การทำงานแบบ One Man Show ในวันนี้ยังใช้ได้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับวัยรุ่นที่การตัดสินใจซื้อเกิดจากความพอใจมากกว่าเหตุผล...เกรียติชัย
บุญพร้อมสรรพ หรือ "ไฝ" เข้าใจเรื่องนี้ เขาจึงมีโอกาสเกิดและเวียนว่ายอยู่ในธุรกิจสินค้าเกี่ยวกับวัยรุ่นด้วยการเริ่มจากเงินพันเมื่อวันวาน...เป็นเงินล้านในวันนี้
ขณะนี้ไฝอายุ 24 ปี เขาเคยเป็นเจ้าของร้านเสื้อ ALFAFA จำนวน 2 ร้านที่เดอะมอลล์
ขณะนี้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ไฝโปรดิวส์ และมีร้านบูติคอยู่ 2 ร้าน บนชั้น
2 และ 3 สยามเซ็นเตอร์ ขนาดประมาณห้องละ 30 ตร.ม. ซึ่งต้องเสียค่าเซ้งตกห้องละ
400,000-500,000 บาท มีโรงงานขนาดเล็กสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม
ทั้งมีช่างประจำอีก 6 คน
ไฝไม่เคยเรียนดีไซน์ ไม่เคยเรียนตัดเสื้อผ้า ไม่เคยเรียนการตลาด ไฝมาจากครอบครัวคนจีนที่ไม่มีธุรกิจของตนเองมาก่อน
แต่ไฝทำธุรกิจเกี่ยวกับวัยรุ่น เกี่ยวกับเสื้อผ้ามาเกือบ 5 ปีแล้ว ไฝทำทุกอย่างด้วยตัวเองมาโดยตลอด...
ครอบครัวของไฝก็เหมือนกับครอบครัวคนจีนทั่วไปที่นิยมการมีลูกมาก ไฝจึงมีน้องถึง
9 คน เมื่อตอนเรียนมัธยมไฝไม่จำเป็นต้องดิ้นรน เพราะพี่ ๆ หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว
มาถึงช่วงที่ไฝเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ปี 1 พี่ ๆ แต่งงานและแยกครอบครัวออกไปถึง
4 คน รายได้ที่มาจุนเจือครอบครัวจึงลดน้อยลงไป
สถานการณ์ทางครอบครัวบีบบังคับให้ไฝต้องเริ่มหากินเลี้ยงชีพ
ไฝเป็นเด็กหนุ่มท่าทางกรีดกรายและสนใจเรื่องสวย ๆ งาม ๆ เป็นทุนอยู่แล้ว
ประกอบกับสถานการณ์ทางครอบครัวช่วงนั้นบีบบังคับให้ไฝต้องจับตามองกระแสการทำมาหากินต่าง
ๆ
ปี 2525 ไฝอายุได้ 19 กำลังเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปี 1 ช่วงนั้นสินค้ากิฟช็อปกำลังบูม
วัยรุ่นเมืองไทยเริ่มมีอุกรณ์ตกแต่งร่างกายและของใช้ที่เป็นลักษณะเฉพาะที่เก๋ไก๋มากขึ้น
ไม่ใช่ยุคแห่งแบบฟอร์มหรือเสื้อยืดกางเกงยีนส์ตัวเดียวอีกต่อไปแล้ว กระแสวัฒนธรรมลักษณะนี้จากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามามากมาย
โดยเฉพาะลักษณะที่เป็นแบบญี่ปุ่น "ไฝ" จับกระแสนี้ได้ทันที
"ช่วงนั้นไฝรู้สึกว่ากิฟช็อปกำลังบูมคือสังเกตจากพวกกระเป๋า เข็มขัด
เห็นเขาคาดกันเป็นของญี่ปุ่น ไฝเลยคิดทำขึ้น โดยไม่ได้เลียนแบบเขา แต่ว่าทำเป็นแบบ
HAND MADE ขายพวกนักศึกษาในธรรมศาสตร์ด้วยกัน แล้วเขาก็บอกต่อ ๆ กันไป"
เงินทุนแรกเริ่มที่มีไฝได้จากการขายสินค้าถูกจังหวะเวลาบวกกับการใช้ปากเป็น
ปี 2525 เสื้อยืดที่มีตราสัตว์ติดหน้าอกเป็นที่นิยมกันมาก ไฝเกิดด้วยการขายเสื้อยืดในงานออกร้านขายสินค้าในธรรมศาสตร์งานหนึ่ง
"ไฝเอาเสื้อยืดตราจระเข้ของอามาขายตอนจะเอามาขายยังไม่มีที่เลย ไม่รู้จะไปวางตรงไหน
