THE SAGA OF THONSAI


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

2477 ทองไทร บูรพชัยศรีลืมตามองโลกที่อำเภอนครชัยศรี นครปฐม เพราะเหตุนี้ แซ่เอี้ยวของเขาจึงเปลี่ยนเป็นบูรพชัยศรีตามบ้านเกิด

2493 จบการศึกษา ป. 4 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ติดตามครูสอนภาษาจีนชื่อหวังซีทง มาอยู่แถว ๆ สะพานเหลือง ครูฝากงานให้ทำครั้งแรกที่โรงพิมพ์วรจักร์ "ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไม่มีเงินติดตัวแม้แต่บาทเดียว" เขาบอก "ผู้จัดการ"

2495 ทองไทรเริ่มฝึกงานเป็นช่างในอู่ซ่อมเครื่องยนต์แถวเวิ้งนครเขษม ประสบการณ์ช่วงนี้สำคัญ เป็นบันไดนำเข้าสู่วงการเครื่องจักรกล เขาบอกเขาชอบเครื่องยนต์เป็นชีวิตจิตใจ

"หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ มีการสั่งเครื่องไฟฟ้าใช้แล้วมาใช้ โดยใช้ไฟ 220 โวลท์ เครื่องไฟฟ้าเลยดับเสมอ ๆ ผมเป็นคนแรกในเวิ้งที่สามารถดัดแปลงใช้กันได้" ทองไทรยังภูมิใจไม่หายต่อผลงานครั้งนั้น ซึ่งต่อมาใคร ๆ เรียกเขาว่านายช่างใหญ่

ประมาณ 2500 ทองไทรเก็บหอมรอบริบมีเงินก้อน และเป็นครั้งแรกที่เขาพ้นสภาพจ้างลูกจ้างมาเป็นเจ้าของกิจการ เขาซื้อสี่ล้อเล็กรับจ้างขนส่งตามร้านอาหารต่าง ๆ

2502 เนื่องจากความพิสมัยในเครื่องจักรเครื่องยนต์ฝังเข้าในสายเลือด ทองไทรร่วมลงขันกับเพื่อนไปเช่าที่เปิดโรงกลึงหล่อก็อกน้ำที่บางขุนเทียน "ทำไป ๆ ขาดทุนมาก ผมเลยขายกิจการให้เพื่อนทำคนเดียว"

2503 ทองไทรต้องเริ่มต้นอีกครั้งที่จุดแรกที่เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยซื้อสามล้อเครื่องคันแรกมารับจ้างส่งคนโดยสาร เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งถึงร้อยเหมือนนับเลขจริง ๆ ภายในเวลา 5 ปีเขาก็สามารถซื้อสามล้อเครื่องไว้ให้เช่าถึง 100 คัน "สมัยนั้นย่านเฉลิมเขตต์ใคร ๆ ต้องรู้จักเฮียโง้ว แม้ทุกวันนี้ก็ตาม แต่ถ้าเอ่ยชื่อทองไทร อาจไม่มีใครรู้จัก" คนใกล้ชิดทองไทรพูด

ทองไทรก็ยอมรัว่าตรงจุดนี้เขาสามารถยืนอยู่ในยุทธจักรทางธุรกิจอย่างมั่นคงแล้ว

ในช่วงนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และในช่วงท้าย ๆ ของยุคจอมพลสฤษดิ์มีนโยบายจะให้เลิกกิจการสามล้อเครื่อง "ผมต้องตระเวนออกต่างจังหวัดเพื่อหาลู่ทางทำธุรกิจใหม่ ที่แปดริ้ว ฉะเชิงเทราผมเห็นเรือหางยาวกำลังฮิตมาก โดยใช้เครื่องยนต์เก่าจากญี่ปุ่น" ทองไทรพูดถึงจุดหักเหทางธุรกิจครั้งสำคัญ

2509 ทองไทรตั้งบริษัทไทยแลนด์มอเตอร์เวอ์ค นำเข้าเครื่องยนต์เก่าจากญี่ปุ่น ยี่ห้อแรกคืออีซูซุ เขาเป็นผู้จัดการบริษัท ปรากฏว่ากิจการประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว "เริ่มจากนำเข้าเครื่องยนต์เก่าต่อมานำสินค้าเข้าหลายตัว จากเครื่องยนต์มาเป็นรถบรรทุก ผมมีกำไรบางครั้งถึงกับเหมาเรือเดินสมุทรทั้งลำ" เขาเล่าถึงช่วงชีวิตอันรุ่งโรจน์ และเน้นจากจุดนั้นเองทำให้เขาต้องผันตัวเองเข้าไปสัมผัสกับญี่ปุ่น "ผมค้ากับญี่ปุ่นประมาณ 18 ปี ปีหนึ่ง ๆ ผมอยู่ญี่ปุ่นมากกว่าเมืองไทย รวมทั้งหมดผมอยู่ญี่ปุ่นประมาณ 8 ปี"

ทองไทรพุดภาษาญี่ปุ่นได้ และเขาชื่นชอบ MATSUSHITA ผู้นำที่เข้มแข็งเจ้าของกิจการ NATIONAL มาก คนใกล้ชิดบอกว่าทองไทรก็เป็นผู้นำธุรกิจที่เข้มแข็งตัดสินใจเฉียบขาด ยืนหยัดหลักการมากคนหนึ่ง

ปี 2514 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ จึงห้ามมิให้มีการนำเข้า ทองไทรจึงเปลี่ยนไปนำเข้าเครื่องทุ่นแรงเก่าแทน ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็นเมโทรแทรกเตอร์

จากชื่อเสียงด้านเครื่องยนต์บวกกับเครื่องทุ่นแรง ชื่อของทองไทร บูรพชัยศรีจึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการค้าที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น "ใครไม่รู้จักมิสเตอร์ทองไทรในเมืองไทย แสดงว่าไม่รู้จักแทรกเตอร์" เขากล่าวอย่างอหังการ์

CATERPILLAR มีโรงงานในญี่ปุ่นอยู่นานแล้ว ย่อมจะรู้จักทองไทร บูรพชัยศรี!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.