|
สุรเดช ปัณฑุรอัมพร โอกาสที่มากับการ “จับพลัดจับผลู”
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)
กลับสู่หน้าหลัก
ใครบ้างจะรู้ว่าผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังดีลขายกิจการธนาคารเวียงจันทน์พานิชในลาวให้กับธนาคารเอเอ็นแซดจากออสเตรเลียเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นคนไทย และคนไทยผู้นี้ยังอยู่เบื้องหลังการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในลาวอีกหลายแห่ง วันนี้เขากำลังวางรากฐานธุรกิจของตนเองเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีใน สปป.ลาวมาก่อน
ตอนเด็กๆ สุรเดข ปัณฑุรอัมพร เคยมาเรียนในโรงเรียนอนุบาลในเวียงจันทน์ เมื่อทางบ้านต้องโยกย้ายถิ่นฐานข้ามแม่น้ำ โขงมาสร้างธุรกิจใหม่ในกรุงเทพฯ หลังจากลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2518 สุรเดชไม่เคยคิดมาก่อนเลย ว่า ในอนาคตเขาจะได้กลับมาที่นี่อีก
“ตอนเด็กๆ ต้องบอกว่าผมแทบจำ อะไรไม่ได้ เพราะตอนนั้นอายุประมาณ 2-3 ขวบ ไม่เหลืออะไรในสมอง มีแต่รูปที่ยืนอยู่หน้าสนามกีฬา เป็นรูปช้างสามเศียร มีรูปเดียวที่คุณแม่เคยเอามาให้ดู แล้วรู้ว่าเป็นรูปผมตอนเด็กๆ” เขาเท้าความกับผู้จัดการ 360 ํ
“ถ้าถามผมเรื่องลาว ถามผมตอนผมกลับมาใหม่จะได้ข้อมูลดีกว่า เพราะตอน นั้นจะเป็นอะไรที่เราเริ่มบรรลุนิติภาวะแล้ว จะจำอะไรได้มากกว่า”
ตลอดเวลากว่า 2 ชั่วโมงที่ผู้จัดการ 360 ํ มีโอกาสสนทนา สุรเดชมักเน้นย้ำอยู่เสมอว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขาเป็นเรื่องของการ “จับพลัดจับผลู”
โดยเฉพาะการที่เขากลับเข้ามาอยู่ในลาวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการจัดพลัดจับผลู ที่ส่งผลให้เขาได้ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในลาวต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 15 ปีเต็ม
สุรเดชเป็นลูกชายคนเล็กของเก่งตึ๊ง แซ่อึ๊ง ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาสร้างเนื้อสร้างตัวในประเทศไทยเมื่อกว่า 70 ปีก่อน
ธุรกิจที่เก่งตึ๊งปักหลักทำในประเทศ ไทยยุคนั้นคือ ธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตรา และโพยก๊วน (การรับส่งเงินจากประเทศไทยกลับไปยังจีนแผ่นดินใหญ่)
กิจการของเก่งตึ๊งดำเนินไปได้ด้วยดี มีการขยายเครือข่ายจากกรุงเทพฯ ครอบ คลุมไปถึงเวียงจันทน์ จีนแผ่นดินใหญ่ และเกาะฮ่องกง ถึง 4 จุด
จนเมื่อปี พ.ศ.2504 รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้จำกัดความธุรกิจโพยก๊วนในขณะนั้นว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เก่งตึ๊งจึงย้ายฐาน ธุรกิจจากไทยไปอยู่เวียงจันทน์ ซึ่งกฎหมาย ยังอนุญาตให้ทำโพยก๊วนได้อยู่
ในเวียงจันทน์ เก่งตึ๊งมีเพื่อนคนหนึ่งที่ได้อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่พร้อมกัน รักและชอบพอกันถึงขั้นเป็นเพื่อนร่วมสาบาน ชื่อ ชอบ สีสมพู ซึ่งเข้าไปทำธุรกิจในนั้นอยู่ก่อนแล้ว
ทั้งธุรกิจของเก่งตึ๊งและชอบในเวียงจันทน์ขยายตัวไปได้อย่างดี แต่ก็ต้องมาเจอกับ จุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อลาวมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ.2518
ทั้งคู่จำเป็นต้องทิ้งฐานธุรกิจทั้งหมดในลาว โยกย้ายกลับมายังประเทศไทย
เก่งตึ๊งเปลี่ยนมาทำธุรกิจค้าขายชายแดนอยู่หนองคายได้ระยะหนึ่ง ค่อยเข้ามาสร้าง ธุรกิจใหม่ในกรุงเทพฯ
ส่วนชอบได้เข้ามาตั้งหลักอยู่ในไทยระยะหนึ่งเช่นกัน หลังจากนั้นได้อพยพต่อไปสร้างฐานธุรกิจใหม่ในประเทศออสเตรเลีย
จนต้นทศวรรษ 2530 เมื่อรัฐบาล สปป.ลาวในยุคที่มีไกสอน พมวิหาน เป็นประธานประเทศ ได้นำวิสัยทัศน์ “จินตนา การใหม่” เข้ามาใช้ เป็นการเริ่มต้นเปิดประเทศ รับการลงทุนจากต่างประเทศ
นอกจากชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนใน สปป.ลาวแล้ว ไกสอนยังติดต่อคนลาวที่เคยอพยพออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลับมาช่วยกันสร้างธุรกิจในลาว
ชอบก็เป็นผู้หนึ่งที่ไกสอนชักชวนให้กลับมา
การกลับมาวางรากฐานทางธุรกิจครั้งใหม่ใน สปป.ลาวของชอบในครั้งนั้น เขามองว่าธุรกิจที่ลาวจำเป็นต้องมี เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต คือ ธนาคารพาณิชย์และโรงแรม
เขาจึงขออนุญาตจากรัฐบาลลาว ก่อตั้งธนาคารเวียงจันทน์พานิชและโรงแรม ลาวพลาซ่า
ด้านเก่งตึ๊ง หลังจากย้ายฐานธุรกิจใหม่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยมีลูกๆ ซึ่งเป็นพี่ๆ ของสุรเดชเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ เขาเปลี่ยนจากธุรกิจการเงินมาเป็นการซื้อมาขายไป
ขณะที่พ่อและพี่ๆ มุ่งมั่นสร้างฐานธุรกิจในครอบครัวกันอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้น สุรเดชยังเล็กอยู่
หลังเรียนจบชั้นมัธยม สุรเดชสมัครเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะสัตวศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เขาเลือกเรียนสาขานี้เพราะส่วนตัวเป็นคนรักสัตว์ ไม่ได้วางแผนเผื่อเอาไว้สำหรับ การเข้าไปมีส่วนในธุรกิจของครอบครัวเท่าไรนัก
“พอเรียนไปเรื่อยๆ แล้ว ปรากฏว่าต้องกลับมาบอกกับตัวเองว่า อันนี้เป็นอะไรที่เราคงไม่ทำ คือการเรียนอะไรที่เป็นฟาร์ม เป็นธุรกิจ คือพอเราเลี้ยง ก็ต้องคู่กับการฆ่า คือตอนเรียนก็เรียนไป ขออโหสิกรรมกันไป คือไม่ใช่เนเจอร์ของเรา สุดท้ายก็บอกตัวเองว่าในสายงานนี้ ผมคงไม่เดินต่อ” สุรเดชเล่า
เมื่อเริ่มรู้ถึงแนวทางในอนาคตของตนเองชัดเจนขึ้นแล้ว เขาจึงเบนเข็มใหม่ ขอทุน จากพ่อเพื่อไปเรียนต่อ MBA สาขาการเงินที่นิวแฮมเชียร์ คอลเลจ สหรัฐอเมริกา ประมาณปี พ.ศ.2536
สุรเดชมีพี่ชายคนหนึ่ง ซึ่งได้ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาก่อนหน้าเขา แต่หลังจากเรียนจบ พี่คนนี้ได้รวมกลุ่มกับพรรคพวกสร้างเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารอยู่ในบอสตัน สหรัฐอเมริกา ในนามอมรินทร์ กรุ๊ป ไม่ได้กลับมาประเทศไทย
เมื่อสุรเดชเรียนจบ MBA เขาเป็นคนหนุ่ม ไฟกำลังแรง คิดจะมีเวทีสร้างผลงานเป็น ของตัวเอง เขาจึงตั้งใจจะเข้าไปร่วมอยู่ในเครือข่ายของอมรินทร์ กรุ๊ป โดยจะดูแลหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ให้กับธุรกิจกลุ่มนี้
แต่ปรากฏว่า พ่อของเขาไม่อยากให้เขาอยู่อเมริกาต่อ ถึงขั้นลงทุนเดินทางไปขอร้องให้เขากลับมาทำงานในเมืองไทย
สุรเดชยอมทำตามคำขอของพ่อ
เมื่อเขากลับมา ปรากฏว่าธุรกิจของครอบครัวมีการจัดวางโครงสร้างเอาไว้จนลงตัวหมดแล้ว ไม่เหลือช่องว่างให้เขาสอดแทรกเข้าไปได้
สุรเดชกลับมาเมืองไทยในปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบกับวิกฤติฟองสบู่แตก ธุรกิจหลายประเภทต่างล่มสลายไปกับวิกฤติครั้งนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจการเงิน
แต่ใน สปป.ลาวกลับแตกต่างกัน เพราะผลพวงจากวิสัยทัศน์ “จินตนาการใหม่” ที่ไกสอน พมวิหารนำมาใช้เพื่อเปิดประเทศเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนหน้านั้น กำลังเริ่มเห็นผล ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคเอกชนของลาวกำลังเข้าสู่ช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน จำเป็นต้องได้คนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดสมัยใหม่เข้าไปเสริมกำลังในจุดนี้
ชอบได้มาปรึกษากับเก่งตึ๊ง
“เอาลูกชายของฉันไปไหมล่ะ” เป็นคำตอบที่เก่งตึ๊งบอกกับเพื่อน
