|
พลังงานหมุนเวียนตัวช่วยเกษตรและชลประทาน
โดย
Jerome Rene Hassler
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ให้ไปเยี่ยมชมโครงการชลประทานและโครงการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จังหวัดเพชรบุรี โดยโครงการทั้งสองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมากที่ริเริ่มโดยมูลนิธิหลายแห่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในขอบเขตที่กว้างขวางได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ในการจัดการกับความมั่นคงทางอาหาร การจัดหาน้ำ และการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนไปพร้อมๆ กัน
ตัวเลขจากกระทรวงพลังงานของไทยชี้ว่า ไทยต้องนำเข้าพลังงานถึง 20% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ถ้าเราสามารถหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ มาใช้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานของไทยได้ คอลัมน์นี้เคยเสนอบทความหลายเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานของไทยได้ ดังเช่นในเยอรมนีมีการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ปี 2010 เยอรมนีมีการติดตั้งแผงเซลล์สุริยะซึ่งสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 10,000 เมกะวัตต์ ทำให้เยอรมนี กลายเป็นตลาดพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุด ลำพังปี 2009 เพียงปีเดียว เยอรมนีสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 3,800 เมกะวัตต์แล้ว คาดว่าเยอรมนีจะเพิ่มความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อีก 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2014
การประเมินความสามารถในการผลิต พลังงานแสงอาทิตย์ของเยอรมนีข้างต้น เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลเยอรมนีจะประกาศเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง ซึ่งยิ่งเพิ่มความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นอีกและในวงกว้าง เพื่อจะทดแทนพลังงานที่ผลิตโดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ยังมีแหล่งพลังงานหมุนเวียน อื่นๆ อย่างเช่น พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และก๊าซชีวภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ครอบคลุมความต้องการใช้พลังงานของเยอรมนีได้เกือบ 20%
พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่ตลาดเฉพาะ กลุ่ม บริษัท Siemens หนึ่งในบริษัทเทคโน โลยีชั้นนำระดับโลกของเยอรมนี ครองตำแหน่งผู้ผลิตกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลมรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเป้าหมายจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด 13 แห่งใน 8 ประเทศ ภายในปี 2012/2013 หมายความว่า พลังงานหมุนเวียนไม่เพียง เป็นแหล่งพลังงานราคาถูกและช่วยลดการพึ่งพิงน้ำมันเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างงานที่ต้องใช้ทักษะสูงอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ จะทุ่มลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน อย่างเช่นสหรัฐฯ สร้างความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้เกือบ 500 เมกะวัตต์ แล้วในปี 2009 คาดว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2014
ขณะเดียวกันคาดว่าญี่ปุ่นจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 1.2 กิกกะวัตต์ โดยญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตในภาคการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 20% ต่อปี ส่วนจีนคาดว่าจะมีความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 600 เมกะวัตต์ภายในปี 2014
แหล่งพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ มีศักยภาพสูงยิ่งในไทยเช่นเดียวกัน
รัฐบาลไทยก็ยอมรับในเรื่องนี้ เห็นได้จากการเริ่มโครงการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญไปบ้างแล้ว กระทรวงพลังงานของไทยประกาศ “แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติ” ขึ้นในปี 2008 สำหรับใช้ในระยะเวลาตั้งแต่ปี 2008-2022 โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ไทยจะเปลี่ยนไป ใช้พลังงานหมุนเวียน 20.3% ของความต้อง การใช้พลังงานทั้งหมดของไทย ภายในปี 2022 พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีบทบาทสำคัญในแผนนี้
