เฮลิคอปเตอร์เบลล์นั้นคนไทยค่อนข้างจะคุ้นเคยมาก เพราะนอกจากจะมีใช้กันมากที่สุดทั้งในกองทัพไทยหน่วยราชการอีกหลายหน่วยแล้ว
นาน ๆ ทีก็มีข่าวการประสบอุบัติเหตุให้ได้ทราบอีกด้วย ไม่นานมานี้กองทัพเรือต้องการจะซื้อเบลล์จำนวน
5 เครื่อง แล้วก็มีข่าวว่ากลาโหมไม่เห็นด้วยกับวิธีจัดซื้อซึ่งอุปสรรคนี้นอกจากผู้ที่ทุกข์ร้อนจะได้แก่กองทัพเรือ...พ่อค้าอาวุธเองก็ไม่สบายใจมาก
ๆ
"...ค้าอาวุธมันก็เป็นเรื่องของธุรกิจปกติ เพียงแต่ตัวเงินมันมาก..."
เนาวรัตน์ พัฒโนดม เคยบอกอย่างนั้นด้วยน้ำเสียงและทีท่า "ปกติ"
ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่เขาต้องอธิบายให้คนวงนอกที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับยุทธจักรค้าอาวุธได้เข้าใจ
"ที่ทำให้คนอาจจะเห็นว่าผมชนะประกวดราคาอยู่เรื่อง นั่นก็เป็นผลมาจากการทำงานหนัก
เราเหวี่ยงแหไปสิบ ก็ต้องมีติดมาสักหนึ่งละครับ..." เขาพูดถึงตัวเขาเอง
ก็จะจริงอย่างที่เขาว่า เพราะล่าสุดจากความพยายามที่จะขายเฮลิคอปเตอร์จำนวน
5 เครื่องให้กองทัพเรือไว้ใช้ประจำการและเกิดอาการยึกยัก ระหว่างกองทัพเรือกับกระทรวงกลาโหมในเรื่องวิธีการจัดซื้อจนกลายเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่พักหนึ่งนั้น
แม้ว่าหัวข้อถกเถียงจะเป็นปัญหาหลักการที่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่า วิธีการจัดซื้อของตนจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแท้จริง
ในส่วนที่เกี่ยวข้องแต่กลับไม่ได้มีการกล่าวถึงก็ว่ากันว่างานนี้ธุรกิจ "ปกติ"
ของเนาวรัตน์ พัฒโนดม มีอันให้ต้องลงแรงทำงานกันหนักเป็นพิเศษโดยมีเดิมพันเป็นค่าคอมมิชชั่นอย่างน้อย
5-8% ของมูลค่าการซื้อขายซึ่งกำหนดไว้คร่าว ๆ 33 ล้านเหรียญหรือราว ๆ 836
ล้านบาทเป็นอย่างน้อย
ลองคำนวณดูเองก็แล้วกันว่าเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่?
และคู่ควรหรือไม่ที่คนอย่างเนาวรัตน์จะต้องทำงาน "หนัก" เป็นพิเศษ
เนาวรัตน์ พัฒโนดม เป็นพ่อค้าอาวุธ เขาก้าวเข้ามาในวงการซื้อขายมูลค่าเป็นหมื่นล้านนี้เมื่อ
20 กว่าปีที่แล้วโดยเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานขายให้กับ "อาทร-ไสว แอนด์
ซัน" กิจการค้าอาวุธของ อาทร สังขะวัฒนะ ที่รุ่งเรืองเอามาก ๆ ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาส
ด้วยความเป็นคล่องแคล่วไหวพริบสูงและพื้นฐานการศึกษาดี (เนาวรัตน์เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและคณะนิติศาสตร์
ธรรมศาสตร์) ไม่นานนักเขาก็ผลักตัวเองขึ้นมายืนอยู่ในระดับมือขวาของ อาทร
สังขะวัฒนะ ซึ่งก็นับเป็นช่วงที่เขาสามารถเรียนรู้สายสนกลในของการค้าอาวุธกับกองทัพชนิดที่น้อยคนนักจะได้รับโอกาสเช่นนี้
เนาวรัตน์ แยกตัวออกมาจากอาทร ไสว แอนด์ ซัน และก่อตั้งกิจการค้าอาวุธของตนเองในเวลาต่อมา
"ตอนนั้นลูกชายนายห้างเขากลับมาจากต่างประเทศ เขาก็อยากทำของเขา ผมก็เลยไม่ต้องการไปขวางทางเขา
ก็ลาออกมาทำเอง..." เนาวรัตน์ เคยชี้แจงให้ฟัง
และนั่นก็คือที่มาของบริษัทคอมเมอร์เชียล แอสโซซิเอท ซึ่งเริ่มต้นจากสำนักงานเล็ก
ๆ แถวคลองเตยจนกลายเป็นสำนักงานโอ่อ่าบนตึกอรกานต์ในปัจจุบัน
