เมื่อศิริวัฒน์ล้มลงไปนั้นบทเรียนที่ได้รับบทสำคัญบทหนึ่งคือ หลักการตลาดเรื่องการตัดราคาเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ…
การล้มของศิริวัฒน์นี้นั้น "ผู้จัดการ" ได้นำเอามาวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อเตือนใจกับทุกวงการ
เรื่องในวงการอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าเคยสร้างความฮือฮามาแล้วครั้งหนึ่ง
เมื่อบริษัทศิริวัฒน์ทำการประมูลงานราชการตัดราคากันชนิดที่แทบจะหากำไรไม่ได้
แล้วอีกไม่นานผู้ผลิตรายหนึ่งก็ถึงกับเบรกแตกออกใบปลิวมาโจมตีกล่าวหาว่าบริษัทศิริวัฒน์
ทำการตัดราคาหม้อแปลงเพื่อดึงเอาตลาดมาไว้ในกำมือหมด แต่แล้วก็ไม่สามารถส่งของให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
(กฟภ.) ได้ตามกำหนดเวลา ทางด้านสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทศิริวัฒน์
ก็ได้ประกาศเสียงกร้าวตามลักษณะนิสัยโผงผางว่า "ผมจะตัดราคาต่อไปจนกว่าจะสามารถครองตลาดทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด"
(ติดตามอ่านใน "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 12 หน้า 46-59)
ศึกในครั้งนั้นดูเหมือนว่าบริษัทศิริวัฒน์เป็นผู้ชนะ เพราะยังสามารถประมูลงานของการไฟฟ้ามาได้โดยตลอด
แต่ยังมีคนอีกหลายกลุ่มตั้งแต่ ธนาคารที่ให้สินเชื่อ คนในวงการหม้อแปลง ตลอดจนสื่อมวลชนต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าสมเจตน์กำลังเล่นกับไฟอยู่
ระวังจะย้อนกลับมาโดนตัวเอง!
แต่คนมีความสามารถอย่างสมเจตน์ก็สามารถเล่นละครตบตาคนดูได้แนบเนียน จนคนเกือบจะเชื่ออยู่แล้วว่าบริษัทศิริวัฒน์จะเป็นผู้ชนะ
จนปลายปี 2528 ความจริงก็ปรากฏออกมาว่า บริษัทศิริวัฒน์ไม่สามารถจะพยุงฐานะของบริษัทให้ดำเนินกิจการต่อไปได้แล้ว
โรงงานต้องหยุดการผลิต เครื่องจักรทั้งหลายกำลังคนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของศาลแรงงานนำขายทอดตลาด
เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คือโจทก์ ซึ่งก็คือพนักงาน 400 คนของบริษัทศิริวัฒน์ที่ไม่ได้รับเงินเดือนตอบแทนมาเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน
ส่วนตัวสมเจตน์นั้นได้เงียบหายไปจากวงการโดยทิ้งหนี้สินไม่ต่ำกว่า 500
ล้านบาทไว้ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายนั่ง "ซึม" กันไปตามระเบียบ
"ผู้จัดการ" ได้พบและสัมภาษณ์แหล่งข่าวทั้งหลายที่รู้จักกับสมเจตน์
วัฒนสินธุ์ ทุกคนต่างก็พูดยกย่องและยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า สมเจตน์นั้นเป็นคนที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง
เป็นแบบฉบับของนักต่อสู้ที่ไม่ยอมถอย เป็นนักธุรกิจดีเด่นของปี 2524 และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทศิริวัฒน์นั้นก็ดำเนินกิจการมานานถึง
28 ปี มีกำลังการผลิตมากที่สุดและทันสมัยกว่าทุกบริษัทมาก
แต่บริษัทศิริวัฒน์ก็ต้องมาเจอวันนี้เข้าจนได้! ทำไม?
หลาย ๆ คนลงความเห็นว่าสมเจตน์น่าจะต้องรู้ว่าทำอะไรลงไปบ้าง และจะเกิดผลตามมาอย่างไร?
แต่สมเจตน์ก็ยังดันทุรังทำต่อไปอีกเป็นเพาะอะไรกันแน่?
