4 กันยายน 2529 ภายในอัครสถานอันทรงเกียรติแห่งรัฐสภาวันนั้นเป็นวันนัดประชุมของเหล่า
ส.ส. 347 คน ซึ่งเพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาได้เพียงเดือนเศษ ๆ เช่นเดียวกับรัฐบาลเปรม
5 ก็คลอดออกมาเป็นตัวเป็นตนได้ไม่ครบเดือนดี
แต่นัดหมายวันนั้น ต้องนับเนื่องว่าสำคัญทีเดียว เนื่องจากเรื่องเก่า ๆ
ต้องนำกลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สิ่งที่เรียกว่า "พระราชกำหนด
7 ฉบับ" ที่ยังคั่งค้างการอนุมัติให้ออกมาบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติตามกระบวนการนิติบัญญัติ
ได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร
คงจำได้ว่า เดิมทีนั้นพระราชกำหนดดังกล่าวมีด้วยกัน 8 ฉบับ แต่มีอันถูกคว่ำข้าวเม่าโดยฝ่ายค้านไปเสียก่อน
ซึ่งเป็นเหตุให้ป๋าเปรมยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ทั้งนี้ในจำนวน พ.ร.ก.
ทั้งหมดมีอยู่เพียง 3 ฉบับที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ มีเสียงวิจารณ์ค่อนแคะกันหลายระลอกแล้ว
โดยเฉพาะสุ่มเสียงที่โอดโอยมาจากนายแบงก์ทั้งหลาย สาเหตุก็เพราะ พ.ร.ก. สำคัญทั้งสามฉบับนี้เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินโดยตรง
หนึ่งในนั้นว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์…หนึ่งนั้นเป็นเรื่อง
พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์…และหนึ่งสุดท้ายเป็น
พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย
อันที่จริงพระราชกำหนดที่เหลืออีก 4 ฉบับนั้น เกือบทั้งหมดข้องเกี่ยวในเรื่องการเงินการคลังของประเทศ
ไหนจะเรื่องพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ไหนจะปรับปรุงโครงสร้างเงินกู้ต่างประเทศ
แล้วก็เรื่องของประมวลรัษฎากร ดังนั้นภาระหนักในการชี้แจงแถลงไขถึงที่มาและที่ไปของ
พ.ร.ก. เหล่านี้จึงตกอยู่กับเจ้ากระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยฯ ซึ่งเตรียมตัวกันมาขึ้นเขียงของฝ่ายค้านอย่างเต็มที่
สุธี สิงเสน่ห์ และ ศุภชัย พานิชภักดิ์ นั่งเคียงกันอยู่ปีกซ้ายของที่นั่งคณะรัฐมนตรี
แถวถัดลงมาจากแถวที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีนั่ง สองคนนี้ในสายตานักสังเกตการณ์ทั่วไปมักถือเป็น
"คู่หู" ที่ไม่ "พลิกล็อก" ตรงกันข้ามต้องเรียกว่าทำงานเข้าแข้งเข้าขากันดียิ่งประหนึ่งปาท่องโก๋ที่ต้องอยู่ติดกัน
ขืนแยกออกมาก็ไม่เรียกปาท่องโก๋ ยังไงยังงั้น
ผู้แทนปากตะไกบางคน ถึงได้ค่อนขอดเป็นระยะ ๆ ว่า "ศิษย์อาจารย์คู่นี้รักใคร่กันดี"
ตัดฉับกลับมาแถวนั่งของพรรคฝ่ายค้านมุมขวา ดาวจรัสแสงดวงใหม่เอกเขนกรอท่าอยู่แล้ว
เพราะได้รับการมอบหมายให้เป็นตัวหลักในการอภิปรายซักไซ้รัฐบาล ด้วยความที่มีภูมิรู้ทางเศรษฐกิจดีที่สุดคนหนึ่ง
อย่างน้อย ๆ ก็เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในสมัยเปรม 1 มาแล้ว และฉายาของเจ้าตัว
ใคร ๆ ก็เรียก "ซาร์เศรษฐกิจ" -บุญชู โรจนเสถียร หัวหน้าพรรคกิจประชาคม
คือ ดาวเด่นของฝ่ายค้านในวันนั้น
