มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ที่มีรูปแบบการเรียนการสอนแตกต่างไปจาก กรอบการศึกษาแบบเดิมกำลังรอการพิสูจน์
์ให้เห็นว่า ภาพฝันและอุดมคติจะดำเนินไปอย่างไร
หากภาพของท้องทุ่งสีเขียว ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ลุ่มกว้างขวาง กว่า 300 ไร่
ที่ได้รับการปรับสภาพเพื่อปลูกสร้างอาคารรูปทรงนำ สมัย กำลังสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่แห่งนี้
ปรากฏการณ์ที่กำลังจะพลิกผันจินตภาพในแวดวงการศึกษาของไทย ได้เริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่การรับรู้ของสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง
จากบทสนทนาหารือในช่วงเย็นก่อนวันคริสต์มาส เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539
ระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร และ ศ.ดร.ปุระชัย เปี่ยม สมบูรณ์ ซึ่งต่างเป็นอดีตนักเรียนทุนรัฐบาลไทย
ท่ามกลางคำศัพท์ที่ ถือเป็นนวัตกรรมและรูปแบบของมหาวิทยาลัยในอุดมคติ ได้กลาย
เป็นการวางเค้าโครงในการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยชินวัตร
แห่งนี้
แนวความคิดและคำศัพท์ที่เกิดขึ้นจากการสนทนาในครั้งนั้น ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย
(Research University), Research Park, Virtual Campus, Virtual Museum,
Electronic Campus, Electronic Library, Interactive Electronic Classroom,
Learning Innovation, Edutainment และศัพท์แสงอีกจำนวนหนึ่ง ได้รับการต่อยอดและขยับขยายให้มีความจริงจังยิ่งขึ้น
กระทั่ง ทักษิณ ชินวัตร แสดงความมุ่งมั่นที่จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้นในพื้นที่อำเภอสาม
โคก จังหวัดปทุมธานี ใกล้กับสถานีถ่ายทอดสัญญาณ ไทยคม 2
วิสัยทัศน์ที่ได้รับการตกผลึกในค่ำคืนวันนั้น ได้รับการปรับปรุงให้มีความเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเป็นลำดับอย่างช้าๆ
ท่ามกลาง ความละเอียดประณีตในการวางฐานรากให้สถาบันการศึกษาแห่งใหม่นี้มีฐานะเป็น
"มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย" ท่ามกลางบรรยากาศ ของสิ่งที่เรียกว่า Research
Park ในอนาคต
"เรามีความมุ่งหมายอย่างมากที่จะสร้างมหาวิทยาลัยแห่ง การวิจัยขึ้นมาในประเทศไทย
ซึ่งเราจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ ได้เลย หากเราละเลยที่จะวิจัยตัวเองเสียก่อน
กระบวนการก่อนหน้า ที่จะมีการก่อสร้างมหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญมาก และก็ใช้เวลา
ไปเกือบ 1 ปีเลยทีเดียว" ศ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ไม่นาน ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร และถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางให้กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ย้อนอดีตหมาดๆ ให้ได้ฟัง
และด้วยเหตุที่ ปุระชัย เป็นบุคคลที่รับผิดชอบดูแลการก่อ ตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาตั้งแต่ต้น
ในฐานะประธานโครงการจัดตั้ง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยชินวัตร เขาอธิบายว่า
ปรัชญาหลักของ มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ที่การสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ
และ คุณธรรม โดยเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับการเพิ่มศักยภาพ ของสังคม
ควบคู่กับการเป็นพลเมืองที่มีจริยธรรมดีงาม
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่มีดวงอาทิตย์ครึ่งดวงอยู่ระหว่างปีกที่มีรูปทรงคล้ายช่อฟ้าในสถาปัตยกรรมไทย
โดยด้าน หนึ่งเป็นสีส้ม และอีกด้านหนึ่งเป็นสีเทา บนพื้นที่เปิดสีเขียว ได้รับ
การอธิบายว่าเป็นการสะท้อนปรัชญาหลักของมหาวิทยาลัย ไว้อย่างครบถ้วนเบ็ดเสร็จ
"ทำอย่างไรที่แม้จะอยู่ในช่วงชีวิตที่รุ่งเรืองเหมือนอาทิตย์กำลังขึ้น
ในฝั่งสีส้ม ก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างงดงาม และเมื่อถึง คราวที่กำลังจะตกในฝั่งสีเทา
ก็เป็นการจบลงอย่างสง่า" ซึ่งสิ่งนี้เป็นภูมิปัญญาไทยที่สามารถมาประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม
และเป็นกรอบแนวความคิดในเชิง ปรัชญาเบื้องต้นของการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ในส่วนของการก่อสร้างตัวอาคารและสถานที่ตั้งมหาวิทยา ลัย แนวความคิดเบื้องต้นของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย
เพื่ออนาคต ได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรม ในการประชุมคณะ ทำงานเพื่อการก่อตั้งมหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปและมีความเห็นร่วมกันอย่างเอกฉันท์ว่า
ผัง แม่บทของมหาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วยกลุ่มอาคารที่มีรูปทรงของสถาปัตยกรรมล้ำสมัย
ซึ่ง ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ หนึ่งในคณะทำงานเพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยชินวัตรเป็นผู้ออกแบบสามารถตอบสนองปรัชญา
และความต้องการทั้งปวงของมหาวิทยาลัยได้อย่างสมบูรณ์
แม้ในการรับรู้ของสาธารณชน ทักษิณ ชินวัตร จะมีความพรั่งพร้อมทั้งในด้านทุน
ด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี และการจัดการ แต่ด้วยเหตุที่การขออนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่นี้
อยู่ในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ การลงทุนในโครงการ ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า
1 พันล้านบาทย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายประกอบ กับนโยบายเกี่ยวกับการอุดมศึกษาเอกชนในห้วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน
ทำให้กว่าที่จะมีการเริ่มดำเนินการก่อสร้างตัวอาคาร ก็เข้าสู่ช่วงปลายของปี
2542 แล้ว
รูปแบบอาคารและภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยชินวัตร มิได้แสดงออกถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น
หากแต่ยังเป็นการผสมผสานเข้ากับธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาศัยพื้นฐานของธรรมชาติแวดล้อมในพื้นที่
เพื่อการประหยัด พลังงาน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและกระตุ้นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมไป
พร้อมกันด้วย อาคารทรงยาวที่ได้รับการออกแบบให้เป็นแกนกลางของระบบสัญจรภายในมหาวิทยาลัย
เป็นตัวอย่างของการออกแบบที่ได้ผนวกแนวความคิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนี้ไว้อย่างชัดเจน
และมีส่วนช่วยประหยัดพลังงานได้ เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง
"ในเบื้องต้นเรามีความคิดที่จะสร้างทางเดินเชื่อมอาคารทุกหลังในลักษณะอุโมงค์ใต้ดิน
แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ซึ่งเป็น ที่ลุ่ม มีน้ำท่วมขังได้ง่าย จึงมาได้ข้อสรุปที่การยกพื้นอาคารให้สูงขึ้น"
ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยชินวัตร อธิบายถึงที่มาของอาคารทรงยาว
ตัวอาคารซึ่งได้รับการยกระดับให้อยู่ในชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นระดับกึ่งกลางของอาคารแต่ละแห่งที่มี
5 ชั้น ทำให้สามารถประหยัดพลังงานในการใช้ลิฟต์ได้อีกมากนี้ นอกจากจะเป็นทางสัญจรหลักของประชาคมในมหาวิทยาลัยนี้แล้ว
ยังเป็นเส้นทางที่ผสานระบบสาธารณูปโภคเข้าสู่โครงสร้างของอาคารแต่ละแห่งอีกด้วย
ความโดดเด่นของ ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ในฐานะนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี
2543 สาขาปรัชญา ประเภทกลุ่มสถาปัตยกรรม และเป็นนักประดิษฐ์ไทยที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง
จากงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม
จากผลงาน "นวัตกรรมบ้านแห่งอนาคต" ส่งผลให้กิจกรรมของมหา วิทยาลัยชินวัตร
ในช่วงของการ เปิดตัวออกสู่สาธารณะในระยะ เริ่มต้นนี้ ผูกพันอยู่กับการกล่าว
ถึงรูปแบบตัวอาคารมากกว่าที่จะกล่าวถึงหลักสูตร และปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัย
แห่งนี้อย่างจริงจัง
แม้ว่า มหาวิทยาลัยชินวัตร จะประกอบด้วยสื่อการเรียนการสอนที่มีจุดเน้นอยู่ที่ระดับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงเข้ากับระบบเครือข่าย ข่าวสารข้อมูล
รวมถึงการจัดและควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่การเรียนรู้ด้วยเทคโน โลยีล้ำสมัย
แต่กรณีดังกล่าวมีฐานะเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ Virtual Campus
แห่งนี้มีความแตกต่างจากสถานศึกษาอื่นๆ บ้างเท่านั้น
ขณะที่ปรัชญาพื้นฐานของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการวิจัยในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปัจจัยสี่
ในลักษณะของสหวิทยาการ (Multi-disciplinary) กลับเป็นประเด็นที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความโดดเด่น
และก้าวออกไปจากขนบการศึกษาแบบเดิม
นอกจากนี้ ภายใต้แนวคิดและภารกิจหลักว่าด้วยการวิจัย เพื่อการพัฒนาควบคู่ไปกับการเรียนการสอนตามหลักสูตร
ที่เน้นความเป็นมหาวิทยาลัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (The Research University
of Sciences and Technology) ทำให้มหาวิทยาลัย ชินวัตรมีคณะที่เปิดสอนเพียง
3 คณะประกอบด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะการจัดการ
เท่านั้น
แต่ "วิธีการเรียนการสอนจะเป็นการเรียนร่วมกันโดยไม่แยก คณะ ซึ่งเทคนิคการวางหลักสูตรในลักษณะเช่นนี้ทำให้การพัฒนา
หลักสูตรสามารถทำได้อย่างไร้ขอบเขต และเป็นไปเพื่อการรองรับ กับบริบทของสังคมเศรษฐกิจของโลกในอนาคตด้วย"
ศ.ดร.สุนทร กล่าวไว้ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้
สิ่งที่คณะผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยชินวัตร พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังอยู่ที่การสร้างให้เกิดวัฒนธรรมของการค้นคว้าวิจัยร่วมกัน
มากกว่าที่จะดำเนินการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม ที่คณาจารย์อยู่ในฐานะของผู้ประสาทวิทยาการแต่ฝ่ายเดียว
จุดเน้นของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่การผลิตบุคลากรเพื่อการเข้าสู่ระบบราชการ
หรือแม้กระทั่งการเป็นลูกจ้างในองค์กรเอกชนอื่นใด หากแต่มุ่งเน้นที่จะผลิตบัณฑิตที่สามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง
เพื่อรองรับกับระบบเศรษฐกิจ ยุคใหม่ ในลักษณะของเครือข่ายการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ต่อ
เนื่อง
อย่างไรก็ดี การรับนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบในปี
2545 โดย ในระยะต้นจะรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีทั้ง 3 คณะรวมประมาณ 450
คนและอาจมีนักศึกษาปริญญาโทอีกประมาณ 50 คน โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการสรรหาบุคลากรทางวิชาการ
ประมาณ 56 อัตรา ซึ่งเทียบสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาได้ในระดับ เฉลี่ย 1:9
เท่านั้น หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกและจัดจ้างคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยชินวัตร
เป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่น้อย
บุคคลที่จะเข้ามาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะต้อง มีคุณสมบัติพื้นฐานอยู่ที่การเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญา
โท และปริญญาเอก โดยมีสัดส่วน 1:1 แต่คุณสมบัติดังกล่าวอาจไม่ใช่เงื่อนไขหลักของการจัดจ้าง
เช่นที่สถาบันการศึกษาแห่งอื่นๆ ก็อาจมีข้อกำหนดไม่แตกต่างกัน เพราะภายใต้สูตรของสัญญาการจัดจ้างในระบบ
3-3-4 ซึ่งมีนัยของการประเมินผลอยู่ในคราวเดียวกันนั้น เป็นกรอบกำหนด ให้อาจารย์เหล่านี้ต้องผลิตผลงานการวิจัยอยู่ตลอดเวลา
โดยในช่วง 3 ปีแรกผลงานการวิจัยควรจะมีคุณภาพ และมาตรฐานที่ส่งให้เจ้าของผลงานได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์
ก่อนที่จะมีการจัดจ้างในระยะต่อไปอีก 3 ปี ซึ่งระหว่างนี้จะต้องมีผลงานในระดับที่ทำให้ได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์
และหลังจากนั้นจะต้องทำ การวิจัยจนสามารถได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในที่สุด
เมื่อพิจารณาจากช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้น นั่นหมายความว่า นอกจากจะผลิตบัณฑิตออกสู่สังคมแล้ว