สมเจตน์เริ่มต้นงานครั้งแรกด้วยการเป็นวิศวกรไฟฟ้าของห้างวรบูรณ์หลังจากที่เพิ่งจบการศึกษาจากคณะวิศว
จุฬาฯ และได้เลื่อนมาเป็นผู้จัดการแผนกสินค้าไฟฟ้า ก่อนที่จะเบนเข็มชีวิตมาลุยกิจการของตัวเองในปี
2501
ในตอนนั้นสมเจตน์รวบรวมเงินจากญาติ ๆ มาตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน
1 ล้านบาท โดยดัดแปลงสถานที่บริเวณหลังบ้านในซอยกัลปพฤกษ์เป็นโรงงาน
ตลาดหม้อแปลงในประเทศขณะนั้นเล็กมาก ผู้ผลิตภายในประเทศเป็นโรงงานเล็ก
ๆ สามารถส่งหม้อแปลงให้เฉพาะบริษัทคนจีนเท่านั้น ส่วนตลาดราชการซึ่งเป็นตลาดใหม่นั้นจะสั่งเข้าหม้อแปลงจากต่างประเทศมาโดยตลอด
บริษัทศิริวัฒน์เริ่มขยายกิจการเมื่อปี 2505 ซึ่งในขณะนั้นเกิดสงครามเวียดนาม
และทางบริษัทศิริวัฒน์ก็โชคดีที่ได้รับออร์เดอร์ผลิตหม้อแปลงส่งให้กับฐานทัพอเมริกันในไทย
ในช่วงระยะ 10 ปีแรกของการเริ่มต้นนั้น สมเจตน์ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อที่จะให้อุตสาหกรรมหม้อแปลงที่ผลิตโดยคนไทยเป็นที่ยอมรับของตลาดภายในประเทศ
ไม่ต้องไปสั่งเข้ามาจากต่างประเทศให้เสียดุลการค้า จนในที่สุดความพยายามของสมเจตน์ก็เริ่มประสบผลสำเร็จขึ้นมาด้วยการเป็นนักธุรกิจที่รู้จักมองการไกล
สมเจตน์จึงยอมเสียเงินเป็นล้านบาทเพื่อซื้อ KNOW HOW ของอิสราเอลมาใช้ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า
ทำให้บริษัทศิริวัฒน์เป็นบริษัทของคนไทยแห่งแรกที่สามารถทาบรัศมีกับหม้อแปลงต่างชาติได้
"ในตอนแรกนั้นสมเจตน์พยายามจะเข้าประมูลงานของการไฟฟ้า แต่ไม่สำเร็จ
เพราะถือว่าหม้อแปลงของไทยยังไม่ได้มาตรฐานพอ ในปี 2514 เมื่อสมเจตน์ตัดสินใจซื้อ
KNOW HOW มาจากอิสราเอล และส่งลูกน้อง 5 คนไปฝึกงานเป็นเวลาถึง 6 เดือน หลังจากนั้นบริษัทศิริวัฒน์จึงสามารถประมูลงานของการไฟฟ้าส่วนภมิภาคได้
และเริ่มผลิตส่งให้ในปี 2515" แหล่งข่าวในวงการหม้อแปลงท่านหนึ่งเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
และด้วยการต่อสู้ที่ไม่หยุดยั้งในปี 2522 บริษัทศิริวัฒน์ก็เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองอีก
ด้วยการส่งหม้อแปลงไปขายกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งในเรื่องนี้ แหล่งข่าวท่านเดิมวิจารณ์กลยุทธ์นี้ว่า
"ความจริงตลาดเมืองนอกก็ไม่ใช่ว่าขายได้ราคาดีมากนักเพราะภาษีรัฐบาลเก็บแพงมาก
แต่ที่บริษัทศิริวัฒน์ทำกรส่งนอกคง เพราะต้องการโฆษณาว่าบริษัทศิริวัฒน์ก็เป็นบริษัทแห่งแรกในประเทศไทย
ที่สามารถผลิตหม้อแปลงส่งนอกเป็นการช่วยสร้างภาพพจน์ให้ตลาดภายในประเทศดีขึ้น"
แต่หม้อแปลงของบริษัทศิริวัฒน์มาได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงก็คือช่วงที่สมเจตน์ตัดสินใจเปลี่ยน
KNOW HOW จากอิสราเอลมาเป็นของเวสติ้งเฮ้าส์
ช่วงก่อนที่จะซื้อ KNOW HOW จากเวสติ้งเฮ้าส์นั้นสมเจตน์นั่งปวดหัวทุกวันว่าทำอย่างไรคนไทยจึงจะยอมรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเสียที?