ตลอดการอภิปรายในสภา พูดได้เลยว่าผูกขาดกันอยู่เพียงสองสามคน ซึ่งจัดเป็นมวยคู่เอก
ผลัดกันรุกผลัดกันรับมาตั้งแต่ตอนเช้า พอตกบ่ายก็ยิ่งดุเดือดเผ็ดมัน เมื่อ
พ.ร.ก. แบงก์ 3 ฉบับนั้นถึงคิวฆ่า เหตุผลที่การอภิปรายจำกัดอยู่เพียงไม่กี่คนนี้
อธิบายได้ง่ายนิดเดียวว่า คนที่มีความรู้ในเรื่องการเงินการคลังชนิดถึงรากถึงแก่นจริง
ๆ ในสภาฯ มีไม่มากนัก การอภิปรายนัดนี้จึงอิ่มด้วยสาระและคุณค่าจริง ๆ
ส.ส. รายอื่นที่ลุกขึ้นมาสลับฉากประปรายส่วนใหญ่ก็พูดตามแบบฉบับของผู้แทน
ที่มีแต่น้ำมากกว่าเนื้อ ความเห็นมากกว่าข้อมูล และหาเสียงมากกว่าหลักการ
อย่าว่าแต่เรื่องนี้เลย ขณะที่มีการอภิปรายปัญหาเศรษฐกิจสำคัญของประเทศชาติอยู่นั้น
ส.ส.หลายคนแทนที่ไม่รู้เรื่องจะนั่งฟังเพื่อให้รู้เรื่องต่อไป กลับหลบฉากอยู่ในห้องพักหลังห้องประชุม
จะโผล่ออกมาพร้อมฝักถั่วสลอนก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงออดกดเรียกลงมติแล้วเท่านั้น
อย่าให้ต้องเอ่ยเลยว่า ส.ส. ที่น่ารักของประชาชนเหล่านั้นมีใครบ้าง ประเดี๋ยวจะเสียน้ำใจกันเปล่าๆ
เอาเป็นว่าพวกเขามาประชุมกันวันนี้เพื่อยกมือให้รัฐบาลลูกเดียว
รัฐมนตรีสุธีนั้น ส่วนใหญ่จะตอบในเรื่องของภาษีและงบประมาณรายรับรายจ่าย
ส่วน ดร. ศุภชัย ผู้ศิษย์นั้นมักว่าถึงปัญหาเกี่ยวกับ พ.ร.ก. แบงก์ 3 ฉบับนั้น
และเบื้องหลังความอร่อยก็อยู่ตรงนี้ เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่จะได้เห็นการปะทะคารมและเหตุผลซึ่ง
ๆ หน้า ระหว่างนักบริหารเศรษฐกิจชั้นนำของประเทศสองคนนี้ แม้อีกคนจะเป็นอดีตไปแล้วก็ตาม
รัฐมนตรีศุภชัย นับเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
เพราะฝีเท้าเร็วมากบนถนนการเมืองครั้งแรกของตน ผ่านสนามเลือกตั้งเขต 8 กทม.
มาได้อย่างน่าพิศวง ด้วยเป็นเพียง ปชป. คนเดียว ในขณะที่เพื่อร่วมพรรคอีกสองคนสอบตก
ยิ่งกว่านั้นทันทีที่ได้เป็น ส.ส. สมัยแรก ก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังในเวลาเดียวกัน
ซึ่งก็เนื่องมาจากความสามารถอันเป็นที่ยอมรับนั่นเอง
อาจารย์ศุภชัยเหมาะสมที่สุดที่จะตอบเรื่องของ พ.ร.ก. แบงก์ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น
ครั้งที่ยังทำงานอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทยในรัฐบาลชุดที่แล้ว ก่อนลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง
เขาสาธยายโดยสรุปว่า เหตุผลที่รัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมนั้น
ก็เพราะมาตรการในการควบคุมกำกับแบงก์ทั้งหลายยังไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป
ถึงได้เกิดสถานการณ์ "วิกฤตแบงก์ล้ม" อย่างน้อยก็สองแห่ง และความระส่ำระสายในหมู่ทรัสต์และเครดิตฟองซิเอร์
ในช่วงระยะ 2-3 ปีมานี้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มอำนาจบางอย่างให้กับแบงก์ชาติมากขึ้น
ฝ่ายบุญชูลุกขึ้นโต้แย้งว่า รัฐบาลมักเรียกร้องอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จักพอ
จนกลายเป็นการรอนสิทธิส่วนบุคคลมากเกินความจำเป็น และไม่สมเหตุสมผล ปัญหาจึงอยู่ที่
