|

เมื่อเทคโนโลยี “จีน” ต้องมาตายน้ำตื้น
โดย
เอกรัตน์ บรรเลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
เทคโนโลยีก่อสร้างของจีนที่เคยสร้างความตื่นตาแก่คนทั่วโลก กำลังเผชิญกับการท้าทายจากแม่น้ำโขง จนทำให้การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ต้องล่าช้ากว่ากำหนดไปถึง 1 ปี
เขื่อนสามโตรก เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถด้านวิศวกรรมโยธาของจีนให้เป็นที่ประจักษ์กันแล้วทั่วโลก
ที่ใกล้ตัวคนไทยเข้ามาอีกหน่อย ก็คือทางด่วนสายคุนมั่น กงลู่ (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) ที่มีการเจาะภูเขาหลายลูก ทะลุเป็นอุโมงค์ลึกกว่า 20 จุด จุดที่ลึกที่สุด ยาวถึง 3.7 กิโลเมตร
ศักยภาพล้นเหลือที่ว่านี้ ดูเหมือนจะถูกหยุดยั้งลงบนสายน้ำโขงที่พาดผ่าน “ทุ่งเศรษฐี” พรมแดนไทย-ลาว เขตบ้านดอนมหาวัณ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตรงข้ามกับบ้านดอนไข่นก (ดอนขี้นก) เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 4 อยู่ในขณะนี้
อาณาบริเวณที่หลายคนเชื่อว่าเป็นเมืองโบราณ เมืองแห่งพญานาค มีถ้ำพญานาคอยู่ใต้ท้องน้ำสายนี้!!!
“หัวสว่านหักไปหลายต่อหลายอันแล้ว” เป็นคำยืนยันจากชาวบ้านที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงจุดก่อสร้างสะพานฯ รวมถึงโป๊ะยักษ์ที่เคยใช้ ตั้งแท่นเจาะเสาเข็มสำหรับรองรับตอม่อสะพานที่ลอยลำอยู่กลางแม่น้ำโขง บัดนี้จมลงใต้น้ำโขง โผล่ให้เห็นเพียงมุมโป๊ะ จำเป็นต้องนำธงแดงมาผูกติดไว้เป็นสัญลักษณ์ให้เรือที่สัญจรผ่านไป-มา ได้รู้ว่าจุดนี้อันตราย ไม่สามารถเดินเรือผ่านเข้าใกล้ได้
หัวสว่านที่ว่าคือหัวสว่านสำหรับเจาะเสาเข็มเพื่อวางตอม่อของสะพาน บริเวณกลางลำน้ำโขง ซึ่งเมื่อบริษัทรับเหมาเจาะเสาเข็มได้นำโป๊ะที่ติดตั้งเครื่องเจาะเสาเข็มลอยลำอยู่กลางแม่น้ำ หลังจากเจาะลงไปใต้ท้องน้ำลึกประมาณ 150 เมตร ต้องเจอกับชั้นหินที่แข็งแกร่งมาก จนหัวสว่านไม่สามารถเจาะผ่านลงไปได้
มีหัวสว่านอย่างน้อย 3 หัวกับโป๊ะติดตั้งเครื่องเจาะเสาเข็ม 1 ลำ ที่เสียหายไปกับการเจาะเสาเข็ม ณ จุดนี้
เรียกได้ว่าเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมโยธาของจีน ที่สามารถเจาะภูเขาทั้งลูกมาได้ไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูก กำลังถูกท้าทายจากแนวหินใต้ท้องน้ำโขงแห่งนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การก่อสร้างสะพานแห่งนี้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม ที่คาดว่าจะเปิดให้ใช้งานได้ในปลายปีหน้า (2555)
สมพอน ปันยาดา ประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว ระบุว่า หลังกระทรวงคมนาคมไทยได้เปิดประมูลรับเหมาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 นี้ พร้อมกับโครงการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เอกชนที่ชนะการประมูลที่เป็นบริษัทร่วมทุนจีน-ไทยก็ได้แบ่งงานกัน โดยผู้ร่วมทุนฝ่ายจีนจะดำเนินการก่อสร้างตัวสะพาน ส่วนฝ่ายไทยจะสร้างถนน-อาคารด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากร
เมื่อการก่อสร้างเริ่มเดินเครื่อง บริษัทรับเหมาจีนกลับเจอปัญหา นั่นคือเรื่องหัวเจาะที่เจาะเสาเข็มลงใต้ท้องแม่น้ำโขง เพื่อวางเสาตอม่อ เมื่อเจาะลงไปใต้ดิน ถึงชั้นหินประมาณ 151 เมตร กลับเจอหิน ที่แข็งมาก ทำให้หัวเจาะเสียหายไปหลายอัน ทำให้ยังไม่สามารถวางเสาตอม่อได้ในระยะที่ผ่านมา จนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในปีนี้เสียก่อน
รวมถึงประเด็นปัญหาการจ่ายเงินค่าก่อสร้างของฝ่ายจีน ที่ต้องการจ่ายเป็นเงินสกุลหยวน ขณะที่ผู้รับเหมาไทยเกรงว่า จะมีความเสี่ยงเรื่องค่าเงินผันผวน ต้องการให้จ่ายกันด้วยเงินสกุลอื่นที่ได้รับความเชื่อถือในตลาดโลกแทน