เพราะช่วงที่ซื้อ KNOW HOW จากอิสราเอลนั้นก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร
พอหลังจากที่ซื้อ KNOW HOW ของเวสติ้งเฮ้าส์มาแล้ว ตลาดก็ยอมรับกันมาก ทำให้บริษัทศิริวัฒน์เริ่มทีมงานมากขึ้นเรื่อย
ๆ นี่นับว่าสมเจตน์เป็นนักธุรกิจที่รู้จักมองการไกลดีมาก"
หลังจากที่ปล่อยให้บริษัทศิริวัฒน์โดดเด่นแต่เพียงผู้เดียวในยุทธจักรหม้อแปลงมานานพอสมควรแล้ว
บริษัทไทยแมกซ์เวลก็เข้ามาขอทาบรัศมีบ้างในปี 2521
บริษัทไทยแมกซ์เวลนำทีมโดย มร. ซันนี่ ยง ชาวสิงคโปร์ มีผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทนี้
4 ชาติ คือ สิงคโปร์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และไทย
ครั้งแรกที่เริ่มเปิดตัวนั้นบริษัทไทยแมกซ์เวลออกไปลุยตลาดต่างจังหวัดก่อนถึง
2 ปี พอขึ้นปี 2528 จึงโดดเข้ามาประมูลงานทางราชการสู้กับบริษัทศิริวัฒน์
และก็สามารถประมูลงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ด้วย "การประมูลในครั้งนั้นมีปัญหามาก
แม้ว่าไทยแมกซ์เวลจะสามารถประมูลได้ในราคาที่ต่ำกว่าก็ตาม แต่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ต้องเรียกมาแก้ไขอยู่หลายครั้งกว่างานโครงการนี้จะผ่านไปได้"
เจ้าหน้าที่ของ กฟภ. ท่าหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ทราบ
สำหรับบริษัทศิริวัฒน์เมื่อเริ่มมีคู่แข่งเป็นตัวเป็นตนขึ้นมานั้น ได้มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างนั้น
"ผู้จัดการ" ได้รับการบอกเล่าจากลูกหม้อเก่าของบริษัทศิริวัฒน์ท่านหนึ่งว่า
"ไทยแมกซ์เวลเข้ามามีผลกระทบต่อศิริวัฒน์เล็กน้อยเท่านั้น เพราะคุณภาพหม้อแปลงของเขาในตอนนั้นยังไม่ค่อยดี
ความจริงแล้วถ้าตอนนั้นศิริวัฒน์ไม่มีปัญหาภายในเกิดขึ้นเสียก่อนไทยแมกซ์เวลอาจจะอยู่ไม่ได้
แต่เมื่อศิริวัฒน์มีปัญหาภายในเกิดขึ้นจึงเป็นโอกาสให้ไทยแมกซ์เวลเติบโตขึ้นมาได้จนถึงวันนี้"
เรื่องปัญหาภายในนั้นลูกหม้อคนเดิมได้สรุปว่า "สมเจตน์มีความเชื่อมั่นในตัวบุคคลมากเกินไปประกอบกับมีปัญหาทางด้านครอบครวกับเกีรติพงศ์
น้อยใจบุญ ซึ่งเป็นหลานแท้ ๆ และทำงานเป็นมือขวาด้วย ในปี 2524 เกียรติพงศ์จึงลาออกมาตั้งบริษัทเอกรัฐขึ้นเพื่อผลิตหม้อแปลง
ส่วนทีมงานที่เหลือก็ลาออกมาอีก 3 คน คนหนึ่งไปเรียนต่อ อีก 2 คนตามไปทำงานกับเอกรัฐ
ความจริงแล้วการที่ทีมงานออกมาถึง 4 คน ก็มีผลกระทบต่อศิริวัฒน์บ้างเหมือนกัน
แต่ด้านการบริหารก็ได้วางระบบดีแล้วทั้งมาตรฐานหม้อแปลงและการออกแบบ ตำแหน่งรองลงมาก็สามารถเข้ามาบริหารงานต่อไปได้เลย
เพียงแต่ต้องปรับปรุงงานให้เข้ากับสภาวะทางเศรษฐกิจเท่านั้น"
