|
ประชากรล้นโลกหรือลดลง
โดย
พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ดูเหมือนความกังวลใจเรื่องปากท้อง ความอยู่รอดของชาวโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะวนเวียนอยู่กับปัญหาประชากรที่มากเกินไปและมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นพหุคูณ ในทศวรรษของปี 1950 หลังจากผ่านมหาสงครามโลกครั้งที่สองมาหมาดๆ โลกมีประชากรเหลืออยู่เพียง 2.5 พันล้านคน ปัจจุบันเพิ่มขึ้น 6.5 พันล้าน ช่วงเวลา 60 กว่าปี ทำให้ประชาคมโลกเกิดความห่วงใยด้านขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม
กาลเวลาผ่านไป ด้วยความวุ่นวายของชาวโลกที่ต้องการทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่สะดวกสบาย และสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ในเวลานี้ ภาวการณ์ เริ่มพลิกผันไป การเปลี่ยนแปลงประชากรของโลกกลับมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าตัวเลขจำนวนประชากรจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอีก แต่ด้วยอัตราการเพิ่มที่ลดลง ปี 1963 เป็น ปีที่โลกมีอัตราการเกิดสูงสุดที่ 2.19% พอถึงปี 2004 ก็ลดลงเป็น 1.13% ถ้าอัตราลดลงเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะยังผลให้ ประชากรโลกเพิ่มขึ้นช้าลงๆ ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ประมาณ 50 ปีจะไม่เพิ่มขึ้น อีกต่อไปและจะเริ่มลดลง
น่าจะเป็นการดีมิใช่หรือ แต่การณ์ มิได้เป็นไปอย่างที่เราคาดคิด เพราะอัตราการเกิดของโลกเป็นอัตราโดยเฉลี่ย ที่บางประเทศลดลงแต่บางประเทศก็ยังคงเพิ่มขึ้น ประชากรโลกที่ลดลงนั้นเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตและเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี ส่วนประเทศที่อัตราประชากรยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นเป็นประเทศยากจน หรือกำลังพัฒนา ยังต้องการการสนับสนุน ช่วยเหลือในการพัฒนา เศรษฐกิจสังคม และการพึ่งตนเอง เพื่อความอยู่รอด ดังเช่น หลายๆ ประเทศในทวีปแอฟริกา
การเคลื่อนไหวของประชากรโลก
การที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกก็ด้วยสัญชาตญาณ แห่งการสืบเผ่าพันธุ์เพื่อการดำรงคงอยู่ของมนุษย์นั่นเอง เมื่อมีการตายจำนวนมากจากสงครามหรือภัยพิบัติ ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ที่จะต้องเร่งรัดเสริมสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะมนุษย์ยังมีกิเลสตัณหาอยู่มาก
ในอดีตที่ผ่านมา มนุษย์เกิดมามาก ก็จริง แต่การตายก็สูงมากด้วย มีสถิติระบุ ว่าเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา เด็กทารกและเด็กเล็กทั่วโลกยังมีอัตราการตายสูงมาก ประมาณว่าเด็กเล็กจำนวนครึ่งหนึ่งตายไปก่อนอายุจะถึง 5 ขวบ ส่วนผู้ใหญ่ก็มีช่วงชีวิตสั้น โดยเฉลี่ยจะตายไประหว่างอายุ 30-40 ปี ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นได้ไม่มากเท่าไร
ช่วงไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมา ด้วยเทคโน โลยีด้านอาหารและการแพทย์ที่รุดหน้าขึ้นทำให้ทารกรอดชีวิตมากขึ้น คนมีอายุยาวขึ้น คนแก่ตายน้อยลง จำนวนประชากรโลก จึงเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วจนมากเกินไป ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ยาคุมกำเนิด แพร่หลายและในประเทศจีนที่มีประชากรมากที่สุดของโลก มีการตรากฎหมายจำกัด การมีลูกในครอบครัวขึ้น พร้อมกับมีการให้ การศึกษาวางแผนครอบครัวกับประชากร ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านเพิ่มขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในจีนและโดยรวมในโลก จึงค่อยๆ ลดลง
แนวโน้มโครงสร้างของประชากร
อย่างที่กล่าวมาแล้ว การลดลงของประชากรโลกมิได้ส่งผลดีเสมอไป เพราะรูปแบบของการเพิ่มไม่ได้เหมาะสมและไม่สมดุล กล่าวคือบางประเทศที่เป็นประเทศ พัฒนาแล้ว มีความเจริญก้าวหน้าเป็นผู้นำเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลก มีความพร้อมที่จะให้ความอยู่ดีกินดีกับประชากร กลับมีประชากรลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ทั้งๆ ที่ต้องการกำลังคนกำลังสมองในการเสริมสร้างพัฒนาให้กับโลก แต่ประเทศที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ยังไม่พัฒนาและยากจน ยังคง เกิดมามากเกินไปอย่างไร้คุณภาพ ทำให้เป็นภาระกับประเทศและกับประชาคมโลก ที่จะต้องรองรับด้านอาหาร สุขภาพ การศึกษา ขณะเดียวกันประชากรเหล่านี้จะเป็น ต้นทุนได้น้อยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะมีโอกาสได้ศึกษาน้อยจึงขาดทักษะและความรู้
