คลื่นบริษัทก่อสร้างจากญี่ปุ่นถาโถมเข้าประเทศไทยชนิดรุนแรงอย่างแท้จริงนั้นก็คงเริ่มตั้งแต่ปี
2526 เป็นต้นมา ซึ่งก็ทำให้บริษัทก่อสร้างไทยอาการไม่ค่อยดีไปตาม ๆ กัน
บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นเหล่านี้ได้มาผสมพันธุ์กับบริษัทก่อสร้างไทย กลายเป็น
"แฟชั่น" เจือด้วยความเจ็บปวดที่ต้องเป็นไปโดยส่วนมาก
แต่ในจำนวนนี้ต้องยกเว้นบริษัทไทยโอบายาชิฯ
บริษัทไทยโอบายาชิ หรือชื่อทางการเรียกกันว่าบริษัทนันทวัน จำกัดนั้นมิใช่เพิ่งมาแท้ที่จริงปักหลักในประเทศไทยมากว่า
10 ปีแล้ว
เวลา 100 ปีในไทย บริษัทไทยโอบายาชิฯ ยืนตระหง่านจนไม่มีใครมองผ่านไปอย่างเฉยเมยได้
ไทยโอบายาชิฯ เป็นรองก็เฉพาะอิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล็อปเมนท์ของนายแพทย์ชัยยุทธ
กรรณสูตเท่านั้น
จากสถิติปี 2527 ไทยโอบายาชิ มียอดขายมาเป็นอันดับสองรองจากอิตาเลี่ยนไทยจำนวน
1,392 ล้านบาท (อิตาเลี่ยนไทยฯ 1,730 ล้านบาท) สินทรัพย์อันดับสอง 1,231
ล้านบาท (อิตาเลี่ยนไทย 1,850 ล้านบาท) กำไรก็มากเป็นอันดับสอง จำนวน 25
ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 541% (ห้าร้อยสี่สิบเอ็ด%) ขณะที่ยอดขายและสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
300% และ 200% ตามลำดับ!
นับว่าปี 2527 ไทยโอบายาชิประสบความสำเร็จมากเป็นประวัติการณ์!!
ความน่าเกรงขาม และความก้าวร้าวของไทยโอบายาชิวันนี้มันมีอดีต เมื่อมองอดีตแล้วจะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง
และสมเหตุสมผลอย่างยิ่งด้วย
ไทยโอบายาชิก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2517 ชื่อก็บอกอยู่แล้วผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือบริษัทโอบายาชิงูมิ
แห่งประเทศญี่ปุ่นถึง 49% สำหรับฝ่ายไทยแล้ว ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์
บริษัทศรีกรุงวัฒนา (ของเสี่ยสว่าง เลาหทัย) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
รายละ 10%
ส่วนที่ถือเป็นรายบุคคลนั้นที่สำคัญคือสมหมาย ฮุนตระกูล 2% สว่าง เลาหทัย
1.3% และชาตรี โสภณพนิช 0.25%
น่าเกรงขามไหมเล่า?
สมหมาย ฮุนตระกูล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และมีอำนาจลงนามแทนบริษัทมาตั้งแต่ต้น
ยิ่งมองถึงผลงานของไทยโอบายาชิที่ผ่าน ๆ มาซึ่งทำหน้าที่เป็น SUB-CONTACT
โอบายาชิ-งูมิ แห่งญี่ปุ่นสำหรับโครงการใหญ่ เป็นหลัก โครงการแรกได้แก่ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่เอไอเอประกันชีวิต
ส่วนโครงการใหญ่อื่น ๆ อาทิ ที่ทำการองค์การซีโต้ ตึกสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
โรงแรมดุสิตธานี โรงงานเทยินโพลีเอสเตอร์ ตึกธนาคารแห่งอเมริกา ตึกสำนักงานใหญ่บริษัทเอสโซ่
และตึกสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น
หรือหากจะแยกแยะออกมาให้เห็นกลุ่มผลงานแล้วจะพบว่าประกอบด้วย
หนึ่ง-สิ่งก่อสร้างของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น โรงงา
นเอ็นเอ็มบี. ผลิตตลับลูกปืนที่อยุธยา โรงงานอายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะ โรงงานผลิตจักรยานยนต์คาวาซากิ
สอง-กิจการลงทุนของผู้ถือหุ้น เช่น สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ไซโลของบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลท์ของเสี่ยสว่าง