อย่างไรก็ตามการเกิดปัญหาภาในขึ้นนั้นก็เป็นจุดหนึ่งที่บรรดาเจ้าหนี้หลายแห่งรวมทั้งผู้ที่อยู่ในวงการหม้อแปลงต่างก็วิจารณ์กันว่า
เป็นสาเหตุที่ทำให้การผลิตหม้อแปลงของบริษัทศิริวัฒน์ขาดประสิทธิภาพในการทำงานจนทำให้ส่งงานไม่ทันและไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้
การออกมาตั้งบริษัทใหม่ของเกียรติพงศ์นั้นคงสร้างความโกรธแค้นให้กับสมเจตน์ไม่น้อย
เพาะสมเจตน์ถือว่าเป็นผู้สร้างเกีรติพงศ์ขึ้นมาตั้งแต่เรียนจบวิศวะจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯ
จนกระทั่งมีความสามารถเป็นถึงผู้จัดการคุมโรงงานซึ่งสมเจตน์ได้เคยพูดกับ
"ผู้จัดการ" ว่า
"มันเป็นหลานผม แล้วผมจับมันไปฝึกงานหวังจะให้เป็นตัวแทนผม ทำงานกับผมมาได้สิบกว่าปีแล้ว
มันกลับกำแหง"
ดังนั้นเมื่อบริษัทเอกรัฐโดดเข้ามาสู่วงการหม้อแปลงเป็นบริษัทที่สอง บริษัทศิริวัฒน์จึงประกาศศักดาของเจ้าถิ่นรุ่นลายคราม
เพื่อสั่งสอนเด็กรุ่นหลานด้วยการตัดราคาในการประมูลงานของ กฟภ. เมื่อปี 2525
และสงครามตัดราคาก็เริ่มรุนแรงขึ้นตามเป็นลำดับ จนในที่สุดทั้งไทยแมกซ์เวลและเอกรัฐก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาประมูลงานสู้กับบริษัทศิริวัฒน์
เป็นผลให้บริษัทศิริวัฒน์สามารถครองตลาดหม้อแปลงได้ถึง 90%
แต่จุดนี้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความหายนะที่สมเจตน์เป็นผู้เลือกทางเดินด้วยตนเอง
เพราะความที่สมเจตน์เป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองสูงมาก การตัดสินใจในแต่ละครั้งนั้นแม้จะมีทีมงานปรึกษาก็ตาม
แต่สมเจตน์จะเป็นผู้ตัดสินใจเองทุกครั้งโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากผู้ใด?
หลาย ๆ คนที่คิดว่ายักษ์ใหญ่ทุนหนาอย่างบริษัทศิริวัฒน์เสียอ่างจะตัดราคากันนานเท่าไหร่ก็คงจะไม่เดือดร้อน?
แต่ยังมีคนที่หนาว ๆ ร้อน ๆ แทนซึ่งมิใช่เอกรัฐหรือไทยแมกซ์เวล แต่กลับเป็นธนาคารทั้งหลายที่ให้บริษัทศิริวัฒน์กู้เงิน
มองดูผิวเผินแล้วบริษัทศิริวัฒน์อาจจะเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการหม้อแปลงไฟฟ้า
ซึ่งตั้งมา 28 ปี มียอดการขายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปีแรกที่บริษัทศิริวัฒน์ซื้อ
KNOW HOW มาจากอิสราเอลนั้น สามารถทำรายได้ถึง 20 ล้าน และเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ จนถึงปี 2524 มีรายได้สูงสุดถึง 400 ล้านบาท และถ้านับรวมตั้งแต่เปิดกิจการมานั้นบริษัทศิริวัฒน์สามารถทำเงินรายได้หลายพันล้านบาท
แถมยังมีธนาคารกรุงเทพหนุนหลังอีก
แต่ทางธนาคารที่ให้เงินกู้ต่างรู้ดีว่าฐานะการเงินของบริษัทศิริวัฒน์ทั้งหมดนั้น
ต้องอาศัยเงินกู้จากธนาคารและถ้าบริษัทศิริวัฒน์ยังขืนตัดราคาโดยไม่คิดจะเอากำไรต่อไป?