ตามแผนดังกล่าว รัฐบาลไทยจะสร้างความสามารถในการผลิตพลังงานแสง อาทิตย์ให้ได้ 500 เมกะวัตต์ คาดว่าตัวเลข นี้ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นแล้ว หลังจากมีการปรับปรุงแผนดังกล่าวใหม่ โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานของไทยประกาศในการประชุมสหประชาชาติที่กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ไทยหวังว่าแผนพัฒนาพลังงานหมุน เวียนที่ปรับปรุงใหม่ของไทยจะสามารถผลิต พลังงานแสงอาทิตย์ได้ 3,000 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานลมตามแผนนี้คาดว่าไทยจะสามารถผลิตพลังงานลมได้ 800 เมกะวัตต์
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนนี้ รัฐบาลไทยได้วางมาตรการหลายอย่างเพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยี การให้เงินอุดหนุนสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก โครงการรับซื้อไฟฟ้าระบบ adder-feed-program เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการร่วมกันลงทุนโดยรัฐบาลกับแผนพัฒนาชุมชนสีเขียว โดยเฉพาะโครงการรับซื้อไฟฟ้าระบบ adder-feed-program น่าสนใจเป็นพิเศษ โครงการนี้รับประกันว่า ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะสามารถขายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฯ ได้ ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้ผลิตยอมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีต้นทุนการลงทุนแรกเริ่มที่สูงมาก เงินส่วนเพิ่มที่รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนตามโครงการนี้ จะทำให้ราคาขายพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3-7 บาทต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง และโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จังหวัดเพชรบุรี ที่เกริ่นนำไปข้างต้นได้เริ่มใช้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ของรัฐบาล
จังหวัดเพชรบุรีก็เช่นเดียวกับจังหวัด อื่นๆ ของไทย ที่มีทรัพยากรน้ำเป็นของตนเอง มีพื้นที่ 370,000 ไร่ในเพชรบุรีที่ได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทาน เมื่อ 50 ปีก่อน กรมชลประทานสร้างเขื่อนแห่งแรกของเพชรบุรี และอ่างเก็บน้ำอีก 2 แห่ง ที่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี โดยใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ด้วยเงินกู้จากธนาคารโลก ประชากร 70-80% ของเพชรบุรีได้รับประโยชน์จากโครงการชลประทาน และในส่วนโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เพชรบุรีนั้น แสดงให้เห็นว่า พลังงานหมุน เวียนมีส่วนช่วยสนับสนุนความมั่นคงของการชลประทาน
ในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมด 6 แห่ง แต่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีน้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลกระทบต่อการจ่ายน้ำให้แก่เกษตรกร หลายแสนคน รวมถึงผลกระทบต่อรายได้ของพวกเขา จึงมีการคิดที่จะผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยผาก ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองเสือซึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่สภาพภูมิประเทศในแถบนั้น ทำให้การทำตามแผนนี้จะต้องใช้เงินมาก เนื่องจากจะต้องปั๊มน้ำขึ้นไปไว้บนภูเขา จุดนี้เองที่พลังงานหมุนเวียนเข้ามามีบทบาทสำคัญ
