จะแก้ปัญหาเรื่องรายได้-รายจ่ายของประเทศกันอย่างไร?

โดย เมธี ครองแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

คำพูดที่ว่าอยากให้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายเยอะ ๆ ก็มีการถกเถียงกันว่ารัฐควรจะทำอย่างนั้นไหม มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คือเห็นด้วยกับฝ่ายที่เพิ่มงบประมาณ 4% เศษ หรือให้เพิ่มมากกว่านี้

สำหรับผมนั้น ผมเห็นด้วยกับการใช้จ่ายค่อนข้างจำกัดในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า เหตุผลก็คือปัญหาเร่งด่วนที่สุดของเราคืออะไร รัฐบาลจะใช้จ่ายที่ตนเองไม่มีความสามารถเพียงพอหรือว่าควรที่จะเจียมเนื้อเจียมตัว รอการปรับปรุงตัวเองจนสามารถระดมทรัพยากรในประเทศให้ดีขึ้น แล้วจึงประเมินสถานการณ์ใหม่นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะทำ การใช้จ่ายเยอะ ๆ นั้นน่าจะเป็นนโยบายในอนาคตต่อไป

มันเป็นความขัดแย้งระหว่างนโยบายสองส่วน มีความกดดันที่จะให้รัฐเป็นตัวกระตุ้นแต่ขณะเดียวกันรัฐก็มีความจำกัดในเรื่องการระดมทรัพยากรวิธีที่ถูกต้อง ถ้ารัฐต้องการจะลงทุนระดมทรัพยากรให้ได้ด้วยตนเอง มีการใช้จ่ายที่คุ้มทุนจะได้มีเงินเหลือสำหรับกิจกรรมอย่างอื่น ซึ่งตอนนี้รัฐมีปัญหาอย่างมาก

ความสามารถในการระดมทรัพยากรของรัฐบาลจัดว่าเป็นปัญหาที่ลึกล้ำที่สุดเป็นเรื่องแฝงเร้นอยู่แต่คนไม่ค่อยรู้สึก มีปัญหาว่ารัฐไม่มีเงินพอต้องกู้ยืม ระบบภาษีถ้าจะเปลี่ยนอะไรให้ดีขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีรายได้ก็ควรทำไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นภาษีเสมอ อาจจะลดก็ได้เมื่อลดแล้วจะต้องมั่นใจหรือแน่ใจว่ามีช่องทางก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในระยะที่ไม่ไกลนัก

ตรงประเด็นนี้สมรรถภาพการจัดหาหรือระดมทรัพยากรในประเทศเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ อันดับแรกระบบภาษีต้องปฏิรูปปรับปรุง ทั้งเรื่องการสร้างความเป็นธรรมให้กับระบบ อันดับสองการระดมรายได้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะต้องไปพร้อมๆ กัน

ความสามารถระดมเงินในประเทศเราต่ำมากเราดูเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเรา ปีหนึ่ง ๆ เขาสามารถจัดเก็บภาษี เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของรายได้ประชาชาติของประเทศเขาเราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเรานั้น ความสามารถในการจัดเก็บภาษีค่อนข้างแย่ เรามีตัวเลขซึ่งเป็นสัดส่วนระหว่างภาษีต่อรายได้ประชาชาติช่วงประมาณ 14-15% ติดต่อกันมาเป็นเวลานานโดยไม่มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 5 ได้กำหนดเป้าไว้ว่าจะต้องมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีและอื่น ๆ เป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งตอนนี้สิ้นแผนฯ 5 คิดแล้วได้ประมาณ 15.2%

รายได้นั้นเมื่อมีการระดมแล้วไม่เป็นธรรม ผมเองก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก เช่นการเพิ่มสลากกินแบ่งรัฐบาล ระดมด้วยการขึ้นภาษีสุรา ซึ่งผมไม่สู้ที่จะเห็นด้วยเพราะผู้รับภาระฐานะก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว อาจจะได้เงินจริงจากคอเหล้าคอบุหรี่ แต่มันไม่ใช่วิธีการที่นักการคลังเขาเห็นว่าสมควรทำ เราควรดูว่าใครอยู่ในฐานะที่จะจ่ายให้ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ดูคนที่มีฐานะอยู่แล้วที่ไม่เคยเสียก็พยายามให้เสียในอัตราที่เป็นธรรม

