ใครจะช่วยกู้เศรษฐกิจโลก?


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2008 เมื่อ Lehman Brothers ล้ม ราคาหุ้นดิ่งเหว Wall Street พังทลาย การเงินและการค้าทั่วโลกหยุดชะงัก รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกได้ก้าวเข้ามาช่วยกู้เศรษฐกิจโลกเอาไว้ แม้ว่า “เศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่” (Great Recession) ในวันนั้น จะน่ากลัวอย่างยิ่ง เป็นเศรษฐกิจขาลงที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา แต่มันคงจะน่ากลัวไปกว่านั้นอีกมาก หากปราศจากการแทรกแซงด้วยเม็ดเงินมหาศาลโดยพร้อมเพรียงกันจากบรรดาผู้นำทั่วโลก

มาบัดนี้ 3 ปีให้หลัง โลกกำลังเผชิญความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเงินครั้งใหม่ ตลาดหุ้น Wall Street ร่วง ตลาดหุ้นเอเชียร่วงตาม ตลาดหุ้นโตเกียวปิดร่วงลง 1.7% ฮ่องกง 5.7% เกาหลีใต้ 3.6% (หลังจากเพิ่งร่วงลงไป 9.9%) เกิดความกลัวกันไปทั่วว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไถลลงไปสู่การถดถอยเป็นครั้งที่ 2 และอาจจะพลอยฉุดลากเศรษฐกิจโลกให้ดิ่งลงตามไปด้วย ส่วนในยุโรป วิกฤติหนี้สาธารณะก็กำลังลามเหมือนไฟลามทุ่ง

แต่คราวนี้จะมีใครหรือ ที่จะมาช่วยกอบกู้เศรษฐกิจโลกได้

ที่แน่ๆ คือไม่ใช่รัฐบาลอย่างแน่นอน ในปี 2011 รัฐบาลเองกลับกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง บรรดาผู้กำหนดนโยบายในประเทศต่างๆ ไม่เหลือความสามารถ ไม่ว่าจะทางการเงินหรือการเมืองที่จะทำตัวเป็นอัศวินขี่ม้าขาว มากอบกู้โลกได้อย่างทันท่วงที เหมือนกับในปี 2008 ได้อีกแล้ว ความจริงข้อนี้จะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

เพื่อให้เห็นชัดในประเด็นนี้ ต้องลองเปรียบเทียบสาเหตุของความวุ่นวายทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน กับเมื่อ 3 ปีก่อน ในปี 2008 ปัญหาเกิดจากภาคการเงิน หลุมลึกที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ subprime และฟองสบู่ในตลาดบ้าน รัฐบาลสามารถยื่นมือเข้ามา ช่วยด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการอัดฉีดสภาพ คล่อง เพื่อกอบกู้ธนาคารและปล่อยสินเชื่อได้อีกครั้งหนึ่ง รักษาเสถียรภาพของตลาด และสร้างความต้องการบริโภคใหม่ๆ

ส่วนสาเหตุของความไร้เสถียรภาพทางการเงินในปัจจุบัน รัฐบาลกลับเป็นตัวต้นเหตุ ในสหรัฐฯ แผนปฏิรูปการคลังที่น่าผิดหวัง และหนี้สาธารณะที่พอกพูนตลอดเวลา ทำให้ Standard & Poor’s ลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credet rating) ของสหรัฐฯ ลง ในยุโรป รัฐบาลสเปนและอิตาลีถูกกดดันให้ควบคุมหนี้สาธารณะ และเดินหน้ามาตรการรัดเข็มขัดและปฏิรูปเศรษฐกิจ

ในขณะที่ชาติผู้นำในเขต euro zone ก็ยังคงล้มเหลวในการหาวิธีปกป้อง euro zone หรือสหภาพการเงินยุโรป โดยสรุป แล้ว วิกฤติครั้งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในยามนี้ มีสาเหตุมาจากนักลงทุนและประชาชนกำลังเสื่อมถอยความเชื่อมั่นที่มีต่อผู้นำการเมืองในชาติตะวันตก รวมไปถึงความสามารถหรือความเต็มใจของพวกเขา ในการแก้ไขวิกฤติทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า นโยบายการคลังซึ่งเคยเป็นเครื่องมือต่อสู้กับเศรษฐกิจขาลงหรือถดถอย ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เมื่อเศรษฐกิจ สหรัฐฯ ชะลอตัวลงเช่นนี้ ก็ไม่อาจคาดหวังได้ว่า รัฐบาลอเมริกันจะก้าวเข้ามาแทรกแซง ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก

เพราะสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันให้ต้องตัดลดงบประมาณและเพิ่มรายได้ของรัฐ ไม่ใช่เพิ่มรายจ่าย เช่นเดียวกับในยุโรป ดอกเบี้ยกำลังถูกดันขึ้น อันเป็นผลมาจากความตกใจกลัวของนักลงทุน รัฐบาลอิตาลีและสเปน รวมไปถึงชาติอื่นๆ ในยุโรป ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ โดยไม่อาจคำนึงถึงว่า จะกระทบกับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่อย่างไร

อังกฤษก็เช่นกัน อยู่ในภาวะที่ต้องกระเหม็ดกระแหม่งบประมาณ ส่วนญี่ปุ่นจะหลีกเลี่ยงชะตากรรมนี้ได้หรือไม่ คาดว่าคงไม่ นั่นก็หมายถึงว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจร่ำรวยที่สุดในโลก ต่างก็ไม่สามารถคาดหวังให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเป็นฐานหนุนการเติบโตได้อีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลประเทศเหล่านี้อาจต้องลงเอยด้วยการทำในสิ่งที่ตรงข้าม

นั่นคือ ต้องปล่อยให้การเติบโตตกต่ำต่อไป เนื่องจากต้อง หันไปให้ความสำคัญกับการตัดลดงบประมาณมากกว่า และต้องยอมให้ความต้องการบริโภคหายออกไปจากระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการว่างงานก็จะสูงขึ้นอีก

ครั้นจะหันไปพึ่งนโยบายด้านการเงิน ผู้กำหนดนโยบายด้านนี้ก็คงจะหมดกระสุนเช่นกัน เครื่องมือปกติที่ธนาคารกลางเคยใช้ต่อสู้กับเศรษฐกิจถดถอย คือการลดอัตราดอกเบี้ย ไร้ประโยชน์เสียแล้วในปัจจุบัน เพราะอัตราดอกเบี้ยขณะนี้ต่ำเตี้ยติดดินอยู่แล้ว ดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ต่ำเกือบถึงศูนย์

นั่นทำให้ในสหรัฐฯ เริ่มพูดถึงการอัดฉีดสภาพคล่องรอบใหม่ (QE3) ของ Fed แต่หนนี้ ธนาคารกลางดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้ อีกแล้ว เพราะปัญหาที่เราเผชิญทุกวันนี้ ไม่ใช่ปัญหาสภาพคล่อง การเพิ่มสภาพคล่องจึงไม่ใช่วิธีแก้ แม้ว่าอาจช่วยทำให้ตลาดการเงินสงบลงได้บ้าง แต่ไม่อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

ไม่เพียงรัฐบาลชาติตะวันตกเท่านั้น ที่กำลังเจอปัญหาความอัตคัตทางด้านนโยบาย จีนก็กำลังเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก ในปี 2008 จีนเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมหาศาล และลดดอกเบี้ยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ เพื่อรักษาเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปในช่วงที่กำลังเกิด Great Recession มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนพลอยส่งผลดีต่อเอเชียด้วย ทำให้แรงกระแทกจากเศรษฐกิจขาลงที่มีต่อเอเชียทั้งทวีปลดความแรงลง ถ้าเช่นนั้น จีนจะสามารถทำเช่นนั้นได้อีกหรือไม่ในปีนี้

รัฐบาลจีนก็กำลังมองเห็นหนี้สาธารณะของตัวเองเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ และนั่นอาจจำกัด ความสามารถของจีนในการใช้จ่ายงบประมาณได้ตามอำเภอใจเหมือนที่ผ่านมา ในการพยายามรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้น จีนกำลังเจอปัญหาเงินเฟ้อที่หนักหน่วง แม้จะพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง และจำกัดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมราคาได้

ในเดือนสิงหาคม รัฐบาลจีนเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือนกรกฎาคมพุ่งกระฉูดเกินคาด 6.5% เมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อน การจะอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ในขณะที่มีปัญหาเงินเฟ้อสูงนั้น จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีก ดังนั้น จีนก็มีปัญหาละเอียดอ่อนของตัวเองให้ต้องแก้ในช่วงนี้

สรุปแล้วในตอนนี้ สิ่งที่เรากำลังเผชิญคือ เศรษฐกิจที่จะเติบโตช้าลง หรือร้ายกว่านั้นคือ เราอาจต้องเจอกับเศรษฐกิจขาลงอีกครั้ง หรืออาจแย่ยิ่งไปกว่านั้นอีก โดยที่ไม่มีความหวังว่า จะมีนโยบายของรัฐบาลเข้ามาช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในครั้งนี้ได้ นี่เป็นสถานการณ์ที่ใหม่มากสำหรับเศรษฐกิจโลก และได้แต่ภาวนาว่า จะไม่มีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้น


แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ไทม์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.