อ่างเก็บน้ำห้วยผาก ซึ่งเก็บกักน้ำ 27.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งอยู่เหนือระดับ น้ำทะเล 88.6 เมตร ในขณะที่อ่างเก็บน้ำหนองเสือ ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 118 เมตร มีการนำพลังงานลมกับพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เพื่อปั๊มน้ำขึ้นไปบนยอดเขาที่อยู่ใกล้เคียง และปล่อยน้ำจากยอดเขาให้ไหลลงมาเป็นระยะทาง 6.4 กิโลเมตร ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองเสือ เนื่องจากงบประมาณ ที่จำกัดโดยได้รับงบเพียง 3 ล้านบาท จากที่ต้องการจริงๆ 17 ล้านบาทสำหรับโครงการปั๊มน้ำนี้จึงสามารถติดตั้งได้เพียงระบบพลังงานหมุนเวียนที่ผสมระหว่างพลังงานลมกับพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว ข้างต้นเท่านั้น ซึ่งผลิตพลังงานได้เพียง 1 ใน 3 ของพลังงานทั้งหมดที่ต้องใช้ในการปั๊มน้ำ อย่างไรก็ตาม โครงการปั๊มน้ำอีกโครงการหนึ่งในเพชรบุรีกำลังอยู่ในขั้นตอน ของการวางแผน โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานให้ได้เต็ม 100% ของพลังงานทั้งหมดที่ต้องใช้ในการปั๊มน้ำ
ส่วนโครงการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเพชรบุรี เป็นโครงการแห่งที่สองที่แสดงให้เห็นว่า พลังงานหมุนเวียนสามารถลดความต้องการใช้พลังงานจากซากพืชซากสัตว์ อย่างเช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินได้
โครงการเกษตรแห่งหนึ่งในห้วยทราย ซึ่งดูแลโดยมูลนิธิในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ได้ใช้พลังงานหมุนเวียนช่วย ลดค่าไฟฟ้าจนเหลือศูนย์ เมื่อ 2 ปีก่อน โครงการเกษตรแห่งนี้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า 20 ตัว โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนร่วม กันจากมูลนิธิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน่วยงานรัฐอื่นๆ และวิทยาลัยเทคนิคในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้กังหันลมผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าที่คาด โดยพื้นที่ของโครงการเกษตรแห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขา ทุกด้านจึงล้อมรอบด้วยเทือกเขา บังกระแสลมที่จำเป็นสำหรับกังหันลม ทำให้กังหันลม ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยมาก จากที่คาดว่า จะผลิตไฟฟ้าได้ 5,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมงต่อเดือน แต่กลับผลิตได้เพียง 1,500 กิโลวัตต์/ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ กังหันลมยังได้รับความเสียหายจากพายุลมแรงเมื่อปีที่แล้ว
ด้วยเหตุนี้จึงมีการตัดสินใจติดตั้งแผงเซลล์สุริยะที่โครงการเกษตรดังกล่าวในปีนี้ ขณะนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 6,000-7,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมงต่อเดือน เมื่อรวมกับ กระแสไฟฟ้า 1,500 กิโลวัตต์/ชั่วโมงต่อเดือนที่ผลิตโดยกังหันลม 20 ตัว ก็ครอบ คลุมความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณครึ่งหนึ่งของโครงการเกษตรดังกล่าว ซึ่งต้องการใช้ไฟฟ้า 12,000-13,000 กิโลวัตต์/ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม แทนที่จะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนมาใช้โดยตรง โครงการเกษตรแห่งนี้กลับขายไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้า เพื่อรับเงิน ค่าขายไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิต จากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนราคาเพิ่มให้อีก 5-6 บาทต่อหน่วย ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นและนำเงินที่ได้มานั้น ไปซื้อไฟฟ้าราคาปกติที่ผลิตด้วยวิธีปกติอีก ต่อหนึ่ง ด้วยวิธีนี้ ทำให้โครงการเกษตรเนื่องในพระราชดำริแห่งนี้ สามารถลดค่าไฟฟ้าลงเหลือศูนย์ แม้ว่าความคิดนี้อาจจะ ไม่ใช่ความตั้งใจของรัฐบาล เมื่อแรกเริ่มออกมาตรการอุดหนุนราคาดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียน แต่การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ตามวิธีของโครงการเกษตรแห่งนี้ก็สมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาจากต้นทุนการสร้างกังหันลมและแผงเซลล์สุริยะที่สูงมาก ซึ่งมีค่าใช้จ่าย รวมกันสูงถึง 28 ล้านบาท และต้องใช้เวลา อีกนานกว่าจะคืนทุน
โครงการเนื่องในพระราชดำริทั้งสองโครงการที่เพชรบุรีได้เป็นตัวอย่างในทางปฏิบัติว่า พลังงานหมุนเวียนสามารถช่วยแก้ปัญหาที่จัดว่าสำคัญเร่งด่วนที่สุดของไทยได้ เช่น การลดความต้องการพลังงานจากซากพืชซากสัตว์ การจัดหาน้ำในภาคเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|