|

ม้ง ต้นแบบคนสร้างเมือง
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ม้ง มง เม็ง หรือเมือง คือคำที่มีความหมายเดียวกัน คนไทยรู้จักม้งว่าเป็นชาวเขา เพราะชอบอาศัยตั้งถิ่นฐานตามภูเขา แต่ความจริงแล้ว ม้งคือพวกที่บูชาดิน ป่า น้ำ พวกเขาเลือกอยู่บนภูเขา ยอดเขา เพราะเป็นบริเวณที่กินพื้นที่ต้นน้ำ ยึดหลักฮวงจุ้ย การยึดต้นน้ำก็เท่ากับมีอำนาจ
สังเกตได้ว่า ม้ง ไม่ว่าอยู่ในเขตประเทศใดก็ยังคงเอกลักษณ์และเรียกตนเองว่า ม้ง ไม่ได้เปลี่ยนไปตามสัญชาติของเขตแดนที่ตนอาศัยอยู่เลย อยู่ไทย อยู่เขมร อยู่ลาว อยู่เวียดนาม ก็เรียกตัวเองว่า ม้ง และคนนอกเมื่อเห็นก็รู้ว่าพวกเขาเป็นม้ง
ที่เป็นเช่นนี้เพราะลักษณะนิสัยของม้ง เป็นกลุ่มคนที่รักอิสระ ไม่ขึ้นกับใคร มีต้นน้ำเป็นที่อาศัย เชื่อผู้นำ มีเอกลักษณ์และมีภูมิปัญญาของชนเผ่าเป็นมรดกของตัวเอง ตัวอย่างเช่น คลอดลูกเอง รักษาตัวเองด้วยความรู้ด้านยาสมุนไพร ย้อมผ้าเอง แต่เมื่อความเจริญเข้ามาใกล้ ก็พร้อมจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากสังคมเมืองที่เจริญแล้ว แต่ยังรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้
เช่นเดียวกับชนเผ่าม้งที่ซาปา ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกั๊ตกั๊ต (Cat Cat Village) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองซาปา 3 กิโลเมตร ม้งที่นี่อพยพมาจากจีนเหมือนกับม้งส่วนใหญ่ในไทย แต่ยังเป็นม้ง มีภาษาของตัวเอง มีเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยเสื้อผ้าโทนสีน้ำเงินเข้มหรือดำ ทำนา ย้อมผ้า เก็บสมุนไพร หัวดีเรียนรู้เร็ว สาวม้งจำนวนมากฝึกภาษาอังกฤษได้เร็ว แค่เรียนรู้จากการสนทนากับนักท่องเที่ยวบ่อยๆ ตั้งแต่เล็ก โตขึ้นก็หันมายึดอาชีพไกด์ท้องถิ่น ส่วนหนุ่มม้งยังคงเลือกทำงานในไร่ในนา เลี้ยงควาย ไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจท่องเที่ยว ถือเป็นบทบาททางสังคมของหญิงชายที่แตกต่างและยังเห็นได้ชัดเจน
ไกด์สาวชาวม้งวัย 20 ปี นอกจากพาเดินชมหมู่บ้าน ระหว่างทางยังอธิบายต้นไม้และสมุนไพรที่พบริมทางด้วยชื่อภาษาถิ่นของชนเผ่า ซึ่งยากสำหรับนักท่องเที่ยวผู้ไม่คุ้นเคยจะจดจำได้ ทั้งลักษณะของต้นไม้ใบหญ้าและชื่อที่เอ่ยให้ฟัง เมื่อถามเกี่ยวกับวิถีชีวิตก็ยืนยันความเป็นม้งที่ยังคงรักษาไว้เหนียวแน่น ทุกวันนี้ม้งที่ซาปายังเลือกนับถือศาสนาตามผู้นำ ถ้าผู้นำยังนับถือผีก็นับถือผี ถ้าผู้นำเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอะไรก็จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนานั้นทั้งหมู่บ้าน เจ็บป่วยคลอดลูก ดูแลกันเองที่บ้าน ไม่ต้องไปโรงพยาบาล แม่จะเป็นพี่เลี้ยงและสอนทั้งเรื่องการคลอด การดูแลตัวเองหลังคลอด การเลี้ยงลูก เวลาไม่สบายก็อาศัยยาสมุนไพรและวิธีรักษาที่สืบทอดกันมาในชนเผ่า เช่น การครอบแก้วตามจุดต่างๆ ของร่างกายเพื่อลดอาการปวด เรียกว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย พวกม้งดูแลตัวเองได้หมด
