โลกนี้ไม่มี Android ฟรี

โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ปลายปีที่แล้ว สตีฟ บาลเมอร์ ซีอีโอของไมโครซอฟท์เคยปรามาสแอนดรอยด์ โดยเฉพาะเรื่องยุทธศาสตร์ของแอนดรอยด์ แต่ไม่มีใครให้ความสนใจเท่าไร หลังจากนั้นแอนดรอยด์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของทั้งไมโครซอฟท์และแอปเปิล

ตลาดสมาร์ทโฟนในปีกลาย แอนดรอยด์ของกูเกิ้ลเพิ่มส่วน แบ่งตลาดอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการเข้าแย่งตลาดของ iPhone เช่นเดียวกับตลาดของปาล์มและไมโครซอฟท์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากตารางเป็นการเปรียบเทียบตลาดในชั่วระยะเวลาสามเดือน จนสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2009 กับสามเดือนจนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2010 พบว่ามีคนใช้สมาร์ทโฟนในประเทศสหรัฐอเมริกา 45.4 ล้านคนจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2010 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 21% จากเดือน พฤศจิกายน 2009 RIM ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบล็กเบอร์รี่มีส่วนแบ่งที่แข็ง แกร่งที่ 42.1% ซึ่งคิดเป็นเพิ่มขึ้น 1.3% แต่แอนดรอยด์น่าสนใจกว่า โดยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นถึง 5.2% ขณะที่แอปเปิลยังทรงๆ ส่วนแบ่งแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง

นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เห็นภาพในปัจจุบันว่า แอนดรอยด์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของไมโครซอฟท์และค่อยๆ คืบคลานเข้ามากินส่วนแบ่งของแอปเปิลด้วย ข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แอนดรอยด์แซงหน้าแอปเปิลขึ้นไปครอง ส่วนแบ่งตลาดโอเอสบนสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว

จากกราฟข้างล่างนี้ สำหรับตลาดสมาร์ทโฟนของสหรัฐ อเมริกาเมื่อมองถึงส่วนแบ่งตลาดด้านระบบปฏิบัติการหรือ OS แล้ว แอนดรอยด์มีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งที่ 29% โดยแอนดรอยด์เป็นระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนของ HTC, Motorola, Samsung และอีกหลายๆ แบรนด์ ส่วนแอปเปิลบน iPhone ตามมาติดๆ ที่ 27% ส่วนแบล็กเบอร์รี่ส่วนแบ่งตลาดหดหายเหลือเท่าๆ แอปเปิล ไปแล้ว

ขณะที่ Windows Mobile ของไมโครซอฟท์บนหลายๆ แบรนด์ของสมาร์ทโฟนก็มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 10% เท่านั้น

ถ้ามองในแง่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแล้ว แอปเปิลและ RIM ก็เป็น อันดับหนึ่งร่วมกันเพราะพวกเขาขายและทำเองตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ยันซอฟต์แวร์

เมื่อพิจารณาโครงสร้างประชากรที่ใช้งานโอเอสต่างๆ แล้ว ดูเหมือนว่าแอนดรอยด์จะถูกใจกลุ่มคนวัยรุ่นมากกว่า

เมื่อพิจารณาไมโครซอฟท์กับกูเกิ้ลแล้ว ทั้งคู่เล่นบทบาทเดียวกันในธุรกิจมือถือคือ พวกเขาสร้างซอฟต์แวร์ที่รันบนมือถือ แต่ไม่ได้ผลิตเครื่องมือถือด้วยตัวเอง และการจะทำให้ซอฟต์แวร์ของพวกเขาปรากฏโฉมหน้าในตลาดก็ต้องเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ผลิต มือถือทั้งหลาย โดยไมโครซอฟท์ทำ Windows Phone ที่ผู้ผลิตมือถือจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ แต่กูเกิ้ลกลับให้แอนดรอยด์ไปใช้ฟรีๆ

แล้วไมโครซอฟท์จะสู้กับของฟรีได้ยังไง แต่โลกนี้ไม่มีอะไร ฟรี เช่นเดียวกับที่ไม่มีแอนดรอยด์ฟรีในโลกนี้เช่นกัน

แอนดรอยด์ถูกมองว่า ละเมิดสิทธิบัตรของหลายๆ บริษัท ทำให้บริษัทที่นำแอนดรอยด์ไปใช้ถูกบังคับให้ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร ให้กับเจ้าของสิทธิบัตร ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์หรือใครก็ตาม

กรณีการละเมิดสิทธิบัตรเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในธุรกิจด้าน เทคโนโลยี ยิ่งเทคโนโลยีซับซ้อนมากแค่ไหนก็ยิ่งจะใช้สิทธิบัตรทับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีเลยแก้ปัญหาโดยวิธี cross-licensing คือ เอาสิทธิบัตรของตัวเองมาแลก เปลี่ยนกับการใช้สิทธิบัตรของคนอื่น

สำหรับกูเกิ้ล พวกเขาเป็นบริษัทเกิดใหม่ แน่นอนว่า พวกเขาไม่มีสิทธิบัตรมากมายไปแลกเปลี่ยนซื้อขายกับใคร ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กูเกิ้ลพยายามจะซื้อสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมชุดใหญ่กว่า 6,000 ชิ้นจาก Nortel แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ ให้กับการรวมตัวของพันธมิตรอย่าง แอปเปิล, EMC, ไมโครซอฟท์, อีริคสัน, โซนี่ และ RIM ซึ่งคว้าไปด้วยมูลค่ากว่าสี่พันห้าร้อยล้านเหรียญ

ความพยายามของกูเกิ้ลที่จะสะสมสิทธิบัตรให้มากที่สุดเพื่อปกป้องแอนดรอยด์ ก็สำเร็จในที่สุดเมื่อพวกเขาออกมาประกาศว่า ได้ทุ่มเงิน 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อแผนกโทรศัพท์ของโมโตโรล่า ซึ่งถ้ากูเกิ้ลไม่ซื้อแผนกนี้ พวกเขาจะต้องอยู่กับความว่างเปล่าด้านสิทธิบัตรไปอีก โดยก่อนหน้านี้ โมโตโรล่าก็ได้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ออกมาหลายรุ่นและเป็นที่นิยมในวงกว้าง แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ได้มาก มายนัก โดยพวกเขาเพิ่งประกาศขาดทุนสุทธิในช่วงหลายๆ ไตรมาสที่ผ่านมา

ดังนั้น การซื้อโมโตโรล่าของกูเกิ้ลจึงเป็นดีลที่มีเป้าหมายที่การครอบครองสิทธิบัตรกว่า 17,000 ชิ้นของโมโตโรล่า

คำกล่าวที่ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แอนดรอยด์ก็ไม่ฟรีของสตีฟ บาลเมอร์ จึงเป็นเรื่องจริง ที่สำคัญไม่ใช่ของถูกด้วย

John Gruber เขียนถึงประเด็นนี้ในเว็บ daring fireball ว่า เงินหนึ่งหมื่นสองพันห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐที่กูเกิ้ลจ่ายให้โมโตโรล่านั้น คิดเป็นกำไรเกือบสองปีของกูเกิ้ล และคงไม่มีบริษัท ใดแม้แต่กูเกิ้ล ที่จะทิ้งเงินจำนวนนี้ลงทะเลไปโดยไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมาเลย

แล้วการทุ่มเงินมหาศาลครั้งนี้ของกูเกิ้ลน่าจะเป็นจุดเปลี่ยน ที่สำคัญของแนวทางการจัดการกับแอนดรอยด์ของกูเกิ้ลต่อไปในอนาคต ทุกวันนี้ แพลตฟอร์มแอนดรอยด์เป็นแพลทฟอร์มเปิดที่ใช้กันอย่างมั่วๆ เนื่องจากผู้ผลิตมือถือได้ซอฟท์แวร์มาฟรี

อ่านเพิ่มเติม

1. Kincaid, J. (2010), ‘comScore: Android Market Share Continues to Gain on The iPhone,’ http://techcrunch. com/ 2010/04/05/comscore-android-market-share-continues-to-gain-on-the-iphone/

2. Manjoo, F. (2011), ‘Android isn’t free,’ http://www.slate.com/id/2301771/pagenum/all/#p2

3. Nielsenwire, ‘Who is winning the U.S. smartphone battle?,’ http://blog.nielsen.com/nielsenwire/online_mobile/who-is-winning-the-u-s-smartphone-battle/

4. Claburn, T. (2011), ‘Google loses Nortel patent to techtitans,’ http://www.informationweek.com/news/internet/google/231000901

5. Malik, O. (2011), ‘Exclusive: Guess who else wanted to buy Motorola?,’ http://gigaom.com/2011/08/15/guess-who-else-wanted-to-buy-motorola/

6. Gruber, J. (2011), ‘Balls,’ daring fireball, http://daringfireball.net/2011/08/balls


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.