เปิดตัวเครือข่ายธนไทยการผนึกกำลังของ 7 แบงก์ ที่จะไม่หยุดอยู่เพียงเอทีเอ็มพูล


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

การรวมตัวของแบงก์หลาย ๆ แบงก์เพื่อความร่วมมือกันบางประการนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เช่นเดียวกับการใช้เครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติร่วมกันหรือที่เรียกว่า "เอทีเอ็ม พูล" ก็เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันมานานพอสมควรแล้ว

เครือข่ายธนไทยนั้นเป็นการรวมตัวของแบงก์ไทย 7 แบงก์ประกอบด้วยทหารไทย, ไทยพาณิชย์, กสิกรไทย, สหธนาคาร, มหานคร, กรุงศรีอยุธยาและธนาคารสยามและเป็นการรวมตัวที่เป้าหมายประการสำคัญก็คือ "เอทีเอ็ม พูล"

ดู ๆ ไปแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องเก่าแก่ที่ตามหลังกลุ่ม "แบงก์เน็ท" ที่มีแบงก์กรุงเทพเป็นผู้นำซึ่งก็มีการ "พูล" ระบบเอทีเอ็มของ 7 แบงก์เท่ากัน (แบงก์เน็ท ประกอบด้วย กรุงเทพ, กรุงไทย, ไทยทนุ, ศรีนคร, เอเชีย, นครธนและแหลมทอง) ซึ่งเปิดตัวไปก่อนน้านี้ด้วยซ้ำ

แต่จะด่วนสรุปเช่นนั้นก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะการเปิดตัวเครือข่ายธนไทยที่จัดทำกันอย่างเป็นทางการเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยรูปแบบและเนื้อหาแล้วก็น่าจะต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ซึ่งแม้ว่าจะเปิดตัวภายหลังแต่ก็ไม่น้อยหน้ากลุ่ม "แบงก์เน็ท"

ความแปลกใหม่ทางด้านรูปแบบนั้น ถ้าจะว่าไปก็เห็นจะได้แก่เครืข่ายธนไทยนี้แทนที่จะเป็นการรวมตัวแบบหลวม ๆ มีศูนย์กลางอยู่ที่แบงก์ใดแบงก์หนึ่งที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสมองกลสูงสุด ก็ต่างออกไปด้วยการจัดตั้งบริษัทกลางขึ้นเป็นศูนย์ที่แน่นอน โดยบริษัทกลางดังกล่าวก็ใช้ชื่อว่าบริษัทเครือข่ายธนไทยจำกัด "เป็นการยึดหลักความเสมอภาคและภารดรภาพระหว่างแบงก์ทั้ง 7…" บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ จากค่ายไทยพาณิชย์ให้เหตุผล

ทั้งนี้โครงสร้างของบริษัทเครือข่ายธนไทยก็คือแบงก์ทั้ง7ถือหุ้นเท่ากันจำนวน 3,000 หุ้นมูลค่า 3 แสนบาทจากทุนจดทะเบียน 2.1 ล้านบาท คณะกรรมการบริหารประกอบด้วยผู้แทนแบงก์ละ 2 คน ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประธานเป็นวาระ ๆ และมีอัตรากำลังรวม 20 คน มี ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตวิศวกรระดับ 5 แผนกวาง แผนกองโทรเลข การสื่อสารแห่งประเทศไทยรับตำแหน่งผู้จัดการ

"ก็จะเป็นบริษัทที่มีฐานะอิสระ เรื่องความลับของแต่ละแบงก์ก็เลยไม่มีปัญหาเพราะไม่มีแบงก์ใดแบงก์หนึ่งเป็นแกน เราใช้บริษัทกลางนี้แทนก็จะให้เลี้ยงตัวเองได้ด้วยการเก็บรายได้จากการใช้บริการแบงก์ต่าง ๆ นับตามจำนวนทรานเซ็คชั่นที่ใช้ซึ่งอันนี้ก็แฟร์คือใครลูกค้ามากก็เสียค่าใช้จ่ายมาก…" ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับครือข่ายธนไทยกล่าว

และก็แน่นอนไม่มีปัญหาที่ภารกิจชิ้นแรกสุดของเครือข่ายธนไทยนี้ก็คือการทำ "เอทีเอ็มพูล" ระหว่างทั้ง 7 แบงก์

เครือข่ายธนไทยเริ่มพัฒนาระบบเชื่อมโยงเครือข่ายเอทีเอ็มของทั้ง 7แบงก์เข้าด้วยกันและให้ชื่อการให้บริการนี้แก่กลุ่มลูกค้าทั้ง 7 ว่า "สยามเน็ท" ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งทำหน้าที่ควบคุมระบบเครือข่าย SWITCHING CPU เป็นเครื่อง SYSTEM 88 ของไอบีเอ็ม ส่วน SOFTWARE นั้นเป็นระบบ ON/2 ของบริษัทโลจิก้า ระบบนี้จะทำหน้าที่รายงานด้าน RECONCILS และ SETTLEMENT ระหว่างธนาคารทั้ง 7

การพัฒนาระบบ "เอทีเอ็มพูล" สยามเน็ท เครือข่ายธนไทยได้ลงมือไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม และคาดว่าในราวเดือนพฤศจิกายนนี้ก็จะให้บริการได้

ถึงตอนนั้นก็ลองเปรียบเทียบกันดูก็แล้วกันว่าระหว่าง "แบงก์เน็ท" กับ "สยามเน็ทฎ นั้นใครจะเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพมากกว่ากัน

และก็ใช้แต่เฉพาะ "สยามเน็ท" เป้าหมายของเครือข่ายธนไทยนั้นมองยาวไกลออกไปอีกหลายเรื่อง "มันยังมีการพูลกันระหว่าง 7แบงก์นี้อีกมากที่ทำได้และเราก็ตั้งใจว่าจะต้องทำอย่างเช่นการเคลียร์เช็ค การโอนเงินระหว่างแบงก์ โดยสรุปแล้วเราต้องการให้เครือข่ายธนไทยนี้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาระบบธนาคารอีเล็กทรนิกส์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด และได้มาตรฐานสากล…" ผู้จัดการฝ่ายคอมพิวเตอร์ของแบงก์หนึ่งใน 7 วาดภาพให้ฟัง

ซึ่งก็คงจะสิ่งนี้เองที่เป็นความแปลกใหม่ ทิ้งห่างค่ายแบงก์เน็ทออกไปอีกก้าวหนึ่ง หลังจากผลัดกันนำผลัดกันตามมาตลอด 2-3 ปีนี้

ก็ลองจับตาดูเถอะ เพราะลองอีกค่ายเกทับบลัฟแหลกกันอย่างนี้ ค่ายแบงก์เน็ทก็คงต้องเตรียมอะไรใหม่ๆ ออกมาต่อกรบ้างเป็นแน่

สำคัญก็แต่จะมีใครเหลียวมองไปที่แบงก์กรุงเทพพาณิชย์การกับแบงก์นครหลวงไทยกันบ้างหรือเปล่ามิทราบ ไม่ว่าใครจะพยายามเป็นแบงก์สมองกลทำเอทีเอ็ม พูล กันจนครบถ้วนเป็นจำนวนถึง 14 แบงก์แล้ว ทั้ง 2 แบงก์นี้ก็คงยืนหยัดคงเส้นคงวาไม่เปลี่ยนแปลง

คือขอเป็นกลางไม่เข้าค่ายไหนต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.