เลาหทัย อาคารสยามเซ็นเตอร์ ของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
และสาม-อาศัยเส้นสายโยงใยจากผู้ถือหุ้น เช่น โรงงานทอผ้าไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์
อาคารไทยรัฐ เป็นต้น
วิทยายุทธชั้นสูงกว่านั้นของโอบายาชิและไทยโอบายาชิซึ่งบริษัทก่อสร้างไทยไม่มีก็คือ
หนึ่ง-หาแหล่งเงินกู้ให้ผู้ก่อสร้างอาคาร "ผมว่าไทยโอบายาชิเขาเป็นรายแรก
ๆ ที่ทำ ซึ่งต่อมาเมื่อบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นเฮโลเข้ามาเมืองไทยเรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป"
ผู้อยู่วงการก่อสร้างมานานแสดงความรู้และความเห็น
สอง-ระบบข่าวสารและสายสัมพันธ์จากบริษัทมิตซุย แอนด์คัมปะนี (ไทยแนด์)
จำกัด
มิตซุย ประกอบกิจการค้าทั่วไป นำของส่งออกและจำหน่ายสินค้าในประเทศ ตั้งแต่แร่
โลหะ เครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์สื่อสาร ฯลฯ หรือจะเรียกว่าทำการค้าตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบก็ไม่ผิด
อาณาจักรของมิตซุยในประเทศไทยกว้างขวาง สอดเข้าไปแทบทุกวงการ "เมื่อขายสินค้าสำหรับโครงการก่อสร้างแล้วก็มีส่วนชักนำให้ไทยโอบาาชิเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างได้
โดยเสนอเงื่อนไขพิเศษ หืออย่างน้อยก็ส่งข่าวคราวให้" ผู้รู้ว่า
มิตซุยเกี่ยวข้องกับไทยโอบายาชิตรงที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มิตรไทยยูโรพารทเนอร์
มีมิตซุยถือหุ้นในขณะที่บริษัทนี้ถือหุ้นในไทยโอบายาชิ นี่เป็นเพียง "ความเกี่ยวพัน"
ที่จับต้องได้ ส่วนที่มากกว่านี้ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า "ทั้งโอบายาชิและมิตซุยเกี่ยวพันกันลึกซึ้งพอประมาณในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อพิารณาในรายละเอียดลงไปจะพบว่าหลายโครงการที่ไทยโอบายาชิเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างก็คือโครงการของบริษัทในเครือของมิตซุย
(ไทยแลนด์) นั่นเอง เช่น โรงงานบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย ฯลฯ เป็นต้น (มิตซุยมีบริษัทในเครือในประเทศไทยถึง
26 บริษัท)
เพียงแค่นี้ผู้ถือหุ้นของไทยโอบายาชิก้อยู่ในสภานอนตาหลับ และไร้ความกังวลใด
ๆ
รวมไปถึงสมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีการคลังของไทยด้วย ซึ่งได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งตั้งแต่เด็กจนถึงวัยดึกขณะนี้
สมหมายเรียนจบปริญญาตรีจากญี่ปุ่น และได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จากญี่ปุ่น
เขามีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับญี่ปุ่นมาก กู้เงินเยนจากญี่ปุ่นก็เก่ง ใครที่ว่าแน่
ๆ ไปก็ไม่ได้ สมหมายทำสำเร็จมาแล้ว ใครเขาจะด่าญี่ปุ่นเอาเปรียบทางการค้าอย่างไรกับไทย
สมหมายเฉยลูกเดียว วันดีคืนดีก็ออกหน้ามาแก้แทนด้วยซ้ำไป
สมหมาย ฮุนตระกูล มีชีวิตอย่างสมถะ บ้านเลขที่ 570 ถนนลาดพร้าว เขตบางเขน
ว่ากันว่าเขาเองไม่มีธุรกิจของตนเองอย่างจริง ๆ จัง ๆ เลย ที่ตนเองมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท
มีหุ้นส่วนใหญ่นั้นก็เป็นเพราะการเป็นรัฐมนตรีการคลังหรือพูดได้อีกทีก็คือเข้าไปอย่างเป็นทางการนั่นเอง
แต่ทั้งหมดนี้ยกเว้นบริษัทไทยโอบายาชิ เพราะที่นี่สมหมายถือหุ้นในนามส่วนตัวจริง
ๆ เป็นกระเป๋าเงินจริง ๆ ของเขา แม้ไม่มากนักแต่เขาก็ไม่ทิ้ง จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ
และผู้ที่จะให้คำตอบดีที่สุดก็คือตัวเขาเอง
และดูเหมือนสมหมาย จะทำตัวดีเหลือเกินที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับไทยโอบายาชิเอาเสียเลย
ส่วนลึก ๆ นั้นไม่มีใครกล้ายืนยัน
สมหมาย ฮุนตระกูล ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท ไทยโอบายาชิ มาตั้งแต่แรกจนถึงวันที่
12 กุมภาพันธ์ 2523 โดยอ้างในจดหมายลาออกว่าเนื่องจากได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีการคลังซึ่งบัณฑิตย์
ฮุนตระกูลลูกชายคนเดียวของเขาซึ่งทำงานอยู่ปูนซิเมนต์ไทยก็มาดำรงตำแหน่งกรรมการแทนพร้อม
ๆ กับชื่อ สมหมาย ฮุนตระกูล หายไปจากทะเบียนผู้ถือหุ้นของไทยโอบายาชิแทนที่ด้วยบริษัทอัมพุทพงศ์
จำกัด
ในระยะไล่เลี่ยกันนั้น ชาตรี โสภณพนิช ก็ได้ลาออกจากกรรมการ โดยภุชงค์
วงศ์วสุเข้าเป็นกรรมการแทน สำหรับสว่าง เลาหทัยเขายังเหนียวแน่นเป็นกรรมการตั้งแต่วันแรกที่บริษัทนี้ตั้งอยู่อย่างไรก็ยังอยู่อย่างนั้นจนถึงทุกวันนี้
สืบทราบกันต่อไป บริษัทอัมพุทพงศ์ จำกัด แท้ที่จริงก็คือบริษัทครอบครัวของสมหมาย
ฮุนตระกูล บริษัทนี้ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2520 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท กรรมการบริษัทประกอบด้วย
สมหมาย ฮุนตระกูล คุณหญิงสมศรี ฮุนตระกูล (ภรรยา) และบัณฑิตย์ ฮุนตระกูล
(ลูกชาย)
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2524 สมหมายได้ขอลาออกจากกรรมการโดยไม่มีการแต่งตั้งใครเพิ่ม
ที่ทำการบริษัทอัมพุทพงศ์ อยู่ที่บ้านของสมหมายเอง และดูเหมือนว่าจะไม่ทำธุรกิจอะไรเลย
รายได้ดูเหมือนจะมีทางเดียวคือจากเงินปันผล ที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นเงินปันผลจากบริษัทเดียว-ไทยโอบายาชิเท่านั้น
ไทยโอบายาชิ ทำกำไรดีมากในปี 2527 (แม้แต่ปีอื่น ๆ) ย่อมให้ผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท
เมื่อปี 2519 ประธานกรรมการได้รับบำเหน็จเดือนละ 12,000 บาท กรรมการอื่น
ๆ คนละ 6,000 บาท และในปีนั้นกำไรสุทธิหลังหักภาษีแล้ว 3,447,886 บาท ปันผล
1.5 ล้านบาท หรือหุ้นละ 75 บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมโบนัสที่กรรมการได้รับ
ต่อมาปี 2527 เป็นปีที่ประธานกรรมการได้ค่าตอบแทนเดือนละ 15,500 บาท กรรมการคนละ
8,700 บาท และโบนัสประธานกรรมการ 85,000 บาท และกรรมการคนละ 57,000 บาท ในปีนี้จ่ายเงินปันผล
5 ล้านบาท หรือ 250 บาท/หุ้น
ว่าไปแล้วผลประโยชน์ที่ไทยโอบายาชิให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งในที่นี้หมายถึงสมหมาย
ฮุนตระกูลด้วย ไม่ใช่จำนวนมากมายอะไรที่จะมัดใจสมหมายไว้กับกิจการนี้ มันย่อมมีอย่างอื่น
"เริ่มแรกทีเดียวผู้บริหารระดับสูงของโอบายาชิ รู้จักและเป็นเพื่อนรักกับคุณสมหมาย
เคยช่วยเหลือกันมาก่อน หรือพูดอีกนัยหนึ่งในบรรดานักธุรกิจญี่ปุ่นที่มาทำมาหากินในเมืองไทยนั้น
คุณสมหมายมีความสนิทชิดเชื้อกับโอบายาชิมากที่สุด ก็เลยทิ้งกันก็ไม่ได้ ขายกันก็ไม่ขาด"
ผู้รู้จักสมหมาย ฮุนตระกูลดีเล่าให้ฟัง
"ความจริงคุณสมหมายจะถอนหุ้นแล้ว แต่ถูกขอร้อง เลยจำเป็นต้องพลิกแพลงกันไป"
ก็เชื่อกันว่า เมื่อสมหมาย ฮุนตระกูลเป็นไทแก่ตัวเองไม่ต้องไปเป็นรัฐมนตรีการคลังแล้ว
เขาคงจะมีความสุขมากที่มานั่งเป็นประธานบริษัทไทยโอบายาชิ…แต่ข่าวล่าสุดว่าจะไม่เอาแล้ว!!?