ชื่อเนาวรัตน์ พัฒโนดมกับชื่อคอมเมอร์เชียลแอสโซซิเอทได้กลายเป็นชื่อที่ลือลั่นวงการค้าอาวุธพร้อมๆ
ไปด้วย
บริษัทคอมเมอร์เชียล แอสโซซิเอทของเนาวรัตน์นั้น เป็น "นายหน้า"
ขายอาวุธหลายชนิดจากหลาย ๆ โรงงานผลิตเพียงแต่ที่ช่วยสร้างชื่อเสียงและฐานะได้อย่างพรวดพราดก็เห็นจะได้แก่เฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อเบลล์ของบริษัท
BELL HELICOPTER TEXTRON ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนี้ประจำการอยู่ในกองทัพไทยและหน่วยราชการอีกบางหน่วยไม่น้อยกว่า
300 เครื่อง
"เขาเก่งมากและก็โชคดีด้วย เพราะ ฮ. เบลล์นั้นเคยใช้ประจำการอยู่ในกองทัพสหรัฐฯ
พอสงครามเวียดนามยุติ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยกให้กองทัพไทยเอาไว้ใช้เป็นจำนวนมาก
กองทัพไทยก็เลยรู้สึกคุ้นเคยกับเครื่องยี่ห้อนี้ เนาวรัตน์เขาก็สบายไป ไม่ต้องออกแรงมาก..."
พ่อค้าอาวุธรายหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ"
ความคุ้นเคยนี้ก็คงรวมถึงกองทัพเรือด้วย!
กองทัพเรือนั้นต้องการซื้อ ฮ.จำนวน 5 เครื่อง ซึ่งก็เพื่อให้เป็นไปตามแผนโครงสร้างกองทัพไทย
1/27 ที่กำหนดไว้จนถึงปีงบประมาณ 2531 ให้กองทัพเรือมี ฮ. เข้าประจำการจำนวน
14 เครื่อง และ ฮ. จำนวน 5 เครื่องที่จะซื้อนี้ 4 เครื่องเป็นการซื้อเข้ามาทดแทน
ฮ. UH-1H ที่จะต้องปลดประจำการ ส่วนอีก 1 เครื่องนั้น กองทัพเรือจะนำไปรวมไว้ในแผนการจัดหาเพิ่มเติมของกองทัพเรือให้ครบ
15 เครื่องในปีงบประมาณ 2532
"ก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาจัดหาเฮลิคอปเตอร์ โดยมีพลเรือโททะแกล้ว
ศรีสัมฤทธิ์ เสนาธิการกองเรือยุทธการ เป็นประธานกรรมการฯ ส่วนกรรมการอื่น
ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นผู้ใช้ บำรุงรักษาเจ้าหน้าที่การเงิน
คณะกรรมการประกอบด้วยนายทหาร 14 ท่าน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2528
แล้ว" นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแถลงให้ฟัง
ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการฯ ชุดนี้ก็ลงความเห็นว่า ฮ. ทั้ง 5 เครื่องควรจะเป็นเครื่องเบลล์
214 เอสที (BELL 214 ST) ของบริษัท BELL HELICOPTER TEXTRON
"เบลล์นั้นเริ่มมีชื่อเสียงจากรุ่น UH-1H หรือเบลล์ 205 ก็เป็นรุ่นที่กองทัพบกสหรัฐฯ
นำเข้าประจำการอยู่ 3,573 เครื่องตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา และส่งออกขายต่างประเทศ
1,317 เครื่อง ในช่วงสงครามเวียดนามกองทัพสหัฐฯ ได้นำ ฮ. รุ่นนี้มาใช้หลายพันเครื่อง
ต่อมารุ่นนี้ก็พัฒนาเป็นรุ่น UH-1 TWIN เป็น 2 เครื่องยนต์โดยกองทัพบกสหรัฐฯ
ส่วนบริษัทเบลล์ก็พัฒนารุ่นนี้เป็นรุ่น UH-1N หรือเบลล์ 212 เป็น 2 เครื่องยนต์เหมือนกันและใช้กันอยู่ในหน่วยนาวิกโยธินของสหรัฐฯ
ประจำภาคพื้นแปซิฟิค นอกจากนั้นก็พัฒนาเป็นรุ่นเบลล์ 412 มีใบพัด 4 แฉก ประเทศไทยมีใช้อยู่
1 เครื่อง คือ ฮ. พระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนเบลล์ 214
เอสที (ST-STRETCH TWIN) หรือเรียกอีกชื่อว่ารุ่น SUPER TRANSPORT นี้เป็นพัฒนาการล่าสุดของบริษัทฯ
ขณะนี้กองทัพไทยมีใช้อยู่ 2 เครื่องเป็นของท่านนายกฯ กับของท่าน ผบ. สูงสุด..."
