Women's Leadership Exchange Program

โดย ศศิภัทรา ศิริวาโท
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุกวันนี้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันในสังคมระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากการที่หลายๆ หน่วยงานพยายามช่วยกันส่งเสริมให้ผู้หญิงได้รับสิทธิในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในที่ทำงาน บทบาทของผู้หญิงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน นอกจากจะพยายามเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหารแล้ว ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานหรือผู้ให้คำปรึกษากับผู้บริหารหญิงหรือพนักงานหญิงในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงเดินไปถูกทางในการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับในการเป็นหัวหน้า

ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงคุณสมบัติของผู้หญิงที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำว่า จะต้องมีทัศนวิสัยที่กว้าง รู้จักการคิดนอกกรอบ เปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส และจะต้องตามทันเทคโนโลยีใหม่ๆ หากว่าผู้หญิงมีคุณสมบัติเหล่านี้แล้วก็มักจะเป็นที่ยอมรับในสังคม และได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำ หากแต่เมื่อขึ้นไปทำงานในระดับบริหารแล้ว ผู้หญิงยังคงต้องเผชิญกับปัญหา ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่าคอนเน็กชั่น การติดต่อประสานงานและการรู้จักผู้คนในสายงานอาชีพต่างๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับผู้บริหาร และผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่ก็มักจะมีคอนเน็กชั่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่ขาดคอนเน็กชั่นนั้นก็น่าจะเป็นเพราะว่า ผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่เมื่อเลิกงานแล้วจะตรงกลับบ้านเพื่อไปดูแลครอบครัวมากกว่าที่จะออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ หรือเจ้านายเหมือนกับผู้ชาย ปัญหาเรื่องของการแบ่งเวลาให้ลงตัวระหว่างการทำงานและครอบครัวนั้น ถือได้ว่าเป็นปัญหาหลักของผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ เพราะเมื่อต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน จึงทำให้มีเวลาไม่พอในการดูแลครอบครัว

เมื่อเรื่องคอนเน็กชั่นเป็นปัญหาสำหรับผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่ องค์กร Women’s Leadership Exchange หรือที่เรียกย่อๆ ว่า WLE จึงถูกจัดตั้งขึ้นโดย Leslie Grossman ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทการตลาดชั้นนำที่นิวยอร์กและเป็นคนให้คำปรึกษาแก่นักธุรกิจหญิงมามากกว่า 20 ปี Leslie เริ่มมีกิจการเป็นของตัวเองเมื่อตอนอายุ 25 ปี และ Andrea March ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรอีกคนก็ทำธุรกิจส่วนตัวเช่นกัน พวกเธอทั้งสองคนล้วน เคยเป็นผู้บริหารมาก่อน รู้ว่าการเป็นผู้บริหารหญิงนั้นไม่ง่ายเลย จึงได้ช่วยกันจัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนนักธุรกิจหญิง

WLE มีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้ผู้หญิง ที่ทำงานในสายงานต่างๆ ได้มาทำความรู้จักกัน โดยทำการรวบรวมผู้บริหารหญิงในสหรัฐอเมริกาที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในแต่ละสาขาอาชีพ เช่นเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารระดับซีอีโอใน บริษัทต่างๆ หรือแม้กระทั่งข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐมาทำความรู้จักและแลก เปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานกัน เช่น มีการจัดงานสัมมนาขึ้นในแต่ละปี เพื่อให้ผู้บริหารหญิงจากทุกสาขาอาชีพที่ทำงานอยู่ต่างรัฐและคนละประเทศได้มีโอกาสมาทำความรู้จักกันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานกัน ในงานสัมมนาแต่ละ ครั้งก็มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน

นอกจากนี้ WLE ยังเปิดสอนหลักสูตรสำหรับ ผู้บริหารหญิง โดยเน้นไปที่วิธีการสร้างคอนเน็กชั่นในการทำงาน และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาที่ผู้บริหารหญิงส่วนใหญ่มักจะเจอในที่ทำงาน เพราะโดยปกติแล้ว ผู้บริหารหญิงมักจะขาดคนให้คำปรึกษาในเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ เนื่องจากว่าผู้บริหารหญิงมีจำนวนที่น้อยมาก เมื่อมีปัญหาจึงไม่รู้ว่าจะไปปรึกษาใครได้

เมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐอเมริกาและจีนได้มีการตกลงร่วมกันที่จะให้ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ ในการเป็นผู้นำในแต่ละประเทศได้ไปดูงานและทำความรู้จักกันไว้ เพื่อเป็นการเพิ่มคอนเน็กชั่นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน โดยจัดตั้งโปรแกรม U.S.-China Women’s Leadership Exchange and Dialogue หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Women-LEAD ขึ้นมา

โปรแกรม Women-LEAD มีวัตถุประสงค์หลักๆ คือให้โอกาสผู้บริหารหญิงของจีนและสหรัฐ อเมริกา และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมระหว่างผู้ชายและผู้หญิง โปรแกรมแลกเปลี่ยนนี้ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยการส่งผู้บริหารหญิงของจีนจำนวน 30 คน ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่หสหรัฐอเมริกา โดยจะได้พบกับผู้บริหารหญิงของอเมริกาในสาขาอาชีพที่หลากหลายเพื่อเป็นการสร้างคอนเน็กชั่นและพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ ในการทำงาน เช่น ผู้บริหารหญิงของจีนทั้ง 30 คนได้มีโอกาสพูดคุยกับ Mona Locke ผู้สื่อข่าวหญิงชาวจีนอเมริกัน และเป็นภรรยาของ Gary Locke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