ถ้าสามารถสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมโดยทั่วถึงเชื่อว่าคนที่มีฐานะที่เสียได้เขาก็เต็มใจเสีย ที่เป็นอยู่ปัจจุบันเขาไม่อยากจะเสียก็เห็นว่าเรื่องอะไรจะเสียเมื่อคนอื่นก็ไม่เห็นมันเสีย ต้องพยายามทำให้มันทั่วถึง ทำให้เป็นธรรม แบบนี้คนที่เขามีเขาก็ต้องการเสียตรงนี้ต่างหากเป็นเรื่องสำคัญ

การให้ประโยชน์โดยไม่จำเป็นโดยเหตุผลทางการเมืองหรือด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่เหมาะสม ที่จะต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมืองลบล้างมันเสียไม่จำเป็นต้องเห็นแก่หน้าใคร จำเป็นต้องทำก็ทำไป ผมคิดว่าประโยชน์ที่ได้จากการเอาจริงเอาจังของรัฐจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบมากขึ้น

อีกทางหนึ่งจะเป็นรายได้ให้กับรัฐเหมือนกันคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าพูดถึงงบประมาณกลางงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลรวมหมายถึงรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ถ้าดูตัวเลขการใช้จ่ายรัฐวิสาหกิจทั้งหมดรวมกันแล้วจะเท่ากับหรือพอๆ กับรัฐบาลกลาง คือประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท

ข้อเท็จจริงอันนี้หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าขนาดของภาครัฐวิสาหกิจของเราใหญ่มหาศาลขนาดนั้น ดังนั้นรัฐวิสาหกิจมีนโยบายที่จะใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ มีกำไรสูง หมายความว่ามีกำไรพอสมควร ไม่ใช่เอาอำนาจผูกขาดของรัฐวิสาหกิจนั้น ตั้งราคาแพง ๆ แล้วให้บริการชุ่ย ๆ คือการกระทำตนให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ผลิตด้วยต้นทุนต่ำแต่ว่ามีประสิทธิภาพในราคาสมควรและได้กำไร

กำไรจากรัฐวิสาหกิจจะเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลอย่างมากทีเดียว จริงอยู่ดูรัฐวิสาหกิจทั้งระบบมีเงินสมทบให้รัฐบาลปีหนึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย มีรัฐวิสาหกิจบางแห่งเป็นแหล่งเงินให้กับรัฐบาลทีเดียวเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานสลากกินแบ่ง, โรงงานยาสูบ...เป็นแหล่งรายได้หลักให้รัฐบาลแต่ผมคิดว่าดูทั้งระบบจริง ๆ แล้วยังมีช่องทางที่จะปรับปรุงเรื่องเงินสมทบที่รัฐวิสาหกิจจัดให้รัฐบาลเป็นประจำปีมากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้อีกมากทีเดียว ถ้าเราปรับปรุงกิจกรรมรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้น

อันนี้จะเป็นช่องทางอันหนึ่งที่จะทำให้ความสามารถหรือศักยภาพทางการคลังให้รัฐบาลดีขึ้นได้ 2-3 ปีข้างหน้า

ปรับรัฐวิสาหกิจให้ดีขึ้นเป็นวิธีที่ 2 เรื่องแรกคือภาษีเรื่องที่สองคือรัฐวิสาหกิจ

เรื่องที่สามก็คือการระมัดระวังเรื่องรายจ่าย ช่องว่างระหว่างการออมกับการลงทุนเป็นปัญหาหนักของรัฐบาลในช่วงแผนฯ 6 มันก็ไม่ได้แก้ไขอะไรทั้งสิ้น ตรงนี้ผมว่ามันจะเป็นปัญหากับงบประมาณปีนี้ การคำนึงถึงประสิทธิภาพของราชการในแต่ละกระทรวงทบวงกรม นโยบายไม่ให้ขยายข้าราชการเกินกว่า 2% ต่อปี ผมว่านโยบายนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับการบริหารการคุมกำเนิดการขยายของข้าราชการหรือการจ้างงานใหม่นโยบายนี้น่าจะดำเนินต่อไป