สภาพความเป็นอยู่ สภาพหมู่บ้าน การทำนา วิถีชีวิต และภูมิปัญญาจากไกด์สาวที่ได้เห็นได้ยิน สะท้อนให้เห็นความสำคัญที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดองค์การสหประชาชาติจึงต้องออกมาพูดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม นั่นก็เพื่อให้คนกลุ่มน้อยเหล่านี้รักษาภูมิปัญญาของชนเผ่าสืบไป ถ้าไม่มีภาษา ไม่มีวิถีชีวิตแบบเดิม ความรู้และความลับของภูมิปัญญาที่คนนอกไม่รู้เหล่านี้ก็จะสูญหายไปพร้อมกับพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาอยู่กันมาได้โดยไม่ต้องอาศัยความเจริญที่คนยุคใหม่คุ้นเคย
ระบบการเรียนรู้ของชาวม้งที่ซาปาในปัจจุบัน ยังคงยึดหลักการเดิมๆ นั่นคือการเรียนรู้จากการใช้ชีวิต ทุกอย่างเรียนรู้จากการปฏิบัติ แม่เลี้ยงลูก เมื่อลูกเป็นพี่ก็ต้องเลี้ยงน้องแม้จะยังอยู่ในช่วงปฐมวัยก็ตาม เด็กผู้ชายใช้ชีวิตในไร่นา ระหว่างเล่นก็ได้เรียนรู้และสังเกตซึมซับวิธีการทำงานของผู้ใหญ่ เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาเด็กผู้หญิงก็รับบทบาทเพิ่มด้วยการค้าขายของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ แก่นักท่องเที่ยว เรียนรู้ภาษาจากการพูดคุยโต้ตอบจนเกิดความชำนาญ มีแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่พวกเขาจะเข้าเรียนหนังสือในชั้นเรียนที่โรงเรียน
ระบบการศึกษาที่ปล่อยเวลาส่วนใหญ่ให้เด็กไปเรียนรู้เองที่บ้าน เป็นรูปแบบที่ม้งและอีกหลายชนเผ่าที่ซาปาใช้กันอยู่ ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นวิธีการสืบทอดภูมิปัญญาที่ได้ผลกว่าการอยู่ในห้องเรียนเต็มเวลาแบบเด็กไทย ซึ่งกลายเป็นว่าการให้เวลาทั้งหมดกับตำรา โดยไม่ปล่อยไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากคนในครอบครัว ทำให้ทักษะต่างๆ โดยเฉพาะการสืบทอดอาชีพ และมรดกทางภูมิปัญญาต่างๆ สูญหายไป ตัวอย่างเช่น ในภาคอีสานเด็กสาวอายุ 12-13 ปีในอดีตก็สามารถทอผ้าได้แล้ว เพราะอยู่กับแม่กับยายเห็นการเลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมด้าย ทอผ้า มาตลอด ได้เรียนรู้ ซึมซับและมีโอกาสฝึกมือจนเป็นไปเอง พอต้องมาอยู่แต่ในโรงเรียนโอกาสเรียนรู้เหล่านี้ก็หายไปโดยปริยาย
การเรียนรู้แบบม้งที่ซาปา นอกจากเป็นการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของชนเผ่าไว้ได้ ยังสอดคล้องกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ไปด้วยในตัว เพราะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บวกกับการใช้ชีวิตตามวิถีเดิม จะทำให้ภูมิปัญญาในท้องถิ่นได้รับการสืบทอดไม่ขาดสายกลายเป็นมรดก ซึ่งสะท้อนเศรษฐกิจพอเพียงที่มีมรดกเป็นทุน แต่เป็นทุนทางเผ่าพันธุ์และสายเลือดที่ไม่ต้องซื้อหาจากที่ไหน แต่เกิดจากคนที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติบนที่ดินนั้น เช่นนี้แล้วก็เชื่อได้ว่าการปลูกข้าวบนนาขั้นบันไดแบบซาปา คันนาบางแห่งที่ทำขึ้นและตกทอดมาให้คนรุ่นหลังซึ่งมีอายุมากกว่า 100-300 ปี จะยังคงมีให้เห็นไปอีกนานที่ซาปา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|