"สมควรที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีสิทธิอำนาจมากขึ้นกว่าเดิมจริงหรือ"
อดีตซาร์เศรษฐกิจตั้งข้อสงสัยว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อำนาจไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่
อำนาจที่มีอยู่ตาม พ.ร.บ. แบงก์พาณิชย์เดิมนั้นก็มากพอที่จะควบคุมทุกธนาคารให้อยู่ในร่องในรอยอยู่แล้ว
บุญชูย้ำ
"ความผิดต่าง ๆ (ที่ทางแบงก์นำสินเชื่อไปปล่อยกู้ในหมู่พวกพ้องเดียวกัน
จนกิจการมีอันต้องล้มลง) เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้าเกิดมานานแล้วและสะสมกันมานานจนเหลือแก้ไข
จะถือได้หรือไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐเองละเลยต่อหน้าที่ในการนำความจริงทั้งหลายมาแสดง
และความผิดก็พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ"
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะนักบัญชีด้วยกันเหมือนผม คงยอมรับความผิดต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นจนทำให้ทรัพย์สินของธนาคารพาณิชย์ มีค่าน้อยกว่าหนี้สินนั้น
การตรวจสอบทางบัญชีจะต้องรู้และตรวจพบแล้ว" บุญชู โรจนเสถียร กะแนะกะแหนพาดพิงถึงรัฐมนตรีสุธี
แต่ ดร. ศุภชัยก็ศอกกลับได้ถึงลูกถึงคนโดยปฏิเสธว่า การให้อำนาจแก่แบงก์ชาติเพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นโดยไม่จำกัด
จริงอยู่ที่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์เป็นประชาชน หากทว่าผู้ฝากเงินอีกหลายหมื่นหลายแสนคนก็เป็นประชาชนเช่นเดียวกัน
การเพิ่มอำนาจครั้งนี้จึงเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้ฝากเงิน (ที่จะไม่ถูกผู้บริหารแบงก์เอาเงินฝากจำนวนมหาศาลไปปู้ยี่ปู้ยำเพื่อประโยชน์ส่วนตน)
บุญชูเสนอกลับว่า แม้ฐานะของสถาบันการเงินที่รัฐบาลเข้าไปควบคุมนั้นจะกระเตื้องขึ้นมาแล้ว
แต่ผลของการลดทุนก็กระทบไปถึงผู้ถือหุ้นจำนวนมากที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยเลย
"จู่ ๆ ราคาหุ้น 100 บาทบอกว่าเหลือแค่ 5 บาทเท่านั้น เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมืออย่างนี้
ความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน" พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐมนตรีคลังตอบให้กระจ่างว่า
ความผิดของแบงก์พาณิชย์นั้นมีขึ้นเมื่อไหร่ และกฎหมายเดิมแก้ไขไม่ได้ผลเป็นอย่างไรแน่
ถ้าชี้แจงแล้วผมถึงให้ (ผ่าน) ได้
ข้างรัฐบาลไม่ได้สนองความประสงค์ของหัวหน้าพรรคกิจประชาคมเสียทีเดียว ดร.
ศุภชัย กล่าวสั้น ๆ เพียงว่า "ได้ทำตามขั้นตอนมาแล้ว แต่เนื่องจากขาดพื้นฐานทางกฎหมายจึงไม่ได้ผล"
จากนั้นก็มีการโหวตและผลก็เป็นดังคาดหมาย พ.ร.ก. แบงก์ฉบับแรกผ่านโลด 157
ต่อ 34 โดยที่ตัวบุญชูเองกลับงดออกเสียง ราวกับว่าพอใจในคำชี้แจงของรัฐบาลอยู่บ้าง
อดีตซาร์เศรษฐกิจยังครองเวทีอภิปรายในนามฝ่ายค้านต่อไป ใน พ.ร.ก. ว่าด้วยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์โดยหยิกยกกรณี
"โครงการ 4 เมษาฯ" ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปโอบอุ้มบริษัทเงินทุนที่มีปัญหาการเงิน
