ไอทีเอฟ. จัดอภิปรายที่ชลบุรียังเกาไม่ถูกที่คัน


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมานักข่าวจากหลายสำนักได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมการฟังอภิปรายที่จัดโดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอทีเอฟ. ณ ที่ทำการสาขาชลบุรี

ปกติการจัดอภิปรายหรือการเชิญไปดูงานในกิจการต่างจังหวัดของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมักจะออกมาในรูปของการกึ่ง ๆ พาไปกินไปเที่ยวจึงไม่สู้ได้รับการสนใจจากนักข่าวส่วนใหญ่เท่าใดนัก แต่การจัดอภิปรายครั้งนี้ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอทีเอฟ.ได้รับความสนใจจากนักข่าวส่วนกลางเป็นอย่างดีเพราะสามารถเชิญผู้อภิปรายอย่าง ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เอกมล คีรีวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์และสัมพันธ์ ลิ้มตระกูล รองผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารจากแบงก์ชาติมาร่วมอภิปรายด้วย

หัวข้อที่พูดกันในวันนั้นก็คือ "จะขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินชั้นนำได้อย่างไร" ก็ถูกอกถูกใจนักธุรกิจท้องถิ่นพอสมควร เพราะที่ผ่านมาหลายคนก็เจอแต่การกู้เงินดอกเบี้ยสูงจากสถาบันการเงินชั้นต่ำหรือสถาบันการเงินที่ไม่ได้รับอนุญาตมาจนอ่วม ห้องประชุมชั้น 3 ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอทีเอฟ. สาขาชลบุรีที่จุคนได้ประมาณ 150 คนจึงค่อนข้างแออัดเป็นพิเศษด้วยบรรดาลูกค้า..และผู้สังเกตการณ์จากพนักงานธนาคารพาณิชย์ในจังหวัดเดียวกัน

"เราใช้เวลาเตรียมงานนี้ประมาณ 2 สัปดาห์ โดยเริ่มจากการส่งจดหมายเชิญไปยังกลุ่มลูกค้าของเรา นักธุรกิจท้องถิ่นที่ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่อยู่ในจังหวัดชลบุรีเท่านั้น จังหวัดใกล้เคียงอย่างระยอง จันทบุรีเราเชิญหมด เพราะอยู่ในวิสัยที่เราสามารถให้บริการแก่เขาได้" ชนินทร์ ลีลานันทกิจ ผู้จัดการสาขาชลบุรีเล่าให้ฟัง

เนื้อหาสาระที่ตรงเป้ากับหัวข้อการอภิปราย สงบ พรรณรักษา เหมาพูดคนเดียวเกือบทั้งหมดโดยมีเอกสารประกอบแจกให้ผู้ฟังก่อนล่วงหน้า "ผู้จัดการ" ไม่รู้เหมือนกันว่านักธุรกิจท้องถิ่นมีความสนใจ เข้าใจในเนื้อหาของเอกสารมากมายแค่ไหนแต่เท่าที่สังเกตดูความสนใจดูเหมือนจะพุ่งไปที่แบบฟอร์มขอกู้เงินทั้งของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ว่าถ้าจะกู้เงินจากสถาบันการเงินแห่งนี้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

ส่วนเรื่องการขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินชั้นนำที่ สงบ พรรณรักษาออกตัวไว้ว่าไม่ได้หมายถึงเฉพาะ ไอทีเอฟ. แต่รวมไปถึงบรรดาสาขาธนาคารพาณิชย์อื่นในจังหวัดชลบุรีด้วยนั้น ผู้ฟังก็ฟังกันอย่างเนือย ๆ

ที่ว่าเนือย ๆ นั้นอาจจะเป็นเพราะว่าสิ่งที่พูด ๆ กันอยู่มันไม่ตรงกับปัญหาของนักธุรกิจที่นั่งฟังอยู่ก็เป็นได้ เพราะปัญหาของเขาอาจจะอยู่ที่ "ทำอย่างไรถึงจะได้กู้เงิน" เหมือนกับลูกค้ารายหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ" ในช่วงพักระหว่างอภิปราย

เอกกมล คีรีวัฒน์ร่ายยาวให้ฟังถึงเรื่องการปรับตัวของทิศทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไป ว่าจะต้องหันมาเน้นในเรื่องการให้สินเชื่อ แทนการเร่งระดมเงินฝาก เพราะมีเงินเหลือในระบบอยู่มาก…ก็เหมือนกับเนื้อข่าวที่ลงหนังสือพิมพ์รายวันรายสัปดาห์ที่ลงติดต่อกันเป็นเดือน นักธุรกิจที่อยากได้เงินกู้ใจจะขาดฟังดูแล้วไม่รู้จะหัวร่อหรือร้องไห้ดี

ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ เดินทางมาถึงสถานที่จัดอภิปรายเมื่อเวลาบ่ายสามโมงเกือบครึ่ง เนื่องจากติดคิวการอภิปรายในกรุงเทพฯ โดยพ่วงศลัย พานิชภักดิ์ ปริญญ์และนฤณ ภรรยาและลูกชาย-หญิงมาด้วย เพราะมีโปรแกรมเดินทางต่อไปพักผ่อนที่พัทยาในช่วงวันหยุดพร้อมกับเป็นการฉลองวันเกิดลูกชายที่อายุครบ 8 ขวบไปในตัว