เรื่องการใช้จ่ายถ้าเราไม่ระวัง 2-3 ปีข้างหน้ามันยิ่งจะมีความกดดันในเรื่องการกู้ยืม ทำให้เราควบคุมสถานการณ์เอาไว้ไม่ได้แล้วสถานการณ์พวกนี้มันเสื่อมทรามเร็วมาก มันจะกลายเป็นประเทศฟิลิปปินส์ที่สองในเวลาอันรวดเร็วต้องระวัง

ผมว่าประเด็นมันค่อนข้างชัดเจนแล้วในปัจจุบันนอกจากรัฐไม่ค่อยมีความสามารถทางการเงินการคลังเพียงพอที่จะดูแลโครงการทั้งหมดที่ได้ก่อตั้งไว้ ก็เป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลยังสนับสนุนอยู่ คงจะต้องให้เอกชนร่วมดำเนินการ โดยการให้สิทธิประโยชน์ให้ความสะดวกในการที่เอกชนจะได้เข้ามาทำงานถ้ายึดหลักเจียมเนื้อเจียมตัว อันไหนมันเกินไปทำไม่ได้ก็อย่าไปทำให้เอกชนเข้ามาแล้วก็ให้สิทธิประโยชน์เท่าที่เหมาะสมและสมควร แต่ไม่หมายความว่าอันไหนรัฐบาลทำไม่ได้แล้วก็ปล่อยฟรีอิสระลักษณะเช่นนั้นก็เป็นว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา

รัฐบาลต้องดูด้วยว่าสิทธิประโยชน์ที่จะให้นั้นไม่ได้ต้นทุนจากสังคมมากเกินไป ต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งมันอาจจะหมายถึงกลุ่มที่กว้างไกลออกไปแล้วในระยะที่ไกลออกไปจากยุคปัจจุบัน เช่นลูกหลานจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นหรือไม่เรื่องที่เกี่ยวกับคำว่าต้นทุนสังคมทั้งสิ้น

ปัญหาต่อไปคือการบริหารเงินนอกงบเป็นปัญหาซึ่งสมควรได้รับการแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายในแผนฯ 6 ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าในปัจจุบันมีเงินจำนวนมหาศาลที่อยู่ในการใช้จ่ายของภาครัฐบาล แต่ว่าไม่อยู่ในระบบงบประมาณ คือไม่อยู่ในระบบที่จะควบคุมโดยรัฐสภา ยกตัวอย่างเช่นเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่เข้ามาจะไม่อยู่ในงบประมาณที่นำเสนอรัฐสภา และเงินที่ช่วยเหลือจากต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน เงินทุนหมุนเวียนอื่น ๆ ซึ่งได้แยกออกไปแล้วจากเงินงบประมาณไปตั้งอยู่ตามกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ อันนี้ก็ไม่อยู่ในงบประมาณ

คือการใช้จ่ายเป็นเรื่องของแต่ละกระทรวงเขาจะพิจารณากัน ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของการใช้จ่ายบางครั้งนั้นเป็นที่น่าสงสัยว่ามันจะมีประสิทธิภาพตามต้องการหรือไม่ แล้วก็การควบคุมก็เป็นไปได้ยาก เพราะเป็นเรื่องเอกเทศแต่ละกระทรวง ผมจะทำอะไรก็มีพรรคพวกพิจารณาร่วมกัน ซึ่งทำให้การควบคุมการใช้จ่ายนั้นค่อนข้างจะมีปัญหา เพราะฉะนั้นน่าจะมีการปรับปรุงระบบการควบคุมงบประมาณเงินทองเหล่านี้ให้รัดกุมขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เงินจำนวนนี้มหาศาลในแต่ละปีนั้นมีเงินที่สามารถจะจับจ่ายนอกงบประมาณเป็น 100,000 ล้านบาท ซึ่งมหาศาลจริง ๆ คือถ้าควบคุมแล้วคงทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นการใช้จ่ายถูกต้องขึ้น