25 บริษัท ด้วยสินเชื่อแบบ "ซอฟท์โลน" จำนวนกว่า 3 พันล้านบาท
หรือที่บุญชูเรียกว่า "กู้แบบนุ่ม ๆ นิ่ม ๆ" เพราะเสียดอกเบี้ยต่ำเพียงร้อยละ
1
ในขณะที่เงินก้อนดังกล่าว ทางทรัสต์นำกลับมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ได้ดอกถึง
9% สบายแฮไป ไม่ต่างจากอัฐยายซื้อขนมยายนั่นแหละ หัวหน้าพรรคกิจประชาคมจึงตั้งข้อสงสัยว่า
ผลต่างระหว่างดอกเบี้ยสองส่วนนี้ ธนาคารชาติเสียสละไปให้แก่บริษัทเหล่านั้น
แทนที่จะเป็นรายได้ของแผ่นดินถือเป็นการสมควรหรือไม่ และการเข้าไปช่วยเหลือ
25 บริษัทดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจตรงไหน หรือช่วยเพิ่มการลงทุนแขนงใดกัน
"ขณะนี้บริษัททั้งหมดที่แบงก์ชาติเข้าไปดูแลอยู่มีกำไรหรือขาดทุน และการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการถือหุ้นเกินกว่า
50% ขึ้นไป ฐานะบริษัทเหล่านี้จะถือเป็นรัฐวิสาหกิจไปในตัวใช่หรือไม่ แล้วรัฐยังต้องรับภาระต่อไปอีกเท่าไหร่…คนบริหาร(ชุดใหม่)
ที่ไปจากกระทรวงการคลังและธนาคารชาติ 6-70 คน เคยมีหน้าที่ควบคุมสถาบันการเงินมาแต่เดิม
แต่ก่อนมีการแถลงบ่อย แต่พอพวกตัวเข้าไปทำเองกลับเงียบหายไป ผมไม่ทราบว่าเพราะอะไร"
บุญชูซัดหมัดเป็นชุด
วาระนี้รัฐมนตรีสุธีเป็นผู้ตอบชี้แจงว่า เงินจำนวน 3,200 ล้านบาทที่เป็นซอฟท์โลนให้แก่
25 บริษัทดังกล่าวนั้นไม่ใช่ให้เฉย ๆ แต่จะคืนกลับมายังรัฐบาลเมื่อบริษัทเหล่านั้นมีฐานะดีขึ้น
และตามกฎหมายที่จะให้กู้ธนาคารชาติได้นั้นต้องมีพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลักประกันเงินกู้
ส่วนสภาพรัฐวิสาหกิจนั้นตามมติ ครม. เพื่อความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลในช่วงที่กระทรวงการคลังเข้าไปกู้ฐานะบริษัทเหล่านั้น
ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาพขาดทุนอยู่บ้าง
"แต่ก็มี 4-5 บริษัทเริ่มมีผลกำไรแล้ว" รัฐมนตรีสุธียืนยันและย้ำว่า
กระทรวงการคลังไม่ต้องการเอาไว้กับตัวนาน จนดูประหนึ่งว่าอยากมีบริษัทเงินทุนของตัวเอง
จึงพยายามเร่งรัดฟื้นฟูให้เสร็จสิ้นแล้วโอนคืนให้แก่เจ้าของเดิมโดยเร็ว (ตามโครงการเรือช่วยชีวิต
4 เมษาฯ นี้มีระยะเวลา 5 ปีเต็ม ซึ่งขณะนี้ผ่านไปได้สองปีแล้ว) ซึ่งมีอยู่ประมาณ
11 บริษัทที่อยู่ในฐานะพอที่จะโอนคืนเจ้าของเดิมได้แล้ว อย่างช้าภายในสิ้นปีนี้
ออดดังขึ้นเพื่อขอมติที่ประชุม ส.ส. หลายคนก็กรูกันออกมาจากห้องพักตามฟอร์ม
แล้วผลก็คือ 136 ต่อ 38 หนนี้บุญชูยกมือค้าน เช่นเดียวกับวาระสุดท้าย-พ.ร.ก.
ว่าด้วยแบงก์ชาติ ดร. ศุภชัยชี้แจงเสร็จไม่มีใครขออภิปราย แม้แต่บุญชูเองก็เงียบเฉย
แล้วในที่สุดก็ลงมติด้วยเวลาอันรวดเร็ว 137 ต่อ 12 สักพักอตีดซาร์เศรษฐกิจในชุดพระราชทานสีครีมก็หิ้วกระเป๋าเอกสารเดินทอดน่องลงมายังใต้ถุนรัฐสภา
กับคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่าทำไมจึงไม่อภิปรายในเรื่อง พ.ร.ก. แบงก์ชาติ เป็นเพราะอภิปรายไปก็เท่านั้นหรือไร
บุญชูยิ้มที่มุมปากก่อนตอบว่า "ไม่ใช่ เพราะอภิปรายก็เท่านั้นหรอก แต่มันเซ็ง"
แล้วก็เดินลิ่วออกพ้นธรณีประตูรัฐสภาไป