เปรม 5-คือรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นการผสมผสานดุลกำลังระหว่างพลเอกเปรมกับพรรคการเมืองสี่พรรคด้วยระยะเวลาเพียงสั้น
ๆ นั้น ริ้วรอยแห่งความแตกแยกหลายระดับโดยเฉพาะในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลได้ก่อให้เกิดความเชื่อที่ยิ่งทวีขึ้นว่า
เปรม 5 อาจจะต้องถึงคราวล่มสลายภายในระยะเวลาที่เร็วกว่าที่คิด ๆ กันเสียอีก
แต่ถึงเปรม 5 จะต้องประสบชะตากรรมเยี่ยงไร ก็คงจะเป็นคนละเรื่องกับการคงอยู่อย่างเหนียวแน่นของพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ เพราะพลเอกเปรม-คือพลเอกเปรม ตัวแทนดุลอำนาจที่ยังคงแข็งแกร่งและดีวันดีคืน
พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงรัฐบาลว่า "…ตามการคาดคะเนของผม
เหมือนกับที่หลายคนคาดกันเอาไว้ว่า ไม่ครบ 4 ปีแน่นอนแล้วมันจะมีอะไรไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นทางการเมือง…
ผมไม่ได้เล็งรัฐบาลในแง่ร้าย แต่ได้ติดตามมาก่อนการเลือกตั้งนายกฯ ก่อนตั้งรัฐบาลเรื่อยมา
จนกระทั่งตั้งรัฐบาล มีรัฐมนตรีว่าเป็นใคร มาจากไหนกันบ้าง เมื่อรวบรวมทั้งหมดแล้วก็ลงเอยอย่างที่ทุกคนคาด
คือมันจะไม่เหมือนเดิม
ไม่เหมือนรัฐบาลชุดแรก ๆ ของพลเอกเปรม ชุดแรก ๆ มีเสถียรภาพและประชาชนมีความหวัง"
ไม่เฉพาะพลตรีจำลองเท่านั้นที่กล่าวถึงรัฐบาลใหม่ในทำนองนี้ ซึ่งได้กลายเป็นข้อสังเกตอันสำคัญประการหนึ่งว่า
รัฐบาลนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เร้าระทึกใจหรือคล้าย ๆ กับการเกิดขึ้นท่ามกลางความอ่อนใจของประชาชน
หรือพูดให้แคบเข้ารัฐบาลนี้มีจุดอ่อนด้านขวัญและกำลังใจของประชาชนตั้งแต่แรกเริ่ม
ทุก ๆ รัฐบาลที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าบทสุดท้ายจะลงเอยอย่างไรก็ตาม แต่จุดเริ่มต้น
รัฐบาลมักก่อเกิดขึ้นมาพร้อมกับความฮือฮา มีลักษณะที่ปรากฏประกายความหวังให้ตื่นเต้นกัน
ไม่มากก็น้อย
อย่างเลวร้ายที่สุดนั้น เสียงจากสื่อมวลชนก็ไม่กระหน่ำในช่วง 6 เดือนแรก
แต่รัฐบาลชุดนี้กลับตรงกันข้าม
ก่อนการเลือกตั้ง…ผู้คนเบื่อหน่ายพลเอกเปรมอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ไม่อาจยืนยันได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์
แต่กระแสเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากบุคคลที่ผ่านมาจากการเลือกตั้ง
ซึ่งหมายถึง ไม่ใช่พลเอกเปรม ดังชัดเจนพอสมควร ยิ่งพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ช่วยตอกย้ำกระแสนี้ด้วยแล้ว
น้ำหนักก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์
เป็นคู่ต่อสู้ในเขตเลือกตั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร ก็ขานรับกระแสนี้ ด้วยการขึ้นป้ายหาเสียงประกาศว่า
"สนับสนุน พล.อ.อ. สิทธิ เป็นนายก เลือก เบอร์ 1-2-3" …อันหมายถึง
พล.อ.อ. สิทธิและคณะ
สถานการณ์ขณะนั้นจึงปรากฏออกมาคล้าย ๆ กับว่า พลเอกเปรมต้องลงจากเวทีอย่างไม่มีทางเป็นอื่น
