Content Management ภายใต้เทคโนโลยี และกฎหมายใหม่

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าอินเทอร์เน็ต และ Web Site จะเป็นคำที่คุ้นหู และพัฒนาจาก จุดเริ่มต้นมาไกลมากแล้ว แต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ การบริหารจัดการ Content ดูจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับ การก้าวสู่ความสำเร็จท่ามกลางเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อไม่นานมานี้ Asia Business Forum ได้จัดการสัมมนาเรื่อง Web Site Content Management ซึ่งมีความน่าสนใจไม่เฉพาะในฐานะที่ content ถือเป็นแรงดึงดูดให้มีผู้ออนไลน์เข้าเยี่ยมชม Web Site แต่ยังหมายถึงศักยภาพในการพัฒนาไปสู่การ ดำเนินธุรกรรม e-commerce และการสร้างรายได้ผลกำไรในอนาคตด้วย

ความสำคัญของ content ได้รับการสนับสนุนให้โดดเด่น ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ web site ไม่ว่าจะในฐานะที่เป็นช่องทางในการประกอบธุรกิจ e-commerce หรือเป็นเพียงการบริหารจัดการด้านลูกค้าสัมพันธ์ จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากไม่มีการบริหารจัดการ content ที่ดีและมีประสิทธิภาพเพียงพอ

เป้าหมายสำคัญของระบบการบริหารจัดการ content จึง วางอยู่บนหลักพื้นฐาน ว่าด้วยการลดทอนค่าใช้จ่ายในการพัฒนา และคงสถานะของ Web Site, การย่นย่อระยะเวลาสู่กลุ่มลูกค้า, การเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย, การตอบ สนองความต้องการของลูกค้าที่รวดเร็วขึ้น, การสร้างให้เกิด loyalty ในระยะยาว, การสร้างหลักประกันในการจดจำ และที่สำคัญยิ่งก็คือ การพัฒนาไปสู่การประกอบธุรกิจ e-commerce และการสร้างรายได้ในที่สุด

จุดที่น่าสนใจของการสัมมนาประการหนึ่งอยู่ที่การเปิดเผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นบุคคลในช่วงอายุ 13-25 ปี ซึ่งอาจเรียกรวมว่าเป็น "กลุ่มวัยรุ่น" ได้กลายเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนให้อินเทอร์เน็ตเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวต่อเทคโนโลยี และผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ ในอินเทอร์เน็ต

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ได้รับการเน้นย้ำในหัวข้อการ สัมมนาอื่นๆ ที่เจาะลึกลงไปในกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินการ web site เพื่อการพาณิชย์ และการนำเสนอนวัตกรรมสำหรับ application ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนออินเทอร์เน็ตใน WAP phone และสื่อไร้สายที่กำลังทวีบทบาทสำคัญในโลกอินเทอร์เน็ต อนาคต

วิชุดา ณ สงขลา ในฐานะ Consultant, Wireless Internet Solution จาก Ericsson (Thailand) ได้นำเสนอกรณีศึกษาว่าด้วย Content Management for Wireless Applications เป็นลำดับต่อมา โดยชี้ให้เห็นว่าอุปกรณ์สื่อสารไร้สายกำลังก้าวข้ามบริบทและหน้าที่ดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง

"การเติบโตขึ้นของกลุ่มผู้ใช้อุปกรณ์สื่อสารไร้สายส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย และขอบเขตการบริการในมิติ ต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับความ ต้องการบริโภคของกลุ่มผู้ใช้ แต่สิ่งที่ลูกค้าในกลุ่มนี้ต้องการ มิได้ อยู่ที่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเสมอไป หากแต่พวกเขาต้องการบริการ ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ภายใต้อุปกรณ์ที่พวกเขาสามารถ หามาเป็นของตัวเองได้"

