สยามกลการหมดยุคถาวรหรือ "พรประภา"?


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

สัญญาณการเปลี่ยนแปลงบางประการเกิดขึ้นกับกลุ่มสยามกลการมานานพอสมควรแล้ว เพียงแต่วิเคราะห์กันไม่ออกเท่านั้นว่า จะเปลี่ยนไปในรูปไหนได้แต่คาดเดากันไปหลายทิศหลายทางจนเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2529 พร้อมๆ กับการเข้ามาของนุกูล ประจวบเหมาะ และการประกาศวางมือของถาวร พรประภา ทิศทางค่อยแจ่มชัดขึ้น เส้นทางเดินบนถนนชีวิตและบนถนนธุรกิจของถาวร เป็นมาอย่างไร จึงลงเอยได้ด้วยวันที่ 16 และมีอะไรอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์คือสิ่งที่ "ผู้จัดการ" กำลังจะบอก

การประกาศวางมือจากตำแหน่งประธานกรรมการกลุ่มสยามกลการของ ถาวร พรประภา ย่อมมิใช่ความหมายเพียงถาวรไม่มีสิทธิ์ลงนามเพียงคนเดียว พร้อมประทับตราบริษัทในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทสยามกลการ จำกัด อันเป็นบริษัทแม่ที่มีสินทรัพย์เกือบๆ 6 พันล้านบาท และมีบริษัทในเครืออีกประมาณ 40 บริษัท เฉกเช่นที่เขาเคยมีอำนาจนั้นอย่างเด็ดขาดมาถึง 34 ปีเต็มเท่านั้น

ถาวรตั้งใจให้วันที่ 16 ตุลาคม 2529 เป็นวันประวัติศาสตร์ที่ผู้บริหารธุรกิจระบบครอบครัวขนาดใหญ่ ยอมลงจากเวทีอย่าง (ดูเหมือน) ไม่อาลัยอาวรณ์ และไม่มีใครคาดฝัน พร้อมกันนั้นเขาได้เชื้อเชิญ นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยมาดำรงตำแหน่งแทน

"ผมต้องการให้เป็นตัวอย่าง ผมคิดว่าบริษัทใหญ่ที่เป็น family เขาจะหนีไม่พ้นเขาจะต้องมาทางนี้" ถาวรกล่าวอย่างภาคภูมิกับ "ผู้จัดการ"

มองกันเผินๆ สิ่งที่ถาวร พรประภา คิดและกระทำควรจะได้รับการสรรเสริญอย่างยิ่งจากวงการธุรกิจในช่วงประวัติศาสตร์ "หัวเลี้ยวหัวต่อ" เช่นปัจจุบัน ยิ่งถ้าเป็นห้วงเวลาที่สยามกลการกำลังรุดหน้าไปด้วยแล้ว

แน่นอนย่อมไม่ใช่วันนี้ที่สยามกลการกำลังเผชิญปัญหาและมรสุมหลายประการ!

มันเป็นความสงสัยที่ "ปคลุม" อย่างหนาทึบพอประมาณต่อการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารของสยามกลการ จึงทำให้เสียงสรรเสริญไม่ดังกังวานดั่งที่ถาวรคาดหวัง

"ผู้จัดการ" เชื่อว่าคงไม่มีคำตอบอันเป็นสูตรสำเร็จใดๆ มาคลี่คลายปมเหล่านี้ และเชื่อว่าความสงสัยที่ปกคลุมอย่างหนาทึบจะค่อยๆ กระจ่างใสเมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตของสยามกลการ ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน พร้อมๆ กับการ "ลงลึก" เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งนี้ของถาวร พรประภา

บริษัทสยามกลการ มีอายุครบ 34 ปีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2529 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับอายุของผู้ก่อตั้ง (Founder) และสร้างสรรค์ ถาวร พรประภา มันเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของชีวิตของเขาที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ที่ว่าเมื่อกล่าวถึงความสำเร็จของสยามกลการ กรุ๊ป จากวันนั้นมา มันเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2529 ถาวร พรประภา อายุครบ 70 ปี พร้อมๆ กับการที่บริษัทในเครือสยามกลการทั้งหลายต่างพาเหรดขึ้นตึกสำนักงานแห่งใหม่สูง 19 ชั้น ซึ่งสร้างขึ้นท่ามกลางความยากลำบากของสยามกลการในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการบริหาร

สยามกลการในยุคเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 7-8 ปี มิใช่การเริ่มต้น มิใช่การเริ่มต้นจากศูนย์ แต่เป็นการสืบเนื่องจากร้านค้าขายของเก่าใหญ่โต "ตั้งทงฮวด" ของใต้ล้ง-เชง" ต้นตระกูลพรประภา และเกิดสยามกลการมีนัยสำคัญอย่างน้อย 2 ประการ

หนึ่ง-คนหนุ่มวัย 36 ปีอย่างถาวร พรประภา ต้องถือว่ามีประสบการณ์ทางการค้าพอตัว มีความคิดของตัวเอง และเป็นคนหัวใหม่ในบรรดาผู้ประกอบการยุคนั้น เขามีความทะเยอทะยานทางธุรกิจและพร้อมจะ "ขบถ" ต่อครอบครัว มันเป็นทางแยกที่มีอนาคตของ "ตั้งทงฮวด"

สอง-สยามกลการเป็นธุรกิจ "บุกเบิก" ในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับญี่ปุ่นภายหลังที่ญี่ปุ่นบอบช้ำอย่างหนัก ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และ ถาวร พรประภา ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในระดับดีและไม่เสียเปรียบ "ผมเซ็นสัญญาเป็นผู้แทนแรกในโลกนิสสันมอเตอร์" เขาว่า

"การค้านิสสันในระยะแรกลำบากมาก ขาดทุนเป็นเวลานานถึง 6-7 ปีโดยที่ระยะแรกข้าพเจ้าได้สั่งรถบรรทุกเข้ามาขาย ต่อมาก็สั่งรถประจำทางซึ่งต่อตัวถังสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นมาขายให้ รสพ. เป็นรถโดยสารประจำทางรุ่นแรก... นอกจากนี้ในระยะเริ่มแรกก็สั่งรถมาขายให้แก่ราชการด้วย แต่การขายทั้งสองคราวขาดทุน ข้าพเจ้าก็ยอมเพื่อเป็นการบุกเบิกตลาดรถนิสสันขึ้นในประเทศไทย..." ถาวร พรประภา เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำ เนื่องในโอกาสมีอายุครบ 60 ปี (16 พฤศจิกายน 2519) ผู้รู้อธิบายเพิ่มเติมว่าเพราะการที่เขามี connection กับกลุ่มซอยราชครูอย่างเหนียวแน่นซึ่งขณะนั้นมีอำนาจ (พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นผู้อำนวยการ รสพ.) การค้าที่เลวร้ายก็พอบรรเทาไปได้