แต่เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลปรากฏออกมาตรงกันข้าม การปรากฏของอารมณ์ "เสียความรู้สึก"
เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ
รวมทั้งคอลัมนิสต์เกือบทุกคน
หนังสือพิมพ์และคอลัมนิสต์ไม่ใช่ผู้ชี้ขาด แต่สิ่งที่ถูกสื่อความหมายผ่นออกมานั้นเป็นเครื่องชี้บรรยากาศได้ไม่น้อย
ในสัปดาห์แรกที่ผลออกมาว่าพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง กลุ่มยุวชนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกสำรวจประชามติในเขตสัมพันธวงศ์
พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ผิดหวัง ที่พรรคการเมืองไปดึงเอาพลเอกเปรมมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ปิยะนัฐ วัชราภรณ์ ได้สะท้อนความรู้สึก ในสายตาของฝ่ายค้านออกมาว่า "ภาพของรัฐบาลไม่ทำให้ประชาชนเกิดความหวัง
รัฐบาลเริ่มต้นโดยไม่สามารถใช้หลักทางจิตวิทยา ทำให้ประชาชนเกิดความหวังใหม่ได้"
การจัดอภิปราย สัมมนา ของกลุ่มบุคลต่าง ๆ หลาย ๆ ระลอก เพียงช่วงที่รัฐบาลก่อเกิดได้ไม่ทันไร
ล้วนมีแต่คะแนนลบสำหรับรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ และเนื้อหาเหล่านั้น ถูกถ่ายทอดจากสื่อมวลชนอย่างคึกคัก
การก่อกำเนิดท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้นับเป็นจุดอ่อนอันสำคัญ ตั้งแต่ก้าวแรกของความเป็นรัฐบาล
ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ากล่าวอย่างกว้าง ๆ ก็คือ ปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างทั่วด้าน
ซึ่งต่อเนื่องกันมาหลายปี เป็นเรื่องสำคัญพื้นฐานที่ท้าทายรัฐบาลชุดนี้
แม้มีปรากฏการณ์บางประการบ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจของทั่วโลกกำลังกระเตื้องขึ้น
แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ได้ถูกปรามาสไว้ล่วงหน้าว่า จะไม่สามารถช่วยเป็นตัวกระตุ้น
ภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวจากความซบเซาอย่างชนิดที่พอจะให้เห็นกันจริงจังได้บ้าง
ถึงวันนี้ยังไม่มีสิ่งใดบ่งบอกว่ารัฐบาลจะลบล้างคำปรามาสนี้ได้
ความพยายามอาศัยสถานการณ์ดอกเบี้ยต่ำ มาปลุกเร้านโยบายกระตุ้นการลงทุนยังคงเป็นไปอย่างเคว้งคว้างและไม่ได้รูปไม่ได้รอยเท่าใดนัก
ความพยายามปลุกเร้าด้วยงบประมาณส่วนพิเศษ 1,500 ล้านบาท ที่รัฐบาลประกาศให้ดูคล้ายกับว่าเป็นยาขนานวิเศษ
ก็ยังคงเป็นไปอย่างเลื่อนลอย เลื่อนลอยทั้งปริมาณยาวิเศษ และเลื่อนลอยทั้งโครงการรูปธรรมที่จะรองรับ
ข้อเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างภาษีซึ่งค่อนข้างจะกลายเป็นข้อเรียกร้องสาธารณะไปแล้ว
และรัฐบาลก็ไม่ปฏิเสธต่อการตอบสนอง แต่จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีอะไรจริงจังออกมาให้เห็นกัน
นี่ยังไม่นับปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ที่จะทยอยอกมาเป็นระลอก ๆ ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวต่อไป