นายทหารใหญ่ผู้หนึ่งเล่ายืดยาวถึงเรื่องราวของ ฮ. เบลล์
เบลล์ 214 เอสที นั้นกว่าจะผ่านการตัดสินได้ก็ต้องขับเคี่ยวกับคู่แข่งพอหอมปากหอมคอโดยเฉพาะ
ฮ. ไซคอร์สกี้ (SIKORSKY) ของบริษัท UNITED TECHNOLOGIES INTERNATIONAL ผู้ผลิตสัญชาติเดียวกับเบลล์ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมากในรุ่น
SEA HAWK และรุ่น BACK HAWK
"ที่จริงไม่ใช่แข่งกันเฉพาะเบลล์กับไซคอร์สกี้หรอก เดิมนั้นยังมีอีกยี่ห้อหนึ่งเป็นของประเทศอังกฤษชื่อ
LYNX เสนอโดยนายหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายชื่อคุณเทียน กรรณสูต เป็น ฮ. ขนาดกลาง
ที่ประสิทธิภาพสูงมาก แต่อย่างว่าเผอิญเป็นของอังกฤษ ไม่ใช่ของสหรัฐฯ ก็ต้องตกการพิจารณาไปเพราะเงื่อนไขเงินกู้เขาบังคับว่าจะต้องเป็นสินค้าของสหรัฐฯ
ก็เลยเหลือวัดดวงกันระหว่างเบลล์กับไซคอรสกี้..." แหล่งข่าวในวงการค้าอาวุธเปิดเผย
เบลล์นั้นผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้ซื้อ เช่นกองทัพเรือกับผู้ขายเช่นบริษัท
BELL ก็คงจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากบริษัทคอมเมอร์เชียล แอสโซซิเอทของเนาวรัตน์
พัฒโนดม ซึ่งเจ้าของงานที่ดูแลส่วนนี้อย่างใกล้ชิดเป็นมือขวาของเนาวรัตน์มีชื่อเรียกกันในวงการว่า
"อำนวย"
ส่วนไซคอร์สกี้มี "นายหน้า" ชื่อบริษัทยูไนเต็ด แอโร สเปซ (ไทยแลนด์)
หน้าใหม่ของวงการค้าอาวุธ แต่รายชื่อผู้เกี่ยวข้องออกจะฟังคุ้นหูอยู่ไม่น้อย
ยูไนเต็ด แอโร สเปซฯ มีพลเรือเอกอมร ศิริกายะ, พลตำรวจตรีเจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรันและนายพลเรือที่เกษียณแล้วอีกบางท่านเป็นกรรมการบริษัท
กรรมการผู้จัดการบริษัทก็เป็นลูกชายแท้ ๆ ของพลเรือเอกอมร ศิริยายะอดีตผู้บัญชาการทหารเรือและรัฐมนตรีคมนาคมเจ้าของฉายา
"จอส์เล็ก" ผู้นี้
"เดิมนั้นทางไซคอร์สกี้เขาพยายามเสนอรุ่น SEA HAWK ให้กองทัพเรือพิจารณาเพราะก็เป็นเครื่องที่กองทัพเรือสหรัฐฯ
ใช้ประจำการในปัจจุบัน แต่ราคามันแพงมากไปเขาก็เสนอรุ่น UH-60A หรือ BLACK
HAWK แทนราคาก็สูสีกับเบลล์ 214 เอสที" คนในวงการค้าอาวุธเช่นกันที่เล่าให้ฟัง
ภายหลังการเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตของทั้งแบลล์และไซคอร์สกี้ รวมทั้งบริษัทซ่อมทำของเบลล์และไซคอร์สกี้
