คนไทยตั้งรับอย่างไรเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

การประชุมวิชาการระดับชาติประเทศไทยกับภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 2 วันที่ 18-19 สิงหาคม 2554 ที่เมืองทองธานี ภายใต้หัวเรื่อง “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์สู่เศรษฐกิจสีเขียว ขององค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.)” นอกจากแสดงถึงความพยายามในการหาแนวทางลดโลกร้อนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หัวข้อสัมมนาย่อยในงานที่น่าสนใจบางหัวข้อ ยังสะท้อนให้เห็นการวางแผนจัดการของประเทศไทย ที่เริ่มวางแผนงานอย่างเป็นระบบและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าเดิมเกิดขึ้นด้วย แม้ว่าแผนงานที่ว่านั้นอาจจะยังไม่มีความชัดเจนเต็มร้อยก็ตามที

เรากำลังพูดกันถึง “แผนแม่บทการบริหารการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (ฉบับร่าง)” ซึ่งมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพ แผนแม่บทนี้เป็นแผนแรกๆ ของประเทศที่จะกำหนดกรอบระยะเวลาของแผนสำหรับการใช้งานถึง 40 ปี ไม่ใช่แผนระยะ 5-15 ปี แบบที่ประเทศไทยคุ้นเคยและทำกันมา

“แผนฉบับนี้เป็นแผนระยะยาวมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และการดำเนินงานแต่ละอย่างต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผล” นิรวาน พิพิธสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว

แผนแม่บทฯ ที่พูดถึงนี้เป็นเพียงฉบับร่าง แต่ไม่ใช่การยกร่างครั้งแรกเพราะฉบับยกร่างที่ทำครั้งแรกมาก่อนหน้านั้น ถูกยกเลิกไปขณะที่กำลังเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านว่า แผนงานที่มีผลต่อคนส่วนมากและเป็นแผนระยะยาว ทำไมจึงไม่ให้ภาคประชาชนแสดงความเห็นก่อนยกร่างเสียก่อน แผนแม่บทฯ ฉบับที่กำลังร่างกันอยู่สำหรับใช้งานในช่วงปี 2000-2050 จึงถือเป็นการทำงานครั้งที่สองซึ่งเลยกำหนดไปแล้วถึง 10 ปี และเหลือเป็นแผนสำหรับการทำงานของอีก 40 ปีข้างหน้าเท่านั้น

“สาเหตุที่เรากำหนดแผนถึงปี 2050 เพราะเป็นปีที่นักวิชาการของโลกระบุว่า เป็นปีที่น้ำมันจะหมดโลก เราก็มองยาวไปถึงตรงนั้นเลยว่า เราจะเป็นอย่างไร เพราะต้นเหตุของปัญหาหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศโลกก็เป็นเพราะเราต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล ต้องใช้ก๊าซ ธรรมชาติในการพัฒนาประเทศ และต้องเสียเงินมากมายเพื่อซื้อน้ำมัน” นิรวานกล่าว

ส่วนปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยก็ยังมีเรื่องผลที่จะตามของสภาพอากาศเปลี่ยนจะมีส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะให้การเกษตรยังคงอยู่ คนไทยมีข้าวกิน ไม่อดอยาก ขณะเดียวกันก็ต้องคิดด้วยว่า จะมีวิธีอะไรที่จะทำให้ประเทศก้าวต่อไปอย่างมั่นคงถาวรภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหล่านี้

“เรามองว่าผลลัพธ์ของแผนแม่บท ต้องมีวิธีที่จะต้องทำให้ชีวิตคนไทยไม่ด้อยลง ขอแค่เสมอตัวก่อน อย่าบอกว่าดีขึ้น เพราะวัดยาก เอาแค่ทำอะไรได้เท่าเดิมมีความสุข ได้อย่างเดิม แต่ควรต้องมีภูมิคุ้มกันทางสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศที่ดีขึ้น”

นิรวานอธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ ต้องพูดถึงระบบนิเวศไว้ด้วย เพราะตามวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก มีข้อหนึ่ง ที่เขียนไว้ว่า จะทำอย่างไรให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อทำให้ ระบบนิเวศในโลกนี้สามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ เพราะมนุษย์ต้องพึ่งพาระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตของระบบนิเวศหรือการให้บริการจากระบบนิเวศ มนุษย์จึงต้องมีส่วนช่วยทำให้ระบบนิเวศสามารถควบคุมอุณหภูมิให้ได้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็มีหน้าที่ดูแลให้ตัวเองมีขีดความสามารถทั้งในการร่วมมือกับนานาชาติ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ตัวเองภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

“เป้าหมายของแผนแม่บทที่ทำก็เพื่อชี้นำไปสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในบริบทของสังคม สังคมในที่นี้คือแบบไทยๆ ไม่ต้องเป็นแบบเกาหลี ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เอาแบบไทยๆ ที่ทำแล้วให้เราเป็นสังคมคาร์บอนต่ำที่สามารถเสริมสร้าง สนับสนุน และเชื่อมโยงนโยบายและแผนงานของรัฐ และบทบาทภาคเศรษฐกิจไปสู่การพัฒนาอย่าง ยั่งยืน”