ขณะเดียวกันรัฐบาลยังต้องเผชิญกับปัญหาภายในองค์กรของตัวเอง ซึ่งพอจะมองเห็นกันได้ล่วงหน้า
และบางอย่างก็ปะทุออกมาแล้วชัดเจน
รัฐบาลภายในการนำของพลเอกเปรม หลังการเลือกตั้งปี 2526 นั้น ได้จัดสรรความรับผิดชอบให้แต่ละพรรคร่วมรัฐบาล
บริหารแต่ละกระทรวงเด็ดขาดไปเลย
ทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยทุกคนของแต่ละกระทรวงมาจากพรรคเดียวกัน
นัยว่าเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจเป็นไปอย่างคล่องตัว ลดโอกาสการปะทะกันของแต่ละพรรค
รัฐบาลเปรม 5 ย้อนรอยสู่รูปแบบเก่าก่อนอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รัฐมนตรีมากกว่า
1 พรรครับผิดชอบในกระทรวงเดียวกัน
เป็นที่คาดหมายกันว่า การจัดองค์กรลักษณะนี้ ถึงแม้จะเชื่อกันว่ามีผลดีอยู่บ้างก็ตามย่อมเป็นข้อเปราะต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
อันเนื่องมาจากการปะทะกันของรัฐมนตรีต่างพรรคในแต่ละกระทรวง
ช่วงฮันนี่มูนนั้นปัญหายังไม่สาหัส แต่ต่อจากนั้นยากต่อการรับประกัน
มวยคู่แรกเปิดฉากตั้งแต่การแบ่งงานภายในกระทรวงยังไม่เสร็จสิ้น เป็นความเกี้ยวกราดที่
ประยุทธ ศิริพาณิชย์ รมช. เกษตร จากพรรคกิจสังคม มีต่อพลเอกหาญ ลีนานนท์
รมต. จากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุที่ รมช. ประยุทธไม่สบอารมณ์ต่อการแบ่งความรับผิดชอบของพลเอกหาญ
พลเอกหาญ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย บวกกับยังเป็นช่วงข้าวใหม่ปลามัน เรื่องจึงยุติลงไม่ยาก
อีกหลาย ๆ กระทรวงถูกจับตาว่าจะมีการปะทะกันเกิดขึ้นอีกไม่นานนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กระทรวงพาณิชย์
ต่างกระทรวง ต่างพรรค แต่ความรับผิดชอบคาบเกี่ยวกัน ก็น่าเป็นห่วง กระทรวงต่างประเทศกับกระทรวงพาณิชย์ไม่มีปัญหา
เพราะเจ้ากระทรวงมาจากพรรคเดียวกัน
แต่กระทรวงเกษตรกับกระทรวงพาณิชย์นั้น ความเสี่ยงสูง กระทรวงหนึ่งส่งเสริมการผลิต
อีกกระทรวงส่งเสริมการตลาด ทั้งสองฝ่ายต่างเกี่ยวข้องกับเกษตรกร ใครเผลอปากเผลอคำให้อีกฝ่ายเห็นว่าปัดความรับผิดชอบเรื่องคงออกมาสนุก
ที่มาจากพรรคเดียวกันก็มิใช่จะราบรื่นไปทั้งหมด
เพียงเสียงนกหวีดสำหรับความเป็นเปรม 5 เริ่มต้นขึ้น สุเทพ เทือกสุบรรณ
รมช. เกษตร ก็ประชดประชัน พลเอกหาญเจ้ากระทรวงจากพรรคเดียวกันให้เห็นกันแล้ว
ด้วยการขอคืนองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การสะพานปลา และองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น
จากความรับผิดชอบทั้งหมด
นัยว่าเนื่องจากพลเอกหาญ ไม่ตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร-พัลลภ
ตันหยงมาส ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้ในขณะองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรอยู่ในความรับผิดชอบของพรรคกิจสังคม
เมื่อรัฐบาลชุดก่อน
จากการบอกเล่าของคนในพรรคประชาธิปัตย์นั้น ปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับพลเอกหาญ
ยังมีอีกหลายประการ แต่ทั้งหมดสรุปลงตรงประเด็นที่ว่า พลเอกหาญ บริหารกระทรวงเกษตรในลักษณะ
"ข้ามาคนเดียว" มากกว่าการมุ่งสานนโยบายพรรค
ที่กระทรวงอุตสาหกรรมก็พอมองเห็นเค้าลางปัญหาในลักษณะนี้
ประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรี กร ทัพรังสี เป็นรัฐมนตรีช่วย แต่ดูจากความรับผิดชอบต่อหน่วยงานที่แบ่งกันแล้ว
ใคร ๆ ก็กล่าวว่า กร ทัพรังสี เป็นเจ้ากระทรวงตัวจริง ทั้ง 2 คนมาจากพรรคชาติไทย
การปะทะกันระหว่างผู้บริหารงานจากต่างพรรค หรือพรรคเดียวกัน นอกจากกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพโดยตรงแล้ว
ยังหมายถึงคะแนนแห่งความตกต่ำของรัฐบาลเกิดขึ้นโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
ความเป็นเอกภาพของแต่ละพรคที่ร่วมรัฐบาลก็เป็นความทุรกันดารประการสำคัญของความเป็นรัฐบาลชุดนี้…
และระเบิดลูกแรกก็ตกลงแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์
ปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์หากสาวกันลึก ๆ ก็พบว่าเป็นเรื่องของการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ลงตัวนั่นเอง
แต่ พิชัย รัตตกุล คงพลาดมากไปหน่อยเลยต้องเป็นแพะที่บาดเจ็บสาหัส
ไม่มีใครพูดว่าถ้าหาก ดร. พิจิตตไม่เป็นรัฐมนตรีแล้วเกียรติภูมิของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงอยู่
คนในพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่าแม้คนในพรรคโดยส่วนใหญ่จะรู้ถึงความเสียหายหลายประการในการร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ภาพที่ออกมาขัดกับสิ่งที่เคยประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง แต่ไม่มีใครพูดถึงความต้องการเป็นฝ่ายค้าน
สส. ภาคใต้นั้นไม่มีปัญหา เพราะสนับสนุนพลเอกเปรมอยู่แล้ว ขณะที่ สส. ภาคอื่นมีเหตุผลว่า
ถ้าไม่เข้าร่วมรัฐบาลโอกาสสร้างผลงานก็มีน้อย จะส่งผลลำบากถึงการหาเสียงเลือกตั้งคราวต่อไป
แม้แชวน หลีกภัย ก็ให้สัมภาษณ์ว่า "ได้รับเลือกตั้งมาถึง 100 เสียง
ถ้าต้องเป็นฝ่ายค้านก็จะถูกตำหนิเอาได้"
ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นจะสะสางและจะลงเอยกันอย่างไรก็ตาม ของแน่ ๆ นั้นคือ
โควต้าตำแหน่งรัฐมนตรีที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับยังน้อยกว่าจำนวนผู้ที่คิดว่าตัวเองเหมาะสมอยู่ดี
ปัญหาความแปลกแยกระหว่างกลุ่มระหว่างสายที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ทำให้ใครอุ่นใจได้เลยว่า
จะไม่ปะทุขึ้นมาสักวันหนึ่ง หลังจากเรื่องเฉพาะหน้าต้องยุติลงพร้อมการมองหน้ากันไม่ติด
ถึงแม้คนในพรรคประชาธิปัตย์จะพยายามขีดวงไม่ให้เรื่องที่เกิดขึ้นต้องกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลก็ตาม
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะมั่นใจได้
ความพายามของ สส. จำนวนหนึ่งที่สร้างกระแสผลักดันให้ อนันต์ ฉายแสง สส.
