|
ไทฟูโด (Tai Fu Do) ศาสตร์มวยไทยในศิลป์ผสม
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้ากรุงศรีมีสิบขนมต้ม อยุธยาคงไม่ล่มแหลกสลาย วิชามวยมึงเลิศประเสริฐชาย ลบลายทหารกล้าพม่ากู นับแต่ครั้งเจ้าอังวะประกาศเกียรติ ไม่มีใครกล้าเหยียดฤาลบหลู่ อันชั้นเชิงมวยไทยใครก็รู้ คู่ต่อสู้เข็ดขามไปตามกัน...
หากอ่านเพียงบทขึ้นต้นในกลอน “มวยไทย” ของผู้ใช้นามปากกา “แอ๊ด อัจฉริยะ” คงทำให้เลือดในกายคนไทยพลุ่งพล่านด้วยความภูมิใจในศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเรา
มวยไทย มวยปล้ำ หย่งชุน ไทเก๊ก กังฟู ยูโด ไอคิโด เทควันโด ยูยิตสู คูราช.... สารพัดวิชาการต่อสู้นี้เป็นเพียงบางส่วนของศิลปะการต่อสู้ดั้งเดิมที่มีอยู่ บนโลกใบนี้ บางวิชามีมานานกว่าร้อยปี ขณะที่บางวิชาก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึงศตวรรษ
สิ่งที่น่าภูมิใจคือ ทุกวิชาที่กล่าวนี้ล้วนเป็นศิลปะการต่อสู้มือเปล่าที่มีต้นกำเนิดมาจากเอเชีย แต่ที่น่าภาคภูมิใจยิ่งกว่าคือ รายการสารคดีต่างประเทศเคย ยกย่องให้มวยไทยเป็นหนึ่งศิลปะการต่อสู้ที่มีพลังเตะหนักหน่วงที่สุดในโลกและเป็นศิลปะป้องกันตัวที่ยอดเยี่ยมที่สุด เป็นอันดับ 2 รองจากกังฟู
...ยกย่างสามขุมคลุมธรณี ท่วงทีสง่าน่าเกรงขาม หมัดศอกถีบเข่าเข้าตามเตะตัดฉัดย่ามยามรุก ทุ่มทับจับหัก ปักหลักสืบเท้าก้าวบุก เข่าลอยสอยดาวเข้าคลุก ได้ทุกอาวุธยุทธนา หมุนคว้างสร้างพิษได้รอบตัว พม่ากลัวมวยไทยไม่กล้าสิบคนก็สิบพ่าย ใครเข้ามาเป็นส่ายหน้ายอมแพ้แก่มวยไทย...
ท่อนกลางของบทกลอน “มวยไทย” ยังให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากท่อนแรก แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าอาวุธมวยไทยที่ปรากฏในบทกลอนนี้ต่างจากมวยไทยที่เห็นบนเวที “ลุมพินี” หรือ “ราชดำเนิน” โดยเฉพาะท่าทุ่มทับจับหักที่เมื่อนึกภาพตามหลายคนอาจคิดถึงยูโดผสมไอคิโด้ มากกว่ามวยไทยที่เห็นวันนี้
เพราะมวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่บรรพบรุษนักรบของเราคิดค้นไว้ ไม่เพียงเพื่อป้องกัน ตัวเองเท่านั้น แต่ยังมีอีกวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อป้องกันรักษาชาติ จึงได้คิดค้น ปรับปรุง วิธีการรับและรุกเอาไว้ครบทุกรูปแบบ ทั้งหัว หมัด เท้า เข่า ศอก ตลอดจนการทุ่ม