คนที่รับรู้ข้อมูลตรงนี้อาจต้องนึกฉงนในใจอยู่บ้าง เพราะแทนที่พ่อของสุรเดชจะปล่อยให้เขาทำงานอยู่ในอเมริกาต่อ กลับ ลงทุนเดินทางไปดึงให้เขากลับมาเมืองไทย แต่แล้ว...ก็ต้องส่งเขาเข้าไปอยู่ที่ลาว เพราะสุดท้ายเขาก็ไม่ได้กลับมาอยู่เมืองไทยอยู่ดี
ที่เป็นเช่นนี้มีเหตุผลอยู่ 2-3 ประการ
ประการแรก พ่อของสุรเดชมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสหรัฐอเมริกา เพราะพี่ชายคนที่ 2 ของเขาซึ่งไปเรียนต่อที่นั่นแล้วไม่ยอมกลับบ้าน จึงไม่ต้องการให้เขาไปใช้ชีวิต อยู่ในอเมริกาอีกคนหนึ่ง
ประการที่สอง เก่งตึ๊งเชื่อมั่นในตัวชอบ เพราะเป็นคนที่เก่ง มีวิสัยทัศน์และมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมามาก
ช่วงที่ชอบย้ายไปสร้างฐานธุรกิจที่ออสเตรเลียนั้น เขาได้สร้างธุรกิจเอาไว้ที่นั่นมากพอสมควร
ความยอมรับในตัวของชอบมิได้มีเฉพาะเก่งตึ๊งเพียงเท่านั้น เพราะตอนที่รัฐบาล สปป.ลาวเชิญให้ชอบกลับเข้ามาช่วย สร้างธุรกิจ และชอบเลือกที่จะทำธนาคารพาณิชย์ เขาได้ขอเงื่อนไขพิเศษจากรัฐบาล ว่าต้องการถือหุ้นในธนาคารแห่งนี้เต็ม 100% ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลในขณะนั้นไม่เคยให้กับใครมาก่อน
แต่ชอบได้รับเงื่อนไขนี้เพียงผู้เดียว
จุดนี้เป็นข้อแตกต่างระหว่างธนาคาร เวียงจันทน์พานิชกับธนาคารร่วมพัฒนา ซึ่งเป็นของตระกูลสิงห์สมบุญ กลุ่มธุรกิจจากประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใบแรกของ สปป.ลาวตั้งแต่เมื่อต้นทศวรรษ 2530
แม้ทั้ง 2 ธนาคาร เป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนที่ถูกจัดตั้งขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เกิดขึ้นจากการชักชวนนักลงทุนของไกสอน พมวิหานเหมือนกัน
แต่ธนาคารร่วมพัฒนา แม้จะเป็นธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เป็นแห่งแรกของ สปป.ลาว แต่ยังมีรัฐ คือธนาคารแห่ง สปป.ลาว ร่วมถือหุ้น อยู่ด้วย 30%
ขณะที่ธนาคารเวียงจันทน์พานิช ถือเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนแห่งแรกที่มีเอกชนถือหุ้นเต็ม 100%
ตระกูลสิงห์สมบุญเพิ่งจะซื้อหุ้นส่วน 30% ที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาวถืออยู่ คืนมา ได้เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว
(รายละเอียดอ่านเรื่อง “ธนาคารของคนไทย ใน สปป.ลาว” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
การที่เก่งตึ๊งสนับสนุนให้สุรเดชไปช่วยงานชอบ ก็เพราะเชื่อว่าเขาจะได้โอกาสเรียนรู้ประสบการณ์และวิธีคิดในการทำธุรกิจจากชอบ ซึ่งเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่ายๆ
“ไม่ใช่ว่าใครที่จะอยู่กับท่าน ได้เรียนรู้จากท่านได้ง่ายๆ พ่อบอกผมว่าเรียนได้แค่ 10% ก็พอแล้ว ถือว่าชาตินี้เรารอดแล้ว อยู่ประเทศไหนก็รอดแล้ว”
สุรเดชเชื่อในการตัดสินใจของพ่อ เขาเดินทางกลับเข้าไปในลาวอีกครั้ง เพื่อช่วยงาน ในธุรกิจของชอบ ซึ่งเขานับถือเป็น “ลุง”
“ตอนนั้นภาพในสมองเกี่ยวกับลาวไม่มีเลย ไม่รู้เลยว่าลาวเป็นยังไง แต่พ่อก็บอกว่าให้ไปลองดู ก็ตัดสินใจมาเต็มที่ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่ามาแล้วคุณลุงจะให้ทำอะไร”
ตำแหน่งแรกที่สุรเดชได้รับ คือรองผู้อำนวยการใหญ่ ธนาคารเวียงจันทน์พานิช
แต่เขาเป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ได้เพียงประมาณ 3 เดือน เมื่อผู้อำนวยการใหญ่คนเก่าลาออก เขาได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารธนาคาร ให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่แทน ขณะที่มีอายุยังไม่ถึง 30 ปี
“ทุกอย่างเลยตกมาอยู่ในภาระของผมทั้งหมด ตอนนั้นผมอายุก็ยังไม่ 30 เต็ม แต่หัวหน้างานทุกๆ คนที่อายุน้อยที่สุดก็ขึ้นหลัก 50 แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นอะไรที่เพรสเชอร์ ลงมาตูมเดียวเลย”
