หนังเรื่องหนึ่งที่สนับสนุนโดย ไอบีเอ็ม แล้วจะต้องเสียใจหากไม่ได้ชม


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนเข้าใจว่าหลาย ๆ ท่านก็คงจะได้ชมภาพยนตร์ชุดนี้ไปเรียบร้อยแล้วทางจอแก้วด้วยการติดตามชมอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 7 วันหรือ 1 สัปดาห์เต็ม ๆ เช่นเดียวกับที่อาจจะมีบางท่านได้ชมอย่างกระท่อนกระแท่นไปไม่ครบทุกตอน หรือคงมีอีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

ภาพยนตร์ชุดนี้ก็คือ PLANET EARTH ในชื่อภาษาอังกฤษหรือ ดาวโลก ตามพากย์ภาษาไทยนั้นเอง

PLANET EARTH หรือดาวโลก เป็นภาพยนตร์สารคดีวิทยาศาสตร์ที่ทั้งชุดถูกแบ่งออกเป็น 7 ตอนความยาวตอนละประมาณ 1 ชั่วโมง เรียงลำดับจากตอนแรกไปตอนสุดท้ายก็ประกอบด้วยเรื่องจักรกลแห่งชีวิต (THE LIVING MACHINE) ที่กล่าวถึงใจกลางที่ร้อนแรงของโลก การเกิดและการเคลื่อนย้ายของทวีปและมหาสมุทรตลอดจนการเกิดแผ่นดินไหว ภายใต้ข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าโลกเรานั้นไม่หยุดนิ่งหากแต่จะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา…ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน (THE BLUE PLANET) ที่เปิดเผยถึงความลี้ลับของใต้มหาสมุทร…ปริศนาอวกาศ (THE CLIMATE PUZZLE) ที่เป็นการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการเกิดยุคน้ำแข็งครั้งใหม่ สำรวจถึงแนวโน้มอุณหภูมิของโลกซึ่งสูงขึ้นในปัจจุบันอันเป็นผลกระทบจากการที่โอโซนในบรรยากาศลดน้อยลง เป็นสาเหตุเดียวกับที่อุณหภูมิบนดาวศุกร์ใกล้ถึง 900 องศาฟาเรนไฮท์เข้าไปทุกขณะ…เรื่องเล่าจากนอกโลก (TALES FROME OTHER WORLDAS) ที่บรรยายถึงความเกี่ยวข้องและความคล้ายคลึงระหว่างโลกกับดาวดวงอื่น ๆ และตอนนี้ของภาพยนตร์ชุดนี้ผู้ชมจะได้เห็นพื้นผิวของดาวศุกร์เป็นครั้งแรกด้วย….ทรัพยากรจากพื้นดิน (GIFTS FROM THE EARTH) ที่เน้นถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ได้ช่วยสร้างโลกให้ก้าวหน้าดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้…ทะเลสุริยะ (THE SOLAR SEA) ที่เป็นการค้นพบของนักดาราศาสตร์ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการให้พลังกับโลกของดวงอาทิตย์ การให้กำเนิดชีวิตและลมฟ้าอากาศ…และตอนที่ 7 อนาคตของโลก (FATE OF THE EARTH) เป็นบทสรุปของภาพยนตร์ชุดนี้ที่กล่าวถึงบทบาทของมนุษย์ในการกำหนดอนาคตโดยการพาย้อนกลับไปสู่อดีต แถมท้ายด้วยการให้ข้อคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเกิดฤดูหนาวแห่งนิวเคลียร์ (NUCLEAR WINTER) ในอนาคต ซึ่งภาพยนตร์ฝากไว้เป็นอุทธาหรณ์

เนื้อหาสาระไปจนถึงคุณภาพด้านศิลปะและเทคนิคการถ่ายทำนั้นก็เห็นจะต้องให้กันอย่างน้อย ๆ 5 ดาวสำหรับภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ ซึ่งนับว่ายังค่อนข้างจะน้อยไปสำหรับความเพียรพยายามของกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังด้วยซ้ำ