จะเป็นการเสี่ยงต่อการหมุนเงินมาก สมเจตน์จะต้องใช้ความสามารถทั้งหมดที่มีอยู่คอยหมุนเงินให้ทันใช้
มิฉะนั้นยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทศิริวัฒน์อาจจะล้มได้เหมือนกัน
"ทางแบงก์กรุงเทพก็เคยเตือนสมเจตน์เรื่องตัดราคาเหมือนกันว่าทำไปแล้วไม่มีประโยชน์อะไร
แต่สมจตน์ก็ไม่ฟังเสียง" แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้แห่งหนึ่งกล่าว
ธนาคารกรุงเทพซึ่งเคยมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากับสมเจตน์ตั้งแต่เริ่มเปิดบริษัทศิริวัฒน์ก็มีอันต้องหมางเมินกันไป
จนบางโครงการที่สมเจตน์เสนอกู้เงินทางธนาคารกรุงเทพก็ปฏิเสธกลับไป เพราะไม่กล้าเสี่ยงด้วย
แต่อาศัยความกว้างขวางของสมเจตน์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกและเคยให้การสนับสนุน
สส. บางคนอยู่บ้าง ทางธนาคารกรุงเทพจึงต้องยอมปล่อยเงินกู้ให้กับโรงการของสมเจตน์ต่อไป
สาเหตุเพราะได้รับโทรศัพท์ขอร้องจากรัฐมนตรีบางท่านซึ่งสมเจตน์ขอให้ช่วยพูดให้
เมื่อต้องลงมาเสี่ยงด้วยกับบริษัทศิริวัฒน์ ทางธนาคารกรุงเทพจึงแนะนำให้ทางบริษัทฯ
ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง เพื่อลดต้นทุนสู้กับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง
และให้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงขึ้น แต่สมเจตน์กลับไม่สนใจคำแนะนำเหล่านี้
กลับบุกประมูลตัดราคา กฟภ. มากยิ่งขึ้น
สิ่งนี้เป็นจุดหนึ่งที่หลายคนสงสัยว่า คนมีความสามารถอย่างสมเตน์น่าจะดูออกว่าขืนตัดราคาต่อไปอย่างนี้มีหวังเจ๊งแน่
แต่ทำไมสมเจตน์จึงดันทุรังตัดราคาต่อไป?
นักสังเกตการณ์ท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า "ในครั้งแรกนั้นสมเจตน์คงจ้องจะตัดราคาเพื่อล้มคู่แข่งจริง
โดยการตั้งราคาประมูลให้ต่ำมากจนไม่มีกำไร โดยคิดว่าถ้าคู่แข่งประมูลงานไม่ได้ก็คงจะเลิกกิจการไปเอง
แต่คงจะต้องโทษดวงด้วยที่ในช่วงนั้นหลังจากที่ตัดราคาแล้ว เกิดวิกฤติการณ์ลดค่าเงินบาท
ทำให้บริษัทศิริวัฒน์ขาดทุนมากลงไปอีก"
การประมูลงานในแต่ละครั้งของการไฟฟ้านั้น หลังจากที่มีการตัดสินใจให้บริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดชนะการประมูลแล้ว
กว่าที่บริษัทนั้นจะส่งมอบหม้อแปลงให้แก่ทางการไฟฟ้าจะต้องใช้เวลาผลิตไม่ต่ำกว่า
6-12 เดือน เพาะและบริษัทจะไม่สต็อคหม้อแปลงเอาไว้ให้เงินจม
และสำหรับบริษัทศิริวัฒน์นั้นเงินส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้จ่ายซื้อวัตถุดิบในการผลิต
แต่ละโครงการที่ประมูลได้จะมาจากการนำโครงการนั้นไปจำนองกับธนาคารกรุงเทพ
เมื่อทางธนาคารฯ อนุมัติเงินกู้แล้ว จึงจะนำเงินนั้นไปซื้อวัตถุดิบมาผลิต่อไป
ดังนั้นเมื่อโครงการแรก ๆ ของบริษัทศิริวัฒน์ที่ประมูลตัดราคามานั้นขาดทุนมากเนื่องจากเจอฤทธิ์ลดค่าเงินบาท
