ดีเอสเอ เครื่องมือชิ้นใหม่บ่งบอกการก้าวเดินไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ดีเอสเอ (DSA) ย่อมาจาก DIGITAL SUBTRACTION ANGIOGRAPHY ANGIOGRAPHY นั้นหมายถึงการถ่ายเอ็กซเรย์ระบบหลอดเลือดเพื่อศึกษาหาโรคของผู้ป่วย เป็นการใช้สารทึบแสง (CONTRAST MEDIA) ฉีดเข้าไปในเส้นเลือดแล้วถ่ายภาพเอ็กซเรย์ในลักษณะต่อเนื่อง (SERIAL RADIOGRAPHY) หรือถ่ายด้วยระบบถ่ายภาพยนตร์ (CINERADIOGRAPHY) จากนั้นนำภาพที่ได้มาเรียบเรียง ก็จะสามารถศึกษาถึงการไหลเวียนของโลหิตพร้อมทั้งอาการเจ็บป่วยของคนไข้ที่ต้องการตรวจได้

เผอิญระบบหลอดเลือดของร่างกายคนเราประกอบด้วยเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง คละเคล้าปะปนกันในทุกส่วนของอวัยวะ ยากต่อการแยกแยะออกจากันได้ด้วยวิธีของ ANGIOGRAPHY ธรรมดา ๆ ทำให้ได้มีผู้ค้นคิดหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะแสดงภาพเฉพาะเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงขึ้น เริ่มต้นจากการนำภาพของเส้นเลือดแดงที่ได้จากการถ่ายเอ็กซเรย์ ในระยะต้นของการฉีดสารทึบแสงเข้าเส้นเลือดแดงไป เทียบกับภาพเอ็กซเรย์ระยะปลายของการฉีดสารทึบแสง ซึ่งจะเห็นทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำพร้อมกัน ขั้นต่อมาก็ใช้เทคนิคของ PHOTOGRAPHY ไปลบภาพเส้นเลือดแดงออกจากภาพเอ็กซเรย์หมู่ทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำปนกัน ก็จะได้ภาพเส้นเลือดดำโดยเฉพาะออกมา วิธีนี้เรียกว่า SUBTRACTION ANGIOGRAPHY

ครั้นเมื่อถึงยุคคอมพิวเตอร์ก็ได้มีการนำเอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้งานร่วมกันกับเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดต่าง ๆ ก่อให้เกิดการพัฒนาเครื่องเอ็กซเรย์จากระบบ ธรรมดาดังกล่าวไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์

และนี่คือที่มาของ DIGITAL SUBTRACTION ANGIGRAPHY หรือ DSA

เครื่อง DSA นั้นเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่งซึ่งออกแบบพิเศษ สำหรับใช้งานร่วมกับเครื่องเอ็กซเรย์ระบบ ANGIOGRAPHY โดยเฉพาะ คือจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการตรวจ วิเคราะห์ผลแสดงผลพร้อมกับบันทึกผลการตรวจในรูปที่ต้องการเสร็จสรรพ ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังช่วยให้การตรวจระบบหลอดเลือดของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ทำได้สะดวกมากขึ้น อย่างเช่น

-สามารถใช้เทคนิคการตรวจหลอดเลือดโดยการฉีดสารทึบแสงเข้าทางเส้นเลือดดำเพิ่มขึ้นจากวิธีฉีดสารทึบแสงเข้าทางเส้นเลือดแดง ซึ่งวิธีนี้เป็น NON INVASIVE TECHNIQUE ที่ให้ความสะดวกปลอดภัยในการตรวจและเหมาะสำหรับงาน SCREENING EXAMINATION

- ใช้เวลาในการตรวจสั้นกว่า ทำให้ไม่ต้องยุ่งยากในการเตรียมผู้ป่วย

- วิธีการตรวจทำได้ง่าย

- ให้ผลการตรวจเป็นภาพในระบบ REAL TIME IMAGING ได้ทันที

- ลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์ใช้งานประกอบที่มีราคาแพงไปได้อย่างมาก ทั้งนี้โดยใช้ DSA ทำหน้าที่แทน

- ค่าใช้จ่ายในการตรวจต่อครั้งจะถูกกว่าการตรวจด้วยวิธีเดิม ๆ อย่างมาก

เครื่อง DSA นั้นเมื่อใช้งานร่วมกับเครื่องเอ็กซเรย์สำหรับตรวจระบบหลอดเลือดจะสามารถให้การตรวจกับอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้ ทั้งนี้โดยการเลือกใช้เทคนิคการฉีดสารทึบแสงให้เหมาะแก่อวัยวะแต่ละส่วน คือ ใช้เทคนิคของการฉีดสารทึบแสงเข้าทางเส้นเลือดดำ เมื่อต้องการจะตรวจส่วนศีรษะและคอ อก หัวใจ ช่องท้อง ท้องน้อยและแขนขา

และใช้เทคนิคการฉีดสารทึบแสงเข้าทางเส้นเลือดแดง เมื่อต้องการตรวจอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต ม้ามหรือหัวใจ เป็นต้น

การตรวจทั้ง 2 วิธีนี้จุดประสงค์ในการตรวจซึ่งเครื่องจะให้คำตอบอย่างมีประสิทธิภาพ อาจสรุปได้ว่า เป็นการตรวจหาโรคของหลอดเลือดส่วนต่าง ๆ ตรวจหาตำแหน่งและขนาดของมะเร็ง ตรวจหาการอุดตันการโป่งพองของหลอดเลือดพร้อมหาสาเหตุหรือสมุหฐานของโรคเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ตรวจเพื่อติดตามการรักษาหลังผ่าตัด ตรวจเพื่อศึกษาการทำงาน ของอวัยวะต่าง ๆ เพื่อหาความผิดปกติ และเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องแม่นยำ และตรวจ เพื่อทำการ SCREEN ผู้ป่วยเพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วต่อไป

ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เครื่อง DSA นี้กำลังจะมีใช้เป็นเครื่องแรกในประเทศไทยแล้ว

ที่โรงพยาบาลสยาม โดยจะติดตั้งราว ๆ ต้นปี 2530 ที่จะถึง

เป็นผลิตภัณฑ์ของ HITACHI MEDICAL CORPORATION แห่งประเทศญี่ปุ่นคาดว่าสามารถ เปิดบริการแก่ผู้ป่วยทั่วไปได้ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2530

เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ชุดนี้ เป็นเครื่องมือทางรังสีวิทยาที่มีประสิทธิภาพสูงและทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน เท่าที่ทราบก็จะประกอบด้วยเครื่องเอ็กเรย์ชนิด 12 PULSE ในระบบ BI PLANE SYSTEM ขนาด 1300 mA ควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์พร้อมส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับการตรวจระบบหลอดเลือดครบชุด โดยเฉพาะส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดได้แก่ ชุดคอมพิวเตอร์ DSA ที่กล่าวข้างต้น

"เราเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องนี้มาก เช่นเดียวกับที่เราเชื่อมั่นแบรนด์เนม และความจริงใจทุก ๆ ด้านของผู้แทนจำหน่ายของบริษัทวิทยาคมซึ่งเราซื้อเครื่องมือทางการแพทย์มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าหลายอย่างแล้ว..." ผู้บริหารคนหนึ่งของโรงพยาบาลสยามพูดกับ "ผู้จัดการ" อย่างเชื่อมั่น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.