มวยไทยโบราณจึงมีแม่ไม้และอาวุธมวยที่หลากหลายกว่ามวยไทยในปัจจุบัน ไม่จำกัด เฉพาะการยืนต่อสู้ แต่เมื่อจำเป็นต้องล้มก็ต้องสามารถ “กอดรัดฟัดเหวี่ยง” เหมือนมวยปล้ำได้ เพราะในยามศึกสงคราม ศัตรูสามารถรุกเข้ามาได้ในทุกรูปแบบและไร้ซึ่งกติกา
นอกจาก “ทุ่มทับจับหัก” “กอดรัดฟัดเหวี่ยง” มวยไทยดั้งเดิมยังมีเคล็ดวิชาอื่น เช่น “ป้อง-ปัด-ปิด-เปิด” เป็นหลักการป้องกันตัวที่ถือเป็นพื้นฐานแรกของมวยไทยโบราณ “ล้ม-ลุก-คลุก-คลาน” เป็นทักษะม้วนตัวล้มตัวเพื่อให้บาดเจ็บน้อยที่สุดและหาจังหวะลุกให้เร็วที่สุด และ “ล่อ-หลอก-หลบ-หลีก-หลอกล่อ-ล้อเล่น” เป็นลูกเล่นเพื่อรอจังหวะสวนกลับซึ่งต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบสูง เป็นต้น
หัวใจของมวยไทยคือเพื่อการป้องกันตัว ดังนั้น สุดยอดเคล็ดวิชามวยไทยจึงไม่ได้อยู่ที่ต่างฝ่ายต่างใช้กำลังเข้าปะทะกัน ต่างจากมวยไทยกระแสหลักทุกวันนี้ที่มักฝึกฝนการโจมตี เตะต่อย ทำลายล้าง โดยอาศัยความทนทานเข้ารับลูกเตะต่อยของคู่ต่อสู้ แล้วรอดูว่าใครทนกว่ากัน คนนั้นจึงได้เป็นผู้ชนะ
ดังนั้น แนวทางฝึกฝนมวยไทยโบราณจึงต่างโดยสิ้นเชิงจากมวยปัจจุบัน ซึ่งเน้นการฝึก พละกำลังเพื่อทนการรับลูกเตะต่อยเข่าศอกของคู่แข่ง ขณะที่มวยโบราณเน้นการใช้ไหวพริบปฏิภาณเข้าชิงจังหวะด้วยท่ามวยที่ฝึกฝนมาจนชำนาญ โดยอาศัยแรงกระทำของคู่ต่อสู้เป็นตัวตอบสนอง หรือที่คนเรียนมวยมักบอกว่า เป็นการ “ผันแรงของฝ่ายตรงข้ามมาเป็นกำลังของเรา” นี่จึงทำให้ในการฝึกมวยไทยโบราณจำเป็นต้องมีการฝึกทั้งสมาธิควบคู่ไปด้วย
ดูเหมือนวันนี้ มวยไทยพันธุ์แท้อย่างมวยโคราช (หรือมวยอีสาน) มวยล้านนา (หรือมวยเหนือ) มวยลพบุรี มวยท่าเสา (หรือมวยอุตรดิตถ์) และอีกหลายมวยโบราณ แทบจะไม่เหลือให้เห็นอีกแล้วบนสังเวียนมวยบ้านเรา ชื่อที่อนุชนรุ่นหลังยังพอได้ยินและพอเห็นอยู่บ้าง คงเหลือแต่ “มวยไทยไชยา” ที่นับวันจะหาดูยากขึ้นทุกที
...ปัจจุบันสมัยยุคไทยเพี้ยน มวยไทยแปรเปลี่ยนไปได้ ขายชาติขายศิลป์แม่ไม้ วิชาไทยเอาไปขายฝรั่งมัน เจ้ากรุงอังวะคงหัวเราะร่า สมน้ำหน้าคนไทยไม่ยึดมั่น นายขนมต้มก้มหน้าจาบัลย์ ไอ้มวยชั้นหลานเหลนมันเดนมวย...