เพื่อความอยู่รอดของบริษัทฯ สมเจตน์จึงต้องหมุนเงินด้วยวิธีการฟันงานประมูลในครั้งต่อไปให้ได้
เพื่อที่จะนำโครงการหน้าไปจำนองกับธนาคาร เพื่อนำเงินออกมาใช้กับโครงการแรก
และเพื่อเป็นประกันว่าจะต้องประมูลให้ได้สำหรับโครงการต่อไป สมเจตน์จึงต้องกัดฟันตัดราคาให้ต่ำลงมาอีก
และบริษัทศิริวัฒน์ก็ยิ่งจะขาดทุนมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าประมูลไม่ได้นั่นหมายถึงบริษัทฯ
จะต้องช็อตแน่ ๆ
ในช่วงนั้นคนภายนอกจึงดูเหมือนว่าบริษัทศิริวัฒน์ตัดราคาอย่างบ้าระห่ำเกินไป!
"สมเจตน์คิดว่าถ้าสามารถฝ่ามรสุมให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้จนถึงปี 2530
ทางบริษัทศิริวัฒน์ก็คงจะดีขึ้นมาบ้าง" แหล่งข่าวใกล้ชิดท่านหนึ่งเปิดเผย
ในช่วงนั้นสมเจตน์จึงต้องพยายามหมุนเงินให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ช่วงนี้ไปก่อน
พร้อมกับมองหาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยถูก ๆ บริษัทศิริวัฒน์ก็จะสามารถตั้งตัวได้อีกครั้งอย่างแน่นอน
และเพราะความสามารถของสมเจตน์นั้นแนบเนียนมากจนธนาคารแทบจะไม่รู้ระแคะระคายถึงภาระอันหนักอึ้งอันนี้ของบริษัทศิริวัฒน์มาก่อนเลย
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเปิดเผยถึงกลวิธีของสมเจตน์ว่า "ในช่วงที่ประมูลได้และกว่าจะนำโครงการมาจำนองแบงก์นั้นทางศิริวัฒน์ก็เริ่มขาดทุนแล้ว
จึงต้อง MAKE ตัวเลขขึ้นมาใหม่เพื่อให้แบงก์ดูว่าไม่ขาดทุน โดยลดตัวเลขราคาวัตถุดิบที่ใช้ลงมา
พอโครงการนี้ทางแบงก์อนุมัติแล้วก็ทำได้ไม่ครบตามจำนวนเพราะเงินไม่พอซื้อวัตถุดิบ
ทำให้โครงการชะงักไป"
ในช่วงนั้นบริษัทศิริวัฒน์จึงถูกคู่แข่งขันโจมตีเรื่องส่งงานไม่ครบตามจำนวนและไม่ทันตามกำหนดซึ่งทางสมเจตน์ก็ออกตัวว่า
"บางอันเร็วกว่าก็มี บางครั้งการไฟฟ้าบอกมาว่าต้องการอะไรเร็วเราก็ทำให้ก่อนตั้งหลายเดือน"
ส่วนแหล่งข่าวจากการไฟฟ้าเปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า "เป็นเรื่องจริงที่ศิริวัฒน์ส่งงานช้า
แต่บางงานที่การไฟฟ้าเร่งก่อนกำหนดก็ส่งให้ทันเหมือนกัน เรื่องนี้คงเป็นทำนองพึ่งกันไปพึ่งกันมา
แต่ถ้าทางศิริวัฒน์ส่งงานช้าไม่ทันตามกำหนดก็ต้องถูกปรับตามสัญญาเหมือนกัน
บางคราวโดนปรับเป็นล้านเลย"
ในกรณีที่ส่งงานไม่ทันนั้นทางบริษัทศิริวัฒน์จะต้องถูก กฟภ. ปรับเป็นเงิน
4.5% ต่อเดือนจนกว่าจะสามารถส่งงานได้ครบ และเมื่อรวมถูกปรับหลาย ๆ โรงการเข้าก็กลายเป็นเงินหลายสิบล้านบาท
ยิ่งทำให้บริษัทศิริวัฒน์กระอักเข้าไปอีก
นอกากปัญหาเรื่องตัดราคาแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทศิริวัฒน์ต้องมีอันเป็นไปก็คือการขยายงานมากเกินไป
"สมเจตน์มักจะนำกำไรที่มีอยู่ไปขยายการลงทุนเป็นเครื่องจักร เครื่องมือต่าง
ๆ มีการขยายโรงงานออกไปเรื่อย ๆ เงินก็จมอยู่กับพวกนี้หมด" แหล่งข่าวท่านหนึ่งวิจารณ์