รวมทั้งบริษัทซ่อมทำของเบลล์ที่สิงคโปร์ของประธานกรรมการฯ กับคณะกรรมการอีกบางท่านตลอดจนพิจารณาเงื่อนไขของทั้ง
2 ฝ่ายแล้ว
เบลล์ 214 เอสทีของฝ่ายคอมเมอร์เชียล แอสโซซิเอทก็ได้รับการยกมือให้เป็นผู้ชนะไป
ทั้งนี้กองทัพเรือแถลงให้เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเบลล์ว่า
- สามารถซื้อผ่าน DSSA (จัสแมก) หรือซื้อโดยตรงจากบริษัทก็ได้ในขณะที่ไซคอร์สกี้ต้องซื้อผ่าน
DSAA เพียงสถานเดียว
- ราคาประมาณ 32.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จำนวน 5 เครื่องหากซื้อตรงจากบริษัท
ส่วนถ้าซื้อผ่าน DSAA จะต้องเสียเงินค่า ADMIN. อีก 103 ล้านบาท ทางด้านไซคอร์สกี้เพียงจำนวน
4 เครื่องราคา 32.5 ล้านเหรียญฯ และต้องเพิ่มค่า ADMIN. อีก 143 ล้านบาท
รวมทั้งค่า R&D อีกเฉลี่ยเครื่องละ 210,000 เหรียญฯ
- สามารถอาศัยเทคนิค อะไหล่ช่วยเหลือจากกองทัพบกและกองทัพอากาศได้เพราะจะใช้เบลล์เหมือนกัน
ถึงแม้เบลล์ 214 เอสที จะเป็นรุ่นใหม่ แต่อะไหล่ก็ยังใช้ด้วยกันได้กับรุ่น
212 ประมาณ 70-75% ในขณะที่ไซคอร์สกี้ต้องสร้างขึ้นใหม่หมดเวลามีอุสรรคข้อขัดข้องหรือกรณีฉุกเฉินคงจะใช้เครื่องไม่ได้
- ค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 3.6 แสนเหรียญฯ ขณะที่ไซคอร์สกี้ประมาณ
4.2 แสนเหรียญ
- ค่าใช้จ่ายปฏิบัติการในปีแรก (รวมค่าแรงงาน) ประมาณ 7.1 แสนเหรียญ ทางด้านไซคอร์สกี้ประมาณ
2 ล้านเหรียญ
- ค่าอะไหล่ที่ต้องจัดหาสำรองไว้ประมาณ 5.3 ล้านเหรียญ ซึ่งทางด้านไซคอร์สกี้ประมาณ
8.1 ล้านเหรียญฯ
- บรรทุกได้ 17 ที่นั่ง ส่วนไซคอร์สกี้บรรทุกได้ 14 ที่นั่ง
จากข้อเปรียบเทียบดังกล่าว กองทัพเรือก็เลยตัดสินใจเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเบลล์
และเพื่อประหยัดงบประมาณก็จะขอซื้อโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตด้วย
ก็เห็นจะต้องกล่าวว่าการตัดสินใจนี้ต้องเผชิญอุปสรรคที่ทำเอาหลายคนอาจจะต้องใจหายใจคว่ำ
เริ่มต้นจากฝ่ายบริษัท ยูไนเต็ด แอโร สเปซ เดินเรื่องเรียกร้องความเป็นธรรมทันทีที่ทราบการตัดสินใจของกองทัพเรือ
"คือกองทัพเรือโดย ผบ.ทร. ได้อนุมัติการซื้อ ฮ. เบลล์เมื่อวันที่
20 สิงหาคม 2529 วันที่ 1 กันยายนหนังสือขอความเป็นธรรมก็ส่งถึง ผบ. สูงสุดแล้ว..."