การควบคุมที่มีประสิทธิภาพตอนนี้หน่วยงานหลายหน่วยจะเป็นสภาพัฒน์ฯ ก็ดี กระทรวงการคลังก็ดีหรือหน่วยงานอื่น ๆ เช่นธนาคารโลกก็พยายามที่จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาฐานะของรัฐบาลโดยการนำเงินทุกส่วนมาแสดงร่วมกัน ปัจจุบันนี้รัฐบาลกลางเท่านั้นที่อยู่ในงบประมาณแล้วเสนอรัฐสภาก็มีความคิดว่าเอาเงินทั้งหมดมาพูดกันแล้วเสนอให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องเป็นคนริเริ่มว่ายินดีไหมที่จะทำตาม คำแนะนำต่าง ๆ ซึ่งโดยหลักเกณฑ์ในทางทฤษฎีจริง ๆ ก็น่าจะทำเพราะมันหมายถึงการควบคุมการบริหารงบประมาณที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพไม่มีช่องโหว่

แต่พูดถึงทัศนะของคนที่เคยใช้จ่ายโดยสะดวกโดยที่ไม่มีใครต้องมาควบคุม อาจรู้สึกขืนไป ทำอะไรใหม่มันก็เป็นการสร้างกรอบล้อมตัวเองไว้หลายหน่วยงานคงไม่อยากเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะกระทรวงที่คุมเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาลคงไม่ชอบ ก็มีประเด็นสำคัญ ว่าการที่เกิดความคล่องตัวในการบริหารก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกันถ้ามันคล่องเกินไปมันก็อาจมีผลเสียการใช้จ่ายไม่มีการคุม

เราไม่ได้กล่าวหาเขาว่าเขาจะต้องทำอย่างนี้เสมอไป เราพูดแต่เพียงว่าระบบปัจจุบันเปิดโอกาสให้ รมต.ที่คุมเงินนอกงบประมาณสามารถที่จะใช้ตำแหน่งหน้าที่ ในการที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเงินทุนหมุนเวียนนี้ได้โดยที่ไม่ได้ผ่านระบบควบคุมที่รัดกุมพอเราควรพูดอย่างนั้นมากกว่า

ผมอยากเห็นว่าแผนฯ 6 ได้มีการควบคุมเงินนอกงบประมาณให้มันรัดกุมขึ้นกว่าเคยเป็นซึ่งจะทำให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพขึ้น มันต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้นำรัฐบาลจริง ๆ ว่า จะใช้ความกล้าหาญทางการเมือง เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ถึงแม้จะไม่มีผลประโยชน์ได้เสียของแต่ละหน่วยงานก็เป็นเรื่องของความคล่องตัวของการใช้เงินแต่ละหน่วยงาน ซึ่งแน่นอนแต่ละกรมแต่ละกระทรวงก็อยากมีพวกนี้อยู่เวลาไปทำอะไรที่มันเปลี่ยนไปจากเดิมเขาก็ต่อต้าน แต่ถ้ารัฐบาลระดับสูงเอาจริงมันก็น่าจะเป็นประโยชน์

ผมไม่เห็นเลยว่าในส่วนรวมจะเป็นความเสียหาย ผมมองอย่างนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องถ้าคุณทำได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เราสามารถจะดูได้ว่ารัฐบาลตอนนี้ใช้จ่ายอะไรอย่างไงแค่ไหน มีความถูกต้องหรือไม่อย่างไร วิเคราะห์อะไรได้ชัดเจนกว่า

ขณะที่เงินงบประมาณเอง 2 แสนกว่าล้านที่จริงมันก็มีส่วนอื่นเช่นของรัฐวิสาหกิจอีก 2 แสนกว่าล้าน ปีหนึ่งงบประมาณออกไปให้ใช้จ่าย แล้วเงินนอกงบประมาณอีก 100,000 กว่าล้าน เงินที่เราไม่รู้ที่อยู่นอกงบหรือที่เรียกว่าเงินนอกงบมันครึ่งหนึ่งของเงินงบประมาณแล้ว ซึ่งทำให้เราไม่สามารถตามบทบาทของรัฐบาลได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นถ้าควบคุมมันได้ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.