การจะเป็นเช่นนั้นได้ ไม่ได้ขึ้นกับการรับผิดชอบของหน่วยงาน แต่ภาพเหล่านี้จะเกิดได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือ ของทุกหน่วยงาน และทำให้แผนงานเพื่อการปรับตัวรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศนี้เป็นยาดำสอดแทรกเข้าไปในทุกหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่สอด คล้องไปในทิศทางเดียวกันและเกิดผลที่ แท้จริงในเชิงปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตร สาธารณสุข มหาดไทย ทรัพยากร เพราะทุกกระทรวงล้วนมีเรื่องต้องดูแลที่เกี่ยวกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

หลักการสำคัญที่ลืมไม่ได้ในการยกร่างแผนแม่บท แม้จะต้องการบริบทแบบไทยๆ แต่ก็ต้องยึดหลักการสากลในทางปฏิบัติ นั่นคือการมีส่วนร่วมอย่างแตกต่างตามขีดความสามารถ เพื่อใช้กำหนดกรอบ เป้าหมาย และกลไกในการทำงาน ที่จะบูรณาการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยประเทศไทยใช้แนวคิดที่จะส่งเสริมการพัฒนาอย่าง ยั่งยืนภายใต้วิถีพอเพียงเป็นกรอบสำหรับการร่างแผน

“หลักการที่กำหนดจะนำโดยภาครัฐ ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และการมีส่วนร่วม ของชุมชน เพราะจากประสบการณ์ที่ได้จากการยกร่างแผนแม่บทฉบับแรกที่ยกเลิก ไป ผู้ประกอบการหลายคนบอกว่า ถ้าจะบอกให้มีการลดอะไร ภาครัฐต้องทำก่อน ภาคเอกชนถึงจะทำตาม เราจึงต้องเริ่มด้วย การกำหนดว่าภาครัฐจะเป็นผู้นำในการลดอะไรลงได้บ้าง โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นช่วงๆ อาจจะช่วงละ 5 ปี 10 ปี 15 ปี ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะแบ่งอย่างไรและพยายามจะหาตัวอย่างให้เห็นว่าแต่ละด้านจะเป็นอย่างไร”

ทั้งนี้เป้าหมายของประเทศไทยที่สำนักงานฯ กำหนดไว้จะเน้นที่การควบคุม และชะลอการเพิ่มขึ้นของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่มุ่งเน้นที่การลด โดยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้ว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยควรจะต้องต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละปี

เหตุผลที่กำหนดไว้เช่นนี้ เพราะจากการศึกษาเพื่อจะสรุปว่าไทยควรจะเน้นนโยบายอย่างไรนั้น พบว่า อัตราการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ จะลดหรือไม่ก็ไม่ได้มีผลอะไรให้กับโลกเท่าไร แต่ในทางกลับกันไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกค่อนข้างมาก นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของไทย จึงเน้นเรื่องการปรับตัว (Adaptation) ซึ่งเป็นประเด็นร่วม (Cross Cutting Issue) ของกิจกรรมในทุกๆ ภาค ทั้งเรื่อง สังคม เศรษฐกิจ เกษตร สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ฯลฯ

การปรับตัวดังกล่าว ในแผนยกร่าง ฉบับนี้มีการเสนอภารกิจสำหรับการดำเนิน งาน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในระยะยาว และการสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการหลีกเลี่ยงป้องกันและฟื้นฟูวิกฤติของระบบนิเวศและที่อยู่อาศัยไว้ว่า จะทำอย่างไรที่จะสร้างให้ชุมชนหรือคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับความเสี่ยงหรือผลกระทบ สามารถปรับตัวและบริหารจัดการให้ตัวเองมีความเสี่ยงลดลง หรือว่าสามารถ ที่จะฟื้นฟูหรือมีชีวิตในความเสี่ยงนี้ได้ดีขึ้น

โดยเป้าหมายของการปรับตัวในเรื่องของภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่กำหนดไว้ของแผนฯ ต้องการให้มีการขยายตัวทาง เศรษฐกิจอย่างมั่นคงบนฐานของอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก มีระดับการพึ่งพา ตัวเองด้านพลังงานความมั่นคงในระดับสูง และไม่เป็นภาระงบประมาณเกินร้อยละ 2 ของจีดีพีในแต่ละปี ดังนั้นจากที่เคยใช้เงินเพื่อซื้อน้ำมันจำนวนมากก็ต้องหาวิธีลด กลุ่มที่สอง เน้นสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ให้มีความสุขบนฐานของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตพอเพียง ตามขีดความสามารถและการพึ่งพาตนเอง และการพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ โดยมีความแตกต่างของรายได้ไม่มาก มีธรรมาธิปไตยในการปกครองและความเป็นอยู่ร่วมกันอย่างมีสุข