แหล่งข่าวชั้นสูงกล่าว
ยูไนเต็ด แอโร สเปซ นายหน้าของเครื่องไซคอร์สกี้ได้แย้งว่า ฮ. ที่กองทัพเรือมีใช้ในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากเบลล์
214 เอสทีมาก ไม่ว่าจะเป็นการฝึกบิน ช่างเครื่องและเครื่องมือในการซ่อมบำรุงต้องจัดหาใหม่หมด
ทางด้านจำนวนการใช้งานปัจจุบันและอนาคตก็เป็นที่ชัดแจ้งว่ารุ่น UH-60 หรือ
BACK HAWK นี้มีใช้ใน 3 เหล่าทัพของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ หลายประเทศ โรงงานมีสายการผลิต
12 เครื่องต่อเดือนขณะที่เบลล์ 214 เอสที ประเทศอื่น ๆ มีใช้กันน้อย สายการผลิตก็ไม่มี
จะเปิดสายการผลิตต่อเมื่อมีการสั่งซื้อ จากการเปรียบเทียบการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดอุบัติเหตุและความน่าเชื่อถือแล้วก็น่าเชื่อถือมากกว่าประกอบกับเป็นรุ่นที่กองทัพสหรัฐฯ
มีใช้อยู่และเป็นรุ่นที่เป็นลิขสิทธิ์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ด้วย
ส่วนทางด้านราคานั้น ก็เนื่องจากไซคอร์สกี้มีอุปกรณ์การบินที่ใช้ของดีกว่าเบลล์และมีมากขึ้นกว่า
ราคาก็ต้องสูงกว่าเป็นธรรมดา แต่หากไม่รวมอุปกรณ์เครื่องไซคอร์สกี้จะถูกกว่าเบลล์
ทางไซคอร์สกี้ได้เสนอลดราคาให้แล้ว แต่กองทัพเรือก็ไม่ยอมรับการลดราคาครั้งสุดท้าย
โดยให้เหตุผลว่าผิดระเบียบการจัดซื้อครั้งนี้ อย่างไรก็ตามการจัดซื้อครั้งนี้เป็นการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ
มิใช่การประกวดราคา กองทัพเรือจึงน่าจะยอมรับเพราะจะได้ของที่ราคาถูก หรือมิฉะนั้นก็ควรให้บริษัทแบลล์ลดราคาลงอีกเพื่อให้กองทัพหรือได้ประโยชน์มากที่สุด
และยังมีอีกหลายประเด็นที่ทางฝ่ายยูไนเต็ด แอโร สเปซ โต้แย้งเอาหนัก ๆ
แต่ก็เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง กองบัญชาการทหารสูงสุดโยนเรื่องกลับไปให้กองทัพเรือชี้แจงให้ฝ่ายไซคอร์สกี้หายข้องใจ
ซึ่งไซคอร์สกี้ก็ย่อมทราบดีว่ามันหมายความว่าอย่างไร?
กองทัพเรือผ่านด่านแรกอย่างไม่ยากเย็นนัก และคอมเมอร์เชียล แอสโซซิเอทของเนาวรัตน์
พัฒโนดมก็คงจะถอนใจได้เฮือกใหญ่
อุปสรรคด่านที่สองตามติด ๆ คราวนี้เป็นเรื่องว่าจะซื้อเบลล์ 214 เอสทีด้วยวิธีไหนจาก
2 วิธีที่ใช้ ๆ กันคือการซื้อโดยตรงจากโรงงานผลิตอาวุธหรือซื้อฝ่านระบบจีทูจี
(GTOG) หรือรัฐบาลต่อรัฐบาลที่ไทยกับสหรัฐฯ ได้เริ่มใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้
การซื้อโดยตรงจากโรงงานโดยมี "นายหน้า" ในประเทศเป็นผู้ประสานงานและได้ค่าตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นจากฝ่ายผู้ขายนั้น
เป็นวิธีการซื้ออาวุธที่ทำกันมานานแล้ว ทั้งนี้ก็ด้วยการจัดซื้อจากเงินงบประมาณที่แต่ละเหล่าทัพได้รับการจัดสรร
ส่วนการซื้อด้วยวิธีจีทูจี (ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดให้ DSAA หรือจัสแมกเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสำหรับลูกค้าอย่างประเทศไทย)
เป็นวิธีที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่การจัดซื้อนั้นจำเป็นต้องใช้เงินกู้ FMS
(FOREIGN MILITARY SALES) ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือมิตรประเทศของสหรัฐฯ
"เป็นระบบที่ก็ช่วยทำให้ภาพพจน์ดีขึ้นครับ คือกฎหมายของสหรัฐฯ เขากำหนดไว้ชัดเจนเลยว่า
การซื้อผ่านระบบจีทูจีนั้นจะจ่ายค่าคอมมิชชั่นไม่ได้ หรือจ่ายได้ก็ไม่เกิน