ดาวโลกเป็นผลงานการค้นคว้าและถ่ายทำโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐและ WQED/PITTSBURG ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการทางโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงเคยได้รับรางวัลผลงานดีเด่นมาแล้วหลายรางวัล ทั้งนี้ผู้ที่ให้การสนับสนุนทางด้านทุนรอนในการสร้างภาพยนตร์นั้นที่เป็นหลัก ๆ ก็คือบริษัทไอบีเอ็ม จำกัด ยักษ์ใหญ่แห่งวงการคอมพิวเตอร์ของโลก ซึ่งทุนรอนที่ใช้จะมีจำนวนเท่าไรนั้น ใครที่ได้ชมก็ลองจินตนาการดูเถอะ (เพราะผู้สร้างไม่ได้บอก)

และเวลา 4 ปีเต็ม ๆ คือการค้นคว้าและถ่ายทำภาพยนตร์ชุดนี้ โดยเฉพาะสถานที่ที่ถ่ายทำนั้นได้ใช้โลเคชั่นต่าง ๆ กันไปถึงกว่า 50 จุดครอบคลุมทุกภูมิภาคของโลกตั้งแต่เหนือสุด ใต้สุดจนกระทั่งดำดิ่งลงไปถึงก้นบึ้งมหาสมุทร ออกไปในอวกาศ (อันนี้ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม) และภายในห้องปฏิบัติการจำลองปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลาย ๆ อย่างเอาไว้

เมื่อผนวกกับวิทยาการอันล้ำยุคทางด้านเทคนิคการถ่ายทำแล้วสิ่งที่อกมาก็คืความสมบูรณ์อย่างที่เห็น ๆ กัน

ภาพยนตร์ชุดดาวโลกนี้ถูกนำออกฉายเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณหนึ่งปีมาแล้ว ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างมาก

และในที่สุดบริษัทไอบีเอ็มประเทศไทยก็ได้นำภาพยนตร์ชุดนี้ข้ามาด้วยเจตนาต้องการที่จะเผยแพร่ให้คนไทยได้มีโอกาสชมกันบ้าง หลังจากมอบหมายให้ทีมงานของพิชัย วาศนาส่ง ทำบทภาพยนตร์และให้เสียงภาษาไทยแล้ว ด้วยการติดต่อผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีภาพยนตร์ชุดนี้ก็ได้รับการบรรจุไว้ในรายการโทรทัศน์ของช่อง 5 และจะเริ่มแพร่ภาพติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน ๆ ละตอนในช่วงเดือนตุลาคมนี้ (หากไม่มีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนดังได้กล่าวไว้ข้างต้น)

นอกจากนี้หากมีโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดสนใจต้องการนำภาพยนตร์ทั้งชุดไปใช้ประกอบการเรียนการสอน วิชาภูมิศาสตร์ไอบีเอ็มก็ยินดีจะให้ความร่วมมือในการก๊อปปี้วิดีโอเทปให้ในจำนวนไม่จำกัด อีกทั้งอาจจะมีเอกสารหนาเป็นปึกๆ ประกอบเป็นเนื้อหาที่กว้างขวางสำหรับภาพยนตร์แต่ละตอนมอบให้อีกด้วย

"ปกติแล้วเรื่องการก๊อปปี้นี้เราเจ็บปวดมาก เพราะมันเป็นเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์กัน แต่สำหรับวิดีโอเทปภาพยนตร์ชุดนี้เราพูดได้เลยว่าเราอยากให้ก๊อปปี้กันมาก ๆ เพราะมันเป็นภาพยนตร์ที่เนื้อหาสาระเป็นประโยชน์ ดูสนุก ตื่นเต้น ได้ทั้งความรู้ความเพลิดเพลิน เพราะฉะนั้นใครอยากได้เชิญเลยเราเต็มใจอย่างยิ่ง.." ผู้บริหารคนหนึ่งของไอบีเอ็มประเทศไทยแสดงทัศนะ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.