สอบตกจากฉะเชิงเทรา เป็น รมช. มหาดไทยที่ยังว่างเว้นอยู่หลังจาก วีระ มุสิกพงศ์
มีปัญหา
กระแสนี้เกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ทุกคนรู้ว่าเก้าอี้ตัวนี้เป็นโควต้าของ สส.
ภาคใต้
อนันต์ นั้นเป็นนักการเมืองที่คร่ำหวอดและแพรวพราวมากคนหนึ่ง เพิ่งเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อการเลือกตั้งคราวที่แล้ว เพราะการประสานของวีระในขณะที่ก่อนนี้อนันต์อยู่พรรคก้าวหน้าและเป็น
รมช. อุตสาหกรรมให้รัฐบาลเปรม 4 ช่วงสั้น ๆ
อนันต์สอบตกขณะที่ลูกชาย-จาตุรนต์สอบได้ และนับเป็น สส. หนุ่มคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์
อนันต์ไม่ปฏิเสธต่อการรับตำแหน่งนี้ ขณะที่ขุนทอง ภูผิวเดือน นักการเมืองผู้ใหญ่ในพรรคคนหนึ่ง
อดีต รมช. กระทรวงศึกษา )ครั้งนี้ขุนทองสอบตก) บอกว่าตำแหน่งนี้เป็นของสงวนไว้สำหรับ
สส.
สส. ภาคใต้จึงต้องรีบตั้งรับกระแสนี้ด้วยการผลักดันให้ สส. ภาคใต้คนหนึ่งเข้ารับตำแหน่งนี้
ฟังดูน้ำหนักจะเอนมาทางถวิล ไพรสนฑ์ สส. นครศรีธรรมราช เช่นเดียวกับสัมพันธ์
ทองสมัคร ก็อยากย้ายจากกระทรวงศึกษามามหาดไทยนี้อีกคน
เรื่องของเด่น โต๊ะมีนา สส. มุสลิมจากปัตตานีก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าห่วง
พรรคประชาธิปัตย์ รับปากไว้ที่ปัตตานีว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลจะให้มุสลิมเป็นรัฐมนตรีด้วยนั้น
เท็จจริงอย่างไรและมีรายละเอียดอย่างไร ไม่อาจยืนยันได้?
แต่ข่าวคราวที่ว่ามุสลิมภาคใต้รวมตัวกันเรียกร้องให้เด่น ลาออกจาก สส.
เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำตามสัญญานั้น เป็นเรื่องที่มองกันเล่น ๆ ไม่ได้
กรณีนี้ถ้ารุนแรงขึ้นมา ไม่เพียงกระทบกระเทือนต่อพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง
และไม่ได้ขีดวงกระเทือนไว้เฉพาะในระยะสั้น ๆ เท่านั้น
เหตุการณ์เมื่อ 18 กันยายนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า นอกจากรัฐบาลจะประมาทพรรคฝ่ายค้านไม่ได้แม้แต่น้อยแล้ว
ยังหมายถึงว่าพรรคฝ่ายค้านชุดนี้มีน้ำยามากกว่าที่คาดคิดกันไว้
การประชุมสภาพในวันนั้น ขณะกำลังพิจารณาพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือน ชุมพล
ศิลปอาชา รองประธานสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธาน
เมื่อรู้สึกว่าประธานได้ดำเนินการประชุมรวบรัด ปิดโอกาสการอภิปรายของฝ่ายค้านเกินไป
ปิยะนัฐ วัชราภรณ์ ได้ลุกขึ้นประท้วง จนเป็นเหตุให้ประธานเผลอกล่าววาจาที่
"กร้าวเกินไป" ออกมา สิ้นเสียงเหมือนสิ้นสั่ง พลพรรคฝ่ายค้านลุกขึ้นตบเท้าออกากที่ประชุมทันที
การประชุมต้องยุติลงกลางคัน เพาะสมาชิกพรรคไม่ครบองค์ ในที่สุดรัฐบาลต้องส่งทูตออกไปเจรจา
และลงเอยโดย ชุมพล ศิลปอาชา ต้องถอนคำพูด
เหตุการณ์อย่างนี้ย่อมปฏิเสธการสูญเสียเครดิตของรัฐบาลไม่ได้เลย เมื่อเรื่องราวถูกรายงานสู่สาธารณชน