50,000 เหรียญ เพราะฉะนั้นพ่อค้าอาวุธก็ไม่ค่อยชอบระบบนี้ เขาก็พยายามคัดค้านมาโดยตลอด
โดยยกข้ออ่อนของระบบเช่น ราคามันจะขึ้นไปเรื่อย ๆ ตกลงกันราคาหนึ่ง แต่จ่ายอีกราคา
มีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่าค่า ADMIN.เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3% และยังมีค่าวิจัยและพัฒนาอีกส่วนหนึ่ง
ที่ผู้ซื้อต้องจ่าย มันก็แพงกว่าซื้อตรง แต่ข้อดีก็คือจะได้ของที่รัฐบาลสหรัฐฯ
เขาการันตีคุณภาพ ไม่ใช่แล้วเครื่องเสียบ่อยๆ เดี๋ยวตก...เดี๋ยวตก"
นายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
อุปสรรคของกองทัพเรือนั้นก็อยู่ที่ว่าการจัดซื้อเบลล์ 214 เอสที จำนวน
5 เครื่องราคาโดยประมาณ 33 ล้านเหรียญฯ มีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ FMS ทั้งหมด
แต่แทนที่จะซื้อด้วยวิธีจีทูจีโดยผ่านจัสแมก กองทัพเรือกลับขอซื้อตรงจากโรงงานโดยอ้างว่าสามารถประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมาก
ระหว่างที่กองทัพเรือกำลังเดินเรื่องนั้นเอง พลอากาศพะเนียง กานตรัตน์
รัฐมนตรีกลาโหมก็ได้ออกคำสั่งว่า การจัดซื้ออาวุธที่จำเป็นต้องใช้กู้ FMS
จะต้องซื้อด้วยระบบจีทูจีเพียงประการเดียว คำสั่งดังกล่าวนี้ออกเมื่อวันที่
26 กันยายน 2529 ซึ่งก็มีผลให้กองทัพเรือชนตอเข้าโครมเบ้อเริ่ม
จะโดยบังเอิญหรือไม่ก็มิทราบได้หรือจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปถึงปัญหาที่ไซคอร์สกี้เรียกร้องความเป็นธรรมก็ยากที่จะทราบเช่นกัน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือกองทัพเรือนั้นยืนยันที่ต้องการจะซื้อตรงจากโรงงาน
ส่วนกระทรวงกลาโหมก็กล่าวหนักแน่นว่าจะต้องเป็นจีทูจีโดยผ่านจัสแมก
"ก็ทราบ ๆ กันเพียงว่าท่านรัฐมนตรีติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้น
เรื่องเบลล์กับไซคอร์สกี้ท่านก็ทราบ และเชื่อว่าท่านตัดสินใจไปตามหลักการความถูกต้อง
อยากให้มันเป็นระบบที่ชัดเจนแน่นอนและมีหลักประกันว่า กองทัพจะได้ประโยชน์สูงสุดในระยะยาว..."
แหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมเปิดเผย
แต่ก็นั่นแหละเมื่อเรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ และจุดที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากก็พุ่งเป้าไปที่ว่าจุดยืนของกองทัพเรือนั้นสามารถประหยัดเงินได้มากกว่า
เหตุผลด้านอื่น ๆ ก็ดูเหมือนว่าจะฟังไม่ค่อยขึ้น
ภายหลังยึกยักกันระยะหนึ่งกองทัพเรือก็ฝ่าด่านไปได้สำเร็จ โดยที่ทางฝ่ายจัสแมกเองก็ยินยอมอนุมัติให้กรณีนี้เป็นกรณีสุดท้ายสำหรับการซื้ออาวุธที่ต้องใช้เงินกู้
FMS
กองทัพเรือนั้นก็คงจะสบายใจที่ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้
เช่นเดียวกับคอมเมอร์เชียล แอสโซซิเอท ที่ก็คงต้องภาคภูมิใจในผลงานครั้งนี้
"ผมเองนั้นไม่ต้องการค่านายหน้าหรอก ผมจะบอกเคล็ดลับให้ ของที่ผมทำอยู่มันไม่ใช่เหล็กเส้นหรือปูนซิเมนต์ที่ขายแล้วขายเลย
ทุกอย่างที่ผมทำมีสแปร์พาร์ท ผมจะได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ทีหลัง...แต่ผมต้องดัน
ต้องทำให้เรื่องใหญ่สำเร็จด้วยโดยการเสนอราคาถูก ไม่ถูกเขาก็ไม่ซื้อถูกด้วยดีด้วย
แล้วผมก็ได้สิ่งที่ตามมา ถ้าเรื่องใหญ่ไม่สำเร็จผมก็จะไม่ได้อะไรเลย..."
เนาวรัตน์ พัฒโนดม เคยเปิดเผยเคล็ดลับการทำงานของเขาว่าอย่างนั้น