สุรเดชยอมรับว่าแม้เขาเพิ่งเรียนจบ MBA สาขาการเงิน มาจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นการเรียนในทางทฤษฎี ในทางปฏิบัติแล้ว เขาแทบไม่รู้เลย
สิ่งที่สุรเดชจะต้องทลายโจทย์ใหญ่ทั้งหลายที่ประดังเข้ามาในขณะนั้น ก็คือการหาเพื่อน หาพันธมิตร และบุคคลที่เขาสามารถเอาท์ซอร์สงานบางอย่างออกไปให้ทำได้
“ตอนนั้นตารางของผมเต็ม 24 ชั่วโมงเลย ตอนเช้าก็ต้องทำงานประจำที่ธนาคาร ตอนเย็นต้องไปหาข้อมูล หาพรรคพวก ตอนดึกก็คืออะไรที่เราจะต้องไปสร้างสายสัมพันธ์ เอาไว้ เพราะฉะนั้นชีวิตช่วงนั้นสนุกมาก แล้วเราก็ได้เรียนรู้ ได้รู้จักประเทศลาวมากขึ้น และรู้ว่าจะอยู่ที่นี่ จะค้าขายที่นี่ได้ต้องมีสายสัมพันธ์” เป็นสัจธรรมที่สุรเดชได้รับ
หลังจากเรียนรู้และทำงานอย่างหนัก งานในธนาคารเวียงจันทน์พานิชก็เริ่มลงตัว และผลงานเริ่มปรากฏขึ้นจากตัวเลขผลประกอบการที่ขยายตัวขึ้น
แม้จะมีงานประจำเป็นผู้อำนวยการใหญ่ให้กับธนาคารเวียงจันทน์พานิช แต่สุรเดชก็ยังต้องช่วยงานในธุรกิจอื่นๆ ของชอบไปพร้อมๆ กันด้วย โดยเป็นการไปช่วย ในนามของธนาคาร
ธนาคารเวียงจันทน์พานิชโดยสุรเดช ได้เข้าไปเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับโรงแรม ลาวพลาซ่า
รวมถึงงานที่ชอบได้รับการร้องขอจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล สปป.ลาวให้เข้าไปช่วย ฟื้นฟูโครงการลงทุนต่างๆ ที่รัฐบาลได้ร่วม ทุนกับภาคเอกชน แต่ประสบปัญหา โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการเงิน
พ.ศ.2544 (2001) หลังเข้ามาอยู่ใน ลาวประมาณ 5 ปี สุรเดชเริ่มมีความรู้สึกอยากกลับเมืองไทยเป็นครั้งแรก เมื่อเขานำเรื่องไปปรึกษากับเก่งตึ๊งผู้เป็นพ่อ เก่งตึ๊ง ให้คติธรรมที่ทำให้เขาต้องเปลี่ยนความคิด
“ท่านบอกว่า คนเรานะ จะไปที่ไหน ก็ตาม เมื่อเราเดินเข้าประตูหน้า เราต้อง เคลียร์ให้จบ แล้วเดินออกประตูหน้าด้วย”
ความหมายของเก่งตึ๊งที่ต้องการสื่อกับสุรเดช ก็คือชอบยังต้องการให้สุรเดช ช่วย ก็สมควรที่จะต้องอยู่ช่วยลุงต่อไป
ในช่วงที่สุรเดชเริ่มมีความคิดอยากกลับบ้านนั้น เป็นช่วงที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาล สปป.ลาวมาขอให้ชอบช่วยเข้าไปดูโครงการโรงไม้ที่เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลร่วมทุนกับเอกชน แต่เอกชนผู้ร่วมทุนถอนตัวไปขณะที่โครงการเดินหน้าไปแล้ว 50%
ในอดีต ชอบเคยทำธุรกิจโรงไม้มาก่อนจึงมีความรู้ในธุรกิจนี้เป็นอย่างดี
แต่ชอบได้มอบหมายให้ธนาคารเวียงจันทน์พานิชในนามนิติบุคคลเข้าไปสานต่อ ซึ่งหมายถึงตัวบุคคลที่ต้องเป็นหลักในโครงการนี้ ก็คือสุรเดช
“ผมเข้าไปทำหน้าที่ financial controller ให้ เรียกว่าติดตามตั้งแต่เริ่มนำของเข้ามา โครงการนี้ทำให้ผมได้อยู่ต่ออีก”
สุรเดชใช้เวลาในการดูแลโครงการโรงไม้แห่งนี้ 2 ปี จนโครงการเสร็จสมบูรณ์ จึงเตรียมมอบโครงการคืนให้กับรัฐบาล
ระหว่างรอการส่งมอบโครงการอยู่นั้น ผู้ใหญ่ในรัฐบาล สปป.ลาวมาร้องขอความช่วยเหลือจากชอบอีกครั้ง คราวนี้ให้เข้าไปช่วยดูโครงการโรงบดปูนซีเมนต์สะหวันนะเขต ซึ่งเป็นโรงงานในเครือของบริษัทปูนซีเมนต์วังเวียง
ปัญหาของโครงการนี้คือมีการใส่เงินลงทุนไปแล้ว แต่โครงการกลับไม่เดินหน้า เมื่อสุรเดชเข้าไปดูโครงการครั้งแรก สินทรัพย์ของโครงการมีที่ดินเพียง 1 แปลงที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ เขาจึงต้องมานั่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการใหม่ รวมถึงต้องแสวงหา ความรู้เรื่องอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์อีกด้วย