ท่อนจบของบทกลอน “มวยไทย” อาจทำให้ความภาคภูมิใจที่หลายคนมีมาเมื่อบรรทัดแรกดับลง พร้อมกับความหวังที่จะเห็นมวยไทยโบราณหยัดยืนอยู่บนเวทีโลกอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ถึงกับสิ้นหวังเสีย ทีเดียว
ในปี 2518 มีครูมวยท่านหนึ่งเปิดสถาบันสอนศิลปะป้องกันตัว ซึ่งได้นำเอา ปรัชญาและหลักวิชาการต่อสู้ในแบบฉบับมวยไทยโบราณมาเป็นพื้นฐาน ผสมผสานกับศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าอื่นๆ จากเอเชีย พัฒนาจนกลายเป็นหลักสูตรวิชาป้องกันตัวรูปแบบใหม่ (Mixed Martial Arts) ที่มีชื่อเรียกว่า “ไทยยุทธ”
ถัดจากนั้นอีกราว 30 ปี มีครูมวยอีกท่านเปิดโรงเรียนสอนป้องกันตัวที่มีหลักการคล้ายกัน ภายใต้ชื่อว่า “ไทยหัตถยุทธ” หรือที่หลายคนอาจเคยได้ยินในชื่อ “ไทฟูโด”
“ไท” มาจากวิชามวยไทย (โบราณ) และไทเก๊ก
“ฟู” มาจากวิชากังฟู
“โด” มาจากวิชายูโด, เทควันโด้, ไอคิโด้, คาราเต้-โด้ และอฮันวาโด
“ความหมายของไทฟูโดจริงๆ คือเพื่อระลึกถึงครูอาจารย์ “โด” ตัวนี้ ภาษาจีนอ่านว่า “เต๋า” แปลว่า วิถีทาง “ฟู” มาจากกังฟู แปลว่าทักษะความชำนาญ ส่วน “ไท” ก็คือ สภาวการณ์ของความเป็นอิสระ หรือปรมัตถ์ ฉะนั้นศิลปะไทฟูโด คือ การนำเอาวิถีทางที่ฝึกฝนจนชำนาญมาพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงอิสระ หรือพ้นจากการยึดติดรูปแบบต่างๆ”
คำอธิบายจากชีวิน อัจฉริยะฉาย หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนและหลักสูตรไทฟูโด มาพร้อมกับคำยืนยันหนักแน่นว่า “ไทฟูโด” ถือเป็นศิลปะป้องกันตัวแขนงใหม่ เป็นเคล็ดวิชาที่คิดค้นมาจากประสบการณ์เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้หลายแขนงมานานกว่า 30 ปี
หากไม่นับวิชาการต่อสู้สไตล์มวยจีนที่ได้รับมาจากการคลุกคลีอยู่กับปู่และตาซึ่งเป็นนักสู้มวยจีนและมวยไทเก๊กที่อพยพมาจากประเทศจีน ชีวินเริ่มร่ำเรียนศิลปะการต่อสู้จริงจังมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ส่วนใหญ่เป็นศิลปศาสตร์ที่มาจากเอเชีย อาทิ มวยไทย ไทเก๊ก กังฟู เทควันโด คาราเต้ ไอคิโด้ อฮันวาโด ยูยิตสู ฯลฯ รวมถึงศิลปะการใช้อาวุธรูปแบบต่างๆ เพราะเชี่ยวชาญหลายศาสตร์ เขาจึงได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาการออกแบบเทคนิคการต่อสู้ในหนังองค์บากและต้มยำกุ้ง
เมื่อผ่านการฝึกฝนมามาก ชีวินจึงพบว่าศิลปะการต่อสู้แต่ละศาสตร์มีจุดเด่นไม่เหมือนกัน เหมาะที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะในสถานการณ์จริง ไม่มีใครสามารถนำทุกศาสตร์มาใช้ในเวลาเดียวกันได้ เขาเริ่มคิดค้นและเรียบเรียงเอาจุดเด่นของศิลปะการป้องกันตัวแต่ละแขนงมาร้อยเรียงและจัดลำดับท่าขึ้นใหม่ จนเป็นหลักการง่ายๆ เพื่อให้ผู้เรียนนำไปใช้ป้องกันตัวได้จริง รวมถึงนำไปพัฒนาทักษะการต่อสู้ของตนเองในแขนงต่างๆ หรือเพื่อนำไปประกอบอาชีพ เช่น สอนศิลปะป้องกันตัว, บอดีการ์ด และสตั้นต์แมน เป็นต้น