ปัจจุบัน ทั้งประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีส่วนของประชากรเกินครึ่งหนึ่ง ของโลก เริ่มมีการคุมกำเนิดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะจีน จำนวนประชากรกำลังค่อยๆ ลดลง จีนลดลงได้มากกว่าอินเดีย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอินเดียก็จะแซงหน้าจีนไปเป็น ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ หนึ่งของโลก ถึงยังไงอินเดียเองก็มีอัตราเกิดลดลงเช่นกัน แม้ว่าจะน้อยกว่าจีน
แต่ประเทศเล็กประเทศน้อยในทวีป แอฟริกาสิ ทั้งๆ ที่ยากจนและอดอยากยาก แค้น แต่ก็ผลิตประชากรได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรัฐบาลไม่จริงจังกับนโยบายการคุมกำเนิดเท่าที่ควรและสตรีไร้ การศึกษา จึงประมาณว่าจำนวนประชากร โลกที่เพิ่มขึ้นในโลกอยู่เวลานี้จึงมาจากทวีป แอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้จะเป็นชาวมุสลิมเสีย 70% นักวิชาการบางคนจึงใช้คำว่า Islamic boom เมื่อจะคาดการณ์ ผลของประชากรในอนาคต
ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดน ประชากร ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง เพราะมีอัตราเกิดต่ำกว่าอัตราทดแทนมากถึง 40-60% ประเทศต้นกำเนิดเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นห่วง การพัฒนาของตนเองว่าจะถดถอย เพราะมีกำลังทรัพยากรบุคคลน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง ขณะเดียวกันต้องใช้เงินจำนวนมากไป ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งนับวันก็จะตายยากขึ้น
ประชากรของประเทศไทย-เปลี่ยนไปอย่างไร
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงของประชากรไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประชากรของประเทศพัฒนาแล้วคือมีแนวโน้มลดลง แต่ในอัตราที่ช้ากว่ามีประชากรในวัยสูงอายุ เพิ่มขึ้น วัยเด็ก และวัยแรงงานลดลง
ปัญหาจริงๆ ของไทยอยู่ที่ประชากร โดยรวมยังไม่มีคุณภาพการศึกษา ยังขาดความสามารถในการเสริมสร้างเทคโนโลยีของตนเอง จึงยังไม่สามารถแข่งขันในตลาด โลกได้ ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติของเราเริ่มเสื่อมโทรมและสังคมเริ่มเสื่อมถอยทางวัฒนธรรม จริยธรรม ประชาชนมีคตินิยมทางวัตถุมากขึ้น โชคดีที่มีกระแสเศรษฐกิจ พอเพียงสนับสนุนอยู่บ้าง ดีที่เรามีในหลวง ทรงเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตบนทางสายกลางและการพัฒนาที่เหมาะสม
ที่ปรากฏชัดคือประชาชนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการเมือง การมีส่วนร่วมและความเป็นประชาธิปไตยสูงขึ้นมาก ตัวชี้วัดขององค์กรโลกแห่งหนึ่งระบุว่าในปี 2549 ไทยมีดัชนีชี้วัดตัวนี้ที่ 5.67 (จากคะแนนเต็ม 10) อยู่ในลำดับที่ 90 ของโลก แต่เพียงแค่ 2 ปีต่อมาในปี 2551 ค่าดัชนีนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.8 ได้เลื่อนขึ้นไปอยู่ในลำดับที่ 54 แม้ว่าจะเป็นการดีที่ประชาชนมีความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมบริหารประเทศสูงขึ้น แต่ก็น่าแปลกใจที่ดัชนีธรรมาภิบาลกลับตกลง!
สภาพัฒน์ฯ จึงเสนอแนะไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 อันเป็นฉบับที่จะออกใหม่ว่า โครงสร้าง การผลิตของประเทศควรจะเปลี่ยนจากการใช้แรงงานเข้มข้นมาเป็นการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น มีการพัฒนาเทคโน โลยีเพื่อใช้ทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน
ส่วนปัญหาประชากรที่ยังคงเพิ่มขึ้น ต่อไปตามโมเมนตัมของการเพิ่มที่ผ่านมาในอดีต แม้ว่าอัตราปัจจุบันจะลดลงก็ตาม ประเทศก็ยังคงต้องบริหารจัดการในเรื่องความต้องการอาหารและพลังงานให้ดีด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากร ความเสื่อมโทรม และการปรวนแปรของภูมิอากาศที่กำลังถาโถมเข้ามาในอนาคตอันใกล้ ส่วนเรื่องคน สูงอายุที่จะเพิ่มจำนวนขึ้น รัฐต้องเตรียม การเตรียมงบประมาณดูแลมากขึ้น
มนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด
ในโลก จริงหรือ?
ข้อความนี้จะเป็นจริงได้ต่อเมื่อมนุษย์พัฒนาตนให้มีคุณภาพสูงทั้งร่างกาย และจิตใจ ปกติมนุษย์มีพลังสมองและพลังจิตสูงมากที่จะพัฒนาอะไรๆ ที่เหลือเชื่อได้มากมายอยู่แล้ว แม้จะเข้าถึงพุทธภาวะและความรู้แจ้งเห็นจริงในจักรวาลก็ได้ ถ้าสามารถละวางกิเลสได้ ฉะนั้นถ้ามนุษย์คุณภาพสูงดังกล่าวมีจำนวนมากขึ้น เราก็อาจจะก้าวไปครอบครองทรัพยากรได้ ถึงดาวอังคาร หรือดาวอื่นๆ นอกระบบสุริยะ นอกกาแล็กซีทางช้างเผือกได้ในอนาคต มนุษย์มิได้เป็นแต่เพียงจ้าวโลก แต่อาจเป็น ได้ถึงเจ้าจักรวาล คำกล่าวนี้มิได้เกินจริงเลย
หากมนุษย์นี้ไซร้ คอยแต่จะทำลายล้างซึ่งกันและกัน ละทิ้งศีลธรรม จริยธรรม มนุษย์ก็อาจจะตกต่ำถึงขั้นสูญพันธุ์ไปเลยทีเดียว อย่างดีก็จะกลายไปเป็นทาสรับใช้พวก Apes ดังเช่นภาพยนตร์ชุด The Rise of the Planet of the Apes
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|