การพบปะพูดคุยกันในครั้งนี้พวกเธอได้พูดคุยถึงปัญหาทั่วไปที่ต้องพบเจอในการทำงาน การแบ่งเวลาให้ลงตัวระหว่างการทำงานและครอบครัว การเผชิญกับปัญหาทางสังคมในด้านต่างๆ เช่น การหย่าร้าง ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น การเพิ่ม โอกาสในสังคมให้กับผู้หญิง และการเพิ่มแรงบันดาล ใจให้กับผู้หญิงในการก้าวขึ้นไปทำงานในระดับผู้บริหาร หรือระดับอาวุโสในทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังเชื่อว่า ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ วิทยาศาสตร์ หรือเทคโนโลยี จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้หญิงในจีนและอเมริกาในการก้าวขึ้นไปทำงานในระดับผู้บริหารได้มากขึ้นในอนาคต เพราะพวกเธอจะรู้ว่ามีอุปสรรคอย่างไรในการจะเป็นผู้บริหารหญิง และควรจะต้องมีการเตรียมตัว อย่างไรเพื่อจะได้เป็นผู้บริหารหญิง

โปรแกรม Women-LEAD ยังเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ อเมริกาและจีนด้วย โดยให้ผู้หญิงของทั้งสองประเทศ เป็นตัวแทนไปแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น ทางประเทศจีนต้องการให้ผู้บริหารหญิงมาดูงานเรื่องเทคโนโลยี ที่ใช้ในการเกษตร ทางสหรัฐอเมริกาจึงจัดให้ไปดูงาน ที่ Silicon Valley เพื่อนำความรู้กลับไปปรับปรุงการเกษตรตามชนบทที่ประเทศจีน ซึ่งทั้งสองประเทศเชื่อว่าความรู้ที่ได้ในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเติบโตมากยิ่งขึ้นไปอีก และยังทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นตามมาอีกด้วย

โปรแกรมการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ องค์กรส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและจีนมองว่า เป็นการเริ่มต้นที่ดีและมีความสำคัญมาก เพราะโปรแกรมนี้ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและจีนดีขึ้นเรื่อยๆ และยังช่วยให้ผู้บริหารหญิงที่ทำงานในสายงานเดียวกันได้รู้จักกันและแลกเปลี่ยนความรู้กัน

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว โปรแกรม Women-LEAD ยังเป็นโปรแกรมที่จะช่วยผลักดันให้ผู้นำหญิงของจีนเห็นความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมกันในสังคมระหว่างผู้ชายและผู้หญิงมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงในประเทศจีนยังได้รับสิทธิในสังคมน้อยกว่าผู้ชายเยอะมาก และโปรแกรมนี้จะทำให้จีนไม่ท้อถอยที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน เพราะว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่และต้องค่อยๆ แก้ไขไป แม้กระทั่งอเมริกาที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้ ดังนั้นจีนจึงไม่ควรมองข้ามและท้อถอยในการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

นอกจากนี้ Hillary Clinton ซึ่งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้พูดถึงโปรแกรม Women-LEAD ว่าโปรแกรมนี้เพิ่งเริ่มต้นเพียงเท่านั้น และการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จะช่วย ให้ผู้นำหญิงจากจีนที่มาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้น มีรัฐบาลที่บริหารจัดการงานได้เป็นอย่างดี และเรื่องสิทธิมนุษยชนก็จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะว่าผู้นำหญิงจีนเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเรื่องผู้หญิงในจีนในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการจัดประชุมนานาชาติเรื่องผู้หญิงครั้งที่ 4 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดประชุมโดยองค์การสหประชาชาติ (The Fourth UN Conference on Women in Beijing) Hillary ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โปรแกรม Women-LEAD จะทำให้เรื่องสิทธิของผู้หญิงเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องสิทธิมนุษยชนคือเรื่องสิทธิของผู้หญิง

ดังนั้น เรื่องสิทธิของผู้หญิงจะได้รับความสนใจในการแก้ปัญหามากขึ้น อย่างเช่นปัญหาเรื่องจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในระดับผู้บริหารมีน้อยมาก ตอนนี้หลายๆ ประเทศจึงมีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวน ผู้หญิงในระดับผู้บริหารให้มีมากขึ้น เพราะนอกจากจะแก้ไขปัญหาเรื่องจำนวนผู้บริหารหญิงแล้วยังจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมด้วย

ถ้าหากว่า บ้านเรามีองค์กร WLE บ้างก็คง จะดีไม่น้อยเลย ผู้หญิงที่ทำงานในสายงานต่างๆ จะได้ขอคำปรึกษาได้ว่า ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรและทักษะแบบไหนที่พวกเธอจำเป็นต้องมีในการเลื่อนตำแหน่งไปทำงานในระดับผู้บริหารหรือระดับอาวุโสแล้วจะเป็นที่ยอมรับ เพราะว่าผู้หญิงในที่ทำงานส่วนใหญ่มักจะขาดต้นแบบและคนคอยให้คำ แนะนำในที่ทำงานเกี่ยวกับอุปสรรคต่างๆ ในการทำงานซึ่งไม่มีเขียนไว้ในกฎของบริษัท และในที่สุดถ้าหากผู้หญิงสามารถรู้ได้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรและจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาแบบไหน ก็จะทำให้ ผู้หญิงสามารถเตรียมตัวให้พร้อมและมีทักษะสำคัญ ที่จำเป็นต่อการเป็นผู้บริหาร

ดังนั้น จำนวนผู้หญิงที่จะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปทำงานในระดับผู้บริหารก็จะมีมากขึ้น และท้ายที่สุดอันดับของประเทศไทยในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมดีขึ้นไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม
- ผู้นำหญิง นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนเมษายน 2554


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.