“โครงการนี้เป็นโครงการที่ไม่ได้อยู่ในฟิลด์ที่เราสนใจ อย่างไม้นี่ ท่านประธาน (ชอบ) อดีตท่านก็ทำโรงไม้มาตลอด เพราะฉะนั้นท่านรู้ดี ท่านถนัด แต่ปูนเป็นอะไรที่ไม่มีใครมีความรู้เลย แล้วท่านก็ส่งข้อมูลมา ผมก็ต้องไปหาพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ไทย แล้วก็ศึกษาดูว่า มีความเป็นไปได้ขนาดไหน พอศึกษาไปศึกษามาพบว่าใช้ได้ จากนั้นก็เลยลงไปช่วย”
ความหมายของคำว่า “ใช้ได้” จากผลการศึกษาของสุรเดช คือการที่โรงงานแห่งนี้ เป็นโรงงานในเครือของปูนซีเมนต์วังเวียง เจ้าของแบรนด์ปูนซีเมนต์ตรากระทิง ซึ่งเป็นแบรนด์ของปูนซีเมนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของลาวในขณะนั้น (ไม่นับแบรนด์ปูนซีเมนต์จากประเทศไทย)
โรงงานหลักของปูนซีเมนต์วังเวียง ตั้งอยู่ที่เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ แต่เพื่อให้ สามารถกระจายสินค้าให้ได้ทั่วถึงทุกแขวง โดยไม่มีภาระทางด้านต้นทุนการขนส่ง โดยเฉพาะในแขวงทางภาคใต้ จึงจำเป็นต้องไปตั้งโรงงานบดปูนซีเมนต์เม็ดอยู่ที่แขวงสะหวัน นะเขตเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง
บทบาทของโรงงานที่สะหวันนะเขต คือนำปูนซีเมนต์เม็ดจากโรงงานที่วังเวียง มาบดแล้วผสมตามสูตร ก่อนบรรจุถุงขายภายใต้แบรนด์ตรากระทิงในแขวงภาคใต้ของลาว ซึ่งหากช่วงไหนปูนซีเมนต์เม็ดจากวังเวียงเกิดขาด โรงงานที่สะหวันนะเขตก็สามารถนำปูนซีเมนต์จากไทย หรือเวียดนามเข้ามาทดแทนก็ได้
จุดเด่นของโรงงานนี้คือที่ตั้งของโรงงานซึ่งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต เป็นแขวงที่มี แหล่งแร่ยิปซัมอยู่เป็นจำนวนมาก ยิปซัมถือเป็นวัตถุดิบสำคัญตัวหนึ่งในการผลิตปูนซีเมนต์ ดังนั้นเมื่อรถขนปูนซีเมนต์เม็ดจากวังเวียงมายังสะหวันนะเขต ขากลับสามารถขนยิปซัมกลับไปโรงงานที่วังเวียงได้ ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการขนส่ง
“เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อดูตลาดแล้วถือว่าตลาดปูนซีเมนต์ทางใต้ไปได้ แล้วขนาดของโรงงานก็ไม่ใหญ่เกินไป ตอนนั้นทำแค่ 2.5 แสนตันต่อปี ก็เรียกว่าโอเค ตลาดไปได้ กำไรดี ก็เข้าไปร่วมทุนทำ”
สุรเดชเข้าไปในนามผู้จัดการโครงการ (Project Manager) ในฐานะตัวแทนของธนาคารเวียงจันทน์พานิช
เขาดูแลโครงการนี้จนโรงงานสร้างเสร็จ เริ่มผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ออกสู่ตลาดได้แล้ว ชอบก็ให้ธนาคารขายหุ้นที่ถืออยู่ในโรงงานแห่งนี้กลับคืนสู่รัฐบาล
“คือท่านชอบบอกว่าโครงการนี้เป็น การช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นกติกาก็คือช่วยเหลือ เมื่อโรงงานสามารถทำกำไรได้ ก็ให้มาซื้อคืนตามราคาซึ่งได้นำบริษัทตรวจสอบ บัญชีมาตรวจสอบเลยว่ามูลค่าปัจจุบันของโครงการนี้เป็นเท่าไร แล้วก็มีการตกลง ซื้อขายกัน”
แม้ว่าได้ขายหุ้นในโรงงานบดปูนซีเมนต์ที่สะหวันนะเขตคืนรัฐบาลไปแล้ว แต่ทั้งชอบและสุรเดชก็ยังไม่หลุดไปจากวงโคจรของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะชอบ เขาได้รับสัมปทานและใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่แขวงคำม่วน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ที่ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว
ปี พ.ศ.2547 ชอบจัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรมซีเมนต์ลาว โดยร่วมทุนกับกลุ่มชิโน-ไฮโดรจากสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ มีกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี ผลิตปูนซีเมนต์ภายใต้แบรนด์ตรา “สิงห์ทอง”
เงินลงทุนในโครงการนี้สูงถึง 70 ล้านดอลลาร์
(อ่านเรื่อง “คำม่วน ชุมทางใจกลาง Land Link” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมกราคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
แน่นอน สุรเดชได้เป็น Project Manager ให้กับโครงการนี้อีกเช่นเคย