"สำหรับในด้านรถยนต์นั่งนั้น ในตอนแรกการจำหน่ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะประชาชนยังไม่นิยมญี่ปุ่น ทำให้ข้าพเจ้าแทบหมดกำลังใจ..." อีกตอนในบันทึกความทรงจำของถาวรกล่าวไว้

ในช่วงประสบปัญหาการตลาดนั้น ถาวรบอก "ผู้จัดการ" ว่าทนขาดทุนอยู่ถึง 8 ปีเต็มๆ

"...ในที่สุดพนักงานบางคน เห็นว่าบริษัทคงจะไปไม่รอดแน่ จึงปลีกตัวลาออกไปทำงานที่อื่น บางคนก็หันไปรับราชการมีชื่อเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เมื่อบริษัทประสบวิกฤตการณ์อย่างหนักเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็เดินทางไปติดต่อกับนิสสันที่ประเทศญี่ปุ่น ไปพบนายคัทซึจิ คาวามาต้า ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานกรรมการแล้ว ข้าพเจ้าได้อธิบายเรื่องราวทั้งหมดอย่างเปิดอก ปรึกษาถึงความลำบาก อุปสรรคต่างๆ ท่านถามว่าจะให้ทำอย่างไร ข้าพเจ้าก็ขอความช่วยเหลือทางด้านอู่บริการและอะไหล่ โดยขอให้นิสสันส่งคนเข้ามาช่วย การเงินก็ต้องช่วยให้เครดิตระยะยาว" ถาวรบันทึกในบันทึกความทรงจำตอนหนึ่ง

ปี 2505 บริษัทสยามกลการได้ร่วมมือกับนิสสัน ให้กำเนิดบริษัทสยามกลการและนิสสันขึ้นดำเนินงานโรงงานประกอบรถยนต์แห่งแรก อันเป็นโรงงานประกอบรถยนต์อย่างง่ายๆ และได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2503

"ช่วงนี้สยามกลการประสบวิกฤตมากซึ่งสะสมมานานแล้ว เกิดจากสภาพคล่องจนแบงก์กรุงเทพต้องส่งคนเข้าไปคุม" แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพว่า

สมัยนั้นบุญชู โรจนเสถียร เป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งทำหน้าที่แทนชิน โสภณพนิช เกือบทั้งหมด ได้ส่งทีมงานเข้าควบคุมดูแลสยามกลการ โดยมีจงจิตต์ จันทมงคล หัวหน้าแผนกเงินกู้ (ตำแหน่งขณะนั้น) เป็นหัวหน้าทีม

จงจิตต์ จันทมงคล ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้จัดการศูนย์บริการกลางธนาคารกรุงเทพเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า สาเหตุของการขาดสภาพคล่องของสยามกลการ เนื่องมาจากเงินทุนรองรับการขยายกิจการไม่เพียงพอ "ผมอยากจะเรียกว่า 'ถ่อไม่ถึงดิน' ในอดีตนั้นเวลาแบงก์สนับสนุนทางการเงินจะระมัดระวังมาก ไม่ต้องการให้มาก เกรงว่าลูกค้าจะใช้เงินฟุ่มเฟือย ซึ่งขัดกับความเป็นจริงธุรกิจต้องการเงินในจำนวนพอเหมาะกับธุรกิจที่ขยายตัว" เขาเล่าเหตุการณ์ตอนนั้น

ธนาคารส่งสมุห์บัญชีมือดี-สังหรณ์ สุทธิสานนท์ เข้าไปงบดุลใหม่ มีการควบคุมการเปิดแอล/ซี และตรวจเช็กสต็อกสินค้า ขณะนั้นดำรง เลียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่สีลม ธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีของสยามกลการ ได้เข้าประสานงานแก้วิกฤตการณ์กลการด้วยอีกคน

ดำรง เลียวสกุล ก็ยังได้มีส่วนรู้เห็นความเป็นไปในสยามกลการมาตลอด!

"ผมขออนุมัติเครดิตไลน์ให้สยามกลการถึง 1.5 ล้านปอนด์หรือประมาณ 90 ล้านบาท" จงจิตต์ กล่าวถึงจุดไคลแม็กซ์ที่สามารถช่วยสยามกลการให้พ้นวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้

บางกระแสข่าวกล่าวว่าโครงการร่วมทุน เพื่อแก้ปัญหาต้นทุนและการตลาดระหว่างนิสสันกับสยามกลการนั้น ปัญหาข้อต่อสำคัฯคือการเรียนรู้เทคนิคทางเอกสารการค้าระหว่างประเทศของสยามกลการ ว่ากันว่า ที่ธนาคารเข้ามาควบคุมครั้งนั้นได้ช่วยแก้ปัญหาทางเทคนิคนี้ตกไปพร้อมด้วย "ผมเชื่อว่าค้าครั้งแรกการเปิดแอล/ซี ไม่สลับซับซ้อน แต่ต่อมาร่วมทุนตั้งโรงงานประกอบต้องเปิดแอล/ซี นำเข้าอุปกรณ์จำนวนมาก การบริหารด้านนี้ต้องอาศัยเทคนิคมากขึ้น" ฟังดูแล้วจะตลกสำหรับวงการค้ายุคนี้ เพียงแต่ยุคนั้นไม่ตลกอย่างยิ่ง

ถาวรกล่าวว่าญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนเพียง 3 ปีก็ถอนตัวไป โดยอ้างว่าเป็นข้อตกลงตั้งแต่แรก "ข้าพเจ้าจะลืมเสียมิได้ ท่านช่วยเราจริงๆ มิใช่หลอกใช้เราแล้วยึดเอาไปทำเอง เหมือนกับญี่ปุ่นบางบริษัทที่ตั้งเอเย่นต์แล้วตอนหลังยึดเอาไป ข้าพเจ้าจึงนับว่าโชคดีที่ได้พบคนดี" ข้อมูลจากบันทึกของถาวร พรประภา อ้าง บุคคลที่เขาอ้างถึงคือ คัทซึจิ คาวามาต้า ประธานกรรมการนิสสันขณะนั้น

ขณะเดียวกัน สังวรณ์ สุทธิสานนท์ ต่อมาได้เข้ามาเป็นกรรมการบริหารในเครือสยามกลการหลายบริษัท กรณีนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 แง่ หนึ่ง-สังวรณ์เป็นคนมีความสามารถ ถาวรประทับใจจึงดึงตัวเข้าทำงาน สอง-ถาวรใช้วิธีดึงคนจากธนาคารเข้าข้างตนในแง่ลบ (ข้อมูลตรงนี้ไม่มีใครกล้ายืนยันเต็มปาก)

วิกฤตการณ์สยามกลการครั้งนั้นได้ถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฟลูออไรด์ด้วย ถาวรเล่าว่าเขาได้ความคิดนี้มาจากญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศนั้นต้องการแร่ชนิดนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมถลุงเหล็กจนในที่สุดเขาก็ได้สัมปทานทำเหมืองชนิดนี้ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

