กระแสอาเซียน?

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กันยายน 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุกวันนี้ สื่อแทบทุกสื่อกำลังให้ความสำคัญกับ “ประชาคมอาเซียน” ที่กำลังจะมาถึงในอีก 4 ปีข้างหน้า

หลายๆ สื่อต่างแบ่งพื้นที่และเวลา เพื่อนำเสนอเนื้อหาประจำเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สื่อของไทยตื่นตัว พยายามให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการตั้งรับการเปลี่ยนแปลงที่หลายๆ คนเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลง “ครั้งใหญ่” สำหรับผู้คนที่อยู่ในภูมิภาคนี้

นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ก็พยายามแสดงบทบาทตรงนี้ ภายใต้เนื้อหาที่เรียกว่า Indochina Vision เพียงแต่เรามิได้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นเรื่อง “มหภาค” เท่าใดนัก เพราะเรื่องแบบนี้กว่าจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจบริบทในเชิง “จุลภาค” ให้ถ่องแท้เสียก่อน

เพราะในภูมิภาคนี้มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างที่หลากหลายปะปนกันอยู่เต็มไปหมด

ความเหมือน เป็นได้ทั้งด้านประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ประเพณี วัฒนธรรม ฯลฯ

ความแตกต่าง มีทั้งระบบการเมือง การปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และขนาดของเศรษฐกิจ ฯลฯ

เพราะฉะนั้นการจะได้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องราว ความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ และต้องตีความให้แตกว่า แต่ละเรื่อง แต่ละราว มีพัฒนาการขึ้นมาได้อย่างไร

โดยเฉพาะเรื่องของคน เรื่องขององค์กร เรื่องของผลิตภัณฑ์ ที่ข้ามไป-มาระหว่างประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

เราไม่สามารถนำทัศนคติที่เคยใช้ในพื้นที่หนึ่งไปจับกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในอีกพื้นที่หนึ่ง แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่อาจจะใกล้เคียงกัน และระยะห่างระหว่าง 2 พื้นที่นั้น อาจยาวไม่ถึง 50 กิโลเมตร

ในความรู้สึกของเรา นี่คือเสน่ห์ของความหมายของคำว่า “ประชาคมอาเซียน”

ทั้งสื่อและผู้รับสื่อจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ได้เสียก่อนว่า เรื่องของประชาคมอาเซียนนั้น เป็นเรื่องของ “พัฒนาการ” ที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตามกาลเวลา มิใช่เป็นแค่ “กระแส”


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.