“สองข้อนี้เราได้มาจากการที่เราไประดมความเห็นจากทั้งประเทศ ทั้งส่วนของชุมชน เอ็นจีโอ ทั้ง 4 ภาค ส่วนกลุ่มที่สาม คือเรื่องของความคุ้มกันทางระบบนิเวศ เราจะต้องพัฒนาโดยยึดหลักการอนุรักษ์และไม่สร้างภาระให้แก่คนรุ่นหลัง ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ระบบนิเวศจะต้องได้รับการฟื้นฟูให้ทำหน้าที่ในการให้บริการทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

สาระสำคัญที่สำนักงานฯ ให้ความสำคัญเรื่องการปรับตัวรับสภาพการเปลี่ยน แปลงภูมิอากาศ เช่น ระบบนิเวศเมืองมีเป้าหมายว่าทำอย่างไรให้เป็นสังคมสีเขียว มีรายได้ที่มาจากสังคมคาร์บอนต่ำ ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากควรจะมีแนวทางป้องกันและดูแลอย่างไร แหล่งน้ำในแผ่นดินก็จะไม่ดูแค่เรื่องตัวน้ำเท่านั้น แต่จะต้องดูถึงระบบนิเวศของแหล่งน้ำ ผลกระทบโลกร้อนต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งก่อให้เกิดโรคที่เกิดซ้ำและโรคใหม่ๆ และที่ขาดไม่ได้คือระบบ นิเวศเกษตรซึ่งเกี่ยวพันกับปากท้องของคนในประเทศ รวมไปถึงเรื่องของที่ดิน-ป่าไม้ การใช้ที่ดิน เพราะอย่างไรก็ตามแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือป่าไม้ ไปจนถึงเรื่องของการบริการสาธารณประโยชน์ต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการมนุษย์แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคิดวิธีที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบและทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งทั้งหลาย ที่กล่าวมา หรือมีผลทำให้เกิดการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น

ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ Non Annex เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จึงไม่ได้ถูกบังคับว่า ไทยต้องมีเป้าหมายที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน เพียง แต่มีพันธะที่ต้องให้ความร่วมมือกับนานา ชาติในการลด ส่วนจะได้มากหรือน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของตัวเอง

ตัวอย่างความร่วมมือของไทยที่ผ่านมา ในการมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ที่คนไทย คงเคยสัมผัสกันบ่อยๆ ก็คือ การลดการใช้พลังงานฟอสซิล ส่งเสริมการใช้พลังงาน ทางเลือก และที่ถือเป็นจุดเด่นของไทยที่เสริมเข้าไปก็คือ ความพยายามในการเปิดโอกาสเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตพอเพียง

ประเด็นปัญหาร่วมของไทยที่จะทำให้แผนยกร่างฯ พัฒนาไปถึงเป้าหมายนั้น นิรวานบอกว่า ยังต้องอาศัยการศึกษา วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และสนับสนุนการดำเนินงานอีกมาก รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มคนทำงาน โดยเฉพาะทีมเจรจา ซึ่งไทยเป็นภาคีที่จะต้อง เข้ารวมประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศโลกทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 3 หน

“ทำอย่างไรจะให้ทีมเจรจาเข้มแข็งสามารถเป็นผู้นำในเวทีได้ ไม่ใช่เป็นผู้ตาม แล้วทำตามแบบอึดอัด ไม่อยากทำก็ต้องทำ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ด้วย ซึ่งอาจจะต้องอาศัยการปรับปรุงกฎระเบียบ และกลไกทางการเงินเข้ามาเสริมรวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

ส่วนแผนแม่บทฯ ฉบับยกร่างนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไรภายใต้ระยะเวลาการใช้แผนอันยาวนานแบบที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน สำนักงานนโยบายและแผนฯ คาดว่า อย่างน้อยคงต้องใช้เวลา ช่วง 2 ปีแรกสำหรับการบูรณาการแผนงาน ทั้งในส่วนของโครงการ แผนงานและนโยบาย ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งต้องดำเนินงานด้วยกันเพื่อให้แผนทุกอย่างเดินหน้าไปพร้อมๆ กันอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้เราอาจจะยังไม่มีแผนแม่บทเพื่อการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ใช้งานได้จริง แต่สังคมไทยก็ไม่เคยปิดตายกับปัญหาใหม่ๆ และกำลังจะมีแผนยกร่างฯ ที่จะเป็นแผนที่ทุกๆ คนในประเทศจะต้องมีส่วนร่วมทำให้เกิดขึ้นจริงตามเป้าหมายในเร็ววันนี้ และหวังว่าสิ่งต่างๆ ที่เขียนขึ้นมาด้วยขั้นตอนและการทำงานที่ยากลำบากจะถูกนำไปสู่การปฏิบัติจริง ไม่ถูกละเลยดังเช่นกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมบางฉบับที่มีไว้ ไม่ต่างจากของประดับเพราะไม่เคยได้รับการตอบรับในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.