"สมเจตน์ทำอะไรใหญ่ ๆ อยู่เสมอ เช่นขยายโรงงานออกไปเรื่อย ๆ แล้วก็พยายามกำจัดคู่แข่งมากเกินไป"
แหล่งข่าวภายในวงการคนหนึ่งแสดงทัศนะ
ส่วนคนที่ใกล้ชิดก็ว่า "สมเจตน์เป็นคนใจร้อน คิดจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้"
การขยายงานของบริษัทศิริวัฒน์เริ่มเป็นจริงเป็นจังเมื่อปี 2521 ซึ่งทางสมเจตน์ตั้งใจจะผลิตหม้อแปลงระบบ
POWER TRANSFORMER ซึ่งเป็นหม้อแปลงที่มีขนาดใหญ่มาก เพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ตามปกติแล้วหม้อแปลงระบบ POWER TRANSFORMER นั้นทาง กฟผ. แห่งเดียวเท่านั้นที่ใช้และตลาดหม้อแปลงขนาดนี้คนไทยยังผลิตไม่ได้เพราะต้องใช้เทคโนโลยีสูงมาก
ทาง กฟผ. จึงต้องสั่งเข้าจากต่างประเทศมาตลอด
เนื่องจากสมเจตน์เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมหม้อแปลงไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศมาตลอด
งานชิ้นนี้จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทายความสามารถของสมเจตน์มาก ๆ
"สมเจตน์วางแผนที่จะเข้ามาในตลาดนี้ให้ได้ และนี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ดึงเอาเงินทุนหมุนเวียนเข้ามามากเกินไป
เพราะในแง่เครื่องมือที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงมาก ๆ สถานที่ก็ต้องใหญ่"
แหล่งข่าวในวงการฯ ให้ความคิดเห็น
สมเจตน์ลงทุนไปกับโครงการนี้หลายสิบล้านจนในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จสามารถประมูลหม้อแปลงระบบนี้ขนาด
50MVK กับ กฟผ. ได้ 1 ตัว และนับเป็นหม้อแปลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ทำการติดตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2528 ที่สถานีย่อยสาขาชิดลมและก็สามารถเดินเครื่องได้ปกติมาจนถึงทุกวันนี้
นับเป็นความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจของสมเจตน์ยิ่งนัก แต่ก็เป็นลางแห่งความหายนะที่กำลังจะตามมา
แล้วเคราะห์กรรมก็กระหน่ำสมเจตน์อีก ในขณะที่สมเจตน์พยายามจะหมุนเงินเพื่อมาพยุงฐานะของบริษัทฯ
มาได้จนถึงปี 2527 สมเจตน์ก็วิ่งเข้าไปชนซามูไรของปู่สมหมาย ฮุนตระกูลเข้าอย่างจัง
เมื่อมาเจอกับมาตรการจำกัดสินเชื่อ 18% และการลดค่าเงินบาทอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งนี้ฐานะการเงินของบริษัทศิริวัฒน์กลับทรุดหนักลงไปอีก การหมุนเงินของสมเตน์เริ่มติดขัดมีปัญหาขึ้นมาเพราะมาตรการจำกัดสินเชื่อ
ทำให้ธนาคารต้อง SCREEN ทุกโครงการที่ขอสินเชื่อ และยังต้องประกันโครงการด้วยเงินสดอีก
30% ของมูล่างาน
งานของบริษัทศิริวัฒน์จึงต้องชะงักลง เพราะไม่สามารถหมุนเงินมาผลิตหม้อแปลงส่งให้
กฟภ. ได้ ทำให้โครงการหลายแห่งของ กฟภ. ต้องหยุดชะงักลงไม่เป็นไปตามแผนการ