ก็ไปขอกับผู้จัดการสหกรณ์ไปพูดกับเขาดี ๆ บอกเราเป็นนักศึกษายังเรียนอยู่อยากหารายได้พิเศษ
เขาก็ให้ที่วางขาย เป็นแค่โต๊ะเล็ก ๆ ตัวเดียวเท่านั้นก็เอาเสื้อไปวางขายได้"
จากการขายเสื้อครั้งแรกไฝได้กำไรพันกว่าบาท
สถานการณ์ในธรรมศาสตร์เมื่อ 3-4 ปีก่อนนั้นมีส่วนช่วยเสริมสร้างโอกาสให้ไฝมาก
ช่วงนั้นมีงานออกร้านบ่อย ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงนิทรรศการ งานครบรอบ 50 ปี
ฯลฯ และไฝก็ไม่เคยพลาดโอกาสร่วมออกร้านแม้สักครั้งเดียว โดยสินค้าที่นำไปขายก็เป็นสินค้าที่เขาทำขึ้นเอง
นอกจากจะนำสินค้าที่ทำเองออกขายในงานออกร้านตามแต่โอกาสแล้ว ไฝยังไปฝากขายตามร้านกิฟช็อป
เช่น ร้านเม็ดทราย ร้านแมงมุม เมื่อฝากขายได้สักพักไฝก็เริ่มคิดได้ว่า การถูกหักค่าฝากขายถึง
30% นั้นมากเกินไป...ไฝเริ่มคิดงานใหญ่ขึ้น
ปี 2526 สินค้าที่เป็นกิฟช็อปน่ารัก ๆ เริ่มซาลง แต่สินค้าที่เป็นแฟชั่น
เป็นบูติคเริ่มแรงขึ้น ช่วงนั้นไฝไม่อยากเสียค่าฝากขายจำนวนมาก และเริ่มมีเงินทุนจากการออกร้านขายสินค้าในธรรมศาสตร์มากขึ้น
ประกอบกับจับกระแสเครื่องประดับที่ใช้กับแฟชั่นได้ ไฝจึงก้าวอีกก้าวด้วยการขายส่งสำเพ็ง
"ที่ทำส่งสำเพ็งเป็นพวกเข็มขัด กระเป๋า ต่างหู เป็นของที่ใช้กับเสื้อผ้าแฟชั่น
ไม่ใช่ของน่ารัก ๆ อีกต่อไป ตอนนั้นเสื้อผ้าบนสยามเซ็นเตอร์กำลังดัง เด็กจะบ้าเสื้อผ้าบนสยาม
เด็กตอนนั้นถ้าจะแต่งก็จะแต่งทั้งตัวตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า เข็มขัด แนวความคิดของไฝ
คือถ้ามีเสื้อผ้าแล้วจะหาเข็มขัด เข็มขัดนั้นต้องทำให้เสื้อผ้าดูเก๋ขึ้น
พอทำปุ๊บตลาดก็ยอมรับ"
ปี 2527 รายได้จากการขายของส่งสำเพ็งกับรายได้จากการออกร้านของไฝเป็นกอบเป็นกำขึ้น
ช่วงนั้นตลาดบูติคบูมมากและเดอะมอลล์ก็เป็นแหล่งบูติคอีกแห่งย่านราชดำริที่น่าลงทุน
เพราะวันหนึ่ง ๆ มีคนเดินช็อปปิ้งเป็นแสน ไฝคิดว่าตัวเองต้องเสี่ยง ทั้ง
ๆ ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านออกแบบเสื้อผ้ามาก่อนเลยเพียงแต่เคยตัดกระโปรงขายนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์
และมีน้องชายที่เรียนตัดเสื้อมาบ้าง ไฝก็ตัดสินใจเซ้งร้านที่เดอะมอลล์ 2
ร้าน ใช้ชื่อร้าน ALFAFA และใช้เป็นชื่อยี่ห้อด้วย เพราะช่วงนั้นเขานิยมเสื้อผ้าที่มียี่ห้อตัวใหญ่
ๆ
"ช่วงนั้นไฝเป็นคนออกแบบ น้องเป็นคนตัด ฝ่ายผลิตก็ทำกันที่บ้านแม่ช่วยหาคนเย็บให้
เพื่อน ๆ บ้านมาทำกัน ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก จะมีก็ค่าผ้า ค่าเครื่องจักรเย็บก็ยังไม่ต้อง
ตัดแล้วให้เขาไปเย็บที่บ้าน ตอนนั้นร้านบูติคมีไม่มากเหมือนทุกวันนี้ เปิดแล้วเห็นเงินทุกวัน"
ปลายปี 2527 ไฝเริ่มได้เครดิตจากร้านผ้าแถวสำเพ็ง เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่น
มีเงินเก็บก้อนใหญ่ขึ้น มีความมั่นใจในการประกอบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาตลอด
ไฝตัดสินใจเซ้งร้านที่สยามเซ็นเตอร์ชั้น 2 เนื้อที่ประมาณ 30 ตร.ม.จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
ใช้ชื่อไฝโปรดิวส์ และเมื่อเดอะมอลล์จะปรับปรุงกิจการใหม่ ไฝจึงยุบร้านที่เดอะมอลล์เมื่อปลายปี
28 พอต้นปี 2529 ไฝก็เปิดร้านที่ชั้น 3 อีกร้านหนึ่ง...เมื่อย้ายมาอยู่สยามเซ็นเตอร์ไฝใช้กลยุทธ์การตลาดเต็มที่
ไฝไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านการดีไซน์เสื้อผ้า หรือ MARKETING มาก่อน ไฝไม่รู้จักทฤษฎีแต่ใช้
SENSE และจับตามองความเคลื่อนไหวในโลกธุรกิจวัยรุ่นอยู่เสมอ
ในช่วงเปิดร้านที่สยามเซ็นเตอร์แรก ๆ บูติคมียี่ห้อตัวใหญ่ ๆ ไฝตัดสินใจใช้ชื่อไฝ
โปรดิวส์ เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ของตน และไม่ลืมที่จะวาง SEGMENT ของเสื้อผ้าให้เป็นเสื้อของผู้หญิง
"เปรี้ยว" แยกผลิตภัณฑ์ของเขาให้แตกต่างจากร้านบูติคอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
การโฆษณาและส่งเสริมการขายไฝทำเต็มที่ ทั้งในหน้านิตยสารผู้หญิงต่าง ๆ
และการเข้าร่วมงานแฟชั่นโชว์ทุกครั้งที่มีโอกาสไฝเองยังเคยบอกว่า แฟชั่นของเขามันบ้าดี
สำหรับการบริหารไฝใช้ ONE MAN SHOW ตัดสินใจด้วยตนเองมาโดยตลอดไฝทำเกือบทุกอย่างด้วยตนเอง
ออกแบบแฟชั่น ออกแบบถุง วางแผนโปรโมชั่น ดูและการผลิต และบางวันถ้าใครไปที่ร้านจะเห็นเด็กหนุ่มอารมณ์ดีมีไฝเม็ดใหญ่บนใบหน้านั่งติดกระดุมเสื้ออยู่ที่ร้าน
หรือไม่ก็กำลังง่วนอยู่กับการเอาเสื้อใสถุงให้ลูกค้าจะมีคนช่วยก็เป็นน้องชายชื่อสมเกียรติช่วยตัดและสร้างแบบเสื้อ
และมาในระยะหลังนี้น้องสาวชื่อมาลีมาช่วยดูร้านให้อีกคนหนึ่ง
เงินลงทุนของไฝในแต่ละครั้งที่ได้มาก็เป็นเงินเก็บจากการทำธุรกิจในแต่ละช่วงไฝไม่เคยใช้บริการธนาคาร
อาศัยว่าธุรกิจของไฝเงินหมุนเวียนเร็วมากและกำไรก็ได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะการลงทุนของไฝในแต่ละช่วงได้จังหวะเวลาบูมทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นกิ๊ฟช้อป กระเป๋าเข็มขัดแฟชั่น บูติค
ถึงวันนี้ไฝทำธุรกิจเกี่ยวกับวัยรุ่นมาได้ 4 ปีกว่าแล้ว มีร้านเสื้อเป็นของตนเอง
2 ร้าน มีโรงงานขนาดย่อมที่มีเครื่องมือเครื่องจักอยู่ที่บ้านพร้อม มีทรัพย์สินเป็นล้านๆ
บาทแล้ว
"ไฝทำสินค้าออกมามันต้องแปลกกว่าคนอื่น พยายามคิดเสมอว่าเราทำสินค้าแฟชั่นออกมา
สินค้านั้นจะต้องไม่เหมือนคนอื่น ต้องเป็นผู้ริเริ่ม สินค้าจะขายง่ายขึ้น"
ไฝบอกถึงเคล็ดลับการทำสินค้าแฟชั่น
ไฝก็เหมือนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ที่อ่านหนังสือมากมาย ไฝเคยบอกว่าอ่านเข้าไว้
อ่านให้มีความรู้มีข้อมูลอยู่ในหัวเยอะ ๆ ให้เรารู้อะไรหลาย ๆ อย่างแล้วเราจะมีไอเดียของเราขึ้นมา...หนังสือแฟชั่นไฝอ่าน
VOGUE, BARZAR พวกนี้ติดตามแล้วเอามาปรับให้เข้ากับบ้านเรา"
