์), เบเกอรี่ มิวสิค ,โฟร์เอส, ยูนิเวอร์ซัล
มิวสิค (ประเทศไทย), ร๊อค เรคคอร์ดส์, วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย), อีเอ็มไอ
(ประเทศไทย) และเอส.สแตค
การจดทะเบียนจัดตั้งสมาคม ได้ทำเสร็จสิ้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน
แต่เพิ่งมีการเลือกตั้งคณะกรรมการ และประกาศตัวออกมาเมื่อกลางเดือนกันยายน ที่ผ่านมา
คณะกรรมการชุดแรก มี 5 คน โดยนัดดา บุรณศิริ เป็นนายกสมาคม อัครเดช โรจน์เมธา
เป็นอุปนายก กมล สุโกศล แคลปป์ เป็นนายทะเบียน ทัศพล แบเลเว็ลด์ เป็นเลขาธิการ
และปีเตอร์ กัน เป็นเหรัญญิก ประชาสัมพันธ์ และรัฐสัมพันธ์
วัตถุประสงค์หลักของสมาคมนี้ คือ การลดการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์สิ่งบันทึกเสียงทั้งของไทย และต่างประเทศ
และให้การศึกษากับผู้บริโภค เรื่องความชอบธรรมของหลักทรัพย์สินทางปัญญา
โดยสมาคมนี้ จะประสานงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดในการสืบหา และจับกุมผู้กระทำผิดละเมิดลิขสิทธิ์
นอกจากนี้ยังพยายามขยายเครือข่าย โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ASEAN Music
Industry Association : AMIA และ International Federation of the Phonographic
Industry : IFPI ซึ่งเป็นสมาพันธ์ผู้ผลิตเทปเพลงระหว่างประเทศ ซึ่งมีสมาชิกอยู่แล้วกว่า
1,100 บริษัท จาก 70 ประเทศทั่วโลก เพื่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน
การรวมตัวกันของค่ายเพลงทั้ง 12 แห่ง ครั้งนี้ ถือเป็นแรงกดดันจากภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อพยายามจะกระตุ้นภาครัฐให้ตื่นตัวเข้ามาจัดการกับปัญหาลิขสิทธิ์ให้เข้มข้นขึ้น