“สะพานมิตรภาพไทย-ลาว หรือสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 อาจล่าช้าจากกำหนดเดิมไม่น้อยกว่า 9 เดือน หรือแล้วเสร็จปลายปี 2556 จากกำหนดเดิมที่จะเสร็จปลายปี 2555” พินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวยอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสะพานแห่งนี้
สุวัฒน์ ด้วงปั้น นายด่านศุลกากร อ.เชียงของ ระบุเช่นกันว่า ทางศุลกากร ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำกับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ก็ได้เฝ้าติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะในอนาคตจะมีความเกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางด้าน อ.เชียงของ เชื่อมกับ สปป.ลาว-จีนตอนใต้ บนถนน R 3a อย่างมาก
ซึ่งพบว่า การก่อสร้างสะพานล่าช้า กว่าแผนที่กำหนดเอาไว้ประมาณ 1.7% โดยเฉพาะการก่อสร้างสะพานที่ยังไม่สามารถเจาะเสาเข็มเพื่อวางเสาตอม่อได้ และกำลังพบกับอุปสรรคของฤดูน้ำหลากพอดี ส่วนการก่อสร้างถนนและอาคารด่าน พรมแดนในฝั่งไทยถือว่าเร็วกว่าที่กำหนดบวก 3% แต่ในฝั่ง สปป.ลาว ติดลบ 7%
จึงคาดการณ์กันว่า น่าจะทำให้โครงการล่าช้าออกไปประมาณ 9 เดือน หรือสรุปได้ว่าจะมีความล่าช้าเพิ่มออกไปเป็น 1 ปี โดยปัญหาหลักเกิดจากการยังไม่ได้ก่อสร้างเสาตอม่อ หรือสร้างฐานรากของตัวสะพานให้ได้ และปัญหาเรื่องทาง การจีนจ่ายงบประมาณก่อสร้างเป็นเงินหยวน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์และนำไปจ่ายให้เอกชนเกรงจะมีความผันผวน
“แต่ถ้าลงเสาตอม่อแล้วเสร็จ จะทำให้งานคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อมีฐานรากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ด้านบนก็จะมีความสะดวกมากขึ้น”
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว หรือสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่รัฐบาลไทย-จีน ตกลงให้การสนับสนุนด้านงบประมาณก่อสร้างฝ่ายละ 50% ในวงเงิน 1,486.5 ล้านบาท โดยว่าจ้างกลุ่มซีอาร์ 5-เคที จอยท์เวนเจอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทร่วมทุนคือ บริษัทไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 5 เอ็นจิเนียร์ริ่งกรุ๊ป จำกัด จากจีน และบริษัท กรุงธนเอ็นจิเนียร์ จำกัด ของไทย เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2553 สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 ธันวาคม 2555 รวมระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 30 เดือน
โดยเอกชนทั้ง 2 ฝ่าย แบ่งงานกันด้วยการให้ฝ่ายจีนก่อสร้างตัวสะพานกลาง แม่น้ำโขง ส่วนฝ่ายไทยก่อสร้างถนนติดขอบฝั่งทั้งฝั่งไทย และ สปป.ลาว ยาว 630 เมตร โดยถนนเป็นจุดสลับการจราจร ในฝั่งไทย 5 กม. และลาว 6 กม. รวมถึงอาคารด่านพรมแดนของทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งจะสร้างอาคารรูปทรงล้านนาประยุกต์ เพื่อใช้เป็นจุดตรวจปล่อยร่วมกัน ณ จุดเดียวตามหลักประตูเดียว (Single Stop Inspection) รวมเนื้อที่ฝั่งไทยทั้งหมดประมาณ 400 ไร่
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยประมาณการว่า สะพานแห่งนี้จะทำให้มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงของเพิ่มมากขึ้นเป็นปีละกว่า 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันก็มีอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่านำเข้าและส่งออกเดือนต่อเดือน จนทำให้ตัวเลขการค้ารวมตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 4,900 ล้านบาท เทียบเท่ากับมูลค่าการค้าตลอดทั้งปีงบประมาณ 2553 แล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|