การที่กิจการของไฝเติบโตและก้าวหน้ามาโดยตลอดทั้ง ๆ ที่ทำงานแบบ ONE MAN
SHOW ก็เพราะธุรกิจเกี่ยวกับวัยรุ่นนี้การจับกระแสได้ถูกจังหวะ พร้อมกับการตัดสินใจผลิตสิ่งใหม่
ๆ ออกมาให้เหมาะกับเวลา สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและคล่องตัวได้ก่อนใคร
ๆ จะทำให้ผู้ประกอบการยืนอยู่ได้ ไฝทำอย่างนี้มาเกือบ 5 ปีแล้วและไฝก็คงจะรู้ดีว่าการจะมีโอกาสงาม
ๆ เหมือนที่ผ่านมาคงจะยากแล้ว เพราะมีตัวแปรอีกหลายตัวที่เข้ามาและทำให้ธุรกิจของเขามีปัญหา
ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่แย่อยู่ในขณะนี้ ที่ไฝเองยอมรับว่ามันมีส่วนทำให้ยอดขายตกมา
6-7 เดือนแล้ว โดยไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้เพียงต้องประคองตัวให้ผ่านช่วงนี้ไป
และปัญหาที่ศูนย์อื่น ๆ มาแชร์ลูกค้าไป สยามเซ็นเตอร์ไม่ใช่ศูนย์แฟชั่นที่วัยรุ่นจะไปเดินเพียงแห่งเดียวอีกต่อไป
ที่มาบุญครอง เซ็นทรัล ฯลฯ มาแชร์ผู้ซื้อไปเหมือนกัน
ตลาดบูติคระดับล่างเซาะตลาดระดับบนอยู่ตลอดเวลา บูติคราคาแพงถูกก๊อปปี้ขายราคาถูกลงเกลื่อนถนน
เหล่านี้ทำให้ไฝต้องครุ่นคิดพอสมควร
นอกจากนี้การสต็อคผ้าในแต่ละครั้งมีมูลค่าเป็นแสนมีผลต่อระบบเงินหมุนเวียนด้วยเพราะเงินไปจมอยู่เป็นจำนวนมาก
แต่ร้านบูติคส่วนใหญ่ก็ต้องทำเพราะถ้าไม่สต๊อคผ้าไว้แล้วผ้าชนิดที่เก็งไว้เกิดเป็นที่นิยมขึ้นมาจะไปหาซื้อก็ไม่ได้
เพราะร้านอื่น ๆ เขาซื้อไปหมด จะเสียโอกาสทำกำไร เรื่องการสต็อคผ้าจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไฝต้องเสี่ยง
การดำเนินกิจการของไฝออกจะเครียดพอสมควร เมื่อมีเวลาไฝจะไปดิสโก้เป็นประจำที่ซุปเปอร์สตาร์หรือเดอะพาเลซหรือถ้ามีเวลาก็ขับรถไปพัทยา
และไฝก็ไม่เคยพลาดเมื่อมีการกินโต๊ะแชร์กับคนระดับบิ๊กในวงการแฟชั่นเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับคนในวงการ
ในชีวิตประจำวันตอนเช้าไฝจะอยู่ดูแลการตัดเย็บที่บ้านซึ่งตอนนี้กลายเป็นโรงงานขนาดเล็กไปแล้ว
ถ้าวันไหนมีเรียนที่ธรรมศาสตร์ไฝก็จะไป และจะใช้เวลาช่วงบ่ายจนถึงค่ำนั่งอยู่ที่ร้าน
ทุกครั้งที่ไฝพัฒนากิจการของตนเองไปสู่งานใหม่ ไฝทำได้ถูกจังหวะเวลา สถานที่
และมีความเป็น INNOVATOR ที่คิดทำสินค้าที่ไม่เหมือนใคร ทำก่อนใครมาโดยตลอด
โดยไม่มีใครช่วย แต่ในวันนี้ไฝอาจจะมีปัญหาว่าจะเดินต่อไปทางไหนดี จะต้องบุกเบิกไปทางไหนอีก
จะพัฒนาระบบการจัดการด้านการเงินอย่างไรจากการใช้ระบบเงินหมุนอย่างทุกวันนี้
หรือจะต้องร่วมงานกับคนอื่น....แต่ที่แน่ ๆ "ผู้จัดการ" คิดว่าถ้าไฝยังจะอยู่ในธุรกิจวัยรุ่นต่อไปไฝหยุดนิ่งไม่ได้แน่
"ไฝยังไม่เบื่อธุรกิจแฟชั่นหรอกเพียงแต่เห็นสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดขายตกลง
ไฝเลยคิดว่าต้องหาทางทำอย่างอื่นเพื่อหนีสภาพนี้...อาจร่วมกับคนอื่นทำอะไรที่มันได้ผลตอบแทนมากกว่านี้
ซึ่งตอนนี้กำลังจับตามองอยู่" ไฝกล่าวปิดท้าย