ตามแนวคิดส่วนตัวของชีวิน ในการใช้ศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ผู้เล่นจำเป็นต้องมีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 อย่าง คือ 1. กำลังของร่างกายส่วนต่างๆ โดยเฉพาะมือ ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญสำหรับวิชาไทฟูโด 2. ท่ามวย หรือท่วงท่าการต่อสู้ และ 3. เทคนิคหรือเคล็ดวิชา
“เทคนิคคือหลักการที่ผมจะสอนให้คุณนั่นเอง มันเป็นหลักการที่เกิดจากความเข้าใจทั้งหมดของผม ซึ่งเมื่อคุณรู้แล้วสามารถนำไปใช้เชื่อมโยงกับศิลปะป้องกันตัวได้ทุกแขนง แต่จู่ๆ ถ้าผมยื่นให้แต่หลักการหรือความเข้าใจก็ไม่ได้ มันต้องกลับไปหา รูปลักษณ์เพื่อให้คุณฝึกฝนการใช้หลักการเหล่านั้น” ชีวินอธิบาย
ขณะที่ท่ามวยท่าแรกของมวยไชยาที่ผู้ฝึกต้องเริ่มต้นเรียนรู้คือ สูตร “ป้องปัดปิดเปิด” สูตรของไทฟูโดพลิกแพลงเป็น “หลบหลีกปัดป้อง” โดยนัยก็คือการฝึกป้องกันตัว ส่วนกระบวน ท่าตอบโต้หรือจู่โจมเริ่มจากสูตร “คว้าหักจับทุ่ม” ผสมระหว่าง มวยไทย ไอคิโด ยูโด แต่พลิ้วไหวกว่าด้วยท่าทางไทเก๊กหรือหาก เป็นการจู่โจมในระยะประชิดก็ปรับมาใช้ท่ามวยหย่งชุน เป็นต้น
กระบวนท่าต่างๆ เหล่านี้ อาจารย์ชีวินเรียกว่า “รูปลักษณ์” ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาร้อยเรียงมาจากจุดเด่นของศิลปะการต่อสู้หลายแขนง เพื่อให้เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ
สำหรับ “หลักการ” ชีวินยกตัวอย่างหลักการเรื่อง “การเข้าสู่ระยะ” โดยเขาแบ่งระยะ ประชิดในการต่อสู้ออกเป็น 4 ระยะ เริ่มจากระยะที่ประชิดที่สุดคือ 1. ระยะศอก 2. ระยะเข่า 3. ระยะหมัด และ 4. ระยะเท้า เมื่อเข้าใจหลักการเรื่องระยะแล้ว เขาบอกว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันตัวเบื้องต้นได้ทันที
“ถ้าไม่อยากโดนต่อย คุณก็ต้องยืนอยู่ระยะที่ 4 แต่เมื่อคุณยืนระยะ 4 นั่นก็คือถ้าคุณ จะโต้ตอบ สิ่งที่ทำได้ก็คือต้องใช้วิธีถีบหรือเตะ เพราะถ้าคุณต่อยก็ไม่ถึง จนกว่าคุณจะก้าวเข้าไปหาคู่ต่อสู้ 1 ระยะ หรือถ้าคุณอยู่ในระยะศอก คุณก็ต้องถอยออกมาให้ได้อย่างน้อย 3 ระยะ เพื่อจะไม่ถูกคู่ต่อสู้ทำร้าย แต่ถ้าหนีไม่ได้คุณอาจต้องใช้หลักวิชามวยจีน คือมุ่งสู่เป้าหมายที่จุดตายทั้ง 12 จุดของคู่ต่อสู้” ชีวินอธิบาย
เขายกอีกตัวอย่าง ว่าด้วยหลักการหลบหลีกเวลาที่ถูกคนร้ายจับข้อมือ ขณะที่คนส่วนใหญ่มักสนใจ ไปที่การแกะข้อมือ ด้วยการใช้กล้ามเนื้อและแรงในการสะบัดหรือพลิกมือออก แต่เทคนิคที่ง่ายและได้ผล กว่า คือการทิ้งศอกข้างที่ถูกจับลง จะเป็นการสลายแรงจับของคู่ต่อสู้และทำให้มือหลุดออกมาได้โดยไม่ต้องใช้แรงมาก
อันที่จริง หลายๆ หลักการของไทฟูโดคือ ปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ (reaction) ที่หลายคนทำอยู่แล้วโดยไม่ทันสังเกตลำดับขั้นตอน เพียงแต่ระหว่างผู้ที่เคยถูกฝึกวิชาป้องกันตัวมากับผู้ที่ไม่เคยฝึกฝนมาก่อนอาจจะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ไม่เหมือนกัน หรืออาจเหมือนกันแต่ประสิทธิภาพในการใช้แรงและความไวต่างกัน การฝึกฝนเทคนิคเหล่านี้ ผ่านกระบวนท่าต่างๆ จึงเป็นการฝึกปฏิกิริยาตอบสนองที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์