"รัฐบาลยังคงเน้นเรื่องความมั่นคงของสถาบันการเงิน หรือธนาคารพาณิชย์ที่ถูกต้อง ให้สามารถอยู่ได้โดยการประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมารวมทั้งเน้นให้ช่วยเหลือบริการด้านการเงินแก่ท้องถิ่น ไม่ใช่มุ่งระดมเงินออมเข้าไปส่วนกลางเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ปัจจุบันทิศทางการลงทุนค่อนข้างชัดเจนคือมุ่งในแนวอุตสาหกรมเกษตร อุตสาหกรรมแปสภาพผลผลิต การเกษตร หรือแม้แต่อุตสาหกรมในครัวเรือนที่ต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก" ตอนหนึ่งของการอภิปายของ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ พูดในท่วงทำนองที่ยังคงสไตล์แบบคนแบงก์ชาติ

ตัวอย่างอุตสาหกรรมต่อเนื่องการเกษตรที่ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ ยกให้ฟังก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่นเรื่องการปรับปรุงวิธีการชำแหละสุกร เพื่อที่จะได้ "หนัง" มาใช้ในอุตสาหกรมเครื่องหนังซึ่งทุกวันนี้ยังคงต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศหรือการส่งออกขนเป็ดที่เป็นขนอ่อนที่ต่างประเทศนิยมใช้ยัดหมอน-ที่นอน

"อย่างอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่ผมไปเจอในเขตที่ผมสมัครรับเลือกตั้งก็คือการทำกรงนกเขา พ่อแม่พี่น้องเชื่อไหมครับว่ากรงไม้ไผ่สานที่ใช้วัสดุในท้องที่นั้นเขาขายกันราคาหลายพันบาท ทำกันด้วยแรงงานในครอบครัว…เรื่องอย่างนี้นี่แหละครับที่เป็นเรื่องที่เราต้องคิดต้องมองและช่วยการสนับสนุน" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังพูดต่อในลีลาของผู้แทนราษฎร

การอภิปรายเสร็จสิ้นลงในเวลาบ่ายสี่โมงกับ 10 นาที หลังจากที่เริ่มมาตั้งแต่บ่ายโมงครึ่ง… นักธุรกิจท้องถิ่นแยกย้ายกันกลับทิ้งให้ทีมผู้อภิปรายถูกนักข่าวส่วนกลางป้อนคำถามที่ต้องโดนถามอยู่แล้วหากเป็นการอภิปรายในกรุงเทพฯ เพียงแต่ย้ายสถานที่ถามมาเป็นจังหวัดชลบุรีเท่านั้น

คำถามที่ "ผู้จัดการ" และเพื่อนนักข่าวถูกสต๊าฟบริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอทีเอฟ.ถามย้ำอยู่หลายครั้งในช่วงของอาหารมื้อเย็นก็คือ "การจัดอภิปรายครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง?" ก็ขอโอกาสให้ความเห็นในรายงานชิ้นนี้เสียเลย

เรื่องที่ว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ก็ต้องบอกว่าดีแน่ คือดีสำหรับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอทีเอฟ.โดยเฉพาะสาขาที่ชลบุรี เพราะนอกจากจะได้จัดกิจกรรมเชิงวิชาการให้ลูกค้าที่จัดได้ว่าเป็นบริการให้ความรู้อย่างหนึ่งที่สถาบันการเงินชั้นนำพึงมี ผลอีกด้านหนึ่งก็คือการสร้าง IMAGE ของสถาบันการเงินแห่งนี้ ในการที่สามารถดึงคนระดับบริหารของแบงก์ชาติหรือแม้แต่ระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการมาอภิปรายได้ เท่ากับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม

ที่อยากจะติงกันสักนิดก็คือหัวข้อของการอภิปรายที่ออกจะกว้างเกินไป ด้วยหัวข้ออย่างนี้ไปจัดอภิปรายที่ไหนหรือจัดในกรุงเทพฯ ก็คงไม่แตกต่างกันนักแต่ในเมื่ออุตส่าห์ไปจัดกันถึงจังหวัดชลบุรีที่เป็นเมืองเอกของภาคตะวันออกของประเทศ ก็น่าจะใช้หัวข้อเรื่องที่เกี่ยวพันกับธุรกิจท้องถิ่นมากกว่านี้

นักข่าวส่วนกลางไปฟังอภิปรายก็ได้ฟังในสิ่งที่ได้รับฟังในการอภิปรายเป็นประจำในกรุงเทพฯ ผู้อภิปรายก็เป็นคนที่ต้องพบเจอกันเป็นประจำในสายงานข่าวในกรุงเทพฯ นักธุรกิจท้องถิ่นก็ได้รับฟังในสิ่งที่หาอ่านได้ในสิ่งพิมพ์ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ

เรื่องราวของธุรกิจในชลบุรีหรือธุรกิจภาคตะวันออก ปัญหาของธุรกิจในภูมิภาคนี้ลักษณะการดำเนินงานของสถาบันการเงินกับธุรกิจท้องถิ่น ที่ควรจะเอามาเขียนถึงอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังคงต้องรอให้มีการจัดอภิปรายในครั้งต่อไปกระมัง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.