เป็นที่น่าสังเกตกันได้ไม่ยากว่าตัวบุคคลที่ประกอบกันเป็นฝ่ายค้าน รวมทั้งการร่วมประสานงานกันอย่างเป็นระบบของพรรคฝ่ายค้าน
นอกจากจะมีน้ำหนักสูงอยู่ในตัวแล้ว บรรยากาศที่กล่าวได้ว่ารัฐบาลถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางความอ่อนอกอ่อนใจของหลาย
ๆ ฝ่ายนั้น ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้กับฝ่ายค้านโดยปริยาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่รัฐบาลค่อนข้างโดดเดี่ยวจากสื่อมวลชนด้วยแล้ว
คะแนนเสียงในสภาที่ไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลได้นั้นเป็นเรื่องแน่นอน แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า
ฝ่ายค้านก็คือแรงกดดันที่สำคัญแรงหนึ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
นอกจากนั้นในภาวะการเมืองแบบไทย ๆ นี้ฝ่ายค้านเปรียบเสมือน "ตัวเปิด"
ทางการเมือง เพื่อให้แรงกดดันบางด้านที่ "เปิดตัว" ชัดเจนไม่ได้มากนัก
สามารถดำเนินการได้ โดยภาพที่ออกมามีความชอบธรรมตามระบบรัฐสภา
กรณีวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนในประเด็นนี้
ถึงแม้ในช่วงแรก ๆ ตัวบุคคลของฝ่ายค้านบางคนจะปรากฏออกมาในเชิง "นักก่อกวน"
ทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ถึงวันนี้ภาพเหล่านั้นค่อย ๆ ลบเลือนลงไป ซึ่งว่ากันว่า
เป็นการร่วมกันปรับภาพพจน์ของตัวเองของฝ่ายค้าน
และเมื่อถึงวันนี้ของพรรคฝ่ายค้านก็สามารถรวมศูนย์ความเข้าใจกันได้ ว่าการโหวตในสภานั้นจะอย่างไรก็ตาม
ฝ่ายค้านก็ต้องแพ้วันยังค่ำ เพาะฉะนั้นเป้าหมายในขณะนี้ก็คือ การต่อสู้เพื่อเอาชนะใจประชาชน
แม้ว่าในหมู่ผู้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองจะแยกแยะกันว่า ในบรรดาพรรคฝ่ายค้านนั้นก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ในจุดยืนสำคัญ
นั่นคือ หลายพรรคค้านรัฐบาลถึงจุดที่ไม่ต้องการให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี
ในขณะที่บางพรรคค้านเฉพาะ "เปรม 5" ไม่มีความเข้มข้นถึงขั้นปิดประตูคบหากับพลเอกเปรมก็ตาม
แต่ทั้งหมดของพรรคฝ่ายค้านก็ค้านรัฐบาล
เป็นที่รับรู้กันตลอดมาว่า บนหมากกระดานการเมืองไทยนั้น ดุลอำนาจทางการเมืองไม่ได้รวมศูนย์เบ็ดเสร็จอยู่เฉพาะกับพรรคการเมืองเท่านั้น
แรงกดดัน แรงขับเคลื่อนทางการเมือง ยังกระจายอยู่กับอีกบางดุลอำนาจ
การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้มองเห็นได้ชัดและกล่าวได้โดยไม่ต้องอ้างแหล่งข่าวว่าเป็นการประสานดุลอำนาจทางการเมืองอีกรั้งหนึ่ง
ระหว่างพรรคการเมือง 4 พรรคกับดุลอำนาจฝ่ายพลเอกเปรม
พลเอกเปรมไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะเป็นพลเอกเปรม แต่พลเอกเปรมได้รับการสนับสนุนจากหลาย
ๆ ฝ่ายให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะพลเอกเปรมได้รับการยอมรับและให้ความเคารพเป็นอย่างสูงจากกองทัพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบก
พลเอกชวลิต ผู้บัญชาการทหารบกเข้ามาเกี่ยวข้องกับกรจัดตั้งรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน
รวมทั้งนายพลเอกที่พิชัย รัตตกุลให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่
22 กันยายนที่ผ่านมาว่า มีส่วนต่อการจัดตั้งรัฐบาลนั้นเป็นใคร เป็นเรื่องปลีกย่อยโดยสิ้นเชิง
เมื่อเทียบกับความจริงที่พลเอกเปรมสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงวันนี้
การประสานดุลอำนาจทางการเมืองรั้งนี้ มองเห็นได้ชัดเจนว่า ใครมีน้ำหนักมากกว่ากัน
และ ครม. น้อยหรือคณะรัฐมนตรีชุดเล็กที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า คณะกรรมการประสานงานการปฏิบัติราชการตามนโยบายของรัฐบาล
ก็เป็นเรื่องปลายเหตุของการประสานดุลอำนาจทางการเมือง
คณะกรรมการประสานงานการปฏิบัติราชการตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วยบุคคลหลัก
ๆ คือปลัดกระทรวงและเทียบเท่าเสนาธิการทั้ง 3 เหล่าทัพ อธิบดีกรมตำรวจและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี-น.ต.
ประสงค์ สุ่นศิริ
คณะกรรมการชุดนี้เปรียบเสมือน "มือ" สำคัญของนายกรัฐมนตรี โดยมีหน้าที่กว้าง
ๆ คือ คอยประสาน ติดตามและกำกับการปฏิบัติราชการของทุกกระทรวงทั้งด้านการเมืองภายในและต่างประเทศ
เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา และการรักษาความปลอดภัย โดยมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเรื่องราว
พร้อมเรียกเอกสารข้อมูลมาพิจารณาได้
แน่นอน ผลการประสานดุลอำนาจทางการเมืองที่ออกมาในลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่ผู้คนที่สนับสนุนการปกครองโดยผ่านพรรคการเมืองไม่พอใจอย่างใหญ่หลวง
และ ครม. ชุดเล็กก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าเป็นอำนาจซ้อนอำนาจ
อันเป็นผลผลิตที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า พรรคการเมืองที่เป็นเพียงตัวประกอบให้พอเห็นเป็นกระสายเท่านั้น
สำหรับหมากกระดานการเมืองในวันนี้
"เป็นการกระชับอำนาจของพลเอกเปรม ในฐานะหัวหน้าพรรคข้าราชการ และเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือ
ครม. ใหญ่ที่อายุไม่ยืน" เป็นข้อสรุปอันหนึ่งที่พอจะรับฟังได้
คำทำนายที่ว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีอายุไม่ยืนยาว ดู ๆ แล้วเป็นคำทำนายที่มีน้ำหนักไปทาง"เปรม
5" ไม่ใช่ "พลเอกเปรม"
และแน่นอน สถานการณ์อย่างนี้พรรคฝ่ายค้านก็คงต้องดูแลตัวเองอย่างเอาใจใส่พอสมควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพรรคสหประชาธิปไตย เพาะกลศึกนั้นป้อมค่ายมักจะโดนทะลายจากภายในมิใช่ค้านไปค้านมาเหลือ
บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ นั่งค้านอยู่คนเดียว
เปรม 5-คือรัฐบาลชุดนี้
พลเอกเปรม-คือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตัวแทนของดุลอำนาจทางการเมืองที่ยังคงความแข็งแกร่ง
และดีวันดีคืน