ถ้ามองว่าที่ตั้งของโรงงานบดปูนซีเมนต์เม็ดของปูนซีเมนต์วังเวียงที่สะหวันนะเขต เป็นแหล่งที่มีศักยภาพ เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งแร่ยิปซัมจำนวนมากแล้ว
โรงงานของบริษัทอุตสาหกรรมซีเมนต์ลาวที่คำม่วน กลับยิ่งมีศักยภาพมากกว่า เพราะอยู่ท่ามกลางแหล่งหินปูนขนาดใหญ่ของลาว และหินปูนที่นี่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หากตารางเวลาของสุรเดชในช่วงเริ่มต้นที่เขาเข้าไปเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ธนาคารเวียงจันทน์พานิช คือ 24 ชั่วโมงใน 1 วัน
มาถึงตอนที่เขาต้องเข้าไปเป็น Project Manager ให้กับบริษัทอุตสาหกรรมซีเมนต์ลาว ซึ่งแม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ตารางเวลาของเขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม เพราะสุรเดชต้องทำงาน 7 วันใน 1 สัปดาห์
ที่สำคัญ เขาต้องวิ่งรอกไปมาระหว่างเวียงจันทน์และคำม่วน
“วันจันทร์ถึงพฤหัสบดี ผมอยู่แบงก์ พอเย็นวันพฤหัสก็ต้องเดินทางมาคำม่วน อยู่ คำม่วนจนถึงเย็นวันอาทิตย์ก็เดินทางกลับเวียงจันทน์ ตอนนั้นผมอายุยังน้อยและเป็นคนที่สนุกกับการทำงาน ทำได้ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย”
สุรเดชใช้ชีวิตอยู่ระหว่างเวียงจันทน์กับคำม่วนทั้งในการดูแลงานที่ธนาคารและที่โรงงานปูนซีเมนต์อยู่ประมาณ 4 ปี จนโรงงานปูนซีเมนต์เปิดเดินเครื่องในปี พ.ศ.2551 (2008) จึงถอนตัว เพื่อกลับมาทุ่มเทเวลาให้กับงานที่ธนาคารเวียงจันทน์พานิชอย่างเต็มที่
แต่โจทย์ที่เขาได้รับมอบหมายในธนาคารรอบนี้ ไม่ใช่เรื่องของแผนการขยายกิจการ แต่กลับเป็นเรื่องของการขายกิจการธนาคารแทน
“ตอนนั้นผู้ถือหุ้นหลายๆ ท่านก็บ่นว่าเหนื่อยแล้ว วิชาความรู้ก็ไม่พอที่จะนำพาให้ ขยายงาน เพราะตอนนั้นลาวเริ่มเปิดประเทศ เริ่มมีธนาคารใหม่ๆ เข้ามามาก โดยเฉพาะ ธนาคารจากเวียดนาม ซึ่งน่ากลัวมาก เข้ามาถึงก็แอคเกรสซีพ ท่านชอบก็บอกว่า อันนี้เป็นการบ้านชิ้นสุดท้ายนะ ขอให้ช่วยหน่อย”
สุรเดชต้องกลับมาใช้ชีวิตไปกับการเดินทางอีกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่ไปต่างแขวง แต่เป็นการเดินสายขายกิจกาธนาคารในต่างประเทศ
เขาใช้เวลาในการเดินทางไปคุยกับผู้ลงทุนในประเทศต่างๆ ประมาณ 6 เดือน สุดท้ายก็มาได้ข้อสรุปที่ธนาคาร ANZ จากออสเตรเลีย
สาเหตุที่ธนาคาร ANZ ให้ความสนใจจะเข้ามาในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ของลาว เนื่องจากออสเตรเลียมีการลงทุนอยู่ในลาวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการเหมืองทองคำ ทั้งที่เซโปน แขวงสะหวันนะเขต ในนามบริษัทล้านช้าง มิเนอรัลและในนามบริษัทภูเบี้ย ไมนิ่ง ที่แขวงเวียงจันทน์
ANZ ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารเวียงจันทน์พานิช และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคาร ANZ เวียงจันทน์พานิชในปี พ.ศ.2552 (2009) ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนขายหุ้นและถอนตัวออกจากธนาคารหมด ยกเว้นสุรเดช เพราะเขามีเงื่อนไขว่าต้องอยู่กับธนาคารในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านระหว่างผู้ถือหุ้นทั้ง 2 กลุ่ม ต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน
เมื่อการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นเสร็จสมบูรณ์ สุรเดชได้ลาออกจากธนาคารเวียงจันทน์พานิชอย่างเต็มตัว ในปลายปี พ.ศ.2552
ณ วันที่เขาลาออก พอร์ตโฟลิโอของเวียงจันทน์พานิช โตขึ้นจากวันแรกที่เขาเริ่มเข้าไปทำงานประมาณ 5 เท่าตัว
ตอนที่สุรเดชออกจากธนาคารใหม่ๆ ชอบชวนให้เขากลับไปทำงานที่โรงงานปูนซีเมนต์ที่คำม่วน แต่เขาจำเป็นต้องปฏิเสธไป เพราะเห็นว่าเป็นสายงานที่ไม่ถนัด และเขายังรักที่จะทำงานในสายการเงินอยู่
