|
พีแอนด์จีกลัวล้าสมัย กำลังปรับสู่ธุรกิจดิจิตอล
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(8 กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ด้วยความที่ พี แอนด์ จี เป็นกิจการขนาดใหญ่ในวงการสินค้าครัวเรือนรายหนึ่งของโลก การกำหนดกลยุทธ์ด้านดิจิตอลจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ความก้าวหน้าของโลกการตลาด ทำให้ผู้บริหารของพี แอนด์ จี เกรงว่ากิจการของพี แอนด์ จีจะกลายเป็นธุรกิจล้าหลัง แต่การปรับตัวที่ทันสมัยเกินไปก็ต้องการความมั่นใจ การศึกษา การศึกษาเพิ่มเติมมากมาย
ดังนั้น เมื่อผู้บริหารของ พี แอนด์ จี เล่าถึงความพยายามในการปรับและยกระดับโมเดลทางธุรกิจและการตลาดของพี แอนด์ จีสู่กิจการในโลกดิจิตอลจึงพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
ด้วยเหตุนี้ พี แอนด์ จีจึงยอมรับการร่วมมือทางฐานะพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกันกับยักษ์ใหญ่ในวงการอาหารฟาสต์ฟูดอย่างแมคโดนัลด์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่ากระบวนการดำเนินงานการตลาดแบบดิจิตอลแตกต่างจากแบบเดิมอย่างไร และการค้าแบบดิจิตอลมีขั้นตอนอะไรอยู่บ้าง นับตั้งแต่เวลาเริ่มต้นที่ได้รับข้อมูลสารสนเทศมาจนกระทั่งนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพทางธุรกิจ
เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาธุรกิจแบบดิจิตอลของพี แอนด์ จี คือ
ประการแรก ทำให้เห็นกระบวนการทำงาน และเวลาที่เกี่ยวข้องกับแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ
ประการที่สอง ทำให้พนักงานของพี แอนด์ จี ทุกคนเห็นข้อมูล ณ วินาทีที่ผ่านมา และเห็นข้อมูลที่เป็นข้อมูลเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน
ประการที่สาม ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของพี แอนด์ จี ลดลงจากเดิม เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างกำไรจากการดำเนินงาน
ด้วยความพยายามและความทุ่มเทในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา พี แอนด์ จี เปิดเผยว่า สามารถลดต้นทุนจากการดำเนินงานด้วยดิจิตอลเทคโนโลยีไปแล้วไม่น้อยกว่า 99 ล้านดอลลาร์ โดยกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนลดลงคือ ความแม่นยำมากขึ้นในการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าต่อสินค้าแต่ละชนิดของแต่ละสายการจำหน่ายของกิจการ
รูปแบบดังกล่าวได้ใช้แล้วโดยแมคโดนัลด์ในการป้อนกลับข้อมูลของลูกค้า 4,200 ล้านคน เพื่อนำมาใช้ในโมเดลการพยากรณ์ความต้องการซื้อในอนาคต ซึ่งน่าจะทำได้ง่ายขึ้นเพราะพี แอนด์ จี มีสินค้าประมาณ 800 รายการเท่านั้นที่เป็นเป้าหมายการปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล โดยใช้ฐานข้อมูลที่เรียกว่า cockpit ที่เก็บข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์จากอีเมลมาเพื่อประเมินว่าการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าของพี แอนด์ จี เป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อใดที่พี แอนด์ จี สามารถพยากรณ์จำนวนสินค้าที่จะขายได้ ก็สามารถบริหารผลกำไรได้ดีขึ้นด้วย
สิ่งที่เป็นความคาดหวังในระยะยาวของพี แอนด์ จี คือ สักวันหนึ่ง พี แอนด์ จี จะสามารถเห็นข้อมูลแบบหนึ่งต่อหนึ่งที่เข้าไปถึงลูกค้านับพันล้านรายของตนได้เหมือนกับแมคโดนัลด์
นอกจากนั้น การปรับเปลี่ยนแนวทางการโฆษณาของพี แอนด์ จี อาจจะหมายถึงการที่ พี แอนด์ จี ต้องสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับลูกค้าในด้านการถกเถียง การตอบโต้แบบมีทางออกเสมอกับลูกค้าของพี แอนด์ จี ขณะเดียวกันก็ยังต้องให้อิสระกับลูกค้าในการต่อล้อต่อเถียง จนกว่าจะตัดสินใจด้านการซื้อจริง
การปรับเปลี่ยนแนวทางโมเดลธุรกิจแบบนี้หมายความถึงการที่พี แอนด์ จี จะต้องมีฝ่ายงานด้านไอทีที่เข้มแข็งแบบสุดๆ รวมทั้งเปลี่ยนพนักงานทุกระดับทุกแห่งในเครือข่ายให้รู้ว่าตนจะต้องมีสมรรถนะทางด้านไอทีเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
รวมทั้งการทำงานของพนักงานพี แอนด์ จี จะต้องมีความไหวตัวต่อการใช้ข้อมูลสารสนเทศในการบริหารจัดการภาระงานให้เกิดประโยชน์กับกิจการมากที่สุด ไม่ใช่เพียงการทำงานแบบวันต่อวันแบบที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติงานทางการตลาดจะเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมาก
ไม่ว่าแนวทางการพัฒนาธุรกิจของพี แอนด์ จี จะเพิ่มความเข้มข้นในด้านดิจิตอลเทคโนโลยีมากน้อยขนาดไหน แต่การปรับตัวที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปจากนี้ อาจจะมีผลอย่างมากต่อการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งพี แอนด์ จีจะต้องมั่นใจว่าลูกค้าในประเทศเหล่านั้นจะมีความเข้าใจและยอมรับพี แอนด์ จี ในยุคดิจิตอลด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|