“มันต้องสมมาตรระหว่างความคิดกับการใช้แรง” ชีวินสรุปสั้นๆ ถึงหัวใจสำคัญของไทฟูโด ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับมวยไทยโบราณ
ชีวินเริ่มคิดค้นหลักสูตรไทฟูโดตั้งแต่ปี 2532 และเริ่มทดลองสอนให้กับลูกศิษย์ที่สนใจ พร้อมกับปรับปรุงหลักสูตรมาเรื่อยจนปี 2540 เขาเริ่มทำเรื่องขออนุญาตเปิดโรงเรียนสอนไทฟูโดจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้เวลากว่า 6 ปี จึงได้เปิดโรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัว ไทยหัตถยุทธ หรือ “ไทฟูโด” แห่งแรกที่หาดใหญ่ และเพิ่งมาเปิดแห่งที่สองในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้
เนื่องจากยังเป็นศาสตร์ใหม่และมีที่ตั้งอยู่ที่หาดใหญ่ ไทฟูโดจึงมีชื่อเสียงอยู่ในกลุ่มคนเฉพาะ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มลูกศิษย์หรือผู้เรียนมวยที่รู้จักชื่อเสียงของอาจารย์ชีวิน อีกกลุ่มคือผู้ที่ชอบทดลองเรียนศาสตร์การต่อสู้ใหม่ๆ นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่อยู่ในหาดใหญ่และจังหวัดใกล้เคียงที่ให้ความสนใจในหลักการของไทฟูโด
ชีวินเชื่อว่า หลักสูตรไทฟูโดของเขาเหมาะกับผู้ไม่เคยผ่านการเรียนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวมาก่อน เพราะหลักการไทฟูโดไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยาก ไทฟูโดจะเป็นพื้นฐานให้ผู้เรียน ได้ค้นพบว่าตัวเองต้องการเชี่ยวชาญในศาสตร์ไหน หากต้องการเชี่ยวชาญในแขนงอื่น
ขณะเดียวกันก็เหมาะกับผู้ที่เคยผ่านการเรียนศิลปะป้องกันตัวสายอื่นมาแล้ว โดยผู้เรียน สามารถนำหลักการของไทฟูโดไปต่อยอดสิ่งที่เคยเรียนมาได้ทันที เพียงแต่ผู้เรียนต้องเปิดใจยอมรับหลักการของไทฟูโดที่เขาสอนเสียก่อน
“การพัฒนาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีเก่ามันถึงมีใหม่ แต่สิ่งที่ดีขึ้นในศาสตร์ใหม่ก็คือ แนวทางที่เราเอามาจากครูได้ถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นำไปสู่การเรียนการสอนที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ไทฟูโดเองนับเป็นศาสตร์การต่อสู้ของไทยชนิดหนึ่งที่อยู่บนแนวทางของมวยไทย ผสมกับศิลปะการต่อสู้หลายๆ อย่าง โดยมุ่งเน้นที่การป้องกันตัว”
สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการต่อสู้แขนงไหนก็ตาม หัวใจสำคัญที่ถือเป็น “สุดยอด” แห่งศิลปศาสตร์การป้องกันตัว นั่นคือ “การไม่เกิดการต่อสู้” เหมือนกับสิ่งที่ปรมาจารย์แห่งศิลปศาสตร์ “ไทฟูโด” ได้ทิ้งท้ายไว้...
“ทุกวันนี้ ผมแก้ปัญหาด้วยการเจรจา ไม่ใช่ด้วยการใช้มวย”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|