ทาง กฟภ. จึงตัดสิทธิ์ไม่ให้บริษัทศิริวัฒน์เข้าประมูลงานอีกต่อไปตั้งแต่ปลายปี
2528
เมื่อไม่ได้งานจาก กฟภ. ก็ไม่สามารถไปหมุนเงินจากธาคารมาซื้อวัตถุดิบมาผลิตโรงงานก็เลยต้องหยุดดำเนินงานไปโดยปริยาย
ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ก่อนจะปิดโรงงานนนั้น สมเจตน์ก็ได้ใช้จิตวิทยาเพื่อปลุกปลอบขวัญพนักงานให้ทำงานอยู่กับบริษัทต่อไป
ปรากฏว่าพนักงาน 400 กว่าคนยอมทำงานกับบริษัท โดยยอมรับเงินเดือนเพียงคนละ
500 บาท แต่เมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง พนักงานก็สามารถอดทนมาได้ประมาณ
8 เดือนก็สุดจะทนกับภาวะทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นได้อีกต่อไปแล้ว ทุกคนจึงพร้อมใจกันผละงานและเข้าชื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าแรงจากบริษัทฯ
สำหรับธนาคารกรุงเทพและธาคารกรุงไทยซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัทศิริวัฒน์นั้นต่างก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวแต่ประการใด
โดยนักสังเกตการณ์วิเคราะห์ว่าทางธนาคารเจ้าหนี้คงจะไม่กล้าโวยวายมากนักเพราะบริษัทศิริวัฒน์เป็นบริษัทที่ผลิตหม้อแปลงที่มีชื่อเสียงมากของประเทศ
ถ้าทำอะไรลงไปแล้วอาจจะกระทบมากถึงอุตสาหกรรมหม้อแปลงและทำให้เสียภาพพจน์ของอุตสาหกรรมนี้ก็ได้
"ผู้จัดการ" ได้รับการยืนยันจากธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ว่าต่างก็กำลังรอให้สมเจตน์กลัมาปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น
การหยุดกิจการของบริษัทศิริวัฒน์นั้นก็มีผลทำให้เกิดน้องใหม่ขึ้นในวงการหม้อแปลง
โดยในส่วนของพนักงานของบริษัทศิริวัฒน์หลังจากที่ได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ แล้วก็กระจัดกระจายกันไป
พนักงานส่วนหนึ่งนำทีมโดยสัมพันธ์ วงศ์ปาน อดีตผู้จัดการโรงงานของบริษัทก็ได้รวบรวมพนักงานจำนวนหนึ่งมาตั้งบริษัทไทยทราโฟเพื่อผลิตหม้อแปลงและล่าสุดก็สามารถประมูลงาน
10 ล้านบาทจาก กฟภ. ได้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ไปตั้งบริษัทกิจวัฒนาเพื่อผลิตหม้อแปลงส่งขายเอกชน
จากการสอบถามไปยังบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตหม้อแปลงถึงเรื่องจะมีการตัดราคาเพื่อที่จะเข้ามาแทนตำแหน่งของบริษัทศิริวัฒน์บ้างไหม
ก็ได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่มีศิริวัฒน์แล้ว เราก็จะไม่ตัดราคากันเด็ดขาด
แม้ว่าจะมี MARKET SHARE กันไม่มากก็ตาม แต่ถ้างานที่เราประมูลได้นั้นมีกำไรเราก็อยู่ได้อย่างสบายแล้ว"
นี่ก็คงเป็นกรณีศึกษาอันหนึ่งที่ให้นักธุรกิจในวงการหม้อแปลงหรือแม้แต่วงการอุตสาหกรรมอื่นพึงสังวรณ์เอาไว้เป็นบทเรียนว่า
เมื่อใดที่ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลในการบริหารงานแล้ว ยักษ์ก็คือยักษ์เถอะมีสิทธิ์ล้มได้เหมือนกัน!