“คือไม่ใช่ธรรมชาติของเรา ผมรู้ ตัวเองว่าผมไม่ใช่คนโรงงาน ผมควรจะอยู่สายบริการคือคนโรงงานนี่คุณต้องมีความดุ ต้องอีกคาแรกเตอร์หนึ่ง ต้องโวยวาย คือโรงงาน ถ้าเราพูดเพราะๆ เขาก็ไม่ทำงาน งานก็ไม่เดิน ก็รู้สึกเป็นเพรสเชอร์ก็เลยขออนุญาตท่าน”
ความจริงสุรเดชเริ่มมีความรู้สึกว่าเหนื่อยในบทบาทที่ได้รับ ตั้งแต่ช่วงที่โรงงาน ปูนซีเมนต์แห่งนี้ใกล้สร้างเสร็จ ในตอนต้นปี พ.ศ.2551 แล้ว ความรู้สึกในช่วงนั้น เขาอยากจะออกมาสร้างธุรกิจอะไรบางอย่าง ที่เป็นของตัวเอง
เขาเคยกลับไปปรึกษาเก่งตึ๊ง พ่อของเขาอีกครั้ง และก็ได้รับกำลังใจและคติเตือนใจกลับมาอีกเช่นเคย
“ท่านบอกว่าการที่จะออกมาทำอะไร พื้นฐานต้องแน่น คนที่พื้นฐานดีนั้นได้เปรียบ มีคนออกมาทำอะไรเองเยอะแยะเลย แต่มีไม่ถึง 10% ที่เขาสำเร็จ ให้คิดเสียว่า ไปเรียนหนังสือนะ ไปเรียนดอกเตอร์ยังเสียตังค์ อันนี้ไปเรียนที่ลาวได้ตังค์ แล้วท่านก็ย้ำว่าคนเรา เรียนรู้ไม่จบไม่สิ้น ขอให้เรามีความตั้งใจแล้วก็อดทน แล้วก็พยายาม เขาเรียกตักตวงความรู้ ไม่ใช่ตักตวงเงินทอง ถึงเวลาเงินทองมันจะมาเอง ตอนนั้นเราก็ยังไม่เข้าใจ มีที่ไหนเงินทองมันจะมาเอง แต่ก็โอเค เราก็ทำตาม”
หลังจากนั้นไม่นาน พ่อของเขาก็เสียชีวิต
ตอนที่สุรเดชถอนตัวออกจากโรงงานปูนซีเมนต์ใหม่ๆ เพื่อมาทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานที่ธนาคาร เขาเริ่มมองหาลู่ทางการลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจของตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย
เขาได้ไปขอรับคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ที่นับถือทุกคน
เขาคิดว่า เมื่อดีลการขายหุ้นธนาคารเวียงจันทน์พานิชจบลงไปแล้ว เขาก็จะมีอิสระที่จะไปทำอะไร ที่ไหน ก็ได้ เขาจึงต้องการตกผลึกความคิดตรงนี้ให้ได้เสียก่อน
สุรเดชได้มาขอคำปรึกษาจากผู้ที่เขานับถือเป็นลุงอีกคนหนึ่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาอยู่ในไทยเหมือนกับพ่อของเขา ลุงคนนี้ได้ให้แนวคิดที่มีประโยชน์ต่อเขา
“ท่านบอกว่า ฉันก็นั่งเรือมาจากจีน ฉันบอกกับตัวเองว่า ฉันอยู่มาแล้ว 4 ประเทศ ที่ไหนๆ ก็เหมือนกันหมดนั่นแหละ ขอให้ที่นั่น คนรอบๆ ข้างเรา เขาดีใจที่เห็นเราอยู่ เราสามารถหาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้ เรามีความสุขกับสิ่งแวดล้อมตรงนั้น นั่นแหละคือบ้านของเรา แค่นั้นเอง”
ก่อนหน้าจะได้รับคำปรึกษาครั้งนี้ สุรเดชเคยคิดว่าเมื่อออกจากธนาคารเวียงจันทน์ พานิชแล้ว เขาอาจจะกลับมาอยู่เมืองไทย หรือไม่ก็ไปสร้างกิจการที่เวียดนาม แต่เมื่อได้รับฟังคุณลุงท่านนี้แล้ว เขาจึงได้ข้อสรุปทันทีว่า บ้านของเขาอยู่ใน สปป.ลาวนั่นเอง
เกรียงศักดิ์ สะหวันวารี พ่อตาของสุรเดช เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ให้แง่คิดที่เป็นประโยชน์ สร้างแรงบันดาลใจให้เขาต้องออกมาแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆ ในตลาดการเงินของลาว
เมื่อภาพแนวทางในอนาคตเริ่มชัดเจนขึ้น บุคคลสำคัญที่สุรเดชต้องไปขอ รับคำปรึกษา สุดท้ายทำให้เขาสามารถ สร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้สำเร็จ ก็คือพูเพ็ด คำพูนวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว
ด้วยความที่สุรเดชมีบทบาทอยู่ในวงการธนาคารพาณิชย์ของลาวมามากกว่า 10 ปี และผลงานของเขาที่ทำไว้ที่ธนาคาร เวียงจันทน์พานิช ได้สร้างความน่าเชื่อถือในตัวเขาให้กับพูเพ็ดมากพอจนเกิดเป็นความไว้วางใจ