ภายในระยะเวลา 10 ปี มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะสร้างบุคลากรทางวิชาการ ในระดับรองศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า
50 คน
ทั้งนี้ หัวข้อและผลงานการวิจัยเหล่านี้มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของการพัฒนาในเชิงวิชาการแต่เพียงลำพัง
หากยังครอบคลุมมิติหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายขอบเขตไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์
จากการนำผลการวิจัยไปพัฒนาโดยหน่วยธุรกิจอื่นๆ
ภายใต้กรอบที่มุ่งหมายจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ผลงานชิ้นแรกๆ ที่กำหนดจะนำเสนอต่อสาธารณชนในช่วง
3-5 ปี นับจากนี้จึงอยู่ที่การวิจัยว่าด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio-Technology)
เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรให้มีมูลค่าสูงสุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย
ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมด้วย
การวิจัยและพัฒนาตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวส่งผลให้มหาวิทยาลัยชินวัตร ต้องมีความใกล้ชิดกับเจ้าของเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความ ร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา การให้บุคลากรเข้ามาช่วยเป็นวิทยากร
และการรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน ขณะเดียวกัน ก็ได้ร่วมมือ กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
(AIT) ในการรับการสอนสาขาวิชา เทคโนโลยีพื้นฐานของนักศึกษาในระดับปีแรกๆ
และการร่วมมือวิจัยและพัฒนาในระดับปีต่อๆ ไป
ตามแผนแม่บทของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ นอกเหนือจากกลุ่ม อาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ
รวมถึงหอพักนักศึกษาที่ดำเนิน การก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่า 80% แล้วนั้น พื้นที่โดยรอบของวิทยา
เขตแห่งนี้ ยังได้รับการจัดเตรียมไว้ สำหรับการปลูกสร้างอาคารสำนักงานของหน่วยวิจัยจากองค์กรธุรกิจเอกชนอื่นๆ
ที่คาดว่าจะทยอยเข้ามาร่วมใช้บริการของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้บรรยา กาศของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก้าวไปสู่การเป็น
research park อย่างจริงจังในอนาคต
รูปแบบของการจัดการบริหารงบประมาณในมหาวิทยาลัย แห่งนี้ จึงผูกพันอย่างมากต่อรายได้จากลิขสิทธิ์ในผลการวิจัย
(Research Royalty) และรายได้จากหน่วยงานภายนอกที่เข้ามา "ว่าจ้าง" ให้มหาวิทยาลัยทำการวิจัยในกรณีต่างๆ
ขณะที่ค่าเล่าเรียน จากนักศึกษาเป็นเพียงองค์ประกอบที่มีสัดส่วนไม่เกิน 1
ใน 3 ของงบประมาณการดำเนินการในมหาวิทยาลัยแห่งนี้
"ค่าเล่าเรียนไม่ใช่เรื่องที่สำคัญเลยสำหรับมหาวิทยาลัยชินวัตร เพราะหากนักศึกษามีความสามารถสูงจริงจนเป็นที่ประจักษ์
เราพร้อมที่จะสนับสนุนให้เรียนฟรีด้วยซ้ำ" ดร.แสงสันติ์ พานิช คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์
และรักษาการอธิการบดี กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ไว้อย่างน่าสนใจ
ขณะเดียวกัน การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ยังหนุนนำให้นักศึกษาในระดับชั้นปีที่
3-4 มีฐานะเป็นผู้ช่วยการวิจัย และเป็นผู้ที่สร้างเสริมประสบการณ์และอยู่ร่วมกับสังคม
มากกว่าที่จะเก็บรับจากการบอกเล่าผ่านตำราเรียนโดยอาจารย์ เช่นที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน
หากสัญลักษณ์ของสถาบันการศึกษาคือภาพสะท้อนขององค์ความคิดโดยรวมของผู้ก่อตั้ง
และวิถีที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินไปแล้ว อนาคตของมหาวิทยาลัยชินวัตร ซึ่งมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปดวงอาทิตย์ครึ่งดวง
อยู่ระหว่างการขึ้นและลงแล้ว ก็ต้องติดตาม ต่อไปว่าความมุ่งหมายที่จะเป็นธงนำในการก้าวสู่มิติใหม่ของการศึกษาไทย
ภายใต้แนวคิดมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย จะปรากฏผล เป็นจริงเช่นไร