'เอไอ' ขยายฐานพันธมิตร หวังลดปัญหาละเมินลิขสิทธิ์


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 สิงหาคม 2554)



กลับสู่หน้าหลัก

เอไอ (ประเทศไทย) รุกขยายฐานพันธมิตรรายใหม่ เพื่อขยายการผลิตสินค้าจากกกลุ่มเด็กไปสู่วัยรุ่นและครอบครัว นอกจากนี้ จะผลิตสินค้าระดับบนและที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป หวังพันธมิตรใหม่จะช่วยลดปัญหาการละเมินลิขสิทธิ์ได้ มั่นใจรายได้ของบริษัทเป็นไปตามเป้า 40% อย่างแน่นอน

ธวัช อิมราพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ เอไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดสินค้าการ์ตูนในไทยมีมูลค่าที่ 30,000 ล้านบาท เป็นสินค้ามีลิขสิทธิ์ 40% เป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ 60% ซึ่งบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 30% ของสินค้าลิขสิทธิ์

โดยตลาดลิขสิทธิ์การ์ตูนแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ตีหัวเข้าบ้าน การ์ตูนที่มาพร้อมกับหนัง ถ้าหนังจบความนิยมก็จบ อย่าง เซรามูน โปเกมอน สินค้าที่ผลิตจากการ์ตูนประเภทนี้ต้องรีบจำหน่าย ไม่เน้นไลฟ์สไตล์ของตัวสินค้า เป็นพวกสินค้าซูวีเนียร์ (ของที่ระลึก)

2.คาแรกเตอร์ที่สามารถช่วยสร้างแบรนด์ให้สินค้าได้ด้วยไลฟ์สไตล์ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างโดราเอมอน การ์ตูนประเภทนี้ต้องมีอายุมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่การ์ตูนที่เน้นความรุนแรง สินค้าที่ผลิตจากการ์ตูนปรเภทนี้จำหน่ายได้ตลอดเวลา

สำหรับเกณฑ์ในการเลือกการ์ตูนประเภทใดที่เหมาะสำหรับการขายลิขสิทธิ์ จากประสบการณ์ของ ธวัช ที่อยู่ในวงการการ์ตูนไม่ต่ำกว่า 20 ปีเขาจะเลือการ์ตูนที่ไม่ใช่หน้าคน และเป็นลายเส้นที่ออกญี่ปุ่น เพราะจะดูแล้วน่ารัก ซึ่งปัจจุบันลายเส้นของฝั่งตะวันตกยังต้องทำเป็นแบบลายเส้นญี่ปุ่นหรือแบบตะวันออกเลย

ด้านการทำตลาดปีนี้จะเน้นการทำตลาดเชิงรุกซึ่งแตกต่างจากอดีตที่เน้นตลาดเชิงรับ เพราะจากการเข้ามาทำงานของตนเองแล้ว การทำตลาดเชิงรุกทำให้ปี 2552 บริษัทโตถึง 400% สำหรับปีนี้ก้จะเน้นตลาดเชิงรุกเช่นเดิม โดยจะขยายกลุ่มเป้าหมายจากกลุ่มเด็กไปสู่กลุ่มครอบครัวและวัยรุ่นมากขึ้น ด้วยการหาพันธมิตใหม่จากเดิมที่มีอยู่ 50 รายก็จะหาเพิ่มอีก 10% เนื่องจากไม่ต้องการขยายพันธมิตรใหม่ๆ มาก ต้องการพันธมิตรเดิมๆ มากกว่า โดยปีนี้ก็มีแบรนด์ดังๆ ที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท อย่าง กูลิโกะ, ซีลิโกะ และอุปกรณ์ประเภทโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ จะเน้นพัฒนาสินค้าให้ได้ตามความต้องการของตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง รวมทั้งเน้นสินค้าระดับบนและสินค้าที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งพันธมิตรใหม่นี้น่าจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้

สำหรับผลประกอบการของบริษัทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการเติบโตขึ้น 15% ซึ่งบริษัทตั้งเป้าไว้ที่จะเติบโต 40% ตลอดทั้งปี ด้วยการทำตลาด 360 องศา ทั้งการจัดโรดโชว์ไปยังห้างสรรพสินค้า และโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเป็นการทำตลาดร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ รวมทั้งโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งจะใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2553 ที่ใช้งบรวม 15 ล้านบาท

“ส่วนใหญ่การให้ลิขสิทธิ์จะเน้นหนักที่ครึ่งปีหลัง ทำให้เชื่อว่าครึ่งปีที่เหลือสามารถโตได้ตามเป้าหมายแน่นอน โดยสัญญาที่ทำจะเป็นปีต่อปีถ้าต่างคนต่างพอใจซึ่งกันและกันก็จะต่อสัญญา”

ธวัช กล่าวต่อว่า การขยายธุรกิจได้ลงทุนร่วมกับบริษัท เจเอสแอล จัดตั้งบริษัท เฮาส์ ออฟ การ์ตูน เพื่อบริหารลิขสิทธิ์ให้กับคาแรกเตอร์ไทย ซึ่งปัจจุบันมีคาแรกเตอร์ไทยที่รับบริหารอยู่ คือ คาแรคเตอร์ของบริษัท ทรูสปอร์ต เจ้าของลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ Bloody Bunny, Unsleep Sheep และ Biscuitซึ่งขณะนี้จำหน่ายลิขสิทธิ์ให้กับ 10 ประเทศในยุโรปและจะขยายให้ครบ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.