“ท่านบอกว่าที่ลาว ธุรกิจการเงินมี 3 ระดับ ก็คือธนาคาร ซึ่งคุณก็ผ่านมาเป็น 10 ปี คุณรู้ดีแล้วล่ะ และก็มีธนาคารค่อนข้างเยอะแล้ว จากนั้น อีกสายหนึ่งก็คือสถาบันการเงินขนาดกลาง ซึ่งปัจจุบันมีคนได้ใบอนุญาตไป แต่เพอร์ฟอร์มแบบขนาดล่าง ขนาดล่างนี่ก็คือพวกการเงินจุลภาค เป็นพวกโรงรับจำนำ ซึ่งที่ลาวเรียก โรงซวดจำ มีเต็มไปหมด ท่านบอกว่า ตรง กลางนี่มีคนอยากได้มาก แต่ไม่มีคนทำเป็น ผมเลยเสนอกับท่านว่าผมสนใจ เพราะว่าผมก็อยากจะเปิดตลาดอะไรใหม่ๆ มาสร้าง ความเปลี่ยนแปลงให้ตลาดการเงินของลาว ท่านถามย้ำว่าสนใจจริงๆ ใช่ไหม ก็ตอบว่า จริงครับ ท่านก็บอก ถ้างั้นก็ทำเลย”
(อ่าน “เปิดนโยบายการเงินลาว” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ต้นปี 2552 สุรเดชได้รับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจลีสซิ่งจากธนาคารแห่ง สปป. ลาวขณะนั้น เขายังเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ธนาคารเวียงจันทน์พานิช
เดือนสิงหาคม 2552 บริษัทธนทรัพย์ลีสซิ่ง แอนด์ ไฟแนนซ์ เริ่มเปิดดำเนินการ โดยมีสุรเดชเป็นผู้อำนวยการใหญ่
เขาต้องรับภาระทั้งการสร้างบริษัทใหม่ที่เป็นของตนเองไปพร้อมกับการเคลียร์ งานที่ธนาคารเวียงจันทน์พานิช เพื่อพร้อม ส่งมอบให้กับผู้บริหารชุดใหม่จาก ANZ
สิ้นปี 2552 หลังจากสุรเดชลาออกจากธนาคารเวียงจันทน์พานิช เขาจึงเริ่มต้นลุยธุรกิจของธนทรัพย์ลีสซิ่ง แอนด์ ไฟแนนซ์อย่างเต็มตัว
(อ่านเรื่อง “ธนทรัพย์ลีสซิ่ง เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่เช่าซื้อ” ประกอบ)
นับตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน สุรเดชได้เข้ามาใช้ชีวิตใน สปป.ลาวมาแล้วถึง 15 ปีเต็ม
เขามองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และพัฒนาการของธุรกิจในลาวมาอย่างต่อเนื่อง
15 ปีเต็มที่อยู่กับภาคธุรกิจของลาว ทั้งในฐานะผู้บริหารมืออาชีพ จนกระทั่งได้มาเป็นเจ้าของกิจการ เขาได้แบ่งพัฒนาการทางธุรกิจของลาวออกเป็น 3 ช่วง
ช่วง 5 ปีแรก นับจากที่เขาก้าวเท้าเข้ามาอยู่ในลาว แม้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจลาวเริ่มมีสัญญาณกระเตื้องขึ้น จากผลพวงของนโยบายเปิดประเทศ แต่อัตราการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจยังมีไม่มากเท่าไร เพราะคนลาวส่วนใหญ่ยังมีความสมถะ ไม่ติดยึดกับวัตถุ ประกอบกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเตรียมรับกับสภาพของเศรษฐกิจ ในระบบทุน
ช่วง 5 ปีที่สอง เป็นช่วงที่ทุนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เศรษฐกิจเริ่มหมุนเวียนไปตามระบบทุน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีพัฒนาการก้าวหน้าไปกว่าภาครัฐ ทำให้การหมุนเวียนของเศรษฐกิจ แม้จะเริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังทำได้ไม่เต็มที่
ช่วง 5 ปีสุดท้าย ซึ่งเริ่มมาแสดงผลให้เห็นในขณะนี้ เป็นช่วงที่ภาครัฐและเอกชนมีพัฒนาการที่เท่าเทียมกัน อัตราการหมุนเวียนของเศรษฐกิจเริ่มปรากฏชัด จนเรียกได้ว่า สปป.ลาวได้ก้าวเข้ามาอยู่ในยุคของการเฟื่องฟู
ธุรกิจของสุรเดชได้เกิดขึ้นในช่วงนี้พอดี
“ในสายตาผม ก็เป็นสามยุค แต่ถ้าถามผมว่าชอบยุคไหนที่สุด ผมชอบยุคแรก ยุคแรกเป็นยุคที่ผมลุยได้โดยไม่ต้องระวังหลังเลย คือรู้ว่าถ้าพลาด ก็คือพลาดด้วยความจริงใจ พลาดด้วยความสุจริตใจ เรียกว่าไม่มีวาระซ่อนเร้น แต่พอยุคต่อมานี่ คือสนุกกับงาน สนุกกับการเติบโต แต่ว่าพอสนุกกับการเติบโต ก็ต้องมีตัวแปรตรงที่ภาครัฐซึ่งอยู่ข้างบนอาจจะยังงงๆ อยู่ ส่วนภาคเอกชนที่อยู่ด้านล่างก็ยังห้าสิบ ห้าสิบ พอมายุคนี้ เรียกได้ว่า เปิดหมดแล้ว ทุกอย่างรับรู้แล้ว นิ่งแล้ว คราวนี้ภาระใหม่ก็คือ เราก็ไม่ได้มอง ณ ตรงนี้แล้ว เราต้องมองไปถึงอนาคตที่ธุรกิจข้ามชาติกำลังจะเข้ามา”
ซึ่งโจทย์ข้อนี้เป็นภารกิจหลักของเขาที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับธนทรัพย์ลีสซิ่ง แอนด์ ไฟแนนซ์ เพื่อที่จะสามารถก้าวเดินต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|