นอกจากนี้ เธอยังได้เสนอให้เห็นแนวโน้มการพัฒนาอินเทอร์เน็ตไปสู่ยุคใหม่ที่จะเป็นยุคของอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่และไร้สาย (Mobile & Wireless Internet) ซึ่งขณะนี้กำลังก่อตัวขึ้นมา อย่างช้าๆ ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องจอภาพที่มีขนาดเล็กเกินไป และจำนวนหน่วยความจำที่มีอยู่อย่างจำกัด

ประเด็นการสัมมนา ที่ผู้เข้าร่วมการสัมมนาดูจะให้ความ สนใจเป็นพิเศษอีกหัวข้อหนึ่งอยู่ที่การนำเสนอของ Pascale Prud'Homme หัวหน้าฝ่ายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารและเทคโนโลยี ของ Tilleke&Gibbins International ซึ่งนำเสนอภายใต้หัวข้อ "Limitting Potential Legal Pitfalls in the Internet Age"

ความน่าสนใจในหัวข้อนี้อยู่ที่การเปิดเผยให้เห็นข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ซึ่งผู้ดำเนิน การ web site แต่ละแห่งไม่ควรละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเครื่องหมายการค้า, ลิขสิทธิ์ และปัญหาว่าด้วยทรัพย์สิน ทางปัญญา รวมถึงถ้อยความใน Disclaimer ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในอนาคต กรณีดังกล่าวสอดคล้องกับปรากฏการณ์สำคัญที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ NAPSTER ที่เป็นกรณีพิพาทว่าด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงกับค่ายเพลงชั้นนำของ โลกหลายแห่ง หรือแม้กระทั่งกรณีของ yahoo.com ซึ่งถูกศาลฝรั่งเศสตัดสินให้มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายการต่อต้านนาซี แม้ว่า yahoo.com จะมีถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็ตาม ในช่วงท้ายของการบรรยาย Pascale Prud'Homme ยังได้นำเสนอมิติว่าด้วยกรอบกำหนดทางกฎหมายของประเทศไทย เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตด้วย โดยเธอชี้ว่ากฎหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) จำเป็นจะต้องได้รับการยกร่างและประกาศให้มีผลใช้บังคับในเร็ววัน เพราะปัจจุบันความไม่ชัดเจนของกฎหมายนับเป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบธุรกิจนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรองการจ่ายโอนและการชำระเงินผ่านระบบ Digital Online

ทั้งนี้ เธอได้เสนอว่า กฎหมายใหม่เกี่ยวกับ e-commerce ควรจะต้องมีบทบัญญัติที่ครอบคลุม การคุ้มครองสิทธิในข้อมูล (Data Protection), กฎหมายว่าด้วยการจ่ายโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการที่ปลอดภัยในกรณีดังกล่าว และกฎหมายอาญาว่าด้วยการละเมิดอันเกี่ยวเนื่องกับ คอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับกับปรากฏการณ์ใหม่ๆ ทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้านี้

การสัมมนาครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกกรณีศึกษาจำนวนไม่น้อยขึ้นมาเป็นตัวแบบ (Model) ของความสำเร็จและความจำเป็น ของการบริหารจัดการ Content ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจ ที่ดุเดือดรุนแรงบนโลกอินเทอร์เน็ตนี้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นตัวกำหนดทิศทางและความสำเร็จของ Web Site อยู่ที่กรอบความคิด และศักยภาพในการสร้างสรรค์ ที่พร้อมจะทะลุออกจากกรอบที่คับแคบตามแบบของจารีตที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานอย่างเป็นด้านหลัก

ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้คงมีฐานะเป็นเพียงการก่อให้เกิด การตั้งคำถามปลายเปิดว่า Web Site ที่จะประสบผลสำเร็จใน อนาคต ควรมี Content และการบริหารจัดการเช่นไร ซึ่งแน่นอน ว่าย่อมไม่มีสูตรสำเร็จ หรือค่าคงที่ใดๆ เป็นตัวกำหนดอย่าง แน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.