จุดเริ่มต้นของธุรกิจเหมืองแร่โดยจุดประสงค์แท้จริงแล้ว ถาวร พรประภา มิได้เข้ามา "จับ" โดยตรง เพียงแต่เขาต้องการใช้ธุรกิจนี้สร้างสายสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอำนาจ ซึ่งผู้มีอำนาจในแผ่นดินยุคนั้นหากินกับธุรกิจนี้เป็นล่ำเป็นสัน ส่งผลให้เมื่อปี 2503 เขาได้ร่วมมือกับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ตั้งบริษัทยูนิเวอร์เซลไมนิ่ง

"ข้าพเจ้าคิดทำเหมืองแร่ฟลูออไรด์ในครั้งแรกนั้นเป็นเพียงงานอดิเรก คิดว่าลงทุนไปไม่เท่าไร แต่ที่ไหนได้ยิ่งทำไปเงินที่ลงทุนก็กลายเป็น 6-7 ล้านบาท และขาดทุนทุกเดือน ทุกปี ทั้งนี้เพราะแร่ฟลูออไรด์ราคาต่ำ เนื่องจากจีนแดงได้ส่งแร่นี้ออกสู่ตลาดโลก จึงทำให้ลำบากมาก ข้าพเจ้าท้อใจเกือบจะเลิกทำเสียแล้ว แต่ในที่สุดก็ลองรวบรวมทำอีกที โดยการปรับปรุงการบริหารงานใหม่ ปรากฏระยะหลังราคาแร่ฟลูออไรด์ในตลาดโลกสูงขึ้น จึงทำได้เป็นล่ำเป็นสัน…" ถาวร พรปรภา บันทึก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกรมทะเบียนการค้าที่ระบุว่าประมาณปี 2513-2514 บริษัทในเครือสยามกลการหลายบริษัทได้ขอเพิ่มจุดประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้มุรกิจเหมืองแรรวมอยู่ด้วย

ในช่วงมีปัญหาเหมืองแร่ก็พอดีกับปัญหาวิกฤตการณ์สยามกลการด้านการขายรถนิสสัน จึงเป็นแรงกระหน่ำให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น!

ครั้นเมื่อสยามกลการฟื้นขึ้น กิจการเหมืองแร่ก็เริ่มดีขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน ดังนั้นช่วงที่ถาวร พรประภา มีความสุขมากก็คงเป็นช่วงปี 2512-2522 นั่นเอง

ก็ต้องยอมรับว่าการก้าวพ้นวิกฤตการณ์ครั้งแรกของสยามกลการนั้นเพราะ "ฝีมือ" ของ ถาวร พรประภา โดยแท้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ หนึ่ง-คุยกับญี่ปุ่นรู้เรื่อง สอง-สายสัมพันธ์ (connection) กับผู้มีอำนาจต่อเนื่องไม่ขาดสาย และเพราะประการที่ 2 นี้ก้ส่งผลโดยตรงต่อประการแรก

ถาวร รู้จักนายพลนาคามูระ อดีตแม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านทางสาย "ซอยราชครู" ซึ่งนำพาเขาไปได้เป็นเอเย่นต์รถนิสสัน ครั้นเมื่อมีปัญหาก็ช่วยให้ถาวรคุยรู้เรื่องและเป็นที่เกรงอกเกรงใจมาตราบทุกวันนี้ก็ว่าได้

"คุณถาวรใช้ธุรกิจเหมืองแร่สร้างสายสัมพันธ์ต่อเนื่องจากราชครูมาถึงสี่เสาเทเวศร์ ก็เป็นผู้ที่รู้กันว่า จอมพลสฤษดิ์ ชอบทำธุรกิจเหมืองแร่และป่าไม้มาก ผ่านทางน้องชายคุณทองดุลย์ ธนะรัชต์ สหัท มหาคุณ (ถาวรเรียกว่าพ่อ) และพ่อเลี้ยงพงษ์สวัสดิ์ (สุริโยทัย) เจ้าของสัมปทานป่าไม้ใหญ่ทางภาคเหนือโดยตั้งบริษัทยูนิเวอร์แซลไมนิ่ง" อดีตพนักงานเก่าแก่ธนาคารกรุงเทพผู้ซึ่งรู้จักถาวร พรประภา ดีเล่าให้ฟัง

ต่อมาถาวร พรประภา ได้ต่อสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นเป็นพิเศษกับจอมพลประภาส จารุเสถียร (เคยเป็นประธานธนาคารกรุงเทพ) ผ่านความสนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับชิน โสภณพนิช ในฐานะ "คนซัวเถา" เหมือนกัน

สยามกลการเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งเมื่อรถนิสสันรุ่นบลูเบิร์ดเข้ามาประกอบในประเทศไทย พนักงานธนาคารกรุงเทพรุ่นเก่าคนหนึ่งเล่าว่า จุดข้อต่อสำคัญของสยามกลการก็คือการจำหน่ายรถให้กับหน่วยราชการได้คราวละจำนวนมาก ยุคถนอม-ประภาสเรืองอำนาจ ได้มีการเปลี่ยนโฉมรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ โดย "โละ" จากรถยนต์ยี่ห้อออสตินมาสู่นิสสันบลูเบิร์ดซึ่งปัจจุบันยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง

"ป้ายแท็กซี่มีราคาและใช้ค้ำประกันได้ตอนนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดจำนำไว้กับธนาคารกรุงเทพเพื่อนำเงินออกมาซื้อรถ ตามแผนรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์แท็กซี่ของแท็กซี่ของจอมพลประภาส" พนักงานคนเดิมกล่าว

แม้กระทั่งเมื่อเขามีปัญหารถอัลฟา โรเมโอ ขายไม่ออก ถาวร พรประภา ก็สามารถโละให้กองกำลังรักษาพระนครไปทั้งล็อตเลย!

ว่ากันว่า ถาวร พรประภา เก่งที่สามารถทำศึก 3 ด้านชนะได้ในเวลาเดียวกัน ปัญหาการตลาดรถขายไม่ออก ธนาคารจะเข้ามาควบคุมและกระชับสัมพันธ์ธุรกิจกับญี่ปุ่นที่เกื้อกูลสยามกลการมากๆ

การก่อตั้งบริษัทกลการ เพื่อเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์นิสสันในต่างจังหวัดก็เป็นกรณีศึกษาที่ดีมากๆ ในยุคเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน

ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่าการตั้งบริษัทสยามกลการ นอกจากจะวางเครือข่ายการตลาดในตลาดรถยนต์อย่างกว้างขวางแล้วก็เป็นการกระจายทรัพย์สินของสยามกลการ เขามองว่าในขณะนั้นสยามกลการเขามองว่าในขณะนั้นสยามกลการดำเนินกิจการภายใต้การสนับสนุน 2 ทาง คือการได้รับเครดิตชำระเงินระยะยาวจากนิสสันแห่งญี่ปุ่นและวงเงินกู้จากธนาคาร โดยเฉพาะ ธนาคารกรุงเทพ

"ความพยายามของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาคุมสยามกลการจึงต้องล้มเหลวไป แม้ธนาคาเองก็ตาม" เขาเน้น

