|
วิถีของคนภูเขากับการพัฒนาเมือง
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
จากเช้าวันแรกที่เดินทางมาถึงซาปา (Sapa) จนถึงตอนเย็นของวันที่ 3 ชั่วระยะเวลาไม่เต็ม 72 ชั่วโมงที่ผ่านไป ถ้ามองมุมกว้าง เมืองนี้เหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนไป เว้นแต่มีนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่หมุนเวียนเข้ามาทุกวัน แต่เมื่อมองลงไปในรายละเอียด ริมถนนเส้นเดิมๆ ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้เปลี่ยนแปลงทุกวัน
กำแพงก่ออิฐถือปูนของอาคารโรงแรมแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างใกล้กับโรงแรมที่พัก จากวันแรกที่เพิ่งเริ่มก่อผนังอาคาร ผ่านไปไม่ถึง 3 วันก็เป็น รูปเป็นร่าง งานก่อสร้างอาคารใหม่มีให้เห็นริมถนนเกือบทุกเส้น โดยเฉพาะ ถนนก่อนเข้าถึงใจกลางเมือง ไม่เว้นแม้ที่ลาดตามไหล่เขาเพราะเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในหุบเขาซึ่งมีที่ราบน้อยมาก
เช่นเดียวกันขยะกองใหม่บนพื้นที่ว่างระหว่างอาคารถัดจากย่านชุมชนไปเพียง เล็กน้อยก็สูงขึ้นและมีขยะใหม่มาเติมทุกวัน บางจุดมีสภาพเหมือนขยะน้ำตก เพราะขยะที่ถูกเทตรงไหล่เขาจะไหลลงไปด้านล่าง ตามแรงโน้มถ่วง ดูเหมือนคนเมืองนี้ก็ไม่ว่า อะไร เพราะถือว่าการทิ้งขยะในพื้นที่ว่าง เท่ากับช่วยถมที่ไปในตัวก่อนเจ้าของที่ดินจะมาก่อสร้างในอนาคต
สิ่งเหล่านี้คือผลพวงจากการเติบโตของซาปาในฐานะเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะ ทัศนียภาพของกองขยะในเมืองและเลยไปถึงขยะในไร่นาและในแหล่งน้ำลำธารตามหมู่บ้านของชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่แสดงถึงการเติบโตเป็นสังคมเมืองที่มีการบริโภคสูง แต่ยังไม่มีระบบการจัดเก็บขยะที่ดีรองรับ อีกทั้งการปรับตัวของชนเผ่าต่อรูปแบบขยะจากอุตสาหกรรม อาทิ ขวดน้ำ พลาสติก ถุงขนม สารเคมี ฯลฯ ซึ่งไม่ย่อยสลายเหมือนวัสดุธรรมชาติที่พวกเขาเคยคุ้นและเป็นอันตราย ทำให้สภาพแวดล้อมของหมู่บ้านบางแห่งที่เป็นจุดท่องเที่ยวรกตา ไปด้วยขยะเหล่านี้
ซาปาอยู่ในเขตจังหวัดลาวกาย (Lao cai) จังหวัดทางภาคเหนือของเวียดนาม มีพื้นที่ติดกับเมืองเหอโข่ว (He Kou) ของจีน อยู่ไกลจากฮานอยเมืองหลวงประมาณ 350 กิโลเมตร มีรถไฟหลายขบวนและหลายราคาจะทยอยออกจากฮานอยตั้งแต่ช่วง 3 ทุ่มไปจนเกือบเที่ยงคืนไปสุดสายที่ลาวกายตั้งแต่ตีห้ากว่าไปจนถึงเจ็ดโมงเช้า แล้วเดินทางต่อด้วยรถยนต์ลัดเลาะภูเขาไปประมาณ 38 กิโลเมตร ไม่ถึงชั่วโมงก็ถึงซาปา
ซาปาเป็นเมืองที่มีอากาศเย็นถึงหนาวจัดตลอดปี เพราะอยู่สูง 1,650 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีจุดสูงสุดของเมืองอยู่ที่ฟานซิปาน (Fan Si Pan) สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 3 พันเมตร เป็นบริเวณที่มีหิมะตกให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในช่วงฤดูหนาว แต่ความผันผวนของสภาพอากาศในปีนี้ หิมะที่เคยตกเฉพาะที่ฟานซิปาน ตกลงใจกลางเมืองซาปาช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เป็นที่ฮือฮาไปทั่วอินโดจีนซึ่งอยู่ในเขตโซนร้อนด้วยกัน
สาธารณูปโภคต่างๆ ในซาปาเริ่มพัฒนาขึ้นจากมรดกของการเป็นเมืองตากอากาศในยุคฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนามเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ในแง่ความเป็นเมืองซาปาจึงมีพร้อมทุกสิ่ง ทั้งไฟฟ้า น้ำ โรงแรม บริการสาธารณะ ผับบาร์ มอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกมุมถนน ฯลฯ บวกกับจุดขายของเมืองที่ประกอบด้วยวิถีชีวิตคนดั้งเดิม และทัศนียภาพที่แตกต่าง กันไปในแต่ละช่วงวันและฤดูกาล ซึ่งทำให้ซาปาเป็นเมืองที่มีส่วนผสมความเป็นเมือง ธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชาวเขาหลากชาติพันธุ์ ยิ่งเมื่อรวมกับชาติพันธุ์จากนักท่องเที่ยว ที่มาเยือนก็ยิ่งเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น และด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นทั้งปี ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้และดอกไม้เมืองหนาวได้ดีอีกด้วย
ด้วยความหลากหลายที่มีอยู่ซาปาจึงต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ทั้งปี หากมาเที่ยวในวันฟ้าใสก็จะได้เห็นนาขั้นบันไดสุดลูกหูลูกตา ดูน้ำใสไหลตาม แม่น้ำลำธาร วันไหนเมฆมากก็ชมเมฆชมหมอกตัดกับภูเขาเขียวๆ ฤดูทำนาปลูกข้าวของซาปาจะเริ่มราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม นักท่องเที่ยวจะได้ เห็นชาวเขาแต่งชุดพื้นเมืองทำนาง่วนอยู่ในนาข้าว สักเดือนสองเดือนก็มีทุ่งข้าวเขียวเป็นฉากผืนใหญ่ ก่อนจะกลาย เป็นทุ่งข้าวสีทองในฤดูเก็บเกี่ยว ต่อจากนั้นไม่กี่เดือน ภาพกิจกรรมการทำงานเก็บเกี่ยวข้าวด้วยแรงงานคนยังเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวชั้นดี แม้กระทั่งช่วงพักที่นาหลังจากเก็บเกี่ยวนักท่องเที่ยวก็ไม่เคยหายไปจากซาปา
ประชากรหลักของเวียดนามคือคนกิง (Kinh) หรือคนเวียดนาม มีประมาณ 88% ของประชากรเวียดนาม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 ล้านคน ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ นอกจากคนกิงมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในเวียดนามอีก 54 ชาติพันธุ์ มีจำนวนราว 5.5 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามที่ราบในหุบเขา กลุ่มหลักๆ ได้แก่ Tay 9.6 แสนคน Nung 1.5 แสนคน Thai 7.7 แสนคน Muong 7.0 แสนคน H’mong 4.4 แสนคน Dao 3.4 แสนคน Hua 9.3 แสนคน Khmer 7.2 แสนคน Bana 1.0 แสนคน Giarai 1.8 แสนคน Ede 1.4 แสนคน
ในจำนวน 54 ชาติพันธุ์ที่พบนอกจากอาศัยในเวียดนามยังกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงด้วย ทั้งไทย ลาว และจีน แต่ก็มีถึง 9 กลุ่มที่มารวมตัวอาศัยอยู่ที่ซาปา ได้แก่ H’mong, Dao, White Thai, Giay, Tay, Muong, Hao และ Xa Pho ซึ่งทำให้ซาปาเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้นในสายตานักท่องเที่ยว เพราะพวกเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่า ทั้งระหว่างทำงานในไร่นา อยู่ในบ้าน หรือแม้แต่เดินทางเข้าเมืองเพื่อมาทำธุรกิจหรือค้าขายทั้งที่เป็นอาชีพและรายได้เสริม
เอกลักษณ์ที่คงอยู่ของชนพื้นเมืองจึงเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ผลัก ดันให้เมืองในหุบเขาแห่งนี้เติบโตทุกๆ วัน
ขณะเดียวกันชาวเขาเหล่านี้ก็เรียนรู้การหารายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งกลายเป็นปัจจัยดึงดูดแรงงานภาคเกษตรของกลุ่มคนเหล่านี้เข้ามากระจุก ตัวในเมือง ชาวเขาหลายคนเริ่มปรับตัวเองไปตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม Red Dao กลายเป็น กลุ่มหลักที่เข้ามาจับจองพื้นที่ค้าขายในจัตุรัสกลางเมือง รวมไปถึงร้านค้าในตลาด ส่วน H’mong หรือม้ง ชาวเขาที่เห็นมากในไทย จากเดิมยึดอาชีพ ทำนาทำไร่ก็ปรับตัวเองฝึกภาษาอังกฤษ จนชำนาญแล้วหันมาเป็นไกด์ท้องถิ่นเป็นอาชีพเสริม
เมื่อมีประชากรที่ใช้ประโยชน์จากเมืองเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวก็เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี การก่อสร้างในเมืองจึงเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากชาวเขาในพื้นที่ คนเวียดนามจากต่างเมืองก็เข้ามาทำการค้าเพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นด้วย วิวทิวทัศน์ที่เคยเห็นได้จากตัวเมืองจึงเริ่มถูกอาคารใหม่ๆ ขึ้นมา บดบังมากขึ้น
รูปทรงอาคารภายในเขตเมืองซาปา โดยรวมแล้วไม่ได้แตกต่างจากที่พบเห็นใน ฮานอย เพียงแต่ยังไม่หนาแน่นเท่า อาคาร ส่วนใหญ่จะปลูกสร้างอยู่บริเวณริมถนน ซึ่งมีขนาดเพียงแค่รถวิ่งสวนทางกันได้ ตัวอาคารผอมสูงมีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสหลงเหลืออยู่เหมือนๆ กัน ทั้งหน้าต่างทรงสูง และการประดับต้นไม้ไว้ตามระเบียง ส่วนใหญ่สร้างจากอิฐและคอนกรีตทั้งที่เป็น ร้านอาหารและโรงแรมขนาดเล็ก
สิ่งที่ทำให้อาคารเหล่านี้ดูดีไม่ใช่การผสมผสานระหว่างอาคารแบบ เวียดนามกับวัฒนธรรมแบบฝรั่งเศส ที่ทิ้งเอาไว้ แต่เป็นเพราะกลุ่มอาคารเหล่านี้สร้างอยู่ในเมืองที่รายล้อมด้วยทิวทัศน์อันงดงามและบรรยากาศสบาย ตลอดปี ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้อีกนั่นแหละว่า การพัฒนาซาปาเป็นเมืองท่องเที่ยวคือมรดกที่ชาวฝรั่งเศสริเริ่มไว้ ตั้งแต่สมัยที่เมืองเล็กๆ แห่งนี้ถูกเลือกให้เป็นสถานที่พักตากอากาศของเจ้าอาณา นิคม
เมื่อโลกไร้พรมแดน การไปมาถึงกันง่ายขึ้น ปัจจัยพื้นฐานที่มีอยู่ของซาปา ทำให้เมืองพัฒนาอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนจะไร้การควบคุม
จากเมืองเล็กๆ อยู่กันด้วยวิถีธรรมชาติ ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับเงินตรา ที่กระจายสู่เมือง นอกจากทำให้ชนเผ่า ต่างๆ ปลีกเวลาส่วนหนึ่งของพวกเขา เดินทางเข้าเมืองเพื่อหารายได้จากการท่องเที่ยว บางรายถึงขั้นหันมาจับอาชีพ ใหม่เติบโตไปพร้อมกับการท่องเที่ยวและเมือง แทนการใช้ชีวิตแบบเดิม
อีกทั้งยังมีโครงการที่เห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตและสร้าง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับเมืองอีกมาก ทั้งการขยายถนนจากเมืองสู่หมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ และโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับการเติบโตและให้เมืองมีความมั่นคงอยู่ได้ด้วยตัวเอง
เวียดนามต้องอาศัยซื้อไฟฟ้าจากจีนสำหรับไฟฟ้าที่ใช้ในพื้นที่ซาปาและในจังหวัดลาวกาย ช่วงหลังจึงเริ่ม จะผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยอาศัยทรัพยากร ธรรมชาติจากแหล่งน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ พัฒนาโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับเมือง แทนการพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าจากจีนเพียงแหล่งเดียว และใช้หลักการในการตัดสินใจพัฒนาโครงการเหล่านี้ เพียงเพราะต้องการตอบสนองการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดความเสี่ยง ในการพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าจากจีนเท่านั้น
เฉพาะในจังหวัดลาวกายซึ่งเป็น ที่ตั้งของซาปา จึงมีแผนจะพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาด 1-2 เมกะวัตต์ถึง 9 โครงการ ระหว่างเดินชมหมู่บ้าน ปีนเขาเพื่อไปชมนาขั้นบันไดอย่างใกล้ชิดที่ซาปาในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจึงได้สัมผัสกับถนนตัดใหม่บนภูเขา เพื่อเปิดทางไปสู่การสร้างเขื่อน ซึ่งต้องขนเครื่อง จักรเพื่อการทำงานและใช้ในการก่อสร้างเข้าไปยังพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากร ธรรมชาติและสินค้าด้านการท่องเที่ยวสำคัญของซาปา
จากเดิมที่นักท่องเที่ยวต้องเดินทาง ด้วยเท้าเพื่อสัมผัสธรรมชาติทั้งนาข้าว น้ำตก แม่น้ำ ยอดเขา ปัจจุบันก็ไม่ต้องเหนื่อยกันเท่าเดิม เพราะไกด์อาจจะพาเดิน แค่ขาไป แต่ขากลับจะมีรถที่เข้าไปรับได้เกือบทุกจุดท่องเที่ยว ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ นักท่องเที่ยวสามารถจะไปถึงจุดไฮไลต์ของการท่องเที่ยวแต่ละแห่งได้ โดยไม่ต้องเดินเหนื่อยเหมือนเดิม เพราะถนนตัดเข้าไปถึง รวมทั้งเกิดย่านการค้าใหม่ๆ ในเขตหมู่บ้าน นอกเมือง
ภาพเหล่านี้คือผลพวงของการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่ภาพที่นักท่องเที่ยวผู้นิยมธรรมชาติและเดินทางมาซาปาเพราะชื่อเสียงด้านธรรมชาติและวิถีชีวิตต้องการเท่าไรนัก
โชคดีที่รัฐบาลเวียดนามเริ่มตระหนัก ในความจริงข้อนี้ ทบทวนโครงการสร้าง เขื่อนผลิตไฟฟ้าเสียใหม่ และออกประกาศระงับการก่อสร้างเขื่อนไปถึง 8 โครงการ โดยเพิ่มการพิจารณาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชนพื้นเมือง รวมทั้งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่เน้นขายธรรมชาติและวิถีชนพื้นเมืองของซาปาเข้าไปประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม
การเติบโตของเมืองจากการท่องเที่ยว ภายใต้การฉุกคิดของรัฐบาล เวียดนามต่อผลกระทบด้านการพัฒนา จึงเป็นเหมือนสัญญาณทางบวกที่มาเบรกการเติบโตของเมืองไม่ให้รุดหน้าเร็วเกินไป เป็นการชะลอที่เพิ่มโอกาสให้ชนพื้นเมืองมีเวลาเรียนรู้และปรับตัวไปกับการเติบโตที่ถาโถมเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ที่สำคัญยังเป็นแนวทางการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยวและปัจจัยการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทางของหลักจรรยาบรรณการท่องเที่ยวโลก ของกลุ่มสมาชิกขององค์การการท่องเที่ยวโลก ซึ่งได้จากการประชุม ณ เมืองแซนติเอโก ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1999 ซึ่งมีความตอนหนึ่งระบุไว้ว่า การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวควรจัดในแนวทางที่จะรักษามรดกทางธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยระบบนิเวศวิทยาและความหลากหลาย ทางชีววิทยา
แน่นอนว่าหากเมืองซาปาจะต้องโตไปกว่านี้เพราะการท่องเที่ยว ก็ต้องไม่ลืมผลกระทบในประเด็นนี้ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เมืองนี้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวขึ้นมาด้วย
หากรัฐบาลเวียดนามยังยึดหลักการพัฒนาท่องเที่ยวอย่างที่เป็นอยู่นี้ได้ ก็พอจะมั่นใจได้ว่า ทั้งความเป็นชุมชนของชาวเขาเผ่าต่างๆ และเอกลักษณ์ของซาปา ก็น่าจะยังคงอยู่เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวให้กับเมืองนี้ต่อไปได้อย่างยั่งยืน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|