สำหรับถาวร พรประภา แล้วเขาเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า ได้ความคิดในการตั้งเอเย่นต์ในต่างจังหวัดทั้งหมดเป็นกิจการของสยามกลการ ดำเนินการภายใต้นโยบายเดียวจากศูนย์กลางและทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของสยามกลการ "ผมได้ไอเดียมาจากบริษัทซิงเกอร์"

ถาวรมีประสบการณ์ว่าการตั้งเอเย่นต์ลักษณะดังกล่าวสามารถควบคุมการหมุนเวียนของเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงการค้ารุ่งเรืองจะได้ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำจากการที่เงินขายรถไม่ต้องไปติดค้างอยู่ที่เอเย่นต์หากเป็นคนนอก ในทางตรงกันข้ามเมื่อใดสถานการณ์การค้าซบเซาลักษณะการจำหน่ายเช่นนี้จะเพิ่มภาระมากขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากมี operation cost ที่แน่นอน

ถาวรยอมรับว่าการตั้งเอเย่นต์ลักาณะนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในยุคเริ่มแรกเป็นวิธีที่ดี เพราะยอดขายมีแต่เพิ่ม แต่ปัจจุบันกลับสร้างปัญหาไม่น้อย

นักบริหารมืออาชีพซึ่งรู้จักถาวรดีพูดถึงเขา และยกย่องว่าถาวรเป็นคนที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองอันแปรปรวนตลอดเวลาได้ดี ทั้งยังสามารถสร้างโอกาสที่ดีจากสถานการณ์เหล่านั้น

ในช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โหมพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นในระยะไล่เลี่ยกับระบบธนาคารพาณิชย์ได้ถูกจำกัดให้อยู่ในระดับ 16 ธนาคารทั้งไทยและเทศ อันเนื่องมาจากการกระตุ้นทางภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการสินเชื่อหรือบริการความสะดวกด้านบริหารเงิน เป็นเหตุให้ในช่วงประมาณปี 2515-2516 ธุรกิจกู้ยืมเงินในรูปบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์เกิดขึ้นจำนวนมาก

ถาวร พรประภา ได้จดทะเบียนบริษัทดำเนินธุรกิจดังกล่าว บริษัทพรประภา (ปี 2512 ) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัทเงินทุนพรประภา บริษัทสยามไฟแนนซ์ (ปี 2512) ต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัทสยามลิสซิ่ง และบริษัทเอสเอ็ม ทรัสต์ (ปี 2514) ต่อมาเป็นบริษัทเอสเอ็มลิสซิ่ง

ทั้ง 3 บริษัทนี้ดำเนินธุรกิจด้านเช่าซื้อสนับสนุนการค้ารถยนต์ในเครือสยามกลการเป็นส่วนใหญ่

ใครๆ ก็ว่าสยามกลการในห้วงเวลานั้นเริ่มติดลมบนแล้ว!

หากจะกล่าวในทางยุทธวิธีแล้ว การขยายตัวของสยามกลการในห้วงเวลาปี 2508-2518 เป็นการก้าวกระโดดที่สุดในช่วง 34 ปีของสยามกลการเลยทีเดียว

ก้าวแรก-แก้ปัญหา "สภาพคล่อง" ติดตามด้วยวางพื้นฐานด้านการประกอบรถยนต์อย่างง่ายๆ ในประเทศ เป็นการลดต้นทุนการผลิต และวางพื้นฐานการตลาดในขอบเขตทั่วประเทศ โดยใช้บริษัทกลการเป็นหัวหอก

ขั้นต่อมาขยายธุรกิจสนับสนุนการค้ารถยนต์ให้ครบวงจรทั้งทางด้าน Finance Support และการลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น

ในประการหลังนั้นความจริงได้เริ่มบ้างแล้วในบางจุด เช่น บริษัทสยามจีเอสแบตเตอรี่ใน ปี 2509 ร่วมทุนกับญี่ปุ่นผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ แต่ขยายตัวอย่างเป็นระลอกคลื่นในปี 2516 เป็นต้นมาหรือ อาทิ บริษัท สยามกีกิผลิตเครื่องปรับอากาศรถยนต์ บริษัทสยามเอ็นจีเค สปาร์ค ผลิตหัวเทียน บริษัทสยามไดกิ้น ผลิตเครื่องปรับอากาศและอะไหล่ และบริษัทสยาริคเก้นท์ อินดัส เตรียมผลิตกระบอกสูบ ซึ่งก็ต้องใช้ know-how จากญี่ปุ่นทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันก็แยกธุรกิจการค้าอะไหล่ต่างหากออกไปจากเดิม อันเนื่องมาจากวงจรการค้ารถยนต์ได้ขยายมากขึ้น

การก้าวกระโดดในช่วงนี้สุดยอดอยู่ที่การเปิดโรงงานประกอบตัวถังรถยนต์ที่กิโลเมตร 21 ถนนบางนา-ตราด ในปี 2518 (เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2516) โดยได้รับการสนับสนุนจากนิสสันประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างดี

หลังจากนั้นถึงปี 2525 การขยายตัวยการลงทุนหรือธุรกิจจะเป็นไปในลักษณะ "แตกตัว" เช่นแยกบริษัทจัดจำหน่ายออกจากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งประปรายไม่มากนักและไม่มีนัยสำคัญ หากจะมีส่วนที่ผิดแผกออกไปก็มีเพียงกิจการเดียวคือ Trading Company ตั้งบริษัทเอสเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพอ้างว่าเพราะไม่มีประสบการณ์

ท่ามกลางการขยายตัวของสยามกลการซึ่ง peak ที่สุดประมาณกันว่าใกล้ๆ จะถึงปี 2520 ถาวร พรประภา เป็นเพียงผู้นำและผู้ก่อตั้งที่สำคัญมากๆ คนเดียวเท่านั้นหรือ?

คำตอบก็คือไม่ใช่!

คนแรกที่มีส่วนสนับสนุน แบ่งเบาการงานทั้งหลายทั้งปวงของเขามากที่สุดก็คือ อุษา พรประภา ภรรยาคนเดียว (ตามกฎหมาย) ซึ่งถาวร พรประภา บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าเธอคือยอดหญิง

หากจะพูดถาวรคือหน้าตาของสยามกลการ อุษาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสยามกลการโดยแท้!!

อุษาเป็นภรรยาคนสำคัญที่สุด และเพียงคนเดียวที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจสยามกลการตั้งแต่ต้น เป็นประธานบริษัทในเครือหลายบริษัท ทั้งเป็นรองประธานในกิจการหลักๆ ของสยามกลการ ตำแหน่งที่แท้จริงก็คือ ผู้ควบคุมด้านการเงินทั้งหมดของสยามกลการ

ถาวรบอกว่าอุษาเป็นภรรยาที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย (หมายถึง น้องและลูกๆ) และนี่ก็คือจุดหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะมีอุษาปัญหาลูกต่างแม่ของถาวรจึงแทบจะเรียกว่าไม่เคยปะทุ หรือ "ความขัดแย้ง" มิได้ออกมากระทบแก่ธุรกิจเลยก็ว่าได้

งานด้านปฏิบัติประจำวันอุษาจะเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ถาวรจึงมีเวลาคิดและดำเนินการด้านการตลาดที่มองไปข้างหน้า คุมงานนโยบาย

บุญชู โรจนเสถียร อดีตผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ผู้เคยสั่งทีมงานเข้าแก้วิกฤตการณ์สยามกลการในยุคแรกๆ เคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดถึงปัญหาของสยามกลการในเวลานี้ว่า "อุษาเก่งมาก ถ้ายังอยู่ถาวรคงไม่ลำบากเช่นทุกวันนี้"

อุษา พรประภา เป็นโรคมะเร็งในกระเพาะ อำลาโลกไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2522 จึงนับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของ "พรประภา" ในรายงานการประชุมของบริษัทในเครือสยามกลการที่สำคัญๆ เกือบ 10 บริษัทได้บันทึกไว้อย่างเจาะจงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกรรมการมาแทนนั้นในที่ประชุมต้องยืนไว้อาลัยอุษาหนึ่งนาที

พร้อมๆ กับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของอุษา ได้นำพาซึ่งเค้าของความยุ่งเหยิงในตระกูล "พรประภา" และสยามกลการอย่างเห็นได้ชัด

ในปี 2522-2523 เมืองไทยได้รับผลสะเทือนอย่างรุนแรงอันสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สอง และติดตามมาด้วยการลดค่าเงินบาทในปี 2524 บันทึกผลประกอบการบริษัทสยามกลการนับย้อนหลังจากปี 2529 ไป 10 ปี มีเพียงปี 2523 เท่านั้นที่ประสบการขาดทุนถึงประมาณ 70 ล้านบาท

ปี 2522 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องเข้ากระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทยรายงานไว้ในสรุปข่าวธุรกิจว่า ผู้ประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนตกที่นั่งลำบาก การดำเนินงานผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศมากขึ้น ตามนโยบายของทางการเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและเทคนิคยุ่งยาก จนกระทั่งผู้ผลิตหลายรายต้องหยุดทำการผลิต

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2525 อันเป็นวันครบรอบ 30 ปี ของสยามกลการ มิสเตอร์โยโกยามา รองประธานอาวุโสนิสสันแห่งญี่ปุ่นได้กล่าวสุนทรพจน์มีความนัยว่า สยามกลการจะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภาวะการแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง "นิสสันมอเตอร์อยู่ตลอดเวลาที่จะเข้าช่วยเหลือสยามกลกการอย่างเต็มที่" เขาว่า

ผู้รู้กล่าวสยามกลการเป็นเพียงแห่งเดียว เป็นตัวแทนจำหน่ายรถนิสสันในต่างประเทศที่นิสสันไม่มีส่วนเข้ามาถือหุ้นและบริหารเลย ทั้งที่นิสสันมีความพยายามอยู่ตลอดเวลา ถาวร พรประภา ก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "นิสสันพยายามเข้ามา (ร่วม) ถือหุ้น แต่เขาเกรงใจผม เพราะผมเป็นผู้บุกเบิก (ตลาดต่างประเทศ) ให้"

ถาวรเล่าว่าเขาสนิทสนมกับประธานกรรมการนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นหลายรุ่น คนสุดท้ายเสียชีวิตไปเมื่อต้นปี 2529 อันเป็นที่กังขากันว่า ผู้บริหารนิสสันในรุ่นหลังยังจะจำประวัติศาสตร์ยากลำบากของถาวรในการบุกเบิกตลาดรถนิสสันในประเทศไทยได้หรือไม่?

ด้านการตลาดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างบริษัทกลการซึ่งดำเนินกิจการตัวแทนจำหน่ายในต่างจังหวัดในขอบเขตทั่วประเทศผู้อยู่ในวงการค้ารถยนต์กล่าวว่า ตรงจุดนี้เป็น "รูโหว่" อันสำคัญของสยามกลการ

"เป้าหมายของเซลส์เอเย่นต์ต่างจังหวัด คือขายรถใหม่ให้ได้ รวมทั้งการเปลี่ยนรถเก่าเข้ามามักจะมีการการแจ้งราคาเกินจริง หรือตั้งราคาสูงเกินไป พวกเขาไม่คิดว่ารถเก่าเหล่านี้คือสต็อกที่ขายออกยากต้นทุนก็เลยจมอยู่จำนวนมาก ทางบริษัทก็เลยต้องเจ็บตัวหลายต่อ เท่าที่ทราบเขามีรถเก่าค้างสต็อกอยู่จำนวนหลายพันคันในเวลานี้"

ว่ากันว่าปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นตรงนี้ไม่น้อย!

ภาวะการค้าแร่ฟลูออไรด์ตกต่ำอย่างมากตั้งแต่ปี 2525 วารสารเศรษฐกิจธนาคารกรุงเทพรายงานเนื่องมาจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้าซึ่งเป็นแหล่งใช้แร่ฟลูออไรด์เป็นวัตถุดิบมากที่สุด "และก็เช่นเคยคือราคาในตลาดโลกตกต่ำแต่ราคาต้นทุนการผลิตกลับสูงขึ้น และอีกเหตผลหนึ่งเนื่องมาจากการทุ่มตลาดออกขายของสาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นตลาดสำคัญที่ซื้อฟลูออไรด์จากประเทศไทย ในปี 2525 ปริมาณการส่งแร่ฟลูออไรด์เท่ากับ 174,317 ตันในมูลค่า 318 ล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้ลดลงไปถึงร้อยละ 35"

ธุรกิจเหมืองแร่และการค้าแร่ฟลูออไรด์ของสยามกลการก้ประจวบมาเผชิญวิกฤติการณ์ในคราวเดียวกันกับรถยนต์อีกครั้งหนึ่งจนได้!

วิกฤติการณ์ได้ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2528 และปี 2529 ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2528 มูลค่าส่งออกฟลูออไรด์เหลือเพียง 150 ล้านบาท และ 4 เดือนแรกของปี 2529 ส่งออกมีมูลค่าเพียง 24 ล้านบาท นับเป็นปริมาณที่ลดต่ำอย่างน่าใจหายจริงๆ

วงการธนาคารพาณิชย์เชื่อว่าวิกฤติการณ์นี้ซัดกระหน่ำสยามกลการไม่น้อยคิดเป็นเงินก็คงหลายร้อยล้านบาท หลายคนเชื่อว่านี่เป็นมูลเหตุพื้นฐานก่อนหน้าวิกฤติการณ์ค่าเงินเยนแข็งที่ไม่ว่าถาวร พรประภา หรือนุกูล ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริหารสยามกลการชอบอ้างถึง

ในเวลาเดียวกันกิจการใหม่ที่สยามกลการพยายามขยายฐาน อาทิ เครื่องดนตรี เครื่องเสียงยี่ห้อยามาฮ่า รวมไปถึงกิจการ Trading Company ล้วนเป็นตัวดึงมากกว่าจะดันหรือพยุงเครือข่าย

ซึ่งท้ายที่สุดปัญหาได้มารวมศูนย์ที่การบริหารงานของ Paramount Leader อย่างถาวร พรประภาไม่เพียงจะต้องแบกหนักดำเนินกิจการหลายพันล้านบาทโต้คลื่นเศรษฐกิจแล้วยังต้องบริหารครอบครัวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย

ปี 2528 จึงเป็นปีที่เขาทำงานหนักมากที่สุดในชีวิตก็ว่าได้เป็นการทำงานในช่วงวัยชราของเขาไม่เอื้ออำนวยเสียด้วย

และแล้วหนังสือ "ด่วนมาก" ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2528 ที่ลงนามโดยถาวร พรประภา ก้จึงต้องร่อนถึงผู้บริหารทุกบริษัทในเครือสยามกลการ ตามหนังสือฉบับนั้น อ้างภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ซึ่งกระทบต่อกิจการของกลุ่มสยามกลการ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถยนต์ เป็นที่มาของนโยบาย 7 ประการ ซึ่งเนื้อหาหลักคือการใช้มาตรการต่างๆ มาลดค่าใช้จ่ายทุกรูปแบบ ลดจำนวนพนักงานลดเงินเดือน รวมไปจนถึงยุบแผนกงาน-บริษัทที่ไปไม่รอด

หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งอ้างแหล่งข่าวในสมาคมอุตสาหกรรมกล่าวถึงการประกาศลดค่าใช้จ่ายครั้งใหญ่ของสยามกลการว่า นับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมาสยามกลการประสบภาวะฝืดเคืองมาตลอด แม้จะพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายโดยแทบจะไม่ได้รับพนักงานเพิ่มเลยในปี 2528 แต่ก็ยังตึงมืออยู่ทั้งยังไม่เห็นว่าปี 2529 สถานการณ์จะดีขึ้นด้วย

ธนาคารกรุงเทพรายงานว่าปี 2528 เป็นปีที่อุตสาหกรรมรถยนต์ตกต่ำที่สุด ปริมาณการจำหน่ายรถชนิดต่างๆ ลดลงประมาณ 25% โดยที่รถยนต์นั่งลดลงมากที่สุดถึง 30.8% ทั้งยังได้อ้างวาเหตุว่ามี 3 ประการ หนึ่ง-ได้รับผลกระทบจากการจำกัดสินเชื่อในช่วงต้นปี 2528 อันทำให้การปรับราคาสูงขึ้นประมาณ 10% สาม-ภาวะพืชผลตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อลดลงโดยเฉพาะตลาดรถยนต์ในต่างจังหวัด

ตอนนี้ยังไม่มีใครอ้างอันเนื่องมาจากค่าเยนแพงมากๆ แต่อย่างใด!

แผนการลดค่าใช้จ่ายดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นเมื่อปลายปี 2528 สยามกลการประกาศไม่ขึ้นเงินเดือนพนักงานทุกคน รวมไปจนถึงโบนัส-สวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับลงอย่างมาก ในส่วนระดับผู้บริหารมีการลดเงินเดือนกันด้วย ถาวรอ้างกับระดับผู้บริหารสยามกลการว่าจำต้อง "ผ่าตัด" เพื่อความอยู่รอด ไม่จำเป็นต้องห่วงภาพพจน์มากนัก เป็นทำนองไม่ต้องเกรงว่าข่าวออกไปในทางไม่ดีแล้ว

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 สยามกลการประกาศยุบบริษัทปริ๊นมอเตอร์ โรงงานประกอบรถยนต์ หลังจากที่ได้ประกาศยุบมาแล้วโรงงานหนึ่งชื่อสยามเจอนาราลเอสเซมบลี โดยตั้งใจจะให้เหลือเพียง 2 โรงงาน คือบริษัทสยามกลการและนิสสันและโรงงานประกอบตัวถังของบริษัทสยามอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันก็ยุบบางแผนกงานงานมารวมกันหลายหน่วยงาน "ช่วงนี้หากคุณเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน กลับมาอาจไม่มีเก้าอี้นั่งแล้ว เพราะเขายุบหน่วยงานของคุณ" พนักงานสยามกลการกล่าวขวัญกันอย่างสะใจ ว่ากันว่าถาวร พรประภา สวมวิญญาณเช่นเดียวกับเมื่อ 30 ปีก่อนตัดสินใจเพียงคนเดียว "ท่านนึกจะยุบตรงไหนก็ยุบไป" มืออาชีพคนหนึ่งบ่นอุบ

เป้าหมายการลดพนักงาน 20% ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเพลาปัญหาพนักงานไปแล้ว ในเดือนเมษายนได้มี "ฟ้าผ่า" เกิดขึ้นในระดับบริหารระดับสูง โดยเจาะจงสำหรับคนนามสกุลพรประภาเท่านั้น

พรทิพย์ ณรงค์เดช กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการเงิน ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ซึ่งเป็นตำแหน่งตั้งใหม่อีกตำแหน่งหนึ่ง พรเทพ พรประภา น้องชายพรทิพย์ลูกแม่เดียวกัน ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการค้า (กรุงเทพฯ) คุมแผนกงานขายหน่วยราชการ แผนกรถเก่าและบริการแผนกการตลาด และแผนกอะไหล่ ในฝ่ายเดียวกันนี้ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายค้า (ต่างจังหวัด) ได้แก่ พรพินิจ พรประภา ลูกคนละแม่กับพรเทพ ซึ่งดูแลแผนกส่งเสริมการขายและโฆษณา และศูนย์บริการอันเป็นแผนกงานที่เผชิญหน้ากับพรเทพและเขาเคยมีบทบาทมากกว่าก่อนด้วย

บุญชู โรจนเสถียร วิจารณ์การบริหารธุรกิจระบบครอบครัวว่ามิใช่ไม่ดีทั้งระบบ ทั้งนี้ต้องพิสูจน์ภายใต้การบริหารเช่นว่านี้ จะฝ่าฟันวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ได้หรือไม่ เขาเน้นว่า ถาวร พรประภา กำลังอยู่ในสงครามนี้

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งใน "พรประภา" สลับฉากกับการลดค่าใช้จ่ายดำเนินต่อไป โดยเฉพาะการยุบศูนย์บริการโชว์รูม

แต่ธนาคารกรุงเทพในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ไม่ยอมให้ข่าวแพลมออกมาข้างนอกแม้แต่แอะเดียว

ซึ่งในทางความเป็นจริง ถาวร พรประภา ต้องเดินเข้าๆ ออกๆ ธนาคารกรุงเทพเป็นว่าเล่น (ปกติท่านจะไปธนาคารกรุงเทพวันละกี่ครั้งไม่มีใครสนใจ เพราะท่านเป็นถึงกรรมการธนาคาร) ผลการเจรจาต้าอ่วยได้ผลผลิตออกมาเป็นมาตรการ 2 ข้อ

อันแรก-ถาวรได้นำหลักฐานการเช่าซื้อรถยนต์ไปเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันวงเงินกู้จากธนาคาร สอง-ประกาศนโยบายใหม่เอี่ยม ตัดสยามกลการจำกัดออกจากบริษัทในเครือ "เราจะพิจารณาเป็นบริษัทๆ ไป บริษัทไหนดีเราจะช่วยให้วงเงินกู้ หากบริษัทแย่ เราอาจเสนอให้เพิ่มทุนหรือให้ยุบเลิกไปเลย แต่กอนถ้าเครือสยามกลการมากู้ส่วนใหญ่จะใช้บริษัทสยามกลการค้ำประกัน เราก็ให้ เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว" ผู้บริหารสินเชื่อระดับสูงของธนาคารกรุงเทพ อธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ส่วนการถือหลักฐานการเช่าซื้อมาค้ำประกันเป็นหลักทรัพย์ได้นั้น ก็นับได้ว่า "ผ่อนคลาย" ด้านสภาพคล่องสยามกลการได้พอสมควร ทั้งนี้เพราะ "สยามกลการมีลูกหนี้เช่าซื้อมาก" เจ้าหน้าที่คนเดิมสรุป

เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2529 นโยบายนี้ก็ถูกประกาศออกไป

หลังจากข่าวด้านลบออกไปอย่างมากมาย คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ลูกสาวคนโปรดถาวรได้ออกโรงเปิดข่าวในแนวรุกบ้าง ด้วยการประกาศนโยบายส่งเสริมคนหนุ่ม ส่งเสริมบรรยากาศประชาธิปไตย ทั้งจะนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในสำนักงาน (ตามสูตร) ผู้สังเกตการณ์วิเคราะห์การการะทำของคุณหญิงพรทิพย์ว่าราวกับเธอแสดงเป็น "ทายาท" สืบต่อถาวร ที่ใครๆ กำลังพูดถึง หนังสือธุรกิจบางฉบับออกโรงเชียร์เธออย่างออกหน้า

ไม่มีใครพูดถึงปัญหาหนี้สินของสยามกลการว่ามีมากน้อยแค่ไหน?

ในช่วงนั้นเองพิษของค่าเงินเยนแพงก็ถูกอ้างถึงสาเหตุของการตกต่ำต่อเนื่องของรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น

การที่ค่าเงินเยนสูงขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2528 เป็นต้นมาได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างมาก ตั้งแต่ต้นปี 2529 รถยนต์ญี่ปุ่นถูกค่ายยุโรปตีถอยร่นมาตลอด มันเป็นมูลเหตุที่ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นได้เล็งเห็นความสำคัญในการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ทั้งยังมีบทเรียนประสบความสำเร็จด้วยดีในสหรัฐฯ มาแล้ว แผนการโยกย้ายโรงงานผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นออกนอกประเทศจึงเป็นแนวโน้มทั่วไป

ภายในประเทศไทยมิตซูบิชิประเดิมได้ตกลงร่วมทุนกับสิทธิผลมอเตอร์ กับสหพัฒนายานยนต์ เริ่มโรงงานประกอบเมื่อประมาณกันยายน 2529

สำหรับนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นนั้นตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ได้ถูกโตโยต้าแซงขึ้นหน้าครองแชมป์รถขายดีในญี่ปุ่นแล้วสถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศก็ใช่ว่าจะดีนัก โดยเริ่มกระโจนสู่สหรัฐฯ เป็นรายที่ 2 รองจากฮอนด้าเมื่อปี 2526 พร้อมการลงทุนกับอัลฟาโรมีโอในอิตาลี ต่อมาก็ในอังกฤษและสเปน

ด้านเอเชียนั้นนิสสันยึดหัวหาดที่ไต้หวันผลิตตัวถังรถยนต์ ขณะนี้ทำการส่งออกไปแอฟริกาใต้ การลงทุนในอัตราส่วน 25 : 75 ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วตลาดนิสสันในเอเชียนั้นอยู่ที่ประเทศไทย และมาเลเซียและเป็นที่ทราบกันว่ารัฐบาลมาเลเซียได้ตกลงกับมิตซูบิชิในการผลิตรถยนต์แห่งชาติที่เรียกว่า "Proton Saga" ผลิตออกตีตลาดนิสสันและโตโยต้ายับเยินพอใช้

ดังนั้น ประเทศไทยจึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง การร่วมทุนหรือย้ายโรงงานอันเป็นช่วงพอดีที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมผลิตเครื่องยนต์ด้วย

ทั้งก็สามารถแก้ปัญหาต้นทุนสูงหรือลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวให้กับสยามกลการในประเทศไทยด้วย แผนการของนิสสันจึงได้รับการยอมรับโดยง่ายจากสยามกลการ

ข่าวบางกระแสกล่าวว่า "เครื่องมือ" สำคัญในการเจรจาครั้งนี้ของนิสสันอยู่ที่วงเงินแอล/ซี ที่สยามกลการเปิดไปในการซื้อชิ้นส่วนในระยะยาวโดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกให้ "วงเงินแอล/ซี ของสยามกลการที่เปิดโดยธนาคารเราประมาณปีละ 1 พันล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 100 ล้านบาทเศษ ในระยะ 2 ปีมานี้ปริมาณการสั่งซื้อหรือนำเข้าลดลงประมาณ 40% แต่วงเงินก็ยังคงเดิม" ดำรง เลียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ สำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" อย่างเป็นทางการ

"เทอมของแอล/ซี สั่งสินค้าเข้ามา สยามกลการพยายามเจรจากับนิสสันให้ขยายมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือผลกระทบจากค่าเงินเยนแพง" แหล่งข่าวกล่าว

เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพกล่าวว่าในระยะหลายเดือนมานี้ สยามกลการได้เจรจาแผนการร่วมลงทุนกับนิสสัน จนในที่สุดแผนการใหญ่นับเป็นพันๆ ล้านก็สามารถลงตัวได้ เขาเชื่อว่าเป็นโครงการประกอบรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศรวมทั้งส่งออก ส่วนโครงการผลิตเครื่องยนต์ซึ่งต้องรอบีโอไอนั้น ยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ดูจะขัดแย้งกับคำตอบที่ถาวร พรประภา กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า นิสสันกับสยามกลการจะเริ่มโครงการผลิตรถยนต์ก่อนจะไปสู่การประกอบรถยนต์โดยชิ้นส่วนในประเทศจำนวนมากส่งออก ซึ่งข้อมูลของถาวรนี้สอดคล้องกับ Yoshino กรรมการบริหารนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารภาษาอังกฤษ Asiaweek ขณะนั้น

เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงเทพยืนยันว่าโครงการนี้ธนาคารกรุงเทพจะต้องถือหุ้นอย่างแน่นอน

และนี่ก็คือ Global Plan ตามความหมายของถาวร ซึ่งมีความหมายเป็น Nissan Plan ในความหมายของนิสสัน!

"Global Plan หมายถึงสถานการณ์ทั้งโลกถือเป็น Family เดียวกัน ถือว่าสยามกลการและนิสสันมอเตอร์ควรจะมาร่วมกันในประเทศใดประเทศหนึ่ง ถ้าเขามีของดีราคาถูกเราก็จะเอาจากประเทศนั้นมาผลิตภายในประเทศ แล้วส่งรถยนต์ออกไปขายต่างประเทศ แล้วส่งรถยนต์ออกไปขายต่างประเทศใน Area ของญี่ปุ่น ที่นิสสันอนุมัติแล้วมี ไต้หวัน มาเลเซีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์" ถาวรอธิบาย

ข่าวการประกาศร่วมทุนกับนิสสันออกมาครั้งแรกราวกลางเดือนกรกฎาคม ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2529 บริษัทสยามกลการได้แต่งตั้งกรรมการบริษัทใหม่ 2 คน ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ และจิตรเกษม จีรแพทย์ ลูกหม้อเก่าแก่ ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป (อาวุโส) ฝ่ายการตลาดบริษัทสยามกลกาซึ่งดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ

การเข้ามาเป็นกรรมการของ ดร.วิชิต ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ว่ากันว่าก่อนหน้านี้ ชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่จะเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการสยามกลการเองแต่ในที่สุดก็เปลี่ยนใจ การเข้ามาในสยามกลการของ ดร.วิชิต นอกจากจะใช้ความรู้พิเศษด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งสยามกลการบอบช้ำไม่น้อยแล้ว ก็จะเป็นผู้คุมงานด้าน Finance สำหรับโครงการร่วมทุนระหว่างนิสสัน-สยามกลการ-ธนาคารกรุงเทพ ด้วย

"แต่ผมว่าเฉพาะหน้าคือ ดูแลเงินกู้ก้อนใหญ่สำหรับสยามกลการที่ธนาคารกรุงเทพเพิ่งอัดฉีดเข้าไปแก้ปัญหาสภาพคล่อง" แหล่งข่าวผู้รู้เรื่องดีกล่าว

บริษัทสยามกลการใช้บริการธนาคารกรุงเทพประมาณ 70% ที่เหลือเป็นธนาคารกรุงไทย ศรีนคร เชสแมนฮัตตัน แบงก์ ออฟ อเมริกา เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน( ปี 2527-2529) สยามกลการก็เคยกู้เงินตราต่างประเทศในตลาดสิงคโปร์ ใน Sibor Rate โดยไม่ได้ผ่านธนาคารกรุงเทพแต่ผ่านธนาคารเชสแมนฮัตตันและธนาคารแห่งอเมริกา

"เราเพิ่งตกลงผ่อนปรนหนี้สินเดิมประมาณ 1,000 ล้านบาทออกไป โดยยืดการชำระออกไป 7-8 ปีในขณะเดียวกันก็กำลังอัดฉีดเงินก้อนหนึ่งประมาณ 7-800 ล้านบาท เป็นเงินกู้ครั้งใหญ่ครั้งแรกตั้งแต่เป็นลูกค้ามาเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง" เจ้าหน้าที่ระดับสูงธนาคารกรุงเทพเปิดเผยข้อมูล

เขาเน้นว่าปัญหาสภาพคล่องของสยามกลการไม่ได้ร้ายแรงดุจอุตสาหกรรมเสถียรภาพแต่อย่างเดียว!!

ทั้งหมดก็เป็นที่มาของวันที่ 16 ตุลาคม 2529 วันที่ถาวร พรประภา ประกาศอำลาตำแหน่งประธานกรรมการสยามกลการ โดยนุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารชาติเข้ารับตำแหน่งแทน ทำเอา "Surprise" กันทั่วหน้า

กรรมการบริหารใหม่มีคนนอก 2 คน คนตระกูล "พรปรภา" 2 คน คือ ปรี พรประภา (น้องชายถาวร) และ พรทิพย์ ณรงค์เดช อีกคนคือ "หลงจู๊" เก่าของสยามกลการ คือ กวี วสุวัต

นายธนาคารอาวุโสคนหนึ่งเชื่อว่า ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพมีบทบาทในการทาบทามนุกูล ประจวบเหมาะ

"คุณถาวรแกอยากได้คุณพารณ อิศรเสนาฯ ผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ ตั้งใจจะรอให้เกษียณซึ่งก็ถึงปีหน้าแต่ผู้ใหญ่ธนาคารใหญ่ไม่ยอม" แหล่งข่าวใกล้ชิดถาวร พรประภา กล่าว

แม้ว่าถาวร พรประภา จะยืนยันกับ "ผู้จัดการ" การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของสยามกลการนี้ไม่มีเรื่อง "ใครจะมาบีบหากผมไม่ยอม" ก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ได้ตอบคำถามแทนถาวรไปเรียบร้อยแล้ว

ภาระหน้าที่อันหนักอึ้งข้างหน้าของสยามกลการดูเหมือนได้ผ่านบ่าของถาวร พรประภา มาสู่นุกูล ประจวบเหมาะแล้ว ซึ่งนุกูลก็คงต้องเหนื่อยต่อไปในบั้นปลายชีวิต เพราะเขาเป็น Unfinished Symphony ดังที่เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ"

นิสสันก็คงประสบช่องได้เข้าควบคุมตลาดสินค้าในประเทศไทยมากขึ้น ตามความต้องการอันยาวนานให้เป็นไปตาม Strategy ทั่วไปของนิสสัน ถาวรได้สิ่งตอบแทนคือคำว่า Global Plan นั่นเป็นสิ่งที่วงการอุตสาหกรรมรถยนต์คาดเดา ทั้งระบุแนวโน้มทั้งระบบญี่ปุ่นจะต้องเข้ามาเมืองไทย

ระบบครอบครัวที่ "ขัดแย้ง" พร้อมจะปะทุกันตลอดเวลาอันเกี่ยวเนื่องมาสู่การบริหารสยามกลการนั้น นุกูล ประจวบเหมาะ จะต้องเผชิญและแก้ไขในฐานะเขาเป็น "ตัวกลาง" ส่งผ่านระบบครอบครัวไปสู่สิ่งที่ก้าวหน้ากว่า

สำหรับถาวร พรประภา ว่าไปแล้วการตัดสินใจของเขาครั้งนี้ก็สมกับเป็น Pioneer ในธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ของไทยอย่างที่ตั้งใจ แม้ว่าในสนามสงคราม ดังที่บุญชู โรจนเสถียร กล่าว ผลจะออกมาว่าเขาเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะก็ตาม

เพราะประวัติศาสตร์ของคนรุ่นเขาและระบบที่เขาสร้างกับอุตสาหกรรมรถยนต์อันเติบโตและพัฒนาเทคโนโลยีไม่หยุดอาจได้